ต่อให้คุณไม่ใช่คอเพลงสากลยุค 90’s ต่อให้คุณไม่ใช่สาวก Guns N’ Roses เราก็เชื่อว่ามิวสิกวิดีโอเพลง ‘November Rain’ น่าจะเคยผ่านสายตาคุณมาแล้วสักครั้งหรือสองครั้ง และคุณน่าจะจำภาพเจ้าสาวแสนสวยในงานแต่งงานได้ หรืออาจจะจำภาพ สเตฟานี ซีย์มัวร์ (Stephanie Seymour) นางแบบสุดเซ็กซี่แห่งยุคนั้น นอนอยู่ในโลงมีผ้าปิดครึ่งหน้า หรือภาพผู้ชายผมยาวคนหนึ่งพุ่งตัวโจนเข้าใส่เค้กแต่งงานทรงสูง หรือฉากเท่ ๆ ที่ สแลชยืนลีดกีตาร์หน้าโบสถ์กลางทะเลทราย
เมื่อปี 1992 หรือ 31 ปีที่แล้ว ‘November Rain’ ออกอากาศครั้งแรกผ่านทางรายการ “Headbangers Ball” ของ MTV และออกอากาศอีกครั้งในคืนนั้นทางช่อง FOX เป็นเพลงร็อกโอเปราที่มีความยาวถึง 9 นาที แอ็กเซิล โรส (Axl Rose) นักร้องนำของวงแสดงนำเองในมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ประกบคู่กับ สเตฟานี ซีย์มัวร์ นางแบบสาว ซึ่งคบหากับโรสอยู่ในช่วงนั้น บางคนอาจจะดูเพลงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายรอบ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครเข้าใจเนื้อหาของมิวสิกวีดีโอเพลงนี้ ที่เต็มไปด้วยปริศนามากมาย “ทำไมเจ้าสาวถึงตาย” “ชายคนนั้นกระโดดใส่เค้กทำไม ?” หรืออาจจะมีข้อกังขาว่า “นี่หรือคือมิวสิกวิดีโอที่หลายสื่อยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล”
มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ปลุกกระแสความนิยมอย่างรวดเร็วบนช่อง MTV และมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายซิงเกิลได้อย่างมาก ด้วยเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของเพลงนี้ ที่เปลี่ยนจากเพลงบัลลาดกลายเป็นเมตัลในนาทีที่ 7 ของเพลง ส่งผลให้เพลงพุ่งไปได้ถึงอันดับ 3 บนชาร์ต เป็นรองแค่ ‘End of the Road’ ของ Boyz II Men และ ‘Baby Baby Baby’ ของ TLC
เป็นเพลงที่ 2 ใน 3 เพลงที่เป็นมิวสิกวิดีโอกึ่งไตรภาคที่กำกับโดย แอนดี้ โมราฮาน (Andy Morahan) เพลงแรกคือ ‘Don’t Cry’ ที่หลายคนน่าจะจำฉาก สแลชขับรถพุ่งตกหน้าผา และปิดท้ายด้วย ‘Estranged’ เพลงนี้มีฉากโดดเด่นคือ แอกเซิล โรส กระโดดลงจากเรือบรรทุกน้ำมันลงไปว่ายน้ำเล่นกับปลาโลมา หลัง มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ ฮิตสุดขีด เดล เจมส์ (Del James) เพื่อนสนิทของ แอกเซิล โรส และเป็นผู้จัดการการเดินทางของวง ก็เขียนนิยายเรื่องสั้นออกมาในชื่อ ‘Withou You’ เขียนขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากมิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’
ใช้ทุนในการถ่ายทำสูงถึง 1.5 ล้านเหรียญ ขึ้นแท่นมิวสิกวิดีโอที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในวันนั้น (ถูก ‘Remember the Time’ ของ ไมเคิล แจ็กสัน ทำลายสถิติอย่างรวดเร็วในปีเดียวกัน ด้วยทุนสร้าง 2 ล้านเหรียญ) แม้แฟนเพลงจะชื่นชอบมิวสิกวิดีโอนี้อย่างมาก แต่ก็ไม่เป็นที่ถูกใจต่อนักวิจารณ์เชิงอนุรักษ์นิยมนัก พวกเขาชี้ว่าเต็มไปด้วยภาพของการเสพสุข และผู้หญิงในมิวสิกวิดีโอก็ปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนเกินงาม แล้วยังถูกหยิบไปเปรียบเทียบกับมิวสิกวิดีโอ ‘Smells Like Teen Spirit’ ของ Nirvana ที่เรียบง่ายและใช้ทุนต่ำ ซึ่งออกมาก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้มิวสิกวิดีโอได้รับการพูดถึงมาก ก็คือพฤติกรรมของ แอกเซิล โรส ที่สร้างข่าวอื้อฉาวในช่วงนั้นแบบถี่ ๆ
เดฟ โกรห์ล (Dave Grohl) มือกลองของ Nirvana ในวันนั้น ยังออกมากล่าวพาดพิง Guns N’ Roses ในหนังสือ ‘I Want My MTV: The Uncensored Story of the Music Video Revolution’ โกรห์ลเปรียบเทียบ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’เหมือนกับ ‘รถไฟตกราง’ “เดี๋ยวนี้นักดนตรีเริ่มทำมิวสิกวิดีโอให้อออกมาเหมือน หนังสั้น กันแล้ว ผมว่าน่าจะพอกันได้แล้ว”
ดราม่า Gun N’ Roses กับ Nirvana
ด้วยกระแสความนิยมอย่างสูงของ ‘November Rain’ทำให้เกิดความคาดหวังบนเวทีแจกรางวัล “Video Music Awards” ในดือนกันยายนปีนั้น Guns N’ Roses ได้รับรางวัลใหญ่ “Michael Jackson Video Vanguard Award” ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัล lifetime achievement award บนเวทีออสการ์ แต่ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ กลับคว้าไปได้แค่รางวัล ‘ถ่ายภาพยอดเยี่ยม’ ส่วนรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมตกเป็นของ Van Halen เพลง ‘Right Now’ ส่วนเพลง ‘Smells Like Teen Spirit’ ของ Nirvana คว้าไปได้ 2 รางวัลใหญ่คือ Best Alternative Video และ Best New Artist in a Video นั่นเปรียบเสมือนสัญญาณที่บ่งบอกว่า กำลังจะหมดยุคของฮาร์ดร็อก และดนตรีกรันจ์กำลังเข้ามาแทนที่ จุดชนวนให้เกิดการปะทะฝีปากกันระหว่าง เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) จาก Nirvana และ แอกเซิล โรส ซึ่งเขม่นกันอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
ในพิธีมอบรางวัล แอกเซิล โรส และ สเตฟานี ซีย์มัวร์ เดินผ่าน เคิร์ต โคเบน และ คอร์ตนีย์ เลิฟ แฟนสาวของเขาซึ่งกำลังดูแล ฟรานเซล บีน โคเบน ลูกสาวที่เพิ่งเกิด พอเลิฟเห็นโรสเดินผ่านมา ก็เลยได้ทีเอ่ยปากแซวโรสว่า เป็นพ่อทูนหัวให้ฟรานเซสหน่อยได้ไหม ? โรสไม่โต้ตอบกับเลิฟ แต่หันไปตะคอกใส่โคเบนแทน “หุบปากนังตัวดีของแกซะ หรือไม่งั้นจะให้ฉันลากแกออกไปเจอกันที่ถนนก็ได้นะ!” เคิร์ตก็เลยได้ทีด่าใส่เลิฟ แต่เจตนาด่ากระทบโรสว่า “หุบปากแกซะ อีเลว!” มีข่าวลือว่า หลังจากนั้น ดัฟ แม็กคาแกน (Duff McKagan) มือเบสของ Guns N’ Roses ก็ปะทะฝีปากกันสั้น ๆ กับ คริสต์ โนโวเซลิช (Krist Novoselic) มือเบสของ Nirvana ด้วย จากนั้น Nirvana ก็ขึ้นแสดงสดบนเวทีด้วยการโชว์เพลง ‘Lithium’ พอจบเพลง เดฟ โกรห์ล ก็ได้ทีกระเซ้าใส่โรส ด้วยการพูดใส่ไมค์ซ้ำ ๆ ว่า “ไฮ แอกเซิล”
“November Rain เปรียบเหมือนไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายก่อนที่จะเจอกับวิกฤตอุกกาบาตพุ่งชนโลก แล้วอุกกาบาตลูกนั้นก็คือดนตรีกรันจ์ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการเพลงหลังจากนั้น” ไมค์ เซาท์ตัน ผู้ถ่ายภาพมิวสิกวิดีโอ November Rain ให้ความเห็น
ในปีนั้นทาง MTV ก็รับรู้ถึงกระแสความนิยมของมิวสิกวิดีโอที่เริ่มลดลง ทางช่องจึงได้ผุดรายการ “The Real World” ขึ้นมา และเริ่มแพร่ภาพได้ไม่กี่เดือนก่อนการเปิดตัวของ ‘November Rain’ จากนั้นทางช่องก็เริ่มแพร่ภาพมิวสิกวิดีโอลดลงเรื่อย ๆ และเริ่มแทนที่ด้วยรายการบันเทิงต่าง ๆ
แลนด์มาร์กแห่งยุค 90’s
แม้ว่า ‘November Rain’ จะถูกเปรียบเทียบเป็นสถานะต่าง ๆ นานา แต่คุณค่าในตัวมันก็ได้รับการพิสูจน์ในระยะเวลาเกือบ 30 ปีต่อมา ในปี 2018 ‘November Rain’ประกาศศักดาด้วยการครองตำแหน่ง มิวสิกวิดีโอที่ถือกำเนิดขึ้นก่อน YouTube แต่มียอดวิวเกิน 1,000 ล้านครั้งเป็นเพลงแรก (ยูทูบก่อตั้งปี 2005) ปัจจุบันเกิน 2,000 ล้านวิวไปแล้ว เป็นมิวสิกวิดีโอในยุค 80’s และ 90’s ที่มีผู้ชมมากที่สุด และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอันดับ มิวสิกวิดีโอที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล จัดอันดับโดย MTV (อันดับ 1 คือ . Nirvana – Smells Like Teen Spirit และอันดับ 2 คือ Michael Jackson – Thriller)
แม้ว่าวัฒนธรรมการชมมิวสิกวิดีโอบนจอทีวีจะหมดสิ้นไปแล้ว ช่องดนตรีอย่าง MTV หรือ Channel V ก็ได้รับความนิยมน้อยลง เพราะทุกวันนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงมิวสิกวิดีโอเพลงต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่แตะหน้าจอสมาร์ตโฟนแค่ไม่กี่ครั้ง บทบาทของมิวสิกวิดีโอก็มีอิทธิพลต่อยอดขายของเพลงน้อยลง แม้เป็นเช่นนั้น มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ จึงเป็นเหมือนบทพิสูจน์คุณค่าในตัวของมันเอง ว่าสามารถยืนยงคงกระพันผ่านยุคสมัยมาได้ แม้ในวันที่ผู้คนเสพสื่อในรูปแบบดิจิทัล แม้จะผ่านมายาวนาน แต่ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ ก็ยังถูกพูดถึง ถูกหยิบมาล้อเลียน นำมาใช้เป็นธีมในงานแต่งงาน เป็นหัวข้อสนทนาทางพอดแคสต์
โซเฟีย คอปโปลา ผู้กำกับชื่อดังเจ้าของหนัง ‘Lost in Translation’ ก็ยังเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชม มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ อย่างมาก ถึงกับติดต่อหา แอนดี้ โมราฮาน เพื่อขอซื้อสตอรี่บอร์ดต้นฉบับ เธอให้ความเห็นว่ามัน “ยิ่งใหญ่และมีเสน่ห์มาก” แม้กระทั่ง อดีตประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ เองก็ยังชักชวนให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวดู มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ ด้วยกันบ่อย ๆ เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นมิวสิกวิดีโอที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ถ้าเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ให้มองเห็นภาพมากขึ้น มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ก็เทียบได้กับ ‘Titanic’ แห่งวงการภาพยนตร์นั่นแหละ อาจจะดูเวอร์วังไปหน่อย เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ตลอดไป’ ก็อาจจะต้องยกเว้นให้กับ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’แล้วล่ะ
ผู้กำกับเจตนาทำให้มิวสิกวิดีโอออกมาดูคลุมเครือ
ในวันที่ Guns N’ Roses ติดต่อให้ แอนดี้ โมราฮาน มากำกับมิวสิกวิดีโอให้นั้น โมราฮานเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอระดับแถวหน้าของวงการแล้ว เขาเคยร่วมงานมาแล้วกับ เอลตัน จอห์น และ จอร์จ ไมเคิล และเป็นตัว แอกเซิล โรส เองที่ประทับใจกับมิวสิกวิดีโอ ‘Father Figure’ ของ จอร์จ ไมเคิล ที่เล่าเรื่องราวของนางแบบกับคนขับรถแท็กซี่ที่แอบมีสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ซึ่งโรสเองกำลังมองหาผู้กำกับที่น่าจะถ่ายทอดงานเพลงของเขาในอัลบั้ม “Use Your Illusion I & II” ออกมาเป็นภาพที่เต็มไปด้วยความรู้สึกได้ดี และเขาอยากจะทำมิวสิกวิดีโอต่อเนื่อง 3 เพลงเป็นไตรภาคอีกด้วย
อ้างอิงจากเรื่องสั้น “Without You” ที่ เดล เจมส์ เขียนโดยได้รับแรงบันดาลใจจากมิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ เล่าเรื่องราวของ เมย์น แมนน์ ที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว เขาเป็นร็อกสตาร์ผู้ที่มีชีวิตอย่างยากลำบาก (เป็นตัวละครที่มีต้นแบบมาจาก แอกเซิล โรส อย่างชัดเจน) เขาอยู่ในภาวะเศร้าโศกหลังพบว่าอดีตแฟนสาวของเขาฆ่าตัวตาย เรื่องสั้นนี้จบลงด้วยฉากที่ เมย์น แมนน์ เล่นเปียโนเพลง ‘Without You’ เพลงฮิตที่เขาเขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากการเลิกรากับแฟนสาว แล้วไฟก็เริ่มลุกไหม้คอนโดของเขา เรื่องสั้นนี้ถูกรวมไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘The Language of Fear’ ได้ แอกเซิล โรส มาเขียนคำนำไว้ว่า “ถ้าอ้างอิงโดยพื้นฐานแล้ว ผมคือตัวละครในเรื่องนั้น”
สรุปเนื้อหาแบบสั้น ๆ ของ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’
เรื่องราวเปิดฉากในห้องนอนที่มีเพียงแสงสลัว โรสกำลังกินยาเม็ดบางอย่างอยู่ ภาพตัดมาที่โรงละครที่เต็มไปด้วยผู้คนแน่นขนัด บนเวทีกำลังมีวงออเคสตร้าเต็มวงกำลังเล่นดนตรี ในขณะที่เนื้อหาทั้งหมดต่างดำเนินไปโดยไร้คำอธิบาย เรื่องราวก็เพิ่มความงุนงงเข้าไปอีกด้วยการตัดภาพไปที่โบสถ์อันสวยงาม ซีย์มัวร์ปรากฏตัวในชุดแต่งงานที่หรูหรา เธอกำลังเข้าพิธีแต่งงานกับโรส ทั้งคู่จุมพิตกันอย่างดูดดื่ม จากนั้นทั้งคู่ก็ขึ้นไปบนรถเปิดประทุนสีขาวแบบวินเทจ ห้อมล้อมไปด้วยผู้คนที่โปรยปรายกลีบดอกไม้เข้าใส่คู่บ่าวสาว ใบหน้าของซีย์มัวร์เผยให้เห็นว่าเธอไม่ได้รู้สึกดีนักกับความสัมพันธ์ในขณะนั้น
สแลชเดินออกจากพิธีสมรสมานอกโบสถ์ แล้วเริ่มโซโลกีตาร์ท่ามกลางดินแดนรกร้าง ขณะเดียวกันผู้คนที่กำลังโห่ร้องยินดีกับงานสมรส ก็ถูกขัดจังหวะด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้บรรดาแขกเหรื่อต้องวิ่งหลบฝนกัน พลันชายผู้หนึ่งก็โจนตัวเข้าใส่เค้กแต่งงาน ไวน์หก ดนตรีเปลี่ยนอารมณ์เป็นเมตัล เผยภาพซีย์มัวร์ที่กลายเป็นร่างไร้วิญญาณนอนสงบนิ่งในโลงศพ โรสหลั่งน้ำตาด้วยความโศกเศร้าเหนือหลุมศพในขณะที่สายฝนพรั่งพรายลงมา มีภาพแฟลชแบ็กกลับไปในงานแต่งงานอีกครั้ง ซีย์มัวร์โยนช่อดอกไม้ไปตกลงบนโลงศพ มีเลือดไหลออกจากดอกไม้เปลี่ยนจากดอกสีแดงเป็นดอกสีขาว
ภาพที่ถูกถ่ายทอดมาในมิวสิกวิดีโอนั้น มาจากวิสัยทัศน์ของ แอนดี้ โมราฮาน ผู้กำกับ ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Don’t Look Now’ ภาพยนตร์ปี 1973 ที่เขาประทับใจมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนภาพยนตร์ ผลงานกำกับของ นิโคลาส โรก (Nicolas Roeg) นำแสดงโดย จูลี คริสตี และ โดนัลด์ ซูเธอร์แลนด์ เป็นหนังที่ใช้ภาพเหตุการณ์ในอดีต และภาพในนิมิตมาเล่าเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่อยู่ในภาวะโศกเศร้า โมราฮานก็นำเอาแรงบันดาลใจจาก ‘Don’t Look Now’ มาผนวกเข้ากับ การบำบัดจิตใจด้วยศาสตร์ย้อนอดีต (Regression Therapy) ของ แอกเซิล โรส ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวเป็นเส้นตรง
เรื่องราวในมิวสิกวิดีโอจึงออกมาชวนงง ไม่มีการเปิดเผยว่าซีย์มัวร์ตายด้วยสาเหตุอันใด ทำไมต้องมีผ้าปิดหน้าเธอไว้ครึ่งหนึ่ง หรือจะเกี่ยวข้องกับเหตุวิวาทระหว่างเธอกับโรสในมิวสิกวิดีโอ ‘Don’t Cry’ ที่ออกมาก่อนหน้านั้น
“ปริศนาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้คนต้องคิดหาคำตอบเอาเอง ใบหน้าของเธอโดนอะไรจนหายไปครึ่งหนึ่งเลยรึเปล่า ? ใครจะรู้ได้ล่ะ แต่มันก็สร้างประเด็นที่ยอดเยี่ยมให้คนถกเถียงกันได้” แอนดี้ โมราฮาน กล่าว
และการสอดแทรกปริศนาคลุมเครือนี่แหละ ทำให้มิวสิกวิดีโอนี้ได้รับความนิยม แดเนียล เพิร์ล (Daniel Pearl) หนึ่งในสองช่างภาพที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอนี้ให้ความเห็นว่า
“เราตั้งใจทำให้ผู้ชมดูมากกว่าหนึ่งครั้งครับ เรื่องราวมันก็เลยออกมาคลุมเครือแบบนี้ มีความซับซ้อนสักหน่อย ฉะนั้นเมื่อคุณดูไปรอบที่ 3,4,5,6 คุณจะเจออะไรใหม่ ๆ มากขึ้น”
เบื้องหลังการถ่ายทำที่สุดวุ่นวาย
ผู้กำกับ แอนดี้ โมราฮาน คือตัวแทนที่ดีที่สุดที่จะเล่าได้ถึงปัญหาสารพันในช่วงที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ เพราะสมาชิกวงนั้นแต่ละคนก็เอาแต่ใจมาก
“พวกเขาจะถ่ายทำแค่ตอนกลางคืนเท่านั้น ไม่สนเลยว่าสคริปต์จะเขียนไว้ชัดเจนว่าถ่ายทำกันตอนกลางวัน แต่การที่พวกเขาจะไม่ปรากฎตัวจนกว่าจะพระอาทิตย์จะตกดินนั้น ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ลองอะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน”
ที่โมราฮานกล่าวเช่นนั้น เพราะเป็นโอกาสที่เขาจะได้ลองผิดลองถูกกับวิธีการต่าง ๆ หรือถ้าอยากจะให้พวกเขาถ่ายทำกับแสงแดดกลางวันได้ ก็ต้องดึงพวกเขาให้อยู่กับกองถ่ายไว้ตลอดทั้งคืน แต่โมราฮานก็ยอมรับว่า บางปัญหาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องเนื้อหาของมิวสิกวิดีโอบางช่วงก็ขาดความต่อเนื่องกัน อย่างเช่นฉากที่โรสไปยืนอยู่หน้าหลุมศพในตอนกลางคืน แต่พิธีศพน่ะจัดขึ้นในตอนกลางวัน
อีกเรื่องที่แสดงถึงความเอาแต่ใจของสมาชิกวง เปิดเผยโดย เซาธัน ช่างถ่ายภาพฉากเล่นดนตรีบนเวที ย้อนเล่าให้ฟังว่า ในวันถ่ายทำฉากนั้นในฮอลล์ เขาตั้งกล้องรอไว้แล้ว 8 ตัว มีนักแสดงตัวประกอบนับร้อยชีวิตมานั่งรอสมาชิก Guns N’ Roses
“ตอนนั้นประมาณตี 3 ได้แล้วมั้งครับ ที่ผู้ช่วยผู้กำกับเดินมาหาผมแล้วพูดว่า ‘โอเค พอ เลิก’ สรุปวันนั้นทั้งวันเราไม่ได้ถ่ายอะไรกันเลย”
ผ่านไปอีกสองสามวัน พวกเขาก็ต้องจัดฉากจัดกล้องจัดไฟกันอีกรอบในสถานที่ใหม่ แต่พอได้ฤกษ์เดินกล้อง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้ผลดี
“มันเป็นความโล่งใจแบบที่ไม่สามารถหาอะไรมาเปรียบได้เลยครับ” เซาธันเอ่ย
ฉากสแลชโซโลกีตาร์หน้าโบสถ์เป็นที่จดจำตลอดกาล
ต่อเนื่องจากฉากพิธีแต่งงานที่ถ่ายทำกันที่โบสถ์ เซนต์เบรนแดน ถนนแวนเนส ในซานฟรานซิสโก ฉากนี้สแลชเดินออกจากโบสถ์มาเพื่อดูดบุหรี่ จากนั้นกล้องก็เริ่มหมุนวนไปรอบตัวเขา แอนดี้ โมราฮาน ผู้กำกับที่นั่งจ้องจอมอนิเตอร์อยู่ ก็รู้สึกขึ้นได้ทันทีว่า ภาพที่สแลชเดินไปตามทางเดินในโบสถ์แล้วออกไปในโบสถ์นั้นจะเชื่อมต่อกับฉากโซโลหน้าโบสถ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
“มันสื่อให้เรารู้สึกได้ว่าเขาเดินออกประตูแล้วก้าวสู่ดินแดนที่อยู่ห่างไกล”
ฉากโซโลนี้ไปถ่ายทำกันที่โรงถ่ายเอาท์ดอร์ในนิวเม็กซิโก เป็นที่ที่เคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ ‘Silverado’ ปี 1985 ภายหลัง ทอม ฟอร์ด ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกก็ซื้อโรงถ่ายนี้ไปแล้วบูรณะด้วยการทาสีใหม่ ทุกวันนี้โรงถ่ายยังเปิดให้บริการอยู่
แดเนียล เพิร์ล ช่างภาพที่ถ่ายทำฉากนี้ ใช้อุปกรณ์มากมาย ใช้ทั้งเครน สเตดิแคม และเฮลิคอปเตอร์ “ตอนถ่ายฉากนี้ มันบินไปใกล้สแลชมากเลยครับ”
ระหว่างที่ถ่ายทำฉากสแลชโซโลกีตาร์นี้กันอยู่ แอนทัน คอร์บิจน์ (Anton Corbijn) ผู้กำกับอีกคนที่เป็นเพื่อนของโมราฮานก็แวะมาเยี่ยมชมกองถ่าย เขามองเห็นอุปกรณ์ทั้งหมด และทีมงานมากมาย ก็เลยถามโมราฮานว่า
“โอ้ พระเจ้า ทั้งหมดนี่คือใช้ถ่ายทำกันทั้งเพลงน่ะเหรอ” โมราฮานก็ตอบกลับไปว่า “เปล่านะ ที่เห็นนี่คือแค่ 30 วินาทีแค่นั้น มันบ้ามากใช่ไหมละ”
ที่มาของฉาก ‘ชายกระโจนเข้าใส่เค้ก’
ภาพรวม ๆ ทั้งหมดใน มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’นั้นล้วนมาจากวิสัยทัศน์ของโมราฮาน ยกเว้นภาพผู้ชายที่กระโจนเข้าใส่เค้กแต่งงานจนล้มคว่ำ
“แอกเซิลและผมอยากให้ได้ภาพงานแต่งงานที่เวอร์วัง เกินจริง ภาพรวมมันควรออกมาดูเหนือชั้น”
ฉากนี้ไปถ่ายทำกันที่ del Sol d’Oro เป็นวิลลาสไตล์ทัสคานียุค 20’s อยู่ในย่านเซียร์รามาราเดร แคลิฟอร์เนีย แล้วระหว่างถ่ายทำนั่นล่ะ ที่โรสเสนอความเห็นออกมาว่า
“ทำไมเราไม่ให้ใครพุ่งเข้าใส่เค้กด้วยล่ะ ?”
ก็จากคำเสนอแนะจากฟรอนต์แมนของวงนั้นล่ะ ที่ทำให้โมราฮานต้องเล่นตามน้ำไปด้วย
“ถ้าไม่มีผู้ดูแลด้านงานสตันท์ เราก็อาจถ่ายฉากนี้ไม่ได้หรอกนะ ที่จริงแล้วเราถ่ายมันเป็นช็อตสุดท้ายเลย ตอนนั้นผมก็คิดว่า มันจะอันตรายสักแค่ไหนกันนะ? “
ส่วน แดเนียล เพิร์ล ช่างถ่ายภาพยนตร์ คิดว่าฉากนี้มันดูไร้สาระ แล้วไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะไม่มีเค้กสำรอง พอถ่ายทำเสร็จแล้ว โมราฮานมานั่งดูเทปแล้วก็เห็นพ้องกับเพิร์ลว่ามันไม่ค่อยเข้าท่า ก็เลยตัดฉากนี้ออกไปจากมิวสิกวิดีโอ พอโรสเห็นว่าไม่มีฉากนี้ก็มาทวงถามอีก
“ไหนฉากเค้กง่ะ ?”
แดเนียล เพิร์ล กล่าวเสริมว่า “กลายเป็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาแล้ว เราทุกคนรักฉากนี้กัน ผู้คนก็พูดถึงมันมาตลอดทุกวันนี้ แต่สำหรับผมก็ยังรู้สึกว่ามันดูผิดที่ผิดทางอยู่ดี”
แต่สำหรับโมราฮาน จากที่กังวลในทีแรกแล้วตัดฉากนี้ออกไป ก็รู้สึกสบายใจขึ้น
“ตอนนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในตำนานร็อกแอนด์โรลไปแล้ว”
เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่ผู้คนยังจดจำอยู่เกี่ยวกับ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ก็คือบรรยากาศของความลึกลับ และเรื่องราวที่รุนแรงลึกซึ้งที่พยายามจะสื่อออกมา แต่ไม่มีใครสนใจแล้วว่าทีมงานไปถ่ายทำกันที่ไหน ไม่มีใครตามหาตารางการถ่ายทำแล้ว ชุดแต่งงานที่ สเตฟานีย์ ซีย์มัวร์ สวมนั้นก็ได้รับความนิยมอยู่พักใหญ่ ถูกทำก๊อปออกมามากมาย แต่ไม่มีใครจดจำชื่อของ คาร์เมลา ซูเทรา ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดได้ และไม่มีใครสนใจว่าเธอเป็นใครอยู่ที่ไหน
ในช่วงหนึ่งมีการสืบหากันว่า ใครคือชายผมยาวที่พุ่งตัวกระโจนเข้าใส่เค้กแต่งงาน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายคนเชื่อว่าเขาคือ ริกิ แรชต์แมน พิธีกรรายการ “Headbangers Ball” ของ MTV แต่แล้วเจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เขา
November Rain universe
โรบิน ปีเตอริง และ ทารา รีดเดอร์ เจ้าของรายการพอดแคสต์ “Nothing Lasts Forever” ที่จัดขึ้นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด พวกเขาใช้เวลาช่วงยาว ๆ ของรายการพูดกันแต่เรื่องของ ‘November Rain’ เรียกช่วงนี้ของรายการว่า “November Rain universe” มีการพูดถึงชายที่กระโจนเข้าใส่เค้กแต่งงาน คาดเดาว่าเขาน่าจะเป็นนักดนตรีคนหนึ่งชื่อว่า “สตีฟ” แต่ไม่มีใครจำนามสกุลได้ เขาผู้นี้เป็นลูกค้าประจำที่ร้าน Rainbow Bar & Grill ในยุค 90’s อาชีพเสริมของเขาในช่วงนั้นก็คือ “Extra” หรือ “นักแสดงตัวประกอบ” ที่มักรับบทเป็น ร็อกเกอร์ ในมิวสิกวิดีโอ
รายการพอดแคสต์ช่วง “November Rain universe” กินเวลาต่อเนื่องเกือบ 2 ปี มีทั้งหมด 12 ตอน ปีเตอริงและรีดเดอร์ วิเคราะห์ถึงแง่มุมต่าง ๆ ของ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ ว่าสมควรกับตำแหน่ง มิวสิกวิดีโอที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่างที่ อดีตประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ยกย่องไว้หรือไม่ หลังจบรายการพอดแคสต์ชุดนี้ไปแล้ว ก็เชื่อกันว่า ปีเตอร์และรีดเดอร์น่าจะเป็นบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกวง Guns N’ Roses ที่รู้รายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ มากที่สุดแล้ว
ทั้งคู่ไม่ได้ฟันธงว่า ‘November Rain’เป็นมิวสิกวิดีโอที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่รีดเดอร์สรุปว่า
“มันเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่มีร่วมกันของผู้คนในยุคนั้น ใครก็ตามที่เกิดในช่วงปี 1965 ถึง 1985 ต่างย่อมมีความทรงจำเกี่ยวกับกับเพลงนี้ที่ชัดเจน มันเป็นช่วงเวลาก่อนยุคโซเชียลมีเดีย และมันเป็นสิ่งที่สามารถดึงความสนใจของคุณไว้ได้จริง ๆ “
และมันยังคงได้รับความสนใจต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
โมราฮานเคยได้รับการชักชวนให้แปรสภาพ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ให้เป็น NFT อีกด้วย เขาเล่าว่า
“ผมอยากให้มันกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมมากว่าให้มันเป็นเพียงแค่วอลเปเปอร์”
โมราฮานรู้สึกดีเสมอที่ได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับ มิวสิกวิดีโอ ‘November Rain’ในทุกวันนี้ ที่มีคนยังตามหา “สตีฟ” ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน
“ผมชอบนะที่มีคนยังพยายามตีความมัน และขอให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนานเท่านาน”
ที่มา : latimes NPR rewatchclassictv