เมื่อวันก่อนผู้เขียนได้เขียนเรื่อง นักแสดงดื่มอะไรกันแทนแอลกอฮอล์ในหนัง มาวันนี้เจอเรื่องราวน่าสนใจคล้าย ๆ กันน่าหยิบมาเล่าต่อ
นอกเหนือจากฉากดื่มแอลกอฮอล์ในหนังแล้ว ฉากเสพยาในหนังฮอลลีวูดนี่ก็มีให้เห็นบ่อยเช่นกัน ภาพที่เราเห็นกันบ่อยสุดก็มักจะเป็นภาพที่ตัวละคร ใช้บัตรเครดิตกวาดผงโคเคนมาเรียงเป็นแถวยาว ๆ แล้วก็ใช้กระดาษหรือธนบัตรม้วนเป็นทรงหลอด แล้วก็สูดเข้าทางรูจมูก ซึ่งเราก็รู้แน่แก่ใจกันอยู่แล้วล่ะ ว่าที่เห็นเป็นผงขาว ๆ ในหนังนั่นไม่ใช่เฮโรอีน หรือว่า โคเคน จริงหรอก กองถ่ายไหนจะบ้าซื้อยาเสพติดมาให้นักแสดงเสพกันจริง ๆ ล่ะ แต่ที่จริงแล้วเขาใช้ผงอะไรแทนกันนะ
ฮอลลีวูดสร้างหนังเกี่ยวกับยาเสพติด หรือหนังที่มีฉากเสพยาออกมาเยอะมาก นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และสารต่าง ๆ ที่นำมาใช้แทนผงขาวในหนังนั้นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน ในยุค 80’s ใช้นมผง หรือ เบกกิ้งโซดา กันเป็นหลัก แต่เพิ่งเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้เอง สารที่ใช้แทนโคเคนในหนังมีชื่อเฉพาะเรียกว่า “inositol” เป็นวิตามิน B แบบผง แถมมีคุณประโยชน์อีกด้วย ทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไป “มีพลังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” ซึ่งก็ไม่ใช่ความรู้แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเรา ๆ ต่างก็เห็นพวกโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง ที่มักอวดสรรพคุณว่ามีส่วนผสมของวิตามิน B อยู่เสมอ
แม้ว่า inositol จะปลอดภัย แต่ก็ไม่ใช่จะโอเคกับทุกคน มีรายงานจากกองถ่าย ‘The Wrestler’ ปี 2008 ว่า มิคกี้ รูร์ก (Mickey Rourke) มีอาการแพ้ผงดังกล่าว เขามีอาการข้างเคียงตามมาหลังจากสูดมันเข้าไป เจฟฟ์ บุตเชอร์ หัวหน้าฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก เล่าว่ารูร์กมีอาการ ‘สติแตก’ เล็กน้อย หลังจากสูด inositol เข้าไป ซึ่งก่อนเข้าฉากนี้ รูร์กก็มีอาการวิตกกังวลอยู่แล้วจนเห็นได้ชัด เขาก็เกรงว่าถ้าสูด inositol เข้าไปแล้วจะทำให้อาการเขาแย่ลงอีก แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ปัญหาไม่ได้บานปลายอะไรมากมาย เพราะรูร์กสามารถสงบสติอารมณ์ลงได้เอง
ส่วนในยุคก่อนหน้านั้น ที่ยังใช้นมผงหรือเบกกิ้งโซดาแทนโคเคนอยู่ก็เคยเป็นปัญหาเช่นกัน ในการถ่ายทำ ‘Scarface’ ปี 1983 อัล ปาชิโน (Al Pacino) เล่าว่าหลังจากที่เขาสูดโคเคนปลอมเข้าไป โพรงจมูกเขาก็มีปัญหาต่อเนื่องมาอีกหลายปี จริงอยู่ที่ว่าผงแป้งในการถ่ายทำเหล่านี้ไม่ได้มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ‘วิธีการเสพ’ ด้วยการสูดเข้าทางจมูก ซึ่งร่างกายเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รับสารแปลกปลอมเข้าทางจมูกอยู่แล้ว
โจนา ฮิลล์ (Jonah Hill) ก็เป็นอีกคนที่เคยมีประสบการณ์สูด inositol เข้าไปปริมาณมากระหว่างที่แสดงใน ‘The Wolf of Wall Street’ ปี 2013 แม้ว่าวิตามิน B จะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยเพิ่มพละกำลัง แต่ปรากฎว่าฮิลล์สูดมันมากเกินไป จนเขาต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ฮิลล์ย้อนเล่าถึงประสบการณ์นี้ระหว่างที่มาร่วมในรายการทอล์กโชว์ “Any Given Wednesday” กับ บิล ซิมมอนส์ เมื่อปี 2016
“แม้ว่ามันจะเป็นวิตามินผง แต่ไม่ว่าใครถ้าสูดมันเข้าปอดไปมากขนาดนั้น ก็ต้องป่วยหนักกันทั้งนั้นล่ะ”
“ในตอนนั้นเราต้องสูดโคเคนปลอมกันแทบทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลา 7 เดือน ชีวิตผมไม่เคยรับวิตามิน B เข้าร่างมากมายขนาดนี้มาก่อน ผมนี่แทบยกรถชูขึ้นเหนือหัวผมได้ทั้งคันเลย”
มาดูกันที่ฉากใช้เข็มฉีดยากันบ้าง ในหนังบางเรื่องที่มีตัวละครติดเฮโรอีน วิธีการหลบเลี่ยงที่ง่ายที่สุดเลย ก็คือตัดฉากที่ต้องเห็นตัวละครใช้เข็มฉีดยาทิ้งไปเลย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ฉากที่ต้องเห็นตัวละครฉีดยาเข้าร่างนั้นมีผลสำคัญต่อเนื้อหาอารมณ์ของหนังแล้วล่ะก็ ทางกองถ่ายก็จะใช้เข็มฉีดยาปลอม ซึ่งไม่ได้มีเข็มแหลมเจาะเข้าร่างนักแสดงจริง และในเข็มนั้นก็ไม่มีของเหลวอยู่ด้วย ซึ่งจะใช้ CG เติมของเหลวเข้าไปในไซริงก์ภายหลัง
แต่ก็มีบางเรื่องที่ไม่ใช้ CG เลย แล้วฉีดยาเข้าร่างกันจริง ๆ ด้วย กรณีนี้ทีมงานจะใช้ยาที่สังเคราะห์มาจาก “กัญชา” เหตุที่เลือกใช้ก็เพราะปัจจุบันถูกกฎหมายแล้วในบางรัฐ แต่กองถ่ายก็ต้องรับผลที่ตามมาเมื่อนักแสดงจะต้องมีอาการเมายาขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งอาจจะกระทบกับตารางการถ่ายทำ ในบางฉากที่ผู้กำกับอยากให้นักแสดงได้สื่อถึงอาการเมายาได้สมจริง ก็มักจะให้นักแสดงสูบบุหรี่ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือสมุนไพร อย่างเช่น กลีบกุหลาบ ใบโคลเวอร์ และ ใบชา
เอาล่ะ จากนี้ไปถ้าผู้อ่านได้ดูหนังที่มีฉากเสพยาเหล่านี้ เราก็รู้แล้วล่ะ ว่าที่จริงแล้วพวกเขากำลังเสพอะไรกันอยู่
ที่มา : unilad cinemablend