ตั้งแต่ซีรีส์เรื่อง DAHMER-Monster: The Jeffrey Dahmer Story ออกสตรีมมิงทาง Netflix แล้วได้รับความนิยม จนผู้สร้างสนใจที่จะสานต่อความสำเร็จด้วยการสร้างซีรีส์เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องรายอื่น ๆ ออกมาอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการจุดกระแสนิยมให้ผู้สร้างรายอื่นหันมาสนใจสร้างหนังและซีรีส์เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมดังในอดีตกันมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องราวของ แคนดี้ มอนต์โกเมอรี (Candy Montgomery) คดีฆาตกรรมที่โด่งดังมากในเท็กซัส เมื่อปี 1980 เธอใช้ขวานสับร่าง เบ็ตตี้ กอร์ (Betty Gore) เพื่อนสาวของเธอเอง ในขณะที่ลูกสาวอายุเพียงไม่กี่เดือนของเบ็ตตี้ก็อยู่ในห้องถัดไป แคนดี้ถูกจับดำเนินคดี แม้ว่าคดีจะได้รับการพิพากษาจบสิ้นในปีนั้น แต่รายละเอียดในคดีอันน่าสยดสยองนี้ ก็ยังเป็นที่สนใจต่อผู้คนที่ชอบดูชอบอ่านเรื่องราวฆาตกรรมทั่วโลกมาจนทุกวันนี้
เมื่อกระแสหนังเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมจริงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่เรื่องราวของ Candy จะเป็นคดีแรก ๆ ที่ถูกหยิบมาสร้างอีกครั้ง หลังจากเคยสร้างเป็นหนังมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 1990 ในชื่อ ‘A Killing in a Small Town’ เป็นภาพยนตร์สำหรับฉายทางทีวีความยาว 100 นาที สร้างโดย CBS ได้ ไบรอัน เดเนฮี (Brian Dennehy) มารับบทนำ
เมื่อปีที่แล้ว Hulu ก็สร้างซีรีส์ขนาดสั้น 5 ตอนจบในชื่อ ‘Candy’ ได้ เจสซิกา บีล (Jessica Biel) มารับบทเป็น ‘แคนดี้’ และล่าสุด ในปีนี้เองที่รายใหญ่อย่าง HBO ก็ขอโดดมาร่วมกระแสนิยมนี้ด้วย และดูจะเป็นเวอร์ชันที่ได้รับความสนใจมากที่สุด กับซีรีส์ในชื่อ ‘Love & Death’ ความยาว 7 ตอนจบ ที่ได้ เอลิซาเบธ โอลเซน (Elizabeth Olsen) นักแสดงชื่อดังจากมาร์เวล ที่ขอเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก Scarlet Witch มาเป็น แคนดี้ แม่บ้านสาวสุดโหด ซีรีส์ได้รับเสียงตอบรับทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ค่อนข้างดี ได้คะแนน IMDB ไปที่ 7.6 และ Rottentomatoes ที่ 62% มีวี่แววสูงที่จะได้เห็นโอลเซนและทีมงานได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในหลายเวทีสิ้นปีนี้
CANDY ของทาง hulu Love & Death ของ HBO max
จากนี้ ผู้เขียนจะขอพาทุกคนลงไปในเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของคดีสะเทือนขวัญชาวเท็กซัสนี้ ว่าด้วยเหตุใด คดีนี้ถึงได้รับความสนใจต่อเนื่องยาวนานมากว่า 40 ปี และน่าจะช่วยให้การชมซีรีส์ได้อรรถรสยิ่งขึ้น กับการเปรียบเทียบรายละเอียดปลีกย่อยระหว่างเหตุการณ์จริงกับเรื่องราวที่แน่นอนว่าต้องถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งลงไปในซีรีส์เพื่อความบันเทิงต่อผู้ชม
ฆาตกรรมโหดเกิดในวันศุกร์ที่ 13
วันศุกร์ที่ 13 เป็นวันที่ชาวคริสต์ทั่วโลกถือว่าเป็น วันแห่งความโชคร้าย ซึ่งมีที่มาอันหลากหลายของความเชื่อนี่ และเหตุฆาตกรรมของ แคนดี้ ก็ยังเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 นี้อีก ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อนี้ให้ยิ่งขึ้นไปอีก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชุมชน คอลลิน เคาน์ตี ในรัฐเท็กซัส อันได้ชื่อว่าเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบสงบและอบอุ่น ผู้คนในเมืองต่างรู้จักซึ่งกันและกัน รวมถึงตัวแคนดี้และเบ็ตตี้เองก็เป็นเพื่อนและครอบครัวที่สนิทกัน พอข่าวสะเทือนขวัญนี้ได้รับการแพร่งพราย ชาวบ้านยิ่งแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นมาได้ และในขณะที่เกิดเหตุนี้ เบธานี ลูกสาวคนเล็กของเบ็ตตี้อายุเพียงไม่กี่เดือนก็ยังอยู่ในห้องข้าง ๆ นั้นเองด้วย หลังเกิดเหตุแล้วแคนดี้ออกจากบ้านไป เบธานีก็ร้องให้อยู่ในคอกเด็กแทบทั้้งวัน กว่าเพื่อนบ้านจะมาเจอหนูน้อยก็เข้าช่วงพลบค่ำแล้ว
และในวันเดียวกันนั้น อลิซา ลูกสาวคนโตของเบ็ตตี้ก็ยังอยู่ในความดูแลของแคนดี้ที่บ้านของเธออีกด้วย ยิ่งทำให้เรื่องราวฆาตกรรมนี้ ดูช่างไม่สมเหตุสมผลที่จะเกิดขึ้นเลย ที่ฆาตกรยังคงดูแลลูกสาวของเหยื่อที่เธอเพิ่งลงมือฆ่าไป แล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไปอีกหลายวัน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สตีฟ เดฟฟิบอห์ (Steve Deffibaugh) อดีตผู้ช่วยนายอำเภอ กล่าวว่า “เรื่องราวมันยังกับฉากในหนังสยองขวัญเลย มันเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 พอดี ทำให้เราคิดไปว่านี่มันเป็นเหตุการณ์เลียนแบบหนัง ‘The Shining’ ยังงั้นเลย”
แคนดี้ดำเนินกิจวัตรต่อทั้งวัน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หลังเกิดเหตุวิวาทและลงเอยด้วยการเสียชีวิตของ เบ็ตตี้ กอร์ ไปแล้วนั้น แคนดี้ก็ดำเนินกิจวัตรที่เหลือของเธอในวันนั้นอย่างปกติ หลังออกจากบ้านกอร์ เธอก็ขับรถกลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า นำเสื้อชุดเดิมที่เปื้อนเลือดไปแช่ไว้ในอ่าง จากนั้นก็ไปอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า นำเสื้อที่ซักแล้วเข้าเครื่องอบผ้า จากนั้นก็ขับรถออกไปรับลูก ๆ ของเธอ และ อลิซา ลูกสาวของ เบ็ตตี้ กอร์ จากโรงเรียนพระคัมภีร์ภายในโบสถ์
อลิซา ลูกสาวของเบ็ตตี้กอร์ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับเจนนี่ลูกสาวของแคนดี้นั้น มาพักอยู่ที่บ้านมอนต์โกเมอรี ตั้งแต่เมื่อคืนก่อน เด็ก ๆ มีแผนการว่าจะไปว่ายน้ำกันหลังเสร็จสิ้นคลาสเรียนพระคัมภีร์ ในส่วนหนึ่งของคำให้การของแคนดี้ เธอกล่าวว่า เหตุที่เธอไปหาเบ็ตตี้ที่บ้านในช่วงสายวันนั้น เพื่อไปเอาชุดว่ายน้ำของอลิซา และขออนุญาตเบ็ตตี้ที่จะพาอลิซาไปดูหนัง ‘Star Wars: The Empire Strikes Back’ ด้วยกันกับลูก ๆ ของเธอ ระหว่างที่จะไปดูหนัง แคนดี้ก็ขับรถไปรอรับแพต สามีของเธอจากที่ทำงาน ซึ่งเธอก็สามารถรออยู่ในรถกับลูก ๆ ของเธอและอลิซาลูกของเบ็ตตี้ และไปดูหนังด้วยกัน ซึ่งเธอสามารถแสร้งทำทุกอย่างได้ดูเป็นปกติ เหมือนว่าไม่ได้เพิ่งก่อเหตุร้ายมาก่อนหน้านั้น
แคนดี้เป็นชู้กับอัลลัน สามีของเบ็ตตี้
หลังเกิดเหตุฆาตกรรม ตำรวจก็นำตัว อัลลัน กอร์ ไปสอบสวนที่สถานีในวันที่ 16 มิถุนายน 1980 อัลลันให้การว่าเขาอยู่ต่างเมืองในวันที่เกิดเหตุ ในคืนก่อนที่เขาจะเดินทางนั้น เบ็ตตี้บอกกับเขาว่า เธอคิดว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3 แล้วทั้งคู่ก็มีปากเสียงกันก่อนที่อัลลันจะเดินทางไปมินเนโซตา ในวันต่อมา อัลลันตัดสินใจเดินทางมาสารภาพกับตำรวจว่า ที่จริงแล้ว เขาคบหาฉันชู้สาวกับแคนดี้ ซึ่งมีสัมพันธ์สวาทต่อเนื่องมาเกือบ 1 ปี การให้การของอัลลันในเรื่องนี้ ส่งผลให้เรื่องราวในคดีนี้มีเหตุต้องสงสัยตามมามากมาย
อัลลันเล่ารายละเอียดต่อไปว่า แคนดี้เป็นฝ่ายเข้าหาเขาก่อน หลังจากร่วมแข่งวอลเลย์บอลด้วยกัน โดยแคนดี้เอ่ยปากถามเขาว่าสนใจจะมีสัมพันธ์สวาทกับเธอหรือไม่ ซึ่งในคราแรกนั้น อัลลันได้บอกปฏิเสธไป แต่ก็เป็นฝ่ายอัลลันเองที่ได้เริ่มจูบกับแคนดี้ในคืนนั้น หลายสัปดาห์ต่อมา ทั้งคู่ก็นัดพบกันที่ร้านอาหาร เพื่อตกลงในรายละเอียดว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่จะดำเนินไปอย่างไร ในระหว่างพูดคุยนั้น แคนดี้เป็นฝ่ายยืนยันว่าเธอไม่มีเจตนาจะให้คู่สมรสของแต่ละฝายจะต้องเจ็บปวดใจกับกับการคบหาเชิงชู้สาวระหว่างเธอกับอัลลัน ทั้งคู่ก็ได้ตกลงใจกันว่า ถ้าเธอหรืออัลลันเริ่มมีใจพิศวาสต่ออีกฝ่ายเมื่อใด ความสัมพันธ์นี้จะยุติลงทันที แล้ว 7 เดือนก่อนจะเกิดเหตุร้าย ก็เป็นฝ่ายอัลลันที่ขอยุติความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแคนดี้
ในคืนหลังเกิดเหตุ อัลลันโทรหาแคนดี้เพื่อขอความช่วยเหลือ
หลังสังหารเบ็ตตี้แล้ว แคนดี้ก็ดำเนินชีวิตเช่นปกติในบ้านกับลูก ๆ และสามีของเธอ รวมไปถึงอลิซาลูกสาวของเบ็ตตี้ด้วย จนถึงช่วงค่ำ เมื่ออัลลันรู้สึกกังวลที่เขาไม่สามารถติดต่อเบ็ตตี้ไป หลังจากโทรกลับไปที่บ้านหลายต่อหลายครั้งแล้ว อัลลันจึงตัดสินใจโทรหาแคนดี้ ถามเธอว่าได้พบเบ็ตตี้บ้างไหมตลอดวันนี้ ซึ่งแคนดี้ก็ตอบว่าเธอแวะไปหาเบ็ตตี้ในช่วงสายเพียงครู่เดียวเท่านั้นเพื่อไปเอาชุดว่ายน้ำของอลิซา แต่อัลลันก็ยังแสดงความรู้สึกว่าเขาเป็นห่วงต่อเบ็ตตี้อย่างมาก เพราะการที่ติดต่อเบ็ตตี้ไม่ได้นั้น ยิ่งแสดงว่ามีเหตุผิดปกติ เพราะเบ็ตตี้ไม่ชอบออกไปไหนตอนกลางคืน แคนดี้ก็พยายามปลอบประโลมให้อัลลันคลายกังวล ด้วยการเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่เธอพบเบ็ตตี้ว่า เบ็ตตี้ดูเป็นปกติดี เธอยังเอาลูกอมเปปเปอร์มินต์ฝากมาให้เป็นรางวัลอลิซาด้วย ถ้าเธอว่ายน้ำได้ดี แล้วแคนดี้ยังออกตัวว่าเธอยินดีจะขับรถไปดูเบ็ตตี้ให้เพื่อให้อัลลันคลายกังวล
หลังจากนั้น อัลลันก็โทรหาเพื่อนบ้านให้ไปเช็กที่บ้านของเขาว่าเจอเบ็ตตี้อยู่ในบ้านไหม แต่เพื่อนบ้านก็ตอบกลับมาว่า เขาไปกดกริ่งประตูแล้วแต่ก็ไม่มีใครตอบรับ ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับอัลลัน เขาจึงโทรกลับมาหาแคนดี้อีกครั้ง ซึ่งแคนดี้ก็ยังเสแสร้งทำเป็นไม่รู้เห็นต่อไป แต่กลับแนะนำให้อัลลันลองโทรไปตามโรงพยาบาลในท้องถิ่นเผื่อจะเจอว่าเบ็ตตี้ได้รับอุบัติเหตุแล้วเข้ารับการรักษาอยู่ แล้วก็พยายามบอกให้อัลลันสบายใจว่าอลิซาลูกสาวของเขาที่อยู่กับเธอนั้นปลอดภัยดี การโต้ตอบของแคนดี้นั้น ยิ่งทำให้อัลลันไม่ระแคะระคายแม้เพียงนิดเลยว่า เขากำลังสนทนาอยู่กับ ฆาตรกรที่ลงมือฆ่าภรรยาของเขาเอง
แคนดี้แก้ตัวว่าเป็นการป้องกันตัว
หลังจากที่ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างแคนดี้และอัลลันเปิดเผยออกมา บวกกับพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าแคนดี้เป็นคนสุดท้ายที่พบเห็นเบ็ตตี้ตอนยังมีชีวิตอยู่ ล้วนบ่งชี้ไปที่ตัวแคนดี้ว่าเธอน่าจะเป็นฆาตกรผู้มีแรงจูงใจในการก่อเหตุ ตำรวจจึงจับกุมตัวแคนดี้ แต่เธอก็ยังคงให้การปฏิเสธ ที่จริงแล้วเธอกะจะรอให้เหตุการณ์ผ่านไป 30 วันก่อนจึงจะเข้ามอบตัว แต่เมื่อแคนดี้จนมุมด้วยพยานและหลักฐาน เธอจึงยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือสังหารเบ็ตตี้ แต่ทำลงไปเพราะเป็นการป้องกันตัว
ในวันพิจารณาคดี แคนดี้ให้การต่อศาลว่า ก่อนเกิดเหตุนั้น เบ็ตตี้เผยว่าเธอรู้ความจริงแล้วว่าแคนดี้เป็นชู้กับอัลลันสามีของเธอ จากนั้นเธอก็เดินหายไปในห้องด้านหลังบ้านแล้วกลับมาพร้อมกับขวานเล่มยาวเกือบ 1 เมตร จากนั้นเบ็ตตี้ก็เหวี่ยงขวานเข้าใส่เธอ แต่ฟันพลาดลงไปโดนนิ้วเท้าของแคนดี้
แคนดี้ให้การต่อว่า เบ็ตตี้โกรธจัดจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ในช่วงแรกนั้น เธอทำได้แค่ปัดป้องตัวเองจากการจู่โจมของเบ็ตตี้ เธอพยายามที่จะแย่งขวานจากมือของเบ็ตตี้ แล้วเบ็ตตี้ยังเหวี่ยงขวานมาโดนที่หัวของเธอจนแตกเป็นบาดแผลเลือดไหล แล้วในที่สุด แคนดี้ก็เป็นฝ่ายแย่งขวานมาได้ เธอจึงได้ฟันเข้าใส่เบ็ตตี้หลายต่อหลายครั้ง
ผมของแคนดี้ในตะแกรงท่อน้ำทิ้งเป็นหลักฐานมัดตัว
แม้ว่าในช่วงแรกที่แคนดี้ถูกดำเนินคดีนั้น เธอจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือสังหารเบ็ตตี้ แต่หนึ่งในหลักฐานที่แย้งคำให้การของเธอย่างเด่นชัดก็คือ เส้นผมของเธอ ตำรวจพบเส้นผมของฆาตกรในห้องน้ำ บ่งชี้ว่าหลังจากฆาตกรก่อเหตุแล้วก็เข้าห้องน้ำไปชะล้างทำความสะอาด นอกจากนั้นยังพบรอยเลือดบนกระเบื้องพื้นห้องน้ำ และในอ่างอาบน้ำอีกด้วย บนพรมเช็ดเท้าก็พบรอยเท้าเปื้อนเลือดของผู้ก่อเหตุ ซึ่งรอยเลือดบนพรมเช็ดเท้านี่ล่ะ คือหลักฐานสำคัญที่ใช้ระบุตัวผู้ก่อเหตุได้แน่ชัด แต่กลับกลายเป็นว่าหลักฐานชิ้นนี้โดนทำลายไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ทางตำรวจขาดหลักฐานชิ้นสำคัญไป
ที่ตะแกรงท่อระบายน้ำทิ้งนั้น ตำรวจพบทั้งขนสุนัขและเส้นผมมนุษย์ ตำรวจได้นำไปผ่านกระบวนการพิสูจน์หลักฐานและสามารถบ่งชี้ได้ว่านั่นคือเส้นผมของแคนดี้ ทำให้เธอยอมรับสารภาพในที่สุดว่า เธอได้อาบน้ำในบ้านของเบ็ตตี้หลังจากก่อเหตุแล้ว เพราะต้องการล้างเลือดออกจากตัว
ตำรวจตัดแคนดี้ออกจากรายชื่อผู้ต้องสงสัยตั้งแต่เริ่มสืบสวน
แม้ว่าแคนดี้จะเป็นบุคคลสุดท้ายที่อยู่กับเบ็ตตี้ตอนที่เธอยังมีชีวิตอยู่ แต่ทั้งตำรวจและชาวบ้านต่างก็ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยในตัวเธอ เพราะไม่มีใครคิดว่าเธอจะสามารถก่อเหตุฆาตกรรมโหดเช่นนี้ได้ เพราะผู้ก่อเหตุใช้ขวานที่ยาว 3 ฟุตเป็นอาวุธสังหาร ตำรวจจึงตั้งเป้าไปที่ชายรูปร่างใหญ่ที่จะสามารถควงขวานยาวขนาดนี้ได้ ส่วนแคนดี้นั้น ในสายตาตำรวจมองว่าเธอเป็นหญิงที่รูปร่างเล็ก ค่อนข้างเงียบและสงบนิ่ง จึงตัดเธอออกจากรายชื่อผู้ต้องสงสัยตั้งแต่ทีแรก
ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเป็นที่รู้จักในชุมชนในฐานะหญิงที่เข้าโบสถ์เป็นประจำ เป็นภรรยาและแม่ที่น่าเลื่อมใส และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ดอน คราวเดอร์ (Don Crowder) ทนายความของแคนดี้ ยังให้คำแนะนำกับตำรวจว่า ควรตั้งเป้าไปที่ชายร่างใหญ่ คราวเดอร์ให้คำแนะนำนี้กับตำรวจแม้ในขณะที่แคนดี้เข้าเครื่องจับเท็จและยอมรับสารภาพผิดแล้วก็ตาม
แคนดี้เป็นสมาชิกประจำของโบสถ์
คริสตจักรเมโธดิสต์แห่งลูคัส เป็นโบสถ์ของชุมชนไวลี และเป็นสถานที่ที่ทำให้ครอบครัวกอร์และมอนต์โกเมอรีได้มารู้จักัน ทั้งเบ็ตตี้และแคนดี้ต่างก็เป็นสมาชิกของกลุ่มนักร้องประสานเสียงประจำโบสถ์ด้วยกันหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมที่โบสถ์แล้ว ทั้งสองครอบครัวรวมไปถึงลูก ๆ ก็มักจะสังสรรค์ด้วยกันเป็นประจำ ดังนั้น ภาพลักษณ์ของแคนดี้ในฐานะหญิงที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในโบสถ์และเป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชน จึงเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ก็ยากจะเชื่อได้ว่าเธอจะเป็นฆาตกรผู้ใช้ขวานสังหารเหยื่อ
แม้ในวันที่เธอถูกจับกุมแล้วได้รับการประกันตัวออกมา แคนดี้ก็ไม่ละทิ้งกิจกรรมกับชุมชน เธอยังคงไปโบสถ์เป็นประจำเช่นเคย ทางโบสถ์เองก็ยินดีต้อนรับเธอเสมอ แม้ว่าเธอจะอยู่ในสถานะผู้ต้องหาผู้ก่อเหตุฆาตกรรมก็ตาม ยิ่งตอกย้ำให้ผู้คนรอบข้างปักใจเชื่อว่า แคนดี้คือผู้บริสุทธิ์ และบทบาทของเธอที่มีต่อโบสถ์ก็เปรียบเสมือนเกราะป้องกันเธออย่างดีจากคดีนี้
แคนดี้และแพต สามีของเธอ ได้รับการสนับสนุนและได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นจากเพื่อน ๆ ในโบสถ์และผู้คนในชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อจากคนที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย แคนดี้ได้รับจดหมายจากผู้ปรารถนาดีต่อเธอแทบทุกวัน และแคนดี้ก็เขียนจดหมายตอบกลับถึงผู้หวังดีทุกราย กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ประหลาด ที่ผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมโหดจะได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างมากมายเช่นนี้ แม้จะมีหลักฐานในคดีมัดตัวแคนดี้แน่นหนา แต่คนรอบข้างก็ยังปักใจเชื่อว่าแคนดี้คือผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง
ผลจากการสะกดจิตช่วยเหลือแคนดี้ได้อย่างมาก
ข้อมูลสำคัญในการแก้ต่างของแคนดี้นั้น เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการบำบัดด้วยการสะกดจิต ดอน คราวเดอร์ ทนายความของแคนดี้ ได้ขอความช่วยเหลือกับ ดร.เฟรด ฟาสัน (Dr. Fred Fason) ให้ช่วยใช้วิชาการสะกดจิตที่ฟาสันเชี่ยวชาญ มาค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ในเหตุฆาตกรรมของเบ็ตตี้ มีรายงานว่าแคนดี้ได้เข้ารับการบำบัดกับฟาสันหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดฟาสันก็ค้นพบว่าเคยเกิดความบอบช้ำกระทบกระเทือนจิตใจของแคนดี้อย่างรุนแรงในวัยเด็ก แล้วในการสะกดจิตนั้นก็ยังช่วยให้แคนดี้รื้อฟื้นความทรงจำในระหว่างก่อเหตุฆาตกรรมอีกด้วย
ฟาสันสรุปความว่าอารมณ์โทสะรุนแรงของแคนดี้นั้นเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กของเธอ เกิดจากการที่เธอถูกแม่ลงโทษด้วยความรุนแรงและฝังอยู่เบื้องลึกในจิตใจเสมอมา และถูกทำให้ระเบิดปะทุออกมาในช่วงที่เธอวิวาทกับเบ็ตตี้
ดอน คราวเดอร์ จึงเห็นสบช่องว่าเป็นโอกาสอันดี จึงเบิกตัว ดร.ฟาสัน เป็นพยานขึ้นให้การในศาลด้วย ซึ่ง ดร.ฟาสัน ก็ให้การว่า สิ่งที่แคนดี้ประสบอยู่นั้นเรียกว่าปฏิกิริยา “บุคลิกภาพที่แตกแยก” ซึ่งเป็นเหตุให้เธอก่อเหตุฆาตกรรมรุนแรง ในระหว่างที่ต่อสู้กันอยู่นั้น เบ็ตตี้ได้เอ่ยคำที่เป็นการจุดชนวนให้แคนดี้ระเบิดความพลุ่งพล่านออกมาและได้ทำการตอบสนองที่รุนแรงซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือสติควบคุม ทำให้เธอจำไม่ได้แม้แต่จำนวนครั้งที่เธอสับขวานใส่ร่างเบ็ตตี้
ทนายความให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของแคนดี้บนศาลอย่างที่สุด
ดอน คราวเดอร์ ทนายความของแคนดี้นั้นได้บรรจงสร้างภาพลักษณ์ของแคนดี้ให้ดูดีที่สุดในวันที่ปรากฏตัวบนศาล แคนดี้สวมกระโปรงยาวคลุมถึงเข่า สวมสเวตเตอร์ขนสัตว์ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แคนดี้ดูมีภาพลักษณ์ห่างไกลจากฆาตกรโหดอย่างที่สุด และคราวเดอร์ยังอ้างต่อคณะลูกขุนว่า เธอเป็นหญิงสาวที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนว่าเป็นหญิงที่ ฉลาด สวย แต่งตัวดี และบังเอิญตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่เธอถูกทำร้ายด้วยขวาน และการที่เธอพลั้งมือสังหารเบ็ตตี้นั้นก็เป็นไปเพราะการป้องกันตัว
แม้ว่าอัยการจะโต้แย้งคำให้การดังกล่าว ว่าแคนดี้ไม่จำเป็นต้องตอบโต้เบ็ตตี้ด้วยการลงมือสังหาร เธอยังมีทางออกจากสถานการณ์นี้อีกตั้งมากมาย เช่นหนีออกจากที่เกิดเหตุก็ได้ แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูใส่ซื่อบริสุทธิ์ ที่ผ่านการรังสรรค์โดยทนายคราวเดอร์นั้นก็ดูจะได้ผลดี เมื่อแคนดี้ยืนกรานแก้ต่างว่าเธอทำไปเพราะเป็นการป้องกันตัว ก็ดูจะสร้างความน่าเชื่อถือต่อคณะลูกขุนอย่างได้ผลดี
ชีวิตหลังพ้นผิดจากคดีฆาตกรรม
วันที่ 30 ตุลาคม 1980 คณะลูกขุนลงความเห็นว่า แคนดี้ มอนต์โกเมอร์รี “ไม่มีความผิด” ในคดีฆาตกรรม เบ็ตตี้ กอร์ หลังพ้นโทษในคดีฆาตกรรม เธอกับสามีก็ย้ายไปอยู่ที่จอร์เจีย แม้ว่าแพตจะยืนหยัดเคียงข้างแคนดี้อยู่ตลอดเวลาที่เธอต้องผชิญคดีความ แต่กลายเป็นว่าหลังย้ายไปตั้งรกรากใหม่แล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ไม่ยั่งยืน หลังจากนั้นไม่นานแพตและแคนดี้ก็หย่าขาดจากกัน
ในปี 1996 แคนดี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แคนเดซ วีเลอร์ และเริ่มอาชีพใหม่เป็น นักบำบัดสุขภาพจิต ซึ่งดูจะเป็นอาชีพที่ขัดกับอดีตของคนที่เคยก่อเหตุฆาตกรรมรุนแรงมา และน่าจะมีผลต่อความเชื่อถือจากลูกค้าบางส่วน แต่ก็เป็นข้อยืนยันว่า แคนดี้สามารถทิ้งอดีตของเธอไว้เบื้องหลังและเดินหน้ากับชีวิตใหม่ได้อย่างเต็มที่
ที่มา : people today nickiswift