ตอนนี้คนทั่วโลกกำลังจดจ่ออยู่กับการตามหา ‘ไททัน’ (Titan) เรือดำน้ำเที่ยวชมซากไททานิคที่ได้สูญหายไป พร้อมกับผู้โดยสารบนเรือ 5 ชีวิต ซึ่งนับตั้งแต่เรือไททานิคได้จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1912 ธุรกิจการดำลงไปชมซากเรือไททานิคก็กลายเป็นที่นิยมในหมู่ของคนที่พร้อมจะทุ่มเงินล้านไปสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าว

ในฝั่งอุตสาหกรรมบันเทิงช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็มีบริษัทด้านโปรดักชันหลายที่ยอมทุ่มงบประมาณในการสร้างสารคดีที่ใช้เรือดำน้ำลงไปเก็บภาพเรือไททานิคจริง ๆ และโดยเฉพาะผู้กำกับดังอย่าง เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ที่เป็นคนหลงใหลกับซากเรือไททานิคที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรอย่างมาก จนก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนัง ‘Titanic’ ขึ้นมาเมื่อปี 1997

Titanic

ย้อนกลับไปช่วงปี 1995 คาเมรอนตัดสินใจดำลงไปเก็บภาพเรือไททานิคใต้มหาสมุทรเป็นครั้งแรก เพื่อนำมาเป็นฟุตเทจให้กับหนังที่เขากำลังเตรียมจะถ่ายทำ บนความลึก 13,000 ฟุตเหนือน้ำทะเล มีรายงานว่าคาเมรอนดำขึ้น ๆ ลง ๆ จากเรือแม่กับไททานิคไปทั้งสิ้น 12 ครั้ง โดยคาเมรอนให้เหตุผลว่าที่เขาตั้งใจใส่ฟุตเทจเหล่านี้เข้าไป เพื่อเพิ่มความรู้สึกสมจริง และต้องการจะสื่อสารว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ขายแค่เรื่องดราม่าความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง

คาเมรอน

หลังประสบความสำเร็จกับ ‘Titanic’ คาเมรอนก็ดำลงไปสำรวจไททานิครอบ 2 เมื่อปี 2001 เพื่อถ่ายทำสารคดี ‘Ghosts of the Abyss’ และครั้งสุดท้ายในปี 2005 กับการถ่ายทำสารคดี ‘Last Mysteries of the Titanic’

รวม ๆ แล้ว คาเมรอนดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิคทั้งหมด 33 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งเขาใช้เวลาสำรวจซากเรือประมาณ 15 – 17 ชั่วโมง และมีการประเมินกันว่า คาเมรอนใช้เวลาอยู่กับซากเรือไททานิค ยาวนานกว่ากัปตันเอ็ดเวิร์ด สมิธ (Edward Smith) และบรรดาผู้โดยสารของเรือไททานิคเมื่อปี 1912 จริง ๆ เสียอีก 

สำหรับคาเมรอนถือเป็นคนที่หลงใหลโลกใต้น้ำสุดหัวใจ เพราะนอกจากสารคดีเกี่ยวกับไททานิคแล้ว คาเมรอนยังเคยมีผลงานที่เขาทำร่วมกับ National Geographic อย่าง ‘Deepsea Challenge 3D’ ซึ่งเป็นสารคดีการเดินทางใต้ทะเล ที่คาเมรอนต้องโดยสารไปในแคปซูลดำน้ำขนาด 24 ฟุต ดำลึกลงไปในมหาสมุทร 35,787 ฟุต อันเป็นจุดที่ลึกที่สุดของโลก หรือที่เรียกว่า Challenger Deep เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดใต้ทะเลลึก รวมทั้งเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นราว 6 ชั่วโมง และที่เจ๋งก็คือสารคดีนี้ถ่ายทำแบบ 3D อีกด้วย

ที่มา: seamuseum, deepseachallenge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส