หลัง ‘Bumblebee’ ออกฉาย แฟรนไชส์หนังสงครามจักรกลสังหาร ‘Transformers’ ก็ห่างหายไปจากฮอลลีวูดจนทำเอาหลายคนแทบจะลืมเลือนชื่อหุ่นยนต์ออโตบอต (Autobot) และดีเซปติคอน (Decepticon) ไปตามกาลเวลา บทความนี้ขอพาไปย้อนความทรงจำ กับ 10 เกร็ดเบื้องหลังแฟรนไชส์หนัง ‘Transformers’ ต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของแฟรนไชส์ใน ‘Transformers: Rise of the Beasts’
สตีเวน สปิลเบิร์ก จุดกำเนิดหนัง ‘Transformers’
จากของเล่นหุ่นยนต์ ที่ร่วมกันผลิตโดย 2 บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัท แฮสโบร (Hasbro) ของสหรัฐอเมริกา และ ทาการะ โทมี (Takara Tomy) ของญี่ปุ่น ในปี 1984 ก็ได้มีการต่อยอดออกมาทั้งในรูปแบบหนังสือการ์ตูน การ์ตูนทีวี จนกระทั่งมาถึงเวอร์ชันหนังไลฟ์แอ็กชันในปี 2007
โดยในปี 2003 แฮสโบร ตั้งใจจะเอาของเล่นทหารอย่าง ‘GI:Joe’ มาสร้างก่อน แต่ด้วยผลกระทบจากสงครามอิรักในเวลานั้น แฮสโบรจึงหันไปสร้าง ‘Transformers’ แทน โดยได้แฟนการ์ตูนตัวจริงอย่าง สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) มานั่งแท่นผู้อำนวยการสร้างบริหาร
และให้ โรแบร์โต ออร์ซี (Roberto Orcí) และ อเล็กซ์ เคิร์ตซ์แมน (Alex Kurtzman) มาแก้ไขบท จากเดิมที่เป็นการต่อสู้กันของหุ่นออโต้บอต 4 ตัว ปะทะกับดีเซปติคอน 4 ตัว สปีลเบิร์กได้แนะนำให้ปรับเป็นเรื่องราวของเด็กชาย กับรถยนต์ที่กลายเป็นหุ่นยนต์เอเลี่ยนได้ ที่สื่อถึงเรื่องราวของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นพล็อตหนังในภาคแรก ที่ว่าด้วยเรื่องของ แซม วิทวิกกี นำแสดงโดย ไซอา ลาบัฟ (Shia LaBeouf) กับรถยนต์ ‘Chevrolet Camaro’ คันแรกในชีวิต และ มิเคลา เพื่อนสาวสุดฮอต ที่นำแสดงโดย เมแกน ฟ็อกซ์ (Megan Fox)
ไมเคิล เบย์ เคยปฏิเสธกำกับหนัง ‘Transformers’
‘Transformers’ ถือเป็นหนึ่งในผลงานกำกับหนังระเบิดเขาเผากระท่อมของ ไมเคิล เบย์’ (Michael Bay) แต่เชื่อหรือไม่ว่า เขาเกือบจะปฏิเสธการกำกับหนังแฟรนไชส์นี้ไปแล้ว เรื่องเริ่มต้นในปี 2005 หลังจากที่สปีลเบิร์กได้เข้ามาดูแลบทจนเป็นที่เรียบร้อย พ่อมดฮอลลีวูดจึงได้โทรตามศิษย์ก้นกุฏิอย่าง ไมเคิล เบย์ ที่เคยเป็นเด็กฝึกงานในทีม Storyboard กองถ่ายหนัง ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ (1981) มาก่อน เทียบเชิญให้เขามานั่งแท่นกำกับ
แต่ป๋าเบย์กลับปฏิเสธ เพราะมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นเพียงหนังของเล่นโง่ ๆ แต่ด้วยความที่เขาเองก็อยากร่วมงานกับสปีลเบิร์ก อยากลองชิมลางกำกับหนังครอบครัว และเขาเองก็ชื่นชอบเรื่องรถยนต์อยู่เป็นทุนเดิม ก็เลยลองไปเยี่ยมชมสำนักงานบริษัทแฮสโบรตามคำเชิญ ทำให้เบย์ ผู้ไม่คุ้นเคยกับ ‘Transformers’ มาก่อน จินตนาการภาพของหุ่นยนต์ยักษ์ที่มีชีวิตจริงขึ้นมา และทำให้เขาตัดสินใจตอบตกลงที่จะมากำกับให้ พร้อมกับแก้บทภาคแรกอย่างที่เราได้ดูกันใน ‘Transformers’ (2007)
ไซอา ลาบัฟ และ เมแกน ฟ็อกซ์ กับเหตุผลที่ไม่ได้กลับมาแสดงต่อ
อีกสิ่งที่หลายคนจำได้ในแฟรนไชส์นี้ก็คือ ข่าวดราม่าการไม่ได้กลับมาแสดงต่อ ของบรรดานักแสดงนำ เริ่มตั้งแต่นักแสดงสุดติสต์ ไซอา ลาบัฟ ที่รับบทเป็น แซม วิทวิคกี ที่ตอนแรก ไมเคิล เบย์ ไม่อยากได้เขามาแสดง เนื่องจากแก่เกินไปที่จะแสดงเป็นวัยรุ่น แต่เขาก็ออดิชันด้วยการแปลงโฉมจนกลายเป็นเด็กมัธยมได้จริง ๆ
แต่หลังจากที่เขาสร้างชื่อกับบทนี้ใน 3 ภาคแรก เขาก็ประกาศฟ้าผ่าว่า จะไม่กลับมารับบทในภาค 4 อีก หลังเปิดตัวภาค 3 ‘Dark of the Moon’ ไปได้ไม่นาน พร้อมทั้งมีข่าวลือว่า เขาเองไม่ชอบหนังเรื่องนี้ และไม่ชอบการทำงานกับหนังบล็อกบัสเตอร์ และมักทะเลาะกับเบย์อย่างหนัก เขาจึงกัดฟันแสดงไปจนครบ 3 ภาคตามสัญญา
ส่วนนักแสดงอีกคนที่เล่นเอาหนุ่ม ๆ เสียดายก็คือ เมแกน ฟ็อกซ์ เจ้าของบท มิเคลา บาร์นส์ สาวมอเตอร์ไซค์สุดเซ็กซี่ ที่ร่วมแสดงใน 2 ภาคแรก จนกระทั่งเธอได้ให้สัมภาษณ์พาดพิงเบย์ว่า เขาเป็นฮิตเลอร์ในกองถ่าย แม้เบย์เองจะเข้าใจเธอจนวางแผนให้แสดงภาค 3 ต่อ แต่สุดท้าย เบย์ได้เผยว่า คนที่ตัดสินใจตัดเธอออกจากหนังภาค ‘Dark of the Moon’ ก็คือ ผู้อำนวยการสร้างอย่างสปีลเบิร์กนั่นเอง
บรรดานักแสดงที่เกือบได้แสดงในแฟรนไชส์ ‘Transformers’
หลังจากที่ลาบัฟได้ลาจากแฟรนไชส์ไปในภาค 3 พอถึงภาค 4 หรือ ‘Transformers: Age of Extinction’ ตัวหนังก็ต้องเล่าเรื่องราวผ่านพระเอกคนใหม่ นั่นก็คือ เคด เยเกอร์ นักประดิษฐ์ผู้ชุบชีวิต ออปติมัส ไพร์ม (Optimus Prime) โดยบทบาทนี้เคยถูกเสนอให้กับแอ็กชันสตาร์สุดล่ำ ดเวย์น จอห์นสัน (Dwayne Johnson) แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เพราะคิวชนกับหนังเรื่อง ‘Hercules’ (2014)
จนสุดท้ายก็ได้ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) มารับบทนี้ ส่วนบท มิเคลา ก่อนตกเป็นของเมแกน ฟ็อกซ์ ก็เคยมีนักแสดงหญิงดัง ๆ มาออดิชัน ทั้ง อะแมนดา ไซเฟรด (Amanda Seyfried) และ เอ็มมา สโตน (Emma Stone) และ ลีโอ สปิทซ์ เพื่อนมหาวิทยาลัยของแซม ก็เกือบได้ โจนาห์ ฮิลล์ (Jonah Hill) มารับบทนี้ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไป
นอกจากนี้ยังมีชื่อของนักแสดงสาว เบลก ไลฟ์ลี (Blake Lively) ที่เคยถูกเสนอให้รับบท คาร์ลี สเปนเซอร์ แต่สุดท้าย บทนี้ก็ตกเป็นของ โรซี ฮัลติงตัน ไวท์ลีย์ (Rosie Huntington-Whiteley) นางแบบชุดชั้นใน Victoria Secret แฟนสาวของหนุ่ม เจสัน สเตแธม (Jason Statham) มารับบทนางเอกคนใหม่แทน แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อน แต่ป๋าเบย์ประทับใจนางแบบคนนี้ ตอนที่เขากำกับหนังโฆษณา Victoria Secret จึงได้ชวนมาออดิชัน และได้รับบทแฟนใหม่ของแซมไปในที่สุด
ไมเคิล เบย์ เกือบถูกทำร้ายระหว่างถ่ายทำ ‘Transformers 4’
แม้ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหนัง แต่ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ที่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้จริง ๆ เพราะในภาค ‘Age of Extinction’ วางแผนว่าจะเจาะตลาดจีนแบบจริงจัง ทั้งการร่วมทุนกับประเทศจีน มีนักแสดงจีนร่วมงานครั้งแรก และถ่ายทำในฮ่องกง โดยวันแรกที่ถ่ายทำ กองถ่ายต้องปิดถนน และจ่ายค่าชดเชยให้กับร้านค้าบริเวณใกล้เคียง แต่กลับมีกลุ่มชายลึกลับ 2-3 คน บุกเข้ามาทะเลาะกับทีมงาน และข่มขู่เพื่อเรียกร้องเงินมากกว่ายอดที่กองถ่ายจ่ายชดเชย 4 เท่า เพื่อแลกกับการไม่ก่อกวนระหว่างถ่ายทำ
โดยเบย์ได้เข้าไปบอกว่าจะไม่จ่ายเงินเด็ดขาด จนกระทั่งคนกลุ่มเดิมได้กลับมาอีกครั้ง และขว้างชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศชิ้นยาวมาที่เบย์ พร้อมจะบุกเข้าทำร้าย โชคดีที่เบย์หลบทัน จนในที่สุด ชายคนดังกล่าวก็โดนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าควบคุมตัวไว้ได้ โชคยังดีที่เบย์ รวมทั้งบรรดาทีมงานและนักแสดง ไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ
ตัวหนังได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจสังเกตว่า ในแฟรนไชส์ ‘Transformers’ นั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับทหารในแต่ละภาคไม่มากก็น้อย ซึ่งนั้นก็เป็นความต้องการของป๋าเบย์เอง ที่ต้องการใส่เรื่องราวเกี่ยวกับทหารเข้าไปในหนัง ไม่ใช่เพียงแค่อยากใส่ฉากการร่วมมือสู้รบกับหุ่นออโต้บอตจากการรุกรานของดีเซปติคอน แต่เพราะเขาเองต้องการจะควบคุมงบประมาณการสร้างหนังให้ไม่บานปลายด้วย
เขาเลยใช้คอนเน็กชันที่มีมาตั้งแต่สมัยกำกับหนัง ‘Pearl Harbour’ (2001) ติดต่อกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อขอการสนับสนุน ทั้งยุทโธปกรณ์และยานพาหนะทางทหาร ทั้งรถยนต์ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินขนส่ง เฮลิคอปเตอร์ รถถัง เรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือโฮเวอร์คราฟต์ เพื่อความสมจริงโดยคิดค่าเช่าในราคากันเอง เท่านั้นยังไม่พอ ยังได้มีการยืมทหารจากเหล่าทัพมาร่วมแสดง และยืมชุดยูนิฟอร์มของจริงมาใช้เข้าฉากด้วยอีกต่างหาก
นอกจากนี้ ในระหว่างถ่ายทำภาค ‘Revenge of the Fallen’ ที่ประเทศจอร์แดน ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศของจอร์แดน โดยการสนับสนุนของราชวงศ์จอร์แดนที่เป็นแฟนตัวยงหนังแฟรนไชส์นี้อีกด้วย
งานซีจีที่ต้องใช้เวลานานถึง 72 ชั่วโมงในการสร้าง
แม้สปีลเบิร์กจะเป็นคนแนะนำให้เบย์ใช้การถ่ายทำ ‘Transformers’ ด้วยเอฟเฟกต์จริง ๆ และลดการใช้ซีจีให้น้อยที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น เบย์และทีมงานก็ยังต้องใช้วิชวลกราฟิกเป็นจำนวนมากอยู่ดี โดยทีม Animator จากบริษัท Industrial Light & Magic หรือ ILM เผยว่า ในทุก ๆ ฉากแปลงร่างของบรรดาหุ่นยนต์ จะเป็นการเรนเดอร์ขึ้นใหม่ ผ่านชิ้นส่วนโมเดลนับพัน ๆ ชิ้น ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ความเร็ว ภูมิประเทศในซีนนั้น ๆ เพื่อให้ออกมาดูสมจริงมากที่สุด
ทำให้ในแต่ละเฟรม ILM ต้องใช้เวลามากถึง 38 ชั่วโมงในการเรนเดอร์ ส่วนภาพในระบบ IMAX ก็ต้องใช้เวลานานถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งฉากที่ใช้เวลาเรนเดอร์นานที่สุดคือ ฉากหุ่นยนต์นักเจาะ ดริลเลอร์ (Driller) ในภาค ‘Dark of the Moon’ ที่มีองค์ประกอบมากถึง 70,000 ชิ้น และเป็นระบบ 3 มิติ ILM จึงต้องระดมสรรพกำลังคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในการทำ Render Farm เพื่อสร้างฉากนี้ชึ้นมา โดยใช้เวลา 122 ชั่วโมง และ 288 ชั่วโมงในฉากถล่มตึกระฟ้า
ทำสถิติรถยนต์ถูกทำลายมากที่สุดในโลก
พอเป็นหนังที่กำกับโดย ไมเคิล เบย์ ก็ต้องนึกถึงความวินาศสันตะโร ระเบิดภูเขาเผากระท่อมแบบไม่พึ่งพาซีจีให้เหนื่อย แต่เป็นการระเบิดวัตถุในฉากจริง ๆ และการระเบิดก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ภาค โดยในภาคแรก มีการระเบิดไปทั้งหมด 132 ครั้ง ภาค ‘Revenge of the Fallen’ ระเบิด 197 ครั้ง ภาค ‘The Last Knight’ 226 ครั้ง ภาค ‘Age of Extinction’ 339 ครั้ง และภาค ‘Dark of the Moon’ ที่จัดเต็มความวินาศสันตะโร ด้วยจำนวนการระเบิดมากถึง 380 ครั้ง
นอกจากนี้ ภาคนี้ยังได้รับการบันทึกใน Guinness World Records ว่า เป็นหนังที่มีรถยนต์ถูกทำลายมากที่สุดถึง 532 คัน ซึ่งมากกว่ารถยนต์ที่ถูกพังยับในแฟรนไชส์ ‘Fast & Furious’ ซะอีก โดยรถยนต์ทั้งหมด กองถ่ายได้รับมาจากบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นรถที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจนไม่สามารถซ่อมได้อีกต่อไป เลยต้องมาถูกระเบิดในหนังเรื่องนี้แทน
บัมเบิลบี เคยเป็นรถโฟล์กสวาเกนมาก่อน
สาวก ‘Transformers’ ทั้งเวอร์ชันหนังสือและการ์ตูน คงพอคุ้นเคยกับเจ้าหุ่นตะน้อนสีเหลืองที่มีชื่อว่า บัมเบิลบี (Bumblebee) ที่มาพร้อมร่างรถเต่า หรือโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) แต่ในหนัง ได้มีการเปลี่ยนร่างรถของบัมเบิ้ลบี ไปเป็น Chevrolet Camaro ซึ่งเหตุผลของการเปลี่ยนรถยนต์ก็มีหลายเหตุผล ทั้งการที่บริษัทโฟล์กสวาเกน ไม่ต้องการให้รถของตัวเองมาอยู่ในหนังสู้รบรุนแรง
ส่วนไมเคิล เบย์ ผู้กำกับ ก็ต้องการเปลี่ยน เพราะกลัวจะซ้ำกับตัวละครรถเต่าอย่าง ‘Herbie’ ของ Disney นั่นเอง และการเปลี่ยนจากรถเต่าสุดน่ารัก ไปเป็นรถมัสเซิลคาร์สุดเท่ เพราะเบย์ต้องการเปลี่ยนภาพจากตัวละครสมทบจากในการ์ตูน ให้ดูมีความแข็งแกร่ง โฉบเฉี่ยว แต่ยังดูเป็นมิตร ซึ่งทั้งในหนัง ‘Transformers’ (2007) และในสปินออฟ ‘Bumblebee’ (2018) เราก็ยังจะได้เห็นรถเต่าสีเหลือง เป็น Easter Eggs สื่อถึงเจ้าบัมเบิ้ลบีเวอร์ชันรถเต่าให้ได้ระลึกถึงด้วย
หุ่น Autobot ในหนัง อ้างอิงจากบุคลิกดาราดัง
ถ้าใครที่ดูหนังทุกภาคมาโดยตลอด ก็จะพอสังเกตได้ว่า หุ่นของฝั่งออโต้บอตนั้นล้วนมีบุคลิกที่คล้ายคลึงกับมนุษย์มากกว่าฝั่งดีเซปติคอนที่มีความลึกลับมากกว่า โดยเบื้องหลังการออกแบบของเหล่าหุ่นออโต้บอตนั้น ล้วนแต่อ้างอิงมาจากบุคลิกของดาราฮอลลีวูดชื่อดังทั้งสิ้น ซึ่งตัวละครแรกก็คือ หุ่นผู้นำของออโต้บอตอย่าง ออปติมัส ไพรม์ ที่ ไมเคิล เบย์ เปิดเผยว่า เขาได้นำเอาบุคลิกมาจากแอ็กชันสตาร์อย่าง เลียม นีสัน (Liam Neeson)
โดยเขาได้ให้ทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์ ดูหนังที่ เลียม นีสัน แสดง เพื่อทำการบ้าน เก็บรายละเอียดทั้งการเคลื่อนไหวและภาษากายของนีสันมาใช้เป็นต้นแบบ ส่วนบุคลิกของเจ้าบัมเบิ้ลบี ก็มีที่มาจากตัวละคร มาร์ตี้ แม็คฟลาย ตัวละครจากหนังไซไฟ ‘Back to the Future’ ที่แสดงโดย ไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox) นั่นเอง โดยเฉพาะท่าทางการเดินขาโก่ง ๆ หรือบุคลิกสบาย ๆ ตอนอยู่กับเพื่อนรัก แซม วิตวิกกี้ ส่วนหุ่นรุ่นพี่ เซนติเนล ไพร์ม (Sentinel Prime) ก็มีต้นแบบมาจากนักแสดงระดับตำนาน เซอร์ ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) นั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส