อุตสาหกรรมภาพยนตร์แม้เป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล บางเรื่องอาจทำรายได้ถึงหลักพันล้านเหรียญ แต่ก็ยังถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แม้บางโปรเจกต์จะวางแผนกันอย่างรัดกุมแล้ว ว่าสร้างจากนิยายที่ได้รับความนิยม มีนักแสดงระดับแม่เหล็ก ค่าตัวแพง แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่อาจรับประกันว่าหนังจะประสบความสำเร็จได้ ดังตัวอย่างหนังหลายเรื่องที่คว่ำในช่วงปี 2020 เป็นต้นมานี้ ที่ล้มเหลวอาจจะด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บ้าง หรือไม่สามารถดึงความสนใจผู้ชมให้ออกไปซื้อตั๋วดูได้

แม้ว่าหน้าหนังบางเรื่องจะดูน่าสนใจ มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง แต่ผลสุดท้ายก็กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม อย่างเช่น ‘Babylon’ ของผู้กำกับ ดาเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) แต่ก็มีบางเรื่องเช่นกัน ที่ดูมีวี่แววจะเจอกับความล้มเหลวตั้งแต่ก่อนออกฉาย อย่าง ‘Morbius’ ของโซนี่พิกเจอร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ก็พิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องใดที่เพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบของหนังทำเงิน ดูน่าจะประสบความสำเร็จ แต่ก็สามารถพลิกความคาดหมายกลายเป็นหนังคว่ำได้เสมอ และนี่คือ 12 หนัง ที่เจ๊งหนัก เจ็บหนักที่สุด ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา


12. Dolittle (2020)

เป็นหนังที่เจ๊งได้ผิดความคาดหมายมาก เพราะนี่คือหนังเรื่องแรกของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) หลังก้าวออกจากจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล บวกกับชื่อเสียงของ ‘Dolittle’ ก็มาจากหนังสือนิยายภาพสำหรับเด็ก ที่ชาวอเมริกันรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ปี 1922 แล้ว ผ่านการดัดแปลงมาแล้วทั้งที่เป็นละครเพลง และภาพยนตร์ 2 ภาคที่นำแสดงโดย เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ในปี 1998 – 2009 มารอบนี้ได้ ดาวนีย์ จูเนียร์ มารับบทนำ จึงทำให้ ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ กล้าเทงบสร้างให้สูงถึง 175 ล้านเหรียญ แต่แล้วหนังก็ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้ได้ ทั้งต่อผู้ชมและนักวิจารณ์

สุดท้ายแล้ว แม้หนังจะทำเงินไปได้ทั้งสิ้น 251 ล้านเหรียญ แต่คำนวณต้นทุนบวกกับงบทางด้านการตลาดแล้ว ก็ต้องถือว่า ‘Dolittle’ คือหนึ่งในหนังเจ๊งประจำปี 2020 ผลพิสูจน์จากกรณีนี้ก็คือ ‘Dolittle’ ไม่ใช่ชื่อที่คงกระพันอีกต่อไป ไม่สามารถเรียกความสนใจจากผู้ชมในยุคนี้ได้แล้ว


11. Lightyear (2022)

เป็นอีกเรื่องที่ผลลัพธ์ผิดคาดมาก เพราะนี่คือหนังที่หยิบเอาตัวละครที่เป็นที่รู้จักจาก ‘Toy Story’ อย่าง บัซ ไลท์เยียร์ มาขยายความ เล่าเรื่องราวแบบหนังซ้อนหนัง โดยอ้างว่านี่คือ บัซ ไลท์เยียร์ ตัวจริงเสียงจริง ที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง จนเป็นต้นแบบให้มีการสร้างของเล่นตามภาพลักษณ์ของเขาออกมา อย่างที่เห็นกันไปในหนัง ‘Toy Story’

ซึ่งไอเดียต้นกำเนิดก็นับว่าสนใจ น่าจะขยายออกมาได้มากและน่าจะเสริมเติมแต่งเรื่องราวอันสนุกสนานเข้าไปได้มากมาย แต่สุดท้ายเมื่อหนังถูกสร้างสำเร็จออกมา ก็ใช่ที่ว่าหนังเต็มไปด้วยสีสันและภาพที่น่าตื่นตาตามสไตล์พิกซาร์ แต่ผู้ชมส่วนมากก็ให้ความเห็นว่า หนังพยายามยัดเยียดอะไรเข้าไปมากมายแต่สุดท้ายกลับจืดชืด ส่งผลให้หนังทำรายได้ไปแค่ 218 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่สูงถึง 200 ล้านเหรียญ ถ้านับรวมงบค่าการตลาดอีก ก็ไม่รู้ว่างานนี้ดิสนีย์เจ็บตัวไปเท่าไหร่


10. Jungle Cruise (2021)

ตั้งแต่เข้ายุค 2020s เป็นต้นมา ก็เริ่มส่อแววแล้วว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่สดใสของ ดเวย์น จอห์สัน (Dwayne Johnson) อีกต่อไป เริ่มตั้งแต่ความล้มเหลวจาก ‘Jungle Cruise’ เรื่องนี้ แล้วตามต่อด้วย ‘Black Adam’ หลายคนจึงคาดเดาว่า นี่คือสาเหตุที่เขาจำต้องกลืนน้ำลายตัวเองแล้วยอมกลับไปญาติดีกับ วิน ดีเซล ที่เขาเคยด่าเสียเทเสียมาแล้ว เพื่อกลับไปเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว Fast

‘Jungle Cruise’เป็นความคาดหวังครั้งใหญ่ของดิสนีย์ ที่ดัดแปลงมาจากเครื่องเล่นยอดนิยมจากสวนสนุก ‘Disney World’ และหวังอย่างยิ่งว่ามันจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับแฟรนไชส์ ‘Pirates of the Caribbean’ ในตำนาน ที่ก็สร้างมาจากเครื่องเล่นในดิสนีย์เวิลด์เช่นกัน แต่ผลสุดท้ายก็เห็นกันชัดแล้วว่า มันไปได้ไม่ถึงจุดนั้น ไม่แม้แต่จะใกล้เคียงเลย หนังทำรายได้ไปทั้งสิ้น 210 ล้านเหรียญ จากต้นทุนมหาศาลที่ 200 เหรียญ ซึ่งถ้านับรวมงบการตลาดด้วยแล้ว คาดว่าดิสนีย์จะสูญเสียไปประมาณ 150 ล้านเหรียญ ‘Jungle Cruise’ กลายเป็นหนังที่ประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ดิสนีย์


9. Morbius (2022)

แม้ว่าหนัง ‘Spider-Man’ นั้น โซนี่ในฐานะผู้ถือครองสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์จะต้องแบ่งรายได้กับมาร์เวล แต่สำหรับคาแรกเตอร์อื่น ๆ ในจักรวาล Spider-Man นั้น โซนี่ไม่ต้องแบ่งให้กับดิสนีย์หรือมาร์เวลแต่อย่างใด และ ‘Venom’ ก็เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ในแผนการที่หยิบบรรดาตัวร้ายของสไปเดอร์-แมน มาเล่าในฐานะเป็นตัวละครแบบ anti-hero แล้วได้เสียงตอบรับที่ดี ‘Venom’ ภาคแรกทำเงินไป 856 ล้านเหรียญ ‘Venom: Let There be Carnage’ ทำเงินไป 501 ล้านเหรียญ จากต้นทุนที่ 110 และ 116 ล้านเหรียญตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ โซนี่จึงเดินตามแผนการเดิม ด้วยการเลือก ‘Morbius’ เป็นวายร้ายตัวที่ 2 ที่ออกมาเป็นหนัง anti-hero เรื่องต่อไป แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้ามกับหนังรุ่นพี่อย่าง Venom แม้ว่าจะได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง จาเร็ด เลโต (Jared Leto) มารับบทนำก็ตาม หนังล้มเหลวตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกที่เปิดตัวด้วยตัวเลข 39 ล้านเหรียญ เกิดปรากฎการณ์ใหม่ เมื่อชาวเน็ตล้อเลียนความล้มเหลวของ ‘Morbius’ ด้วยการทำมีมล้อเลียนส่งต่อกันจนแพร่หลายกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ โซนี่เห็นเป็นช่องทางทางการตลาดที่เหมือนหนังถูกชาวเน็ตช่วยโปรโมต เลยเอาหนังกลับมาลงโรงฉายอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่มีผลในทางบวกอยู่ดี หนังก็ยังคงล้มเหลวเช่นเดิม แม้ว่าหนังจะไม่ได้ใช้ทุนสร้างไปมากมายนัก เพียงแค่ 75 ล้านเหรียญ แต่ด้วยตัวเลขรายรับเพียงแค่ 162 ล้านเหรียญ ก็ถือว่า ‘Morbius’ คือหนึ่งในหนังคว่ำของปี 2022


8. Onward (2020)

หลังจากผลิตหนังที่ประสบความสำเร็จให้กับดิสนีย์มามากมาย อย่างเช่น Coco (2017), Up (2009), Inside Out (2015) Pixar ก็เลยอยากที่จะเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ในทิศทางของตัวเองดูบ้าง โดยที่ไม่ต้องมีดิสนีย์มาคอยกำกับชี้นำทาง ก็เลยมีหนังที่ออกมาได้เสียงตอบรับปะปนกันไป มีทั้งกลุ่มที่ชอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ของพิกซาร์ และกลุ่มที่ไม่ชอบ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘Onward’ หนังที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของพิกซาร์ และแปลกต่างจากแนวเดิม ๆ มากที่สุด

แม้เนื้อหาของหนังจะสนุกสนาน ถูกยกให้เป็นภาพยนตร์ที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดของพิกซาร์ มีความน่ารักระหว่างไดนามิกของพี่ชายและน้องชาย ที่ได้นักแสดงชื่อดังมาพากย์เสียง ทั้ง ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) และ คริส แพรตต์ (Chris Pratt)แต่แล้วตัวเลขรายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศของ ‘Onward’ ก็ไม่พุ่งทะยานตามคาด แต่เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะหนังเข้าฉายในช่วงที่โควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดพอดี หนังทำรายได้ไปแค่ 133 ล้านเหรียญ จากต้นทุนที่ 200 ล้านเหรียญ


7. West Side Story (2021)

ตั้งแต่หลังยุค 2000s มานี่ สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) มีหนังที่ประสบความสำเร็จน้อยเรื่องมาก แต่จุดหนึ่งก็น่าชื่นชมในแง่ที่เขาไม่ใช่ผู้กำกับที่หลงระเริงไปกับความสำเร็จมากมายในยุคก่อน แต่สปิลเบิร์กก็ยังหาโอกาสหวนมาจับหนังในแนวที่เขารัก หรือยังไม่เคยลองทำมาก่อน อย่างเช่นการรีเมกหนังเพลงคลาสสิกจากยุค 60’s

‘West Side Story’ นับว่าเป็นหนังเพลงเรื่องแรกของสปิลเบิร์ก แต่ด้วยความอัจฉริยะในตัวของเขาก็สามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ราวกับเขาผ่านงานกำกับหนังเพลงมาทั้งชีวิต ‘West Side Story’ ได้เสียงตอบรับในเชิงบวกล้วน ๆ ทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชม แต่แล้วเสียงชื่นชมก็ไม่มีผลต่อตัวเลขรายได้ของหนัง หนังทำรายได้ทั่วโลกไปแค่ 74 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่ 100 ล้านเหรียญ

นักวิเคราะห์บอกว่า เหตุที่ ‘West Side Story’คว่ำนั้นเป็นเพราะชื่อของหนังที่รีเมกมาจากหนังดังเมื่อปี 1961 นั้น เรียกความสนใจได้แต่กลุ่มผู้ชมรุ่นใหญ่ บวกกับหนังเข้าฉายในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายดีนัก ทำให้กลุ่มผู้ชมวัยสูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายยังกังวลที่จะออกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ สาเหตุอื่น ๆ ก็อย่างเช่น หนังไม่มีนักแสดงที่มีชื่อเสียงมาเรียกความสนใจจากผู้ชมในกลุ่มอายุน้อย และเข้าฉายชนกับหนังฟอร์มยักษ์อย่าง ‘Spider-Man: No Way Home’


6. Mulan (2020)

ในกระบวนการหนังไลฟ์แอ็กชันของดิสนีย์ที่รีเมกมาจากหนังแอนิเมชันของตัวเองนั้น มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ อย่าง Maleficent, Aladdin, Beauty and the Beast, The Lion King แต่ก็มีหลายเรื่องเช่นกันที่ล้มคว่ำ และหนึ่งในเรื่องที่ทำดิสนีย์เจ็บหนักก็คือ ‘Mulan’ ในปี 2020 แม้ว่าทางดิสนีย์จะเลือกใช้ หลิว อี้เฟย นักแสดงชาวจีนคนสวยมาสวมบทบาท ‘มู่หลาน’ ได้อย่างเหมาะสม และนักวิจารณ์ก็พึงพอใจ ชื่นชมว่าหนังมีภาพที่สวย เรื่องราวน่าประทับใจ และมีการปรับแต่งเรื่องราวจากแอนิเมชันไปในทิศทางที่ดี แต่หนังก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมในวงกว้างเท่าที่ควร บวกกับปัญหาในช่วงระหว่างสร้างมากมาย ที่กลายเป็นข่าวอื้อฉาว และส่อแววในทิศทางที่ไม่ดีต่อตัวหนัง

เริ่มตั้งแต่เสียงต่อต้านที่ดิสนีย์เลือก นิกิ คาโร (Niki Caro) ผู้กำกับที่เป็นชาวนิวซีแลนด์ แทนที่จะเลือกผู้กำกับชาวเอเซียมากำกับหนังที่ทั้งตัวละคร และเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศจีน หนำซ้ำทีมงานหลักอย่าง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คนเขียนบทก็ไม่มีทีมงานเอเซีย หรือมีเชื้อสายจีนเลย

ปัญหาต่อมา คือการโจมตีของชุมชน LGBTQ ที่ดิสนีย์เลือกที่จะตัดบท ‘ผู้กองหลี่ชาง’ ออกไป ผู้กองหลี่ชางนั้นเปรียบได้กับตัวแทนของตัวละครที่มีความเป็น LGBTQ เพราะเขาให้ความสนใจในตัวมู่หลาน ในขณะที่เธอปลอมตัวเป็นผู้ชาย ยังไม่หมดแค่นั้น หลิว อี้เฟย ตัวนักแสดงนำเอง จุดกระแส #BoycottMulan ด้วยตัวเธอเองเลย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชาวฮ่องกงลุกฮือขึ้นประท้วงกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน การประท้วงค่อนข้างลุกลามและบานปลายจนเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจฮ่องกงและกลุ่มผู้ชุมนุม ตอนนี้แหละที่ หลิว อี้เฟย ได้แชร์ภาพข่าวจาก People’s Daily ลงบนสื่อโซเชียล พร้อมกับติดแฮชแท็กว่า #ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกง กลายเป็นการจุดกระแสโต้แย้งในวงกว้าง ว่า หลิว อี้เฟย เป็นผู้สนับสนุนความรุนแรง จากนั้นโลกโซเชียลก็พากันติดแฮชเท็ก #BoycottMulan

นอกจากหนังสะสมปัญหาในแง่ลบมากมาย บวกกับหนังเข้าฉายในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาด ทำให้หนังทำรายได้ไปเพียงแค่ 70 ล้านเหรียญเท่านั้น จากทุนสร้างที่สูงถึง 200 ล้านเหรียญ


5. Babylon (2022)

เป็นหนึ่งในหนังคว่ำที่ผิดความคาดหมายอย่างมาก เพราะนี่คือหนังที่เป็นผลงานกำกับของ แดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) ผู้กำกับที่มีผลงานดีมาตลอด นับตั้งแต่ ‘Whiplash'(2014) และพุ่งสู่จุดสูงสุดใน ‘Lala Land'(2016) ที่เขาคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมาได้ ตามมาด้วย ‘First Man’ ในปี 2018 ที่ก็ยังคงได้เสียงตอบรับที่ดีทั้งจากนักวิจารณ์และรายได้ ส่งผลให้ชาเซลล์กลายเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับนับถือทั้งจากสตูดิโอผู้สร้างที่พร้อมเทงบให้ และจากนักแสดงแถวหน้าในวงการที่ต่างก็อยากจะร่วมงานกับชาเซลล์

เมื่อชาเซลล์ประกาศสร้างผลงานล่าสุด ‘Babylon’ ทำให้มีนักแสดงแถวหน้าตบเท้าเข้าร่วมงานเพียบทั้ง มาร์โกต์ ร็อบบี้ (Margot Robbie), แบรด พิตต์ (Brad Pitt) และ โอลิเวีย ไวลด์ (Olivia Wilde) ซึ่งดูเหมือนว่าหนังจะมีอนาคตที่สดใส เพราะขายชื่อได้ทั้งนักแสดงนำ และผู้กำกับที่มาแรง

หนังส่อแววมีปัญหาตั้งแต่มีการฉายรอบทดลองเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2022 หนังได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ไม่สู้ดีนัก บางส่วนบอกว่า “ช่างเป็นความยุ่งเหยิงที่ทะเยอะทะยานนัก” หรือรุนแรงถึงขั้นยกให้เป็น “หนังที่แย่ที่สุดของปี 2022” ขนาดนั้นกันเลย ส่งผลให้คะแนนใน Rotten Tomatoes ออกมาที่ 55% เท่านั้น ด้วยเสียงตอบรับออกมาในทางลบแบบนี้ทำให้ความสนใจที่ผู้ชมจะตีตั๋วไปดูก็เริ่มชะลอตัว บวกกับอีกปัญหาหนึ่งที่มาจากตัวอย่างหนังเอง ที่สร้างความสับสน ไม่สามารถบอกกับผู้ชมได้ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร

แล้วอีกปัญหาใหญ่ก็คือ หนังเลือกช่วงเวลาที่ออกฉายชนกับยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Avatar: The Way of Water’ แล้วยังมีหนังครอบครัวอย่าง ‘Puss in Boots: The Last Wish’อีกด้วย ผลก็คือ หนังทำรายได้ทั่วโลกไปน้อยนิดมาก ที่ 63 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่ 110 ล้านเหรียญ เป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดของ แดเมีย ชาเซลล์ แล้ว


4. Snake Eyes: G.I. Joe Origins (2021)

เป็นหนังเรื่องที่ 3 ในแฟรนไชส์ ‘G.I. Joe’ ตามหลัง ‘G.I. Joe: Retaliation’ ที่ออกมาเมื่อปี 2013 แล้วก็เว้นช่วงห่างไปถึง 8 ปี ถึงได้มี ‘Snake Eyes: G.I. Joe Origins’ เรื่องนี้ออกมา เป็นอีกหนึ่งความคาดหวังของ Hasbro บริษัทของเล่นดังที่พยายามจะผลักดันให้ ‘G.I. Joe’ ฮิตได้เหมือน Transformers ที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่ผลลัพธ์ของ ‘Snake Eyes: G.I. Joe Origins’ ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำว่า เป้าหมายนั้นยังอยู่อีกห่างไกล

การคว่ำของ ‘Snake Eyes: G.I. Joe Origins’ นั้นเป็นชะตากรรมที่ดูไม่ผิดจากความคาดหมาย หนังไม่มีชื่อที่ขายได้เลย นอกจากชื่อของ ‘G.I. Joe’ ที่เป็นของเล่นที่เป็นรู้จักของชาวอเมริกันเท่านั้น ภาคนี้เลือก เฮนรี่ โกลดิ้ง (Henry Golding) หนุ่มลูกครึ่ง มาเลเซียน-อังกฤษ มารับบทนำ ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักมาจาก ‘Crazy Rich Asians’ (2018) แต่ก็ยังไม่ใช่ชื่อที่แข็งแรงพอจะใช้เป็นจุดขายได้ บวกกับการที่ใช้ โรเบิร์ต ชเวนท์เคอ (Robert Schwentke)มาในตำแหน่งผู้กำกับ ยิ่งเป็นตัวเลือกที่บ่งบอกเค้าลางหายนะของหนังได้เป็นอย่างดี เพราะชเวนท์เคอนี่สร้างแต่หนังคว่ำมาตลอด ตั้งแต่ R.I.P.D. (2013) ตามมาด้วย ‘The Divergent Series: Insurgent’ และ ‘Allegiant’ เป็นการปิดฉากหนังจากนิยายเยาวชนดังไว้แค่ 2 ภาค

เมื่อหนังออกฉายก็ได้คะแนนมะเขือเน่าจาก rottentomatoes ไปทันทีที่ 35% หนังออกฉายชนกับ ‘Old’ หนังฟอร์มเล็กของผู้กำกับ เอ็ม.ไนต์ ชยามาลาน ที่ใช้ทุนน้อยกว่าหลายเท่า แต่ ‘Old’ ก็ยังครองอันดับ 1 ในสัปดาห์นั้น ส่วน ‘Snake Eyes: G.I. Joe Origins’ ตามมาในอันดับที่ 2 พอเข้าสัปดาห์ที่ 2 รายได้หนังก็ตกลงฮวบฮาบถึง 70% สุดท้ายแล้วหนังก็ทำรายได้ทั่วโลกไปแค่ 40 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่ 88 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าประเมินรวมต้นทุนค่าการตลาดแล้ว หนังต้องทำเงินอย่างน้อยที่ 160 ล้านเหรียญ ถึงจะพอคุ้มทุน


3. Amsterdam (2022)

เดวิด. โอ. รัสเซล (David O. Russell) เป็นผู้กำกับอเมริกันที่มีผลงานน่าเชื่อถือในเครดิตมากมาย ‘The Fighter’ (2010) ส่งให้ คริสเตียน เบล คว้าออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาแล้ว, ‘Silver Linings Playbook’ (2012) ก็ส่งให้ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ คว้าออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้ว ผลงานต่อจากนั้นอย่าง ‘American Hustle’ (2013) และ ‘Joy’ (2015) ก็ล้วนส่งให้นักแสดงนำได้เข้าชิงออสการ์และทำกำไรให้สตูดิโอได้พอประมาณ

จึงไม่แปลกที่โปรเจกต์ใหม่ ๆ ของ โอ. รัสเซล จะได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอ และมีชื่อนักแสดงแถวหน้าอยู่ในโปรเจกต์เสมอ อย่างใน ‘Amsterdam’นี้ก็มีนักแสดงนำอย่าง คริสเตียน เบล, มาร์โกต์ ร็อบบี้ และ จอห์น เดวิด วอชิงตัน ที่เพิ่งโด่งดังมาจาก ‘Tenet’ พร้อมกับงบที่สตูดิโอเทมาให้ถึง 80 ล้านเหรียญ แต่รอบนี้ ผลงานของ โอ. รัสเซล ไม่เปรี้ยงปร้างดังคาด หนังทำรายได้สัปดาห์แรกในสหรัฐอเมริกาจุ๋มจิ๋มมาก แค่ 6.5 ล้านเหรียญ ขนาดว่าได้โรงฉายมากถึง 3,005 โรง แพ้แม้กระทั่งหนังฟอร์มเล็กเอาใจเด็ก ๆ อย่าง ‘ Lyle, Lyle, Crocodile’

เสียงจากผู้เชี่ยวชาญบอกว่าหนังคว่ำด้วยสาเหตุหลายประการ อย่างแรกคือหนังไม่ถูกใจนักวิจารณ์ ได้มะเขือเน่า 32% จากเว็บ rottentomatoes บวกกับหนังยาวถึง 134 นาที ทำให้คนดูค่อนข้างชะงักเมื่อเห็นว่าหนังยาวถึง 2 ชั่วโมงกว่า ส่วนทีมการตลาดของดิสนีย์ก็งง ๆ กับหนังที่มีสไตล์ประหลาดและพล็อตเรื่องที่ชวนสับสนก็เลยไม่รู้จะหาจุดขายอย่างไรดี สุดท้ายแล้วหนังก็ทำเงินทั่วโลกไปได้แค่ 31 ล้านเหรียญ คาดการณ์ว่า ‘Amsterdam’ ทำดิสนีย์ขาดทุนไปถึง 108 ล้านเหรียญ


2. Chaos Walking (2021)

‘Chaos Walking’ เป็นนิยายสำหรับเยาวชน 3 เล่มจบ ผลงานประพันธ์โดย แพตทริค เนส วางแผงตั้งแต่ปี 2008 – 2010 เป็นนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งด้านยอดขายและรางวัลมากมาย จึงไม่แปลกที่สตูดิโอภาพยนตร์จะแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และผู้ที่ได้ครอบครองลิขสิทธิ์ก็คือ ไลออนส์เกต สตูดิโอ ที่ได้ ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) และ เดซี ริดลีย์ (Daisy Ridley) 2 นักแสดงวัยรุ่นจาก ‘Spider-Man’ และ ‘Star Wars’มารับบทนำ แถมยังได้ ดั๊ก ไลแมน (Doug Liman) ผู้กำกับที่มีผลงานประสบความสำเร็จมากมายอย่าง ‘Edge of Tomorrow’ และ ‘Mr. and Mrs.smith’ มารับหน้าที่กำกับ ดูแล้ว ‘Chaos Walking’เพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบของการเป็นหนังฮิต

แต่ผลก็ออกมาผิดคาด หนังได้คะแนนบนเว็บ rottentomatoes แย่มาก ที่ 21% แค่นั้น นักวิจารณ์สาดเสียเทเสียใส่หนังว่า “ดำเนินเรื่องก็แย่ แถมตัวละครยังมาในรูปแบบเดิม ๆ ขาดพัฒนาการ” นักวิจารณ์อีกสำนักบอกว่า “Chaos Walking เริ่มเรื่องได้อย่างน่าสนใจ แต่การเล่าเรื่องราวแนวดิสโทเปียผสมการผจญภัยนี้ยิ่งเดินหน้าไปก็ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ และเป็นแบบนี้ไปจนจบเรื่อง”

สุดท้ายแล้วหนังทำรายได้ทั่วโลกไปแค่เพียง 27 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่อาจสูงถึง 125 ล้านเหรียญ ประเมินว่า ‘Chaos Walking’ ทำให้ไลออนส์เกตขาดทุนไปประมาณ 98 ล้านเหรียญ และเป็นการปิดฉากโปรเจกต์ไตรภาค ตั้งแต่หนังภาคแรก


1. Renfield (2023)

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีองค์ประกอบของฮิตครบถ้วน หนังฉกฉวยโอกาสในช่วงที่ชื่อของ นิโคลาส เคจ (Nicolas Cage) กำลังกลับมาเป็นที่ยอมรับในฮอลลีวูดและกลุ่มผู้ชม ด้วยการพลิกบทบาทให้มาสวมบทเป็น แดร็กคูล่า ผีดิบแวมไพร์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แล้วยังได้ นิโคลาส เฮาลต์ (Nicolas Hoult)และ อะควาฟินา มาสมทบด้วย คริส แม็กเคย์ (Chris Mckay) ที่ประสบความสำเร็จมากจาก ‘The Lego Batman Movie’ (2017) มารับหน้าที่กำกับ เพราะหนังออกมาในแนวคอมมีดี้ ที่เข้าทางผู้กำกับแม็กเคย์พอดี

เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ก็ไม่แย่นัก หนังได้คะแนนจาก rottentomatoes ไปที่ 58% เสียงจากนักวิจารณ์สำนักหนึ่งกล่าวว่า “แม้ว่าหนังจะล้มเหลวจากการใช้ประโยชน์จากนักแสดงที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและปีศาจนักฆ่า แต่หนังสยองขวัญ-คอมเมดี้เรื่องนี้ที่มีความผสมผสานกันอย่างหนักหน่วงก็พอที่จะสร้างความประทับใจได้”

แล้วในวันที่ลงโรงฉายนั้น ตลาดโรงภาพยนตร์ก็พร้อมใจกันเทรอบฉายให้มากถึง 3,375 โรงเลยทีเดียว แต่ข้อผิดพลาดก็คือจังหวะเวลาที่ปล่อยหนัง เพราะ ‘Renfield’ เข้าฉายตามหลัง ‘The Super Mario Bros. Movie’ เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ซึ่งถ้าใครติดตามวงการภาพยนตร์น่าจะทราบดีว่า ‘The Super Mario Bros. Movie’ เป็นหนังที่ทำเงินอย่างบ้าระห่ำ ทะลุ 1,300 ล้านเหรียญไปแล้ว ไม่เพียงแค่นั้นหนังยังเข้าฉายชนกับ ‘The Pope’s Exorcist’ ที่มีความคล้ายกันในแง่ของความเป็นหนังสยองขวัญ ทำให้หนังแย่งกลุ่มผู้ชมกัน และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงสมรภูมิหนังซัมเมอร์ ทำให้โรงหนังต้องเลือกเทรอบให้กับหนังฟอร์มใหญ่อย่าง ‘Guardians of the Galaxy Vol. 3’ สุดท้ายแล้ว ‘Renfield’ก็ลาโรงไปด้วยตัวเลขรายรับที่ 26.7 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่ 65 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังคว่ำเรื่องแรก ๆ ประเดิมปี 2023 ไป

ที่มา : collider screenrant IMDB wikipedia