อีกหนึ่งการสูญเสียครั้งสำคัญของฮอลลีวูด พอล รูเบนส์ (Paul Reubens) นักแสดงตลก นักพากย์การ์ตูน และนักแสดงชาวอเมริกัน เจ้าของคาแรกเตอร์ พี-วี เฮอร์แมน (Pee-wee Herman) ผู้เรียกเสียงหัวเราะด้วยการแสดงแนวไร้เดียงสาราวกับเด็ก ๆ และเสียงหัวเราะแหลมเล็ก ที่เคยโด่งดังในยุค 80s เสียชีวิตแล้วในวัย 70 ปี
ตัวแทนของรูเบนส์ได้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของเขาผ่านทาง Instagram ส่วนตัวของรูเบนส์ เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา ระบุสาเหตุว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่เขาต้องเผชิญมายาวนานกว่า 6 ปีเป็นการส่วนตัวโดยที่ไม่ได้แจ้งต่อสาธารณะชน โดยแถลงการณ์ระบุว่า
“เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา เราได้กล่าวคำอำลากับ พอล รูเบนส์ นักแสดงตลก นักเขียน และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง ผู้ซึ่งเป็นตัวละคร พี-วี เฮอร์แมน อันเป็นที่รัก ที่ได้สร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในช่วงชีวิต ด้วยทัศนคติเชิงบวก ความขี้เล่น และความเชื่อมั่นในความสำคัญของความเห็นอกเห็นใจ”
“พอลต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างกล้าหาญ และเป็นส่วนตัวมานานหลายปีด้วยความดื้อรั้นและเฉลียวฉลาด มีพรสวรรค์และความสามารถล้นเหลือ อันเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา เขาจะยังคงอยู่ต่อไปในวิหารแห่งความตลกขบขัน และอยู่ในหัวใจของเรา ในฐานะเพื่อนผู้เป็นที่รัก และเป็นบุคคลผู้มีนิสัยโดดเด่นและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”
นอกจากนี้ในโพสต์เดียวกัน ยังได้มีการโพสต์ข้อความส่วนตัวของรูเบนส์เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เขาเผชิญมาอย่างยาวนานโดยไม่ได้เปิดเผยให้แฟน ๆ ได้รับทราบ
“โปรดรับคำขอโทษจากผมด้วย ที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ในสิ่งที่ผมต้องเผชิญมาตลอด 6 ปี ผมรู้สึกได้ถึงความรัก และความเคารพอย่างมากมายจากเพื่อน ๆ แฟนคลับ และผู้สนับสนุนของผมทุกคน ผมรักพวกคุณทุกคนมาก ๆ และมีความสุขมาก ๆ ที่ได้ทำงานสร้างศิลปะเพื่อพวกคุณ”
พอล รูเบนส์ เริ่มต้นอาชีพนักแสดงตลกในปี 1970 ด้วยการเป็นนักแสดงละครเวที และเข้าร่วมในคณะตลกแสดงสด เดอะ กราวน์ดิงส์ (The Groundlings) ในลอสแองเจลิส และได้เริ่มต้นแสดงคาแรกเตอร์ พี-วี เฮอร์แมน และเปิดตัวการแสดงสดที่มีชื่อว่า ‘The Pee-wee Herman Show’ ในปี 1980 ที่ทำให้คาแรกเตอร์นี้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น บัตรขายหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลา 5 เดือนที่เปิดแสดง และมีการบันทึกภาพการแสดงสดเพื่อนำไปออกอากาศทางช่องเคเบิล HBO จนทำให้ชาวอเมริกันได้รู้จักกับชายเจ้าของคาแรกเตอร์ตลกไร้เดียงสา เจ้าของเสียงหัวเราะเล็กแหลม ใส่ชุดสูทลายสก็อตสีเทา โบว์ไทสีแดงเป็นครั้งแรก
จนกระทั่งในปี 1985 คาแรกเตอร์ พี-วี เฮอร์แมน ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในชื่อ ‘Pee-wee’s Big Adventure’ (1985) ซึ่งเป็นผลงานการกำกับหนังเรื่องแรกของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) โดยรูเบนส์รับหน้าที่เขียนบท และมีการสร้างภาคต่อออกมาในชื่อ ‘Big Top Pee-wee’ (1988) ที่กำกับโดย แรนดัล เคลย์เซอร์ (Randal Kleiser) และมีการผลิตในรูปแบบรายการทีวีสำหรับเด็กช่วงเช้าในชื่อ ‘Pee-wee’s Playhouse’ ทางสถาทีโทรทัศน์ CBS ตั้งแต่ปี 1986 ถึงปี 1990 ซึ่งตลอดระยะเวลาการออกอากาศ รายการนี้ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับรางวัล เดย์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ดส (Daytime Emmy Awards) รวม 22 รางวัล
จุดพลิกผันในวงการของเขาเกิดขึ้นในปี 1991 เมื่อรูเบนส์ถูกจับกุมในข้อหากระทำอนาจาร เนื่องจากถูกจับได้ว่ากำลังช่วยตัวเองขณะชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ในรัฐฟลอริดา แม้เขาจะปฏิเสธในข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเสื่อมเสีย จนทำให้การแสดงของเขาต้องถูกยกเลิก และทำให้เขาไม่ได้แสดงในคาแรกเตอร์นี้อีกนานหลายปี แต่หันไปเป็นนักแสดงในนาม พอล รูเบนส์ และนักพากย์เสียงในเวลาต่อมา โดยบทบาทหนึ่งที่เขาได้รับก็คือ บทบาท ทักเกอร์ คอบเบิลพอต พ่อของ ออสวอลด์ คอบเบิลพอต หรือวายร้ายนาม เพนกวิน ในภาพยนตร์ ‘Batman Returns’ (1992) ที่กำกับโดยเบอร์ตัน ซึ่งภายหลังเขาได้กลับมารับบทเดิมนี้อีกครั้งในซีรีส์ ‘Gotham’ (2015–2017)
จนกระทั่งเขาเริ่มกลับมาแสดงในบทบาทนี้อีกครั้งในปี 2010 ด้วยการฟื้นคืนชีพการแสดงละครเวที ‘The Pee-wee Herman Show’ ปรากฏตัวเป็นแขกรับเชิญ ทั้งในการถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยปล้ำ WWE Raw และมีผลงานพากย์เสียงในแอนิเมชันอีกมากมาย เช่น ‘Tron: Uprising’ (2012–2013), ‘Robot Chicken’ (2012–2015), ‘Star Wars Rebels’ (2014) และรูเบนส์ยังได้ร่วมเขียนบท เป็นโปรดิวเซอร์ และร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของคาแรกเตอร์ พี-วี เฮอร์แมน ในชื่อ ‘Pee-wee’s Big Holiday’ ที่ออกอากาศทาง Netflix ในปี 2016 ซึ่งถือเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา
รูเบนส์เคยตอบคำถามกับเว็บไซต์ Collider ในปี 2015 เมื่อถูกถามว่า เขาจะแสดงในคาแรกเตอร์ พี-วี เฮอร์แมน ไปอีกนานเท่าไร เขาตอบแบบสั้น ๆ แบบไม่ลืมอารมณ์ขันว่า
“ผมก็ไม่รู้สิครับ ถ้าใครบอกว่าผมจะยังทำสิ่งนี้ในอีก 30 ปีต่อมา ผมคงหัวเราะแน่ ๆ แต่ตอนนี้ ผมวางแผนแล้วว่าผมจะทำมันไปอีกสัก 30 ปี ตอนที่ผมอายุครบ 140 ปี ไรงี้…”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส