เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาทาง SAG-AFTRA (The Screen Actors Guild – American Federation of Television and Radio Artists)  หรือสหภาพนักแสดงและศิลปินที่ทำงานด้านภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ ได้สไตรค์นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยคู่กรณีในคราวนี้ได้แก่ AMPTP (Alliance of Motion Picture and Television Producers) หรือเครือข่ายผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยสมาชิกของ SAG-AFTRA จะไม่สามารถทำงานแสดง ร่วมโปรโมต เดินพรมแดงหรือเข้าร่วมการให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อได้ โดยตัวอย่างล่าสุดได้แก่กรณีของ ทีมนักแสดง ‘Oppenheimer’ เดินออกจากงานฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลอนดอน

โดยรวมของข้อเรียกร้องที่ทางสมาชิก SAG-AFTRA ได้ออกมาสไตรค์ในรอบนี้คือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่อาชีพนักแสดงของตน อาทิเรื่องที่นักแสดงในปัจจุบันถูกบังคับให้อัดเทปแคสติงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวในการทำงานช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่นักแสดงไม่สามารถเดินทางมาออดิชันที่ ห้องแคสติง ตามวิธีปฏิบัติปกติได้ แต่หลังสถานการณ์คลี่คลายบรรดาสตูดิโอต่าง ๆ ยังคงผลักภาระการหาอุปกรณ์ถ่ายทำหรือการหาพาร์ทเนอร์ร่วมต่อบทให้กับนักแสดง

ซึ่งทาง SAG-AFTRA จะขอต่อรองว่าหากมีการให้นักแสดงบันทึกเทปแคสติงเองจะขอต่อรองให้อ่านบทไม่เกิน 5 หน้า (จากเดิมที่ทาง AMPTP จะขอให้อ่าน 8 หน้า) และขอสงวนสิทธิ์ในการจัดไฟหรือการคุมคุณภาพวิดีโอแคสติงของนักแสดง

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากในข้อเรียกร้องนี้คือการเข้ามามีบทบาทของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเนรมิตรทุกอย่างให้ปรากฎบนจอได้ จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงศีลธรรมและสิทธิในอัตลักษณ์บุคคล (right to personal identity) โดยมีตั้งแต่การใช้เสียง AI ที่ไปเลียนแบบเสียงของบุคคลจริงมาใช้บรรยายหรือให้เสียงการจ้างนักแสดงมาพากย์เสียง

ไปจนถึงเรื่องของเอ็กซ์ตรา (Extra) นักแสดงประกอบฉากที่แต่เดิมในยุคสตูดิโอรุ่งเรืองเคยมีการจ้างนักแสดงประกอบฉากเป็นร้อย ๆ คนในหนังเอพิกจนต่อมาเทคโนโลยีทำให้สามารถสร้างเอ็กซ์ตราด้วยคอมพิวเตอร์ และพัฒนามาสู่ความสมจริงด้วยการสแกนร่างกายนักแสดงประกอบฉากทั้งตัวแล้วให้ค่าจ้างเพียงแค่ 1 คิวเท่านั้น แต่สตูดิโอกลับนำอัตลักษณ์บุคคล (personal identity) ไปใช้หาผลประโยชน์ได้ไม่จำกัดจนเกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

ซึ่งตรงนี้ทาง SAG-AFTRA จะเรียกร้องให้ทาง AMPTP ออกกฎรับรองการขอความเห็นชอบ (Consent) จากเจ้าของอัตลักษณ์บุคคลทุกครั้งและให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

ด้านข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้

  • ขอส่วนแบ่งรายได้ให้นักแสดงที่ทำงานในคอนเทนต์สตรีมมิง 2% โดยอาศัยเครื่องมือคำนวนมูลค่าของคอนเทนต์นั้น ๆ ที่นำเสนอโดย แพร์รอต อนาลีทิกส์ (Parrot Analytics) รวมถึงส่วนแบ่งจากรายได้อื่น ๆ เช่นโฆษณาหรือสินค้าไทอินในคอนเทนต์นั้น ๆ
  • การแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของ AMPTP ที่จะเพิ่มค่าตัวนักแสดงในสัญญาปีแรกที่ 5% และเพิ่มอีก 4% และ 3.5% ในภายหลังซึ่ง SAG-AFTRA มองว่าไม่สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อและเสนอเริ่มต้นที่ 11% และเพิ่มอีก 4% และ 4% ในภายหลัง
  • เรียกร้องให้ AMPTP เพิ่มค่าตัวให้นักแสดงประกอบฉาก 11% และเพิ่มค่าตัวให้นักแสดงรับเชิญ 58% สำหรับคอนเทนต์สตรีมมิง
  • เรียกร้องเพิ่มเงินชดเชยและสวัสดิการสุขภาพจากเดิมของนักแสดงในวงการโทรทัศน์จะได้ 519,270 บาทต่อปีสำหรับรายการความยาวครึ่งชั่วโมง และ 848,141 บาทต่อปีสำหรับรายการความยาว 1 ชั่วโมงขึ้นไป เป็น 1,402,029 บาทต่อปีสำหรับรายการครึ่งชั่วโมง และ 2,596,350 บาทต่อปีสำหรับรายการหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป
  • สิทธิในการหางานผ่าน Actors Access ที่เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ให้นักแสดงได้โพสต์ข้อมูล ประวัติผลงานเพื่อให้ทางสตูดิโอพิจารณา แต่เดิมจะมีให้เลือกคือแบบ Free Tier คือใช้บริการได้ฟรีได้สิทธิน้อยกว่าแบบ Premium Tier ที่นักแสดงที่จ่ายเงินซื้อแผนนี้ได้สิทธิอัปโหลดวีดีโอและมีสิทธิเหนือกว่าคนใช้งานแบบฟรี ซี่งทาง SAG-AFTRA ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมว่านักแสดงไม่ควรต้องเสียเงินเพื่อหางานให้ตัวเอง
  • จำกัดช่วงเวลาในการรองานไม่เกิน 18 เดือนนับจากวันแรกที่เริ่มถ่ายทำซีรีส์ ซึ่ง SAG-AFTRA ได้บรรลุข้อตกลงนี้กับทาง Netflix เมื่อปีที่แล้วเพื่อแก้ปัญหานักแสดงต้องรอคำตอบว่าซีรีส์ที่ตัวเองแสดงจะได้ต่อซีซีนต่อไปหรือไม่ เพื่อให้โอกาสในการหางานแสดงใหม่ได้ทันที ซึ่งทางสตูดิโอยอมข้อตกลงนี้สำหรับนักแสดงค่าตัวไม่เกิน 2,250,170 บาทต่อตอนสำหรับซีรีส์ไม่เกินครึ่งชั่วโมง และ 2,423,260 บาทต่อตอนสำหรับซีรีส์ความยาวหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป
  • เรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้นักแสดงโมชัน แคปเจอร์ (Motion Capture) ที่ควรได้รับสวัสดิการและค่าแรงเทียบเท่านักแสดงคนอื่น

โดยสำหรับการสไตรก์ครั้งนี้ขออธิบายสั้น ๆ ว่าในฮอลลีวูดจะมีหน่วยงานที่เหมือนเป็นสวัสดิภาพของคนทำงานในสายอาชีพเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์แบบครบวงจรนอกจาก SAG-AFTRA ที่ดูแลผลประโยชน์ให้นักแสดงและศิลปินแล้วยังมีหลายสหภาพยกตัวอย่างเช่น DGA (Director Guild of America) ที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับ หรือ WGA (Writer Guild of America) หรือสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาที่เริ่มประกาศสไตรค์มาตั้งแต่เดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยสหภาพเหล่านี้จะเป็นตัวแทนในสายอาชีพของตนตกลงผลประโยชน์ให้สมาชิกกับทาง AMPTP ซึ่งเป็นตัวแทนสตูดิโอและผู้สร้างหนัง ซีรีส์ หรือคอนเทนต์ โดยสัญญาแต่ละฉบับจะมีอายุ 3 ปี และในปี 2023 นี้สัญญาหมดอายุเมื่อเดือน พฤษภาคมพอดีและทาง AMPTP เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องในการแก้สัญญาของทั้ง WGA และ SAG-AFTRA จนส่งผลให้เกิดการสไตรค์และจะส่งผลต่อการสร้างหนังและซีรีส์ต่อไป

ที่มา

Collider

Forbes

Variety

Variety

Vulture

CNN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส