สิ่งที่เป็นจุดเด่นสำคัญของภาพยนตร์ ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ นอกจากแอ็กชันเสี่ยงตายที่ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ยังคงสามารถแสดงศักยภาพทางร่างกาย และงานด้านโปรดักชันสุดอลังการที่พิถีพิถัน จนได้ออกมาเป็นฉากแอ็กชันที่ตื่นเต้นสมจริง รวมทั้งเรื่องราวของปฏิบัติการการหยุดยั้งภัยคุกคามใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า เอนทิตี (Entity) ที่ถือว่าใหญ่และยากจนเรียกว่าเป็นปฏิบัติการที่แทบจะเป็นไม่ได้มากที่สุดครั้งหนึ่งของ อีธาน ฮันต์ เลยก็ว่าได้

แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ตัวหนังแอบแฝงไว้ได้อย่างน่าสนใจก็คือ การสอดแทรก Easter Egg จาก ‘Mission: Impossible’ ภาคเก่า ๆ โดยเฉพาะภาคแรกที่ออกฉายในปี 1996 ที่ถือเป็นปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมด รวมทั้งเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่ามาก่อนในภาคแรก ที่สามารถย้อนไปไกลถึงช่วงเวลาที่ฮันต์เพิ่งตัดสินใจเข้าร่วมหน่วย IMF (Impossible Mission Force) รวมทั้งการอ้างอิงชื่อต่าง ๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในภาคก่อนหน้า ทั้งหมดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจรากเหง้าและเรื่องราวของตัวฮันต์เองในภาคนี้ และนี่คือบรรดา Easter Egg จากแฟรนไชส์ทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในภาคนี้


คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’


การกลับมาของ ยูจีน คิตทริดจ์
Mission: Impossible

สิ่งที่ถือเป็นการอ้างอิงแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปรากฏตัวของ ยูจีน คิตทริดจ์ (Eugene Kittridge) ตัวละครสำคัญจากภาคแรกที่ออกฉายในปี 1996 แสดงโดย เฮนรี เซอร์นีย์ (Henry Czerny) ซึ่งในภาคแรก คิตทริดจ์คืออดีตหัวหน้าหน่วย IMF ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมา และยังเป็นคนของหน่วยงานรัฐบาลที่ออกไล่ล่า อีธาน ฮันต์ เพราะเชื่อว่าเขาคือสายลับผู้ทรยศองค์กร

ส่วนในภาคนี้ คิตทริดจ์ได้ขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการหน่วย CIA ที่เข้ามาบีบบังคับฮันต์อีกครั้ง แต่ในคราวนี้เป็นการบีบบังคับให้ฮันต์ออกปฏิบัติการค้นหากุญแจที่ใช้ควบคุมเอนทิตี และในฐานะตัวแทนของรัฐบาล คิตทริดจ์ยังบีบบังคับให้ฮันต์ อริเก่าของเขาต้องเลือกข้าง ระหว่างประเทศชาติ หรือมนุษยชาติ ในสงครามที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น


ภาพถ่ายของ เอริกา สโลน อดีตผู้อำนวยการ CIA
Mission: Impossible

ใน ‘Dead Reckoning Part One’ มีตัวละครจากภาคก่อนหน้าที่ถูกอ้างถึงอยู่หลายตัวละคร หนึ่งในนั้นก็คือ เอริกา สโลน (Erika Sloane) อดีตผู้อำนวยการ CIA แสดงโดย แองเจลา แบสเซ็ตต์ (Angela Bassett) มีบทบาทเป็นผู้ออกคำสั่งให้ ออกัสต์ วอล์กเกอร์ (เฮนรี คาวิลล์ – Henry Cavill) นักสืบมือฉมังจากหน่วย CIA คอยประกบฮันต์ในระหว่างปฏิบัติภารกิจ ส่วนในภาคนี้ บทบาทผู้คอยจับผิดฮันต์ในภารกิจ ตกเป็นของ แจสเปอร์ บริกก์ส (Jasper Briggs) ที่แสดงโดย เช วิแกม (Shea Whigham)


มุกตลกจิกกัด IMF
Mission: Impossible

สิ่งที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ แทบทุกภาคก็คือ มุกตลกแซวตัวเองเกี่ยวกับการมีอยู่ของหน่วย IMF เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า หน่วย IMF ถือเป็นหน่วยสืบราชการลับระหว่างประเทศที่ทำงานอย่างลับ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐความลึกลับไร้ตัวตนของสายลับหน่วย IMF ทำให้ในฉากเจรจาของเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง มีสมาชิกในการเจรจาคนหนึ่งที่ถามคิตทริดจ์ว่า IMF ย่อมาจาก ‘กองทุนการเงินระหว่างประเทศ’ (International Monetary Fund) แทนที่จะเป็น Impossible Mission Force


“ไม่เคยเห็นนี่หรือไง ? “
Mission: Impossible

ใน ‘Dead Reckoning Part One’ เป็นการนำเอาอารมณ์ขันเล็ก ๆ จากภาคแรกกลับมาอัปเดตใหม่ในภาคนี้ด้วย นั่นก็คือความสามารถในด้านการเล่นกลมืออันว่องไวที่เป็นเอกลักษณ์ของ อีธาน ฮันต์ โดยในภาคแรก หลังจากปฏิบัติการห้อยตัวขโมยข้อมูลรายชื่อสายลับหน่วย CIA จากห้องนิรภัยของสำนักงาน CIA ฟรันซ์ ครีเกอร์ นักบินมือฉมัง แสดงโดย ฌอง เรโน (Jean Reno) เป็นคนครอบครองแผ่นดิสก์เอาไว้ แต่กลายเป็นว่า ฮันต์ได้เล่นกลเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาทำสำเนาแผ่นดิสก์เก็บไว้กับตัวอีกชุด พร้อมบทพูด “You’ve Never Seen This Trick ? ” ของฮันต์ที่กลายเป็นภาพจำของฉากนี้ไปแล้ว

ส่วนในภาคนี้ นอกจากฮันต์จะได้มีโอกาสโชว์กลมืออีกครั้งแล้ว เขายังต้องเจอกับ เกรซ (เฮย์ลีย์ แอตเวลล์ – Hayley Atwell) สาวนักล้วงกระเป๋าปริศนา ที่เข้ามาขัดขวางปฏิบัติการชิงกุญแจในระหว่างปฏิบัติภารกิจในสนามบินที่อาบูดาบี เมื่อฮันต์ได้เห็นฝีไม้ลายมือการล้วงกระเป๋า และทักษะการสับขาหลอกอันช่ำชอง ฮันต์จึงได้ชวนเธอมาเป็นนกต่อ ร่วมภารกิจชิงกุญแจด้วยกันกับทีมของเขาในภายหลัง


มุมกล้อง Dutch Angle อันเป็นเอกลักษณ์
Mission: Impossible

อีกเอกลักษณ์ที่เห็นชัดในภาคนี้ก็คือ การใช้มุมกล้องแบบเอียง (Dutch Angle) โดยเฉพาะช็อตที่ฮันต์ลอบเข้ามาในวงเจรจาลับของคิตทริดจ์ ก่อนที่ฮันต์จะเปิดเผยตัว และนั่งเจรจาเกี่ยวกับภารกิจใหม่และการเลือกข้างของฮันต์ ที่มีการใช้มุมกล้องเอียงเพื่อขับเน้นความตึงเครียด กดดัน และความไม่น่าไว้วางใจของตัวละครและเรื่องราวในหนัง ชวนให้นึกถึงฉากที่ทั้งคู่เจรจาที่จุดปลอดภัยในร้านอาหาร และฉากตู้ปลาระเบิดในภาคแรกที่มีความกดดันไม่แพ้กัน

ซึ่งผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ แม็กควอรี (Christopher McQuarrie) น่าจะได้แรงบันดาลใจจากการใช้มุมกล้องแบบเดียวกันนี้ในภาคแรก แบบเดียวกับที่ ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma) ใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคแรก


วายร้าย จอห์น ลาร์ก
Mission: Impossible

หลังจากที่เกรซชิงกุญแจทั้งสองส่วนไปได้หลังการไล่ล่าที่กรุงโรม ฮันต์ได้เริ่มปฏิบัติการใหม่ทันที เนื่องจากเขารู้ว่ากำลังจะมีปาร์ตี้ที่จัดขึ้นเพื่อเจรจาซื้อขายกุญแจ โดยที่ไม่รู้ว่าเกรซจะนำกุญแจไปส่งให้กับใคร เขาและ อิลซา ฟาวสต์ (รีเบ็คกา เฟอร์กูสัน – Rebecca Ferguson) ได้ลอบเข้าไปยังปาร์ตี้ แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้ ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวไปเข้าพบกับอลานา หรือ แม่ม่ายขาว (วาเนสซา เคอร์บี – Vanessa Kirby) หญิงสาวนักค้าอาวุธ และ แกเบรียล (อีไซ โมราเลส – Esai Morales) โดยอลานาได้เรียกฮันต์ว่า จอห์น ลาร์ก (John Lark)

จอห์น ลาร์ก คือหนึ่งในตัวละครสำคัญจากภาค ‘Fallout’ เป็นวายร้ายที่ว่าจ้าง ดิ อะพอสเซิล (The Apostles) องค์กรก่อการร้ายให้สร้างระเบิดนิวเคลียร์เพื่อก่อการร้ายและสร้างโลกใหม่ หลังจากที่ฮันต์ได้ปล่อยให้พลูโตเนียมหลุดมือไป เขาได้ปลอมตัวเป็นลาร์ก เพื่อเข้าไปซื้อพลูโตเนียมจาก ดิ อะพอสเซิล ผ่านแม่ม่ายขาวที่เป็นนายหน้า นอกจากนี้ จอห์น ลาร์ก ยังเป็นนามจริงของ ออกัสต์ วอล์กเกอร์ ที่แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ CIA และพยายามป้ายสีให้ฮันต์เป็นแพะรับบาปในข้อหาก่อการร้าย


เครื่องผลิตหน้ากากปลอมตัวแบบพกพา (ที่พังแล้วพังอีก)
Mission: Impossible

หลังก่อเหตุในพระราชวังเครมลินใน ‘Ghost Protocol’ วิสตรอม (ซามูลี เอเดลมันน์ – Samuli Edelmann) ได้เดินทางไปยังตึก เบิร์จ คาลิฟา ในดูไบ พร้อมกับมือสังหารสาว ซาไบน์ มอโรว์ (ลีอา เซดูซ์ – Léa Seydoux) เพื่อเจรจาซื้อขายรหัสลับสั่งการระเบิดนิวเคลียร์ ทีมของฮันต์จึงได้วางแผนจัดฉากสลับคู่ด้วยการปลอมตัว ในระหว่างนั้น เครื่องผลิตหน้ากากของของ เบนจี ดันน์ (ไซมอน เพ็กก์ – Simon Pegg) เกิดเหตุขัดข้องจนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแผนกะทันหัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งใน ‘Dead Reckoning Part One’ หลังจากที่เกรซได้เข้าร่วมทีมของฮันต์อย่างจำใจ ฮันต์ได้เริ่มภารกิจแทรกซึมเข้าไปในการเจรจาซื้อขายกุญแจบนรถไฟ The Orient Express ตามแผนเดิม สมาชิกทั้งหมดจะต้องปลอมตัวเข้าไปร่วมโต๊ะเจรจาด้วย แต่ในระหว่างสร้างหน้ากากปลอมตัว เครื่องผลิตหน้ากากพกพาเกิดเหตุขัดข้อง ทำให้เหลือแต่เพียงหน้ากากของอลานาที่ใช้ได้ ทีมจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนด้วยการส่งเกรซปลอมตัวเป็นอลานาขึ้นไปบนรถไฟได้เพียงแค่คนเดียว ส่วนฮันต์จะตามไปสมทบภายหลัง


ความตายของ อิลซา ฟาวสต์
Mission: Impossible

หลังจากที่ อิลซา ฟาวสต์ เกรซ และฮันต์ได้หลบหนีการไล่ล่าของแกเบรียลในเวนิส ฮันต์ได้ติดต่อให้เบนจีและ ลูเธอร์ สติกเคลล์ (วิง เรมส์ – Ving Rhames) ให้ช่วยหาทางออก แต่กลายเป็นว่า ฮันต์ถูกเอนทิตีปลอมเสียงและให้ข้อมูลปลอมเพื่อล่อให้ฮันต์และฟาวสต์ไปติดกับดักที่วางเอาไว้ ฮันต์ได้เข้าต่อสู้กับปารีส (ปอม เคลม็องตีแยฟ – Pom Klementieff) ส่วนฟาวสต์ได้ต่อสู้กับแกเบรียลบนสะพานข้ามคลอง แม้ฮันต์จะรอดจากเงื้อมมือของปารีสมาได้ (แถมยังไว้ชีวิตเธออีก) แต่สุดท้ายฮันต์ก็ต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อพบว่า ฟาวสต์ถูกแกเบรียลสังหาร ร่างนอนแน่นิ่งอยู่บนสะพาน ก่อนที่แกเบรียลจะหลบหนีไปอีกครั้ง

การตายอันน่าสลดใจของฟาวสต์ สามารถเชื่อมโยงไปถึงฉากสำคัญในภาคแรก ซึ่งเป็นฉากที่ฮันต์ และทีมสายลับ IMF ได้เดินทางไปยังกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ค ในปฏิบัติการเฝ้ารอผู้ซื้อข้อมูล ก่อนจะพบว่าสมาชิกทีมกลับถูกสังหารต่อหน้าต่อตาฮันต์ โดยหารู้ไม่ว่า นี่เป็นภารกิจปลอมที่ถูกจัดฉากขึ้นโดย จิม เฟลป์ส (จอน วอยต์ – Jon Voight) หัวหน้า IMF วางแผนล่อจับสายลับที่เป็นหนอนบ่อนไส้ ซึ่งในภาคแรกนั้นสายลับคนอื่น ๆ แกล้งทำเป็นตาย แต่ อิลซา ฟาวสต์ ถูกสังหารตายจริง ๆ


ทายาทนักค้าอาวุธในตำนาน
Mission: Impossible

ใน ‘Mission: Impossible’ ภาคแรก แม็กซ์ มิตโซโปลิส (Max Mitsopolis) (วาเนสซา เรดเกรฟ – Vanessa Redgrave) เป็นนามแฝงของนักค้าอาวุธที่ติดต่อซื้อรายชื่อของสายลับ CIA เพื่อนำไปขายให้กับองค์กรผู้ก่อการร้าย โดยไม่สนว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ขอเพียงแค่ทำเงินให้เธอได้ก็เป็นพอ ซึ่งแม้ว่าแม็กซ์จะไม่ได้ปรากฏในภาคอื่นแล้ว แต่มรดกของนักค้าอาวุธไปตกอยู่กับลูกสาวของเธอเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเธอคือ อลานา มิตโซโปลิส หรือ แม่ม่ายขาว นักค้าอาวุธพราวเสน่ห์ที่เคยปรากฏตัวในภาค ‘Fallout’ และปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะนายหน้าซื้อขายกุญแจใน ‘Dead Reckoning Part One’ นั่นเอง


ฉากแอ็กชันกลางพายุทราย
Mission: Impossible

หลังจากเหตุการณ์การซ้อนแผนซื้อขายรหัสปลดล็อกระเบิดนิวเคลียร์บนตึก เบิร์จ คาลิฟา ที่กลายเป็นแผนแตกในภาค ‘Ghost Protocol’ ฮันต์ได้วิ่งไล่ล่าวิสตรอมที่ได้รหัสไป ฮันต์พยายามไล่ตามเขาท่ามกลางพายุทรายที่บดบังจนมองไม่เห็นเส้นทางจนทำให้รถยนต์ที่เขาขับประสบอุบัติเหตุ ฮันต์จึงวิ่งไล่ตามจนเกือบจะทัน แต่สุดท้าย วิสตรอมก็ถอดหน้ากาก เผยให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเขาคือ เคิร์ต เฮนดริกส์ (ไมเคิล นีควิสต์ – Michael Nyqvist) หรือผู้ก่อการร้ายฉายา โคบอลต์

ใน ‘Dead Reckoning Part One’ ฮันต์ต้องตะลุยฝ่าพายุทะเลทรายอีกครั้ง เมื่อเขาได้รับภารกิจให้ไปตามหากุญแจบางอย่าง โดยกุญแจครึ่งหนึ่งอยู่กับ อิลซา ฟาวสต์ อดีตพันธมิตรเก่าของฮันต์จากภาค ‘Rogue Nation’ และ ‘Fallout’ ที่กบดานอยู่ในทะเลทรายอาหรับ และถูกตั้งค่าหัวจากนักฆ่าที่กำลังต้องการสังหารเธอให้ได้ ฮันต์ได้ขี่ม้าแฝงตัวเข้าต่อสู้กับศัตรู แต่ฮันต์กลับไม่สังหารเธอ พร้อมทั้งช่วยชีวิตด้วยการบอกให้เธอแกล้งตาย


ฉากต่อสู้บนหลังคารถไฟ
Mission: Impossible

ใน ‘Mission: Impossible’ ภาคแรก ฮันต์ได้นัดหมายกับแม็กซ์เพื่อส่งมอบรายชื่อนักสืบ CIA บนรถไฟความเร็วสูง TGV ที่มุ่งหน้าจากลอนดอนไปปารีส ฮันต์ต้องต่อสู้ขัดขวางเฟลป์ส วายร้ายตัวจริงที่กำลังปีนขึ้นหลังคารถไฟ ที่มีครีเกอร์ขับเฮลิคอปเตอร์รอรับอยู่ ทั้งคู่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในระหว่างที่รถไฟวิ่งด้วยความเร็วที่ลอดเข้าไปในอุโมงค์ ในที่สุด ฮันต์ใช้หมากฝรั่งระเบิดแปะเข้ากับเฮลิคอปเตอร์จนสามารถสังหารทั้งเฟลป์สและครีเกอร์ได้สำเร็จ

แน่นอนว่า ฉากการต่อสู้บนหลังคารถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ระหว่างฮันต์กับแกเบรียล ที่กำลังจะตกรางเพราะสะพานถูกวางระเบิดจนทางรถไฟขาด สามารถชวนให้นึกถึงฉากการต่อสู้บนรถไฟในตำนาน แต่ที่เหนือกว่าภาคแรกที่ถ่ายทำในสตูดิโอ และเพิ่มเติมด้วยวิชวลกราฟิกที่ถูกหลายคนวิจารณ์ก็คือ การสร้างรถไฟ สายด่วน The Orient Express จำลองที่ต่อเติมจากขบวนรถไฟจริง ๆ และถ่ายทำบนทางรถไฟความยาว 40 กิโลเมตร ที่วิ่งผ่านภูมิทัศน์ของประเทศนอร์เวย์จริง ๆ


‘ทางเลือก’ ของภารกิจที่เป็นไปไม่ได้
Mission: Impossible

อีกสิ่งสำคัญของแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ ทุกภาคที่ถูกหยิบยกเอามาย้ำในภาคนี้อีกครั้งก็คือ สิ่งที่เป็นทางเลือกของคนในทีม IMF ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ภาคหลังจากที่ฮันต์รับภารกิจ ในภาคนี้หลังจากที่เกรซได้ตบปากรับคำจากฮันต์ให้มาร่วมปฏิบัติภารกิจกับทีม เนื่องจากตัวเธอเองมองว่าเป็นคนที่ทำให้ฟาวสต์ตายที่เวนิส ฮันต์ได้อธิบายให้เกรซฟังว่า ตัวเขา เบนจี และลูเธอร์ ล้วนยอมรับทางเลือกที่จะทิ้งชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกเขาไว้เบื้องหลัง และกลายเป็นผีที่อุทิศตนทำภารกิจให้กับ IMF อย่างเต็มที่ เพราะหากสายลับคนใดถูกจับ หรือเสียชีวิตระหว่างภารกิจ รัฐมนตรี (หัวหน้าหน่วย IMF) จะปฏิเสธและไม่รับทราบในการกระทำใด ๆ ของนักสืบผู้นั้น


ที่มา: Screen Rant

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส