Oppenheimer ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่ 11 ของ เสด็จพ่อคริสโตเฟอร์ โนแลน หลังจากผ่านงานกำกับมาหลากหลายแนวทั้ง อาชญากรรม, ซูเปอร์ฮีโร, ไซไฟ รอบนี้ โนแลนเปลี่ยนแนวมาจับหนังชีวประวัติดูบ้าง โดยเลือกเล่าเรื่องราวของ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) ผู้ประดิษฐ์คิดค้นระเบิดปรมาณู ซึ่งมอบหมายให้ คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) นักแสดงขาประจำของโนแลนมารับบทนำเป็นออพเพนไฮเมอร์ หลังจากที่มีการปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ชมได้อย่างมาก
นอกจากรายละเอียดต่าง ๆ ที่เผยมาในตัวอย่างหนังที่ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ชมต้องร้องว้าว ! ไปตาม ๆ กันแล้ว ก็ยังมีจุดหนึ่งที่สะดุดความสนใจผู้ชมได้อย่างมาก ก็คือการที่โนแลนเล่นกับสีของหนัง ด้วยการสลับไปมาระหว่างภาพสีจริงและภาพขาว-ดำ ซึ่งในช่วงนี้ที่โนแลนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์หนังของเขานั้น โนแลนก็ได้ตอบข้อสงสัยในเรื่องการใช้สีนี้ว่า เขาต้องการใช้สีสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมอง ซึ่งเขาให้ความสำคัญในจุดนี้มาตั้งแต่แรก และได้เขียนลงไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย
“ผมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ผ่านมุมมองของบุคคลที่ 1 ซึ่งผมไม่เคยเขียนแนวนี้มาก่อนเลย แล้วผมก็ไม่รู้ด้วยว่าคนอื่นเคยทำกันแบบนี้ไหม หรือว่าเป็นเรื่องที่คนอื่น ๆ เขาทำกันหรือไม่ หนังเรื่องนี้นำเสนอมุมมองทั้งจากบุคคลที่ 1 และมุมมองของบุคคลรอบข้าง ฉากที่เป็นสีสันปกติธรรมดานั้นสื่อมุมมองของบุคคลที่ 1 ส่วนฉากขาว-ดำ นั้นสื่อว่าเป็นมุมมองของบุคคลอื่น ผมเขียนบทภาพยนตร์โดยกำหนดให้ฉากที่มีสีสันแทนสายตาของบุคคลที่ 1 นักแสดงจะอ่านบทฉบับนี้ แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็มองว่ามันเป็นงานที่ท้าทายเหมือนกันนะ”
อาจจะกล่าวได้ว่า Oppenheimer เป็นหนังในแนวลึกลับ และด้วยความที่หนังออกมาในแนวนี้นี่แหละ ที่ทำให้ทางผู้สร้างถึงกล้าส่งหนังลงฉายในช่วงซัมเมอร์ ที่จัดว่าเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดของฮอลลีวูด แต่ตลอดช่วงที่โปรโมตหนัง โนแลนก็ทยอยหยอดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ ให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่แฟน ๆ ถึงหนังชีวประวัติฟอร์มใหญ่เรื่องนี้
ย้อนไปในเดือนพฤศจิกายน 2022 นั้น ก็เป็นครั้งแรกที่โนแลนได้เผยว่าหนัง Oppenheimer จะตัดสลับไปมาระหว่างฉากที่มีสีสันและฉากที่เป็นโทนสีขาว-ดำ สำหรับแฟน ๆ เดนตายของโนแลนแล้ว น่าจะจำกันได้ว่าเขาเคยใช้เทคนิคนี้มาแล้วใน Memento หนังยาวเรื่องแรก ๆ ของเขา ซึ่งในเรื่องนั้นโนแลนใช้ฉากขาว-ดำ สำหรับช่วงเวลาที่เดินหน้าไปอย่างปกติ และฉากที่มีสีสันจะเป็นฉากที่ย้อนเวลา แต่สำหรับ Oppenheimer แล้ว โนแลนจะเลือกใช้ฉากสีและขาว-ดำ นี้สื่อในเรื่องมุมมองของตัวละครแทน ก็นับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับแฟน ๆ ที่เคยสับสนกับหนังอย่าง Memento หรือ TENET มาแล้ว พอมาถึง Oppenheimer ก็น่าจะดูแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น
แต่เรื่องที่โนแลนเปิดเผยเกี่ยวกับเบื้องหลังงานสร้าง Oppenheimer ที่ฟังแล้วชวนให้อึ้ง ทึ่ง ว้าว มากที่สุด ก็คือตอนที่โนแลนเผยว่า เขาถ่ายทำฉากทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ โดยไม่ใช้เทคนิค CGI ช่วยเลย โนแลนยืนกรานว่า เขาต้องการถ่ายทำ Oppenheimer ด้วยการถ่ายทำจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพึ่งพาเทคนิค CGI ให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการสร้างห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Los Alamos ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติปกติของโนแลนอยู่แล้ว แต่สำหรับ Oppenheimer นั้น ดูเหมือนจะเป็นการยกระดับงานถ่ายทำด้วยความสมจริงขึ้นไปอีกขั้น จนโนแลนเอ่ยปากเลยว่า “นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ในการถ่ายทำด้วยเทคนิคจริง” คอยพบกับงานภาพยนตร์ที่เป็นอีกก้าวสำคัญของ คริสโตเฟอร์ โนแลน พร้อมกัน 20 กรกฎาคมนี้ครับ
ที่มา : screenrant