เมื่อพูดถึงเจ้าหญิง ‘Disney’ ตอนนี้เราคงจะคิดถึงน้องนางเงือกในฉบับคนแสดง ที่เรียกได้เต็มปากว่าขาดทุนยับเยินกับการเปลี่ยนแปลงภาพจำ และหลาย ๆ อย่างที่คุณดูรู้จักไปจนหมด และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง ‘Disney’ ทำแบบนี้กับภาพยนตร์และการ์ตูนของตัวเอง แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีตเกี่ยวกับการ์ตูนเจ้าหญิงของ ‘Disney’ เองก็ใช่ว่าจะสวยงามดูสดใสอย่างที่เราคิด เพราะในหลาย ๆ ส่วนของการสร้างการ์ตูนเหล่านี้ก็มีแอบแฝงความคิดแนวผู้ชายเป็นใหญ่อยู่ แต่ด้วยความที่คนดูในตอนนั้นเป็นเด็กเราเลยไม่คิดมากในเรื่องเหล่านี้ แต่พอเรา ๆ ท่าน ๆ โตแล้วไปนั่งดูการ์ตูนเหล่านี้อีกครั้ง เรากลับเจอสิ่งที่ขัดหูขัดตาอย่างบอกไม่ถูกเกี่ยวกับตัวละครเจ้าหญิง ‘Disney’ พวกนี้ ซึ่งถ้าคุณได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างตัวละครเจ้าหญิง ‘Disney’ เหล่านี้ คุณจะรู้ว่าพวกเธอเหล่านี้ถูกออกแบบโดยผู้ชาย ที่ต้องการให้ผู้หญิงที่ตัวเองชอบผู้หญิงในอุดมคติที่คนยุคนั้นมองเป็นแบบนี้ เราเลยได้เห็นเจ้าหญิงที่ดูขาด ๆ เกินจนคุณไม่ชอบ แล้วไอ้ความขาด ๆ เกิน ๆ ที่ว่านี้คืออะไรเรามาดูไปพร้อมกันเลย
ใสซื่อเกินไปแถมยังร้องตามหารักแท้ตลอด Snow White จาก Snow White and the Seven Dwarfs
เริ่มต้นที่เจ้าหญิงคนแรกที่ทาง ‘Disney’ เอามาสร้างเป็นการ์ตูน คงจะเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘Snow White and the Seven Dwarfs’ หรือชื่อไทยอย่าง “สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด” ที่ถ้าพูดถึงงานภาพการเคลื่อนไหวรวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่การ์ตูนเรื่องนี้ใช้ จัดว่าเป็นงานละเอียดระดับตำนานที่แม้แต่การ์ตูนยุคนี้ยังเทียบไม่ได้ รวมถึงเนื้อหาที่เป็นการดัดแปลงจากต้นฉบับนิยายโบราณ ที่ถ้าคุณรู้เรื่องราวของต้นฉบับแล้วคุณคงจะจิตตกจนนอนไม่หลับไปหลายวันแน่นอน แต่สิ่งที่ขัดตาขัดใจที่สุดในเรื่องนี้คือตัวละครนางเอกของเรื่องอย่าง สโนว์ไวท์ (Snow White) หญิงสาวที่ถูกกำหนดให้เป็นหญิงที่งามที่สุดในปฐพี จนราชินีที่เป็นแม่เลี้ยงใจร้ายก็ทนความงามของเธอไม่ไหว ต้องสั่งให้นายพรานฆ่าลูกเลี้ยงทิ้งในป่า โดยเป้าหมายของการ์ตูนเรื่องนี้ต้องการบอกเราว่า “ความสวยจากภายนอกกับความงามทางจิตใจมันต่างกัน แต่ถ้าคุณทั้งสวยจากภายในและภายนอกคุณก็จะเจอสิ่งดี ๆ แบบสโนว์ไวท์” นั่นคือความสวยงามที่การ์ตูนเรื่องนี้บอก คราวนี้เรามาดูเบื้องลึกกันบ้าง ถ้าคุณเป็นสาวงามที่อยู่ในครัวเป็นคนใช้ และคุณก็เฝ้าแต่ร้องเพลงตามหารักแท้อธิษฐานกับบ่อน้ำให้เจอคนที่รักเธอ นั่นคือสิ่งที่ผู้ชายในยุคนั้น (1937) คิดว่าผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอร้องหาแต่ผู้ชาย ทั้งที่ผู้หญิงในยุคนั้นเก่งแกร่งกว่าผู้ชายอีก และพอสโนว์ไวท์ถูกปล่อยในป่าเพราะนายพรานฆ่าไม่ลง จนมาเจอคนแคระทั้งเจ็ด ลองคิดถึงตามหลักความเป็นจริงที่ถ้าคุณไม่ใช่คนสวย แล้วแอบเข้าบ้านคนอื่นและถือวิสาสะไปทำความสะอาดนอนที่นอนพวกเขา พอเจ้าของบ้านมาเราคงจะถูกทำตามในต้นฉบับแน่นอน (อย่ารู้เลยว่าโดนอะไร) แถมตัวสโนว์ไวท์ก็ออกไปทางไร้เดียงสามองโลกในแง่ดี รักน้ำรักปลารักนกรักกวางรักมันทุกอย่าง โดยที่ความรักของเธอก็ชนะทุกสิ่งแม้แต่เจ้าชาย มันคือมุมมองความคิดของผู้หญิงสวยใสไร้สมองที่ผู้ชายยุคนั้นมองผู้หญิงนั่นเอง
หนูเพิ่งเจอผู้ชายจมน้ำหนูจะรักเขาแล้วไม่ได้นะลูก Ariel จาก The Little Mermaid
คุณเคยได้ยินคำว่าตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็นไหม นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในการ์ตูน ‘Disney’ เรื่อง ‘The Little Mermaid’ หรือชื่อไทยเพราะ ๆ อย่าง “เงือกน้อยผจญภัย” ที่เราคงไม่ต้องเล่าเรื่องราวก็คงจะทราบดีว่าเนื้อหาในการ์ตูนเป็นอย่างไร โดยตัวการ์ตูนเรื่องนี้ก็ดัดแปลงมาจากนิทานเก่า ที่สะท้อนมุมมองของผู้เขียนที่เป็นเพศทางเลือก ที่ (เขา) เธอต้องการพบรักแท้ แต่ด้วยหลาย ๆ สิ่งที่คนยุคนั้นไม่ยอมรับในเพศสภาพที่เป็นเขาเลยแต่งนิทานเรื่องนี้ขึ้นมา โดยอ้างอิงตัวเองเป็นนางเงือกที่รักกับมนุษย์ ที่ตอนจบในนิยายนั้นก็เศร้าไม่จบแบบมีสายรุ้งเพื่อน ๆ มาโบกมือส่งอย่างในการ์ตูน โดยเนื้อหาของเรื่องนั้นตัวละครนางเอกอย่าง แอเรียล (Ariel) ก็มีลักษณะนิสัยที่ตรงกับในนิทาน คือเธอตกหลุมรักผู้ชายที่เจอกันครั้งแรกแบบไม่ต้องสงสัย แถมเธอยังแอบดูแอบตามเป็นสตอล์กเกอร์อีกด้วย (ตามต้นฉบับแอเรียลก็ทำแบบนั้น) ซึ่งมันเป็นมุมมองที่ด้อยค่าผู้หญิงแบบแปลก ๆ ที่ผู้หญิงต้องชอบผู้ชายก่อนและผู้หญิงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผู้ชายมาเป็นของตน เพียงแค่คุณเจอเขาไม่กี่นาทีคุณก็พร้อมจะไปใช้ชีวิตกับเขาแล้ว ตอนนี้ถ้าคุณมานั่งดูการ์ตูนเรื่องนี้คุณคงจะเข้าใจหัวอกของพ่อแอเรียล ที่ถ้าเรามีลูกแบบนี้เราคงจะเสียใจแย่ “หนูรักเขาหนูอยากจะใช้ชีวิตกับเขา ท่านพ่อไม่เข้าใจ” แอเรียลเถียงพ่อ “แต่หนูเพิ่งเจอเขาไม่กี่นาทีเองนะลูก” พ่อแอเรียลบอก นั่นละครับท่านผู้ชม
เป้าหมายในชีวิตคือการได้พบรักกับเจ้าชายรูปงาม Aurora จาก Sleeping Beauty
ถ้าสโนว์ไวท์ยังเป็นตัวอย่างที่คุณเห็นไม่ชัดพอ ในเรื่องของการพร่ำเพ้อร้องขอถามหาผู้ชายดี ๆ ให้มารักตน งั้นมาดู ออโรรา (Aurora) จาก ‘Sleeping Beauty’ หรือ “เจ้าหญิงนิทรา” ที่เมื่อสูตรสำเร็จของ ‘Snow White and the Seven Dwarfs’ มันใช้ได้ ทาง ‘Disney’ ก็เอาสูตรนี้มาใช้อีกครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงให้ออโรราตื่นขึ้นมาด้วยการจุมพิตรักแท้เหมือนรุ่นพี่สโนว์ไวท์ ซึ่งถ้าคุณคิดว่าเจ้าหญิงนิทราในนิทานต้นฉบับจะจบแบบเดียวกับในการ์ตูนคุณคิดผิดนะ เพราะตอนจบในต้นฉบับมันช่างโหดร้ายยิ่งกว่าที่คุณกำลังคิดอยู่ตอนนี้ไปหลายเท่า แต่ทาง ‘Disney’ ก็เลือกเดินทางเดิมโดยการยึดสโนว์ไวท์มาเป็นต้นแบบ และเปลี่ยนจากกินแอปเปิลอาบยาพิษมาเป็นโดนเข้มทิ่มจากคำสาปของแม่มดใจร้าย และเพิ่มบทเจ้าชายให้ไปช่วยเจ้าหญิงกับการต่อสู้กับตัวร้ายเข้ามา เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้เจ้าชายเหมาะสมกับเจ้าหญิงมากขึ้น แทนที่จะแค่ขี่ม้าผ่านมาแล้วเจอผู้หญิงที่เราเคยชอบ แล้วก็ไปจูบเจ้าหญิงตื่นแบบในสโนว์ไวท์ ซึ่งตัวของออโรราก็ไม่ต่างกับสโนว์ไวท์นั่นคือร้องหารักแท้ตามหาผู้ชายดี ๆ มาหา ร้องเพลงเพ้อไปมาว่าอยากได้ผู้ชายดี ๆ แบบนั้นแบบนี้ ที่เป็นการด้อยค่าผู้หญิงและเพิ่มคุณค่าให้ผู้ชายที่คนสร้างการ์ตูนยุคนั้นทำ ที่พอคุณเอาเรื่องนี้มาดูอีกครั้งเชื่อเถอะว่าคุณต้องรู้สึกขัด ๆ แน่นอน
หญิงสาวโชคดีที่ได้นางฟ้าช่วย Cinderella จาก Cinderella
ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วคนที่ทำดีฟ้าต้องมีตามาช่วยเหลือ นั่นคือสิ่งที่การ์ตูนเรื่อง ‘Cinderella’ บอกกับเรา และนั่นก็เป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้ ที่เรียกว่าการก้าวข้ามเรื่องหญิงสาวที่มัวแต่บ่นเรื่องตามรักผู้ชายดี ๆ มาเป็นคนดี ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนที่เห็นความดีของคน ๆ นั้น ที่ถ้าคุณไม่คิดไม่ออกมันก็คือละครคุณธรรมที่คุณดูอยู่นั่นละ ที่แค่เปลี่ยนจากคนที่แกล้งจนแต่ความจริงแล้วเป็นประธานบริษัทมาเป็นนางฟ้า และเหล่าสัตว์ที่มาช่วย ซินเดอเรลลา (Cinderella) ที่นับเป็นการเปลี่ยนเนื้อหาที่ดี ซึ่งเปลี่ยนจากหญิงสาวสวยรอเจ้าชายมาหามาจูบมาเป็นเราไปหาเจ้าชายเอง ที่ในยุคนั้นมันเป็นอะไรที่แปลกมาก ๆ เพราะในยุคนั้นมองผู้หญิงต้องอ่อนโยนอ่อนหวานไม่ใช่ออกไปหาผู้ชายแบบนี้ ที่ถ้ามองในแง่ของเรื่องราวที่อ้างอิงตามต้นฉบับทาง ‘Disney’ ก็ไม่ผิดที่ดัดแปลงเนื้อหาใหม่ แต่อ้างอิงโครงเรื่องเดิมไว้ (ในต้นฉบับไม่มีนางฟ้ามีแค่เหล่าหนูนกมาช่วย) แต่สิ่งที่หลายคนไม่ชอบตัวละครเรื่องนี้ก็คือกฎความสวยที่ไม่สมจริง ที่หมายถึงคนสวยที่ไม่ต้องทำอะไรก็สวย แต่คนขี้เหร่แต่งให้ตายก็ขี้เหร่ เหมือนในละครที่นางเอกที่เป็นคนใช้เป็นคนป่าเป็นคนบ้านนอก แต่ผิวขาวสวยใสหน้าเด้งกว่าคนในเมืองที่ทาครีมกระปุกละพันอีก แถมยังเป็นคนดีแบบดีไม่มีสีดำปน จนเราคนดูรู้สึกว่าถ้าเจ๊ดีแบบนี้ก็เอาเจ้าชายไปเถอะยกให้ สมเป็นการ์ตูนคุณธรรมในปี 1950 จริง ๆ
เด็กสาวสู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องชอบอสูรนี่นา Belle จาก Beauty and the Beast
จากข้อมูลที่ได้มาบอกว่าการ์ตูนเรื่อง ‘Beauty and the Beast’ หรือ “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” คือการ์ตูนเรื่องแรก (ข้อมูลย้ำว่าเรื่องแรก) ที่ทาง ‘Disney’ ให้ผู้หญิงมามีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางในการ์ตูน เพราะอย่างที่เราบอกไปก่อนหน้านี้ว่าการ์ตูน ‘Disney’ ที่ผ่านมาก่อนหน้าจะสร้างตัวละครผู้หญิงที่อ่อนแอรอเจ้าชายมาช่วย และมัวแต่บ่นเพ้อตามหารักแท้ไม่ก็ไปหาผู้ชายเองถึงที่ แถมยังเป็นสาวสวยอ่อนหวานน่ารักเป็นคนดีแบบไม่มีสีดำผสม จนมาถึงเรื่อง เบลล์ (Belle) จาก ‘Beauty and the Beast’ ที่เปลี่ยนเจ้าหญิงแบบนั้นมาเป็นเจ้าหญิงที่สู้ชีวิต และเธอแสวงหาความรู้จากหนังสือไม่สวยใสไร้สมอง ไม่ยอมรับผู้ชายที่มาจีบแต่เลือกคนที่ดีจากจิตใจ (จริงหรอ) มาเป็นคู่ครอง โดยเนื้อหาหลัก ๆ ในการ์ตูนก็อ้างอิงมาจากในนิทานที่เธอต้องมาอยู่กับอสูรแทนพ่อ ที่ถ้าคุณได้เห็นหรือรู้จักอสูรตนนี้ที่เนื้อแท้พี่แกเป็นคนปากดีไปดูถูกแม่มดจนโดนสาป แถมยังเป็นคนโมโหร้ายชอบทำลายข้าวของทำร้ายคนใช้ และมีแต่ความดิบหยาบที่ดูแล้วน่าเรียกอัศวินมาปราบมากกว่าได้ความรักจากเจ้าหญิง และถ้าคุณเป็นเบลล์ที่ต้องอยู่กับตัวประหลาดแบบนี้คุณจะรักปีศาจตัวนี้ลงไหม เอาง่าย ๆ ไม่ต้องรักก็ได้แค่อยู่ด้วยกับอสูรนิสัยแย่ ๆ แบบนั้นคุณจะอยู่ไหม แต่อสูรตนนั้นรวยมาก ๆ มีห้องสมุดให้คุณอ่านทั้งชาติก็ไม่หมด มีคนรับใช้ที่ทำทุกอย่างให้แถมไม่ต้องมานั่งดูแลพ่อที่แก่ แถมอสูรก็ดีกับคุณคนเดียว (แต่ร้ายกับคนอื่น) เป็นคุณจะยอมอยู่ด้วยไหม แน่นอนคุณอยากอยู่แต่คุณคงไม่มีทางรักอสูรตนนั้นแน่นอน นั่นละคือคำตอบที่ทำให้หลายคนไม่ชอบตัวละครนี้
หนูจะรักผู้ชายที่เจอกันแค่ไม่กี่ชั่วโมงไม่ได้นะลูก Anna จาก Frozen
กระโดดมาที่เจ้าหญิง ‘Disney’ ยุคใหม่กันบ้าง กับการสร้างการ์ตูนให้เป็น ‘CG’ กราฟิกที่สวยงาม และเปลี่ยนเนื้อหาแบบคิดใหม่ทำใหม่ใน ‘Frozen’ ที่คราวนี้ทาง ‘Disney’ ให้ผู้หญิงมากำกับเนื้อหาเองเลย เพื่อเป็นการสร้างมุมมองของผู้หญิงที่เราสามารถอ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ ที่ตรงข้ามกับสมัยก่อนที่ผู้หญิงจะอ่อนแอและรอเจ้าชายมาช่วย ที่มองในแง่นี้มันก็ดีแต่มันก็ดูแบบเยอะไปไหม เพราะใน ‘Frozen’ ตัวละครชายมันดูอ่อนแอไร้ค่าเหมือนตัวประกอบยังไงก็ไม่รู้ แต่ในตอนนั้นหลายคนยังไม่คิดถึงเรื่องเพื่อนหญิงพลังหญิงแบบตอนนี้ ที่ ‘Disney’ ใส่มาเยอะเกินไปจนเกินพอดี และพอพูดถึงตัวละครที่เราไม่ชอบน้อง อันนา (Anna) สาวน้อยสวยใสไร้สมองในเรื่องก็ถูกคนไม่ชอบมากที่สุด เพราะน้องอันนาเราสามารถรักและรับแต่งงานกับผู้ชายที่เพิ่งรู้จักไม่กี่ชั่วโมงได้หน้าตาเฉย (เชื่อเถอะยุคนี้สมัยนี้ก็มี) ที่ถ้าเรามองดี ๆ ก็จะรู้ว่าในเรื่องจนใจประชดจิกกัดเจ้าหญิง ‘Disney’ รุ่นพี่ในอดีตที่รักผู้ชายแรกเห็นหน้าตาเฉย ดังนั้นกรณีของอันนาคือการจิกกัดของทางทีมงานสร้าง ‘Frozen’ ที่คนดูเข้าใจแต่ก็อดไม่ชอบไม่ได้อยู่ดี
ที่นี่เราไม่ทำแบบนี้ Mulan จาก Mulan
จะเรียกว่าไม่ชอบก็ไม่เชิงกับตัวละครสาวจีนคนแรก ๆ ของ ‘Disney’ อย่าง มู่หลาน (Mulan) จากการ์ตูนในชื่อเดียวกัน ‘Mulan’ ที่อ้างอิงมาจากนิทานจีนที่เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องออกไปรบแทนพ่อ ที่ตอนจบเธอก็กลับมาใช้ชีวิตปกติไม่ได้รับอวยยศหรือตำแหน่งใด ๆ (ไม่ถูกกุดหัวก็บุญแล้ว) ซึ่งทางทีมงานต่างประเทศก็ออกมายอมรับว่าสมัยนั้นทาง ‘Disney’ ก็ไม่หาข้อมูลเกี่ยวกับชาวเอเชียมาดีพอ เพราะเอเชียเรามีการจับคลุมถุงชนมีการหาคู่จริง ๆ แต่เราก็ไม่ถึงขนาดต้องบังคับลูกไปแต่งงาน ส่วนผู้หญิงก็ไม่ได้ต้องมาร้องเพลงว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะดูจากนิยายตำนานจีนเก่า ๆ ผู้หญิงเก่ง ๆ ฉลาด ๆ ก็เยอะ ไม่มีใครมาอ้อนวอนร้องไห้หน้าป้ายหลุมศพบรรพบุรุษว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการไม่ใช่แบบนี้ จนหลายคนไม่ชอบการตีความไปจนถึงสิ่งที่ตัวมู่หลานเป็นนั่นเอง ส่วนเรื่องเพื่อนหญิงพลังหญิงมู่หลานก็ไม่ได้เก่งแกร่งเป็นแค่คนธรรมดา ต่างกับในฉบับภาพยนตร์ที่ก็ยังคงตีความผิดเพี้ยนเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือเพื่อหญิงพลังหญิง จนหลายคนไม่ชอบการตีความทั้ง 2 แบบ เรียกว่าไม่รู้จักจำจริง ๆ นะ ‘Disney’
รักคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จัก Pocahontas จาก Pocahontas
ปิดท้ายกับการตีความเนื้อหาใหม่ที่แสนผิดเพี้ยนให้ดูดีตามแบบของ ‘Disney’ นั่นคือเรื่องราวของ โพคาฮอนทัส (Pocahontas) จากการ์ตูนในชื่อเดียวกันอย่าง ‘Pocahontas’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมือง ที่ไปตกหลุมรักนายทหารหนุ่มหล่อชาวอังกฤษ ซึ่งถูกชนอเมริกันพื้นเมืองจับเป็นเชลย จนเรื่องราวเป็นการประสานรอยร้าวของทั้งสองฝั่งที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันกลับตรงข้ามและตัวโพคาฮอนทัสจริง ๆ ก็ไม่ได้มีความสุขแบบในการ์ตูน มันคือการเพ้อฝันของคนผิวขาวที่คิดเองเออเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเทพนิยาย จนเปลี่ยนตัวโพคาฮอนทัสให้เป็นคนคิดนอกกรอบและอยากเป็นมิตรกับคนอื่น ที่ก็ไม่ต่างจากต้นฉบับที่เธอก็คิดแบบนั้นจริง ๆ แต่ฝั่งพระเอกในเรื่องราวจริง ๆ ไม่ใช่คนดีแบบนั้น เลยกลายเป็นว่าความโลกสวยของโพคาฮอนทัสกลับเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบตัวละครนี้ ที่ลองคิดดูว่าศัตรูที่ฆ่ากันเกือบตายแต่พอทางนั้นจีบก็เชื่อก็รัก (ตามประวัติศาสตร์จริงก็เป็นประมาณนั้น) โดยที่โพคาฮอนทัสไม่รู้จักตัวนายทหารเลยแต่ไปรักเข้าแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรกับเจ้าหญิงรุ่นเก่า ๆ ที่ตามหารักแท้จากคนอื่น ทั้งที่คนรักจริงในเผ่าก็เป็นได้แค่เพื่อน ที่ถ้าเรามองดี ๆ มันก็คือการตีความของคนขาวที่ต้องการเป็นคนดีในการ์ตูน ที่ความจริงทางนั้นต่างหากที่ฆ่าชนเผ่าพื้นเมืองและแย่งที่ดินเขามา เพราะแบบนี้หลายคนเลยไม่ค่อยชอบโพคาฮอนทัส
ก็จบกันไปแล้วกับ 8 เจ้าหญิง ‘Disney’ ที่คนไม่ค่อยชอบในบทบาทของเธอเหล่านั้น ที่ถ้าใครได้อ่านมาจนจบครบทุกตัวละคร คุณก็จะทราบดีว่าตัวละครเจ้าหญิงเหล่านี้ไม่ผิดเลย พวกเธอสามารถตามหาถามหารักแท้ได้ (ยุคนี้ก็มีคนเป็นแบบนี้) แต่ที่หลายคนไม่ชอบตัวละครเหล่านี้ ก็มาจากการตีความของเพศชายที่มองผู้หญิงในยุคนั้นว่าต้องสวยใสเป็นคนดีน่ารัก และไม่ต้องคิดเยอะแค่ผู้ชายมาทำดีด้วยก็รัก ๆ ไป (พวกเธอโชคดีที่เจอผู้ชายดี) ที่มันเป็นการด้อยค่าผู้หญิง ซึ่งในสมัยนั้นเราที่นั่งดูการ์ตูนเหล่านี้เราไม่คิดไม่เห็นไม่สนใจกับเรื่องพวกนี้หรอก แต่ตอนนี้คุณที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วลองไปหาการ์ตูนเหล่านี้มาดูใหม่อีกครั้ง คุณจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน อย่างชัดเจนว่ามันคือการตีความที่ไม่โอเคไม่สมเหตุผลที่เอียงไม่ซ้ายก็ขวาแบบสุด ๆ แทบไม่มีตรงกลางเลย และเพราะแบบนี้หลายคนจึงไม่ชอบตัวละครเจ้าหญิงเหล่านี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส