สุสานหิ่งห้อย, โทโทโร่เพื่อนรัก, แม่มดน้อยกิกิ, ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก, โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย และอีกหลายสิบเรื่อง เหล่านี้คือผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดังของ สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) สตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยงานภาพอันประณีตงดงามราวกับงานศิลป์ และเรื่องราวสุดตราตรึงใจ สอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิตเอาไว้อย่างลึกซึ้ง ภายใต้เรื่องราวสนุกสนานที่ดูง่าย ดูได้ทั้งครอบครัว
บทความนี้ขอพาไปพบกับการผจญภัยของเรื่องราวการก่อกำเนิด แรงบันดาลใจ และเบื้องหลังงานแอนิเมชัน จากแรงใจและไฟฝันของ 2 ผู้ก่อตั้ง ที่ครองใจคนทั้งโลกยาวนานกว่า 38 ปี
แรงใจและไฟฝัน
จุดกำเนิดของสตูดิโอจิบลิ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1963 ที่บริษัท โตเอะ แอนิเมชัน (Toei Animation) สตูดิโอแอนิเมชันชั้นนำของญี่ปุ่น ในเวลานั้น ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ทำงานเป็นแอนิเมเตอร์ ทั้งการวาดเส้นตัวละคร พื้นหลัง สตอรีบอร์ด ให้กับอนิเมะหลายเรื่องของโตเอะ ก่อนที่ในอีก 4 เดือนถัดมาก อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) แอนิเมเตอร์รุ่นน้อง ก็ได้เข้ามาทำงานที่โตเอะหลังจากนั้น ทั้งมิยาซากิและทาคาฮาตะ ได้ร่วมกันทำงานในแอนิเมชันหลาย ๆ เรื่องของโตเอะจนกลายเป็นความสนิทสนม
จุดเปลี่ยนของวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ก็คือ การแพร่หลายของเครื่องรับโทรทัศน์ ทำให้สตูดิโอผลิตแอนิเมชันหลายแห่งเริ่มหันไปผลิตแอนิเมชันสำหรับฉายทางทีวี ซึ่งมักจะเป็นการ์ตูนซีรีส์ตอนสั้น ๆ หลายตอนจบ ที่ใช้ต้นทุนน้อย มีลายเส้นและเรื่องราวแบบง่าย ๆ ผลิตได้อย่างรวดเร็ว แทนที่การผลิตออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ฉายในโรง ที่ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณสูง อีกทั้งยังเสี่ยงขาดทุนตอนฉาย
ปี 1963 มิยาซากิ และ ทาคาฮาตะ ร่วมกันผลิตผลงานแอนิเมชันเรื่องแรกของทั้งคู่อย่าง ‘วูฟ บอย เคน’ (Wolf Boy Ken) ซีรีส์แอนิเมชัน 86 ตอนฉายทางโทรทัศน์ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและเวลาในการผลิต ที่ทำให้แอนิเมชันฉายทางทีวี มักมีคุณภาพในระดับพอใช้ แต่ยังขาดเรื่องราวที่มีความลึกซึ้ง ทำให้ทั้งคู่เริ่มจุดประกายความใฝ่ฝันในการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่มีความประณีตงดงามสมจริง และถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งอีกครั้ง กลายเป็นความฝันของทั้งคู่ที่ถูกเก็บงำเอาไว้มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
จนกระทั่งปี ปี 1971 ทั้งมิยาซากิ และ ทาคาฮาตะ ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทโตเอะ และย้ายไปทำงานในบริษัทแอนิเมชันหลาย ๆ ที่แบบพร้อม ๆ กัน ทั้งบริษัทเอโปร (A-Pro ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Shin-Ei Animation) ซึ่งทั้งคู่ได้ร่วมผลิตหนังแอนิเมชัน ‘Lupin the Third: The Castle of Cagliostro’ ที่ออกฉายในปี 1979 ทำให้มิยาซากิมีเครดิตในฐานะผู้กำกับเป็นครั้งแรก
ก่อนจะย้ายไปอีกหลายบริษัท เช่น บริษัท ซุยโย เอโซะ (Zuiyo Eizo) และ เทเลคอม แอนิเมชัน ฟิล์ม (Telecom Animation Film) แม้ทั้งคู่จะยังคงทำงานแอนิเมชันทางทีวี แต่พวกเขาก็ยังคงเดินตามความฝันด้วยการนำเอาสตอรี่บอร์ดไปเสนอกับสตูดิโอหลายเจ้า ทั้งเรื่อง ‘เจ้าหญิงโมโนโนเกะ’ (Princess Mononoke) และ ‘โทโทโร่เพื่อนรัก’ (My Neighbor Totoro) แต่สุดท้ายกลับถูกปฏิเสธ
กำเนิดสายลมระลอกใหม่
จนกระทั่งในปี 1982 โทชิโอะ ซูซูกิ (Toshio Suzuki) บรรณาธิการนิตยสารแอนิเมชันรายเดือน อะนิเมจ (Animage) ของสำนักพิมพ์ โทคุมะ โชเต็ง (Tokuma Shoten) ได้ติดต่อให้มิยาซากิเขียนมังงะลงในนิตยสาร ตอนแรกเขาเองปฏิเสธไป แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจ ซึ่งมังงะที่เขาวาดขึ้นนั้นก็คือ ‘มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม’ (Nausicaä of the Valley of the Wind) ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมและคำชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างสูง
ก่อนที่ทั้ง 3 คนจะนำมังงะเรื่องนี้มาผลิตเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน แม้ตัวเรื่องราวจะเกี่ยวข้องกับการต่อต้านสงคราม มลพิษ และมีตัวเอกเป็นผู้หญิง แต่ตัวหนังกลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนนำไปสู่การก่อตั้ง สตูดิโอ จิบลิ ในวันที่ 15 มิถุนายน 1985 โดยในช่วงแรกยังเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้บริษัท โทคุมะ โชเต็ง ก่อนที่จิบลิจะแยกตัวเป็นอิสระในปี 2005
ที่มาของชื่อ จิ-บลิ ที่ออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ジブリ(จิบุหริ) ถูกคิดขึ้นโดยมิยาซากิ โดยคำว่าจิบลิ เป็นคำศัพท์ภาษาอาหรับ قبلي ที่มีความหมายว่า ลมร้อนระอุที่พัดผ่านผืนทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักบินของอิตาลีใช้เรียกขานเครื่องบินสอดแนม คาโปรนี ซีเอ 309 (Caproni Ca.309) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเหตุผลที่มิยาซากิเลือกชื่อนี้ก็เพราะว่า ส่วนตัวเขาเองมีความชื่นชอบ หลงใหลในเครื่องบิน และยังมีความหมายสื่อถึงการเป็นสายลมระลอกใหม่ที่พัดเข้ามาสู่วงการแอนิเมชันของญี่ปุ่นอีกด้วย
ในช่วงแรกเริ่มสตูดิโอจิบลิมีสำนักงานเช่าอยู่ในย่านชานเมืองโตเกียว ซึ่งมีเพียงชั้นเดียวเท่านั้น และมีพนักงานชุดเริ่มต้น 70 คน แต่พนักงานทุกคนล้วนมีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ที่พร้อมถูกเลิกจ้างได้หากงานเสร็จสิ้นหรือต้องปิดบริษัท จนกระทั่งในปี 1986 ‘ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา’ (Laputa: Castle in the Sky) ภาพยนตร์แอนิเมชันหมายเลข 1 ของจิบลิที่กำกับโดยมิยาซากิก็ได้ออกฉาย สร้างปรากฏการณ์ขายตั๋วได้อย่างดี
จนกระทั่งจิบลิได้ตัดสินใจผลิตหนังแอนิเมชันออกมา 2 เรื่องพร้อมกัน นั่นก็คือ ‘โทโทโร่เพื่อนรัก’ (My Neighbor Totoro) ที่กำกับโดยมิยาซากิ และ ‘สุสานหิ่งห้อย’ (Grave of the Fireflies) กำกับโดยทาคาฮาตะ ที่ออกฉายในปี 1988 จนกระทั่งเกิดปัญหาใหญ่ เมื่อจิบลิไม่สามารถหาบริษัทจัดจำหน่ายให้กับโทโทโร่เพื่อนรักได้เลย เพราะไม่มีสตูดิโอไหนเชื่อมั่นว่าเรื่องราวของโตโตโร่จะขายได้ จนต้องใช้วิธีการจัดจำหน่ายพ่วงกับสุสานหิ่งห้อยแบบแพ็กคู่
แม้ภายหลัง รายได้ตอนฉายของทั้ง 2 เรื่องจะไม่สำเร็จนัก แต่ในภายหลัง กลับเป็นแอนิเมชันคลาสสิกของจิบลิที่ได้รับคำชื่นชมมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งความน่ารักของโทโทโร่และผองเพื่อนใน โทโทโร่เพื่อนรัก ที่เอาชนะใจเด็ก ๆ และกลายเป็นตัวแทนของจิบลิ ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นโลโกของบริษัทในภายหลัง รวมทั้งสุสานหิ่งห้อย ที่สามารถถ่ายทอดภาพความโหดร้ายของสงครามออกมาได้อย่างสมจริงและสะเทือนใจ กลายเป็นหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของจิบลิในเวลาต่อมา
จินตนาการกระโดดโลดแล่น
สตูดิโอจิบลิยังคงเป็นสตูดิโอเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง จนกระทั่ง ‘แม่มดน้อยกิกิ’ (Kiki’s Delivery Service) ผลงานลำดับที่ 4 ของจิบลิออกฉายในปี 1989 สามารถทำรายได้ตอนฉายอย่างมหาศาล กลายเป็นหนังแอนิเมชันของจิบลิที่ทำรายได้สูงสุดในเวลานั้น และด้วยงานภาพที่วาดขึ้นด้วยมืออันงดงาม และเรื่องราวที่มีความเป็นสากล ทำให้ในยุค 90s ผู้ชมทั่วโลกจึงได้รู้จักและสนใจผลงานแอนิเมชันจากสตูดิโอจิบลิเป็นครั้งแรก
ปี 1994 ‘ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก’ (Pom Poko) ที่กำกับโดยทาคาฮาตะ กลายเป็นแอนิเมชันของจิบลิเรื่องแรกที่เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่น เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และเป็นงานชิ้นแรกที่มีการนำเอาเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้เป็นครั้งแรก
ต่อมา ‘เจ้าหญิงโมโนโนเกะ’ (Princess Mononoke) แอนิเมชันผลงานการเขียนบทและกำกับของมิยาซากิ ที่ใช้เงินทุนสร้างมหาศาลถึง 2,100 ล้านเยน สามารถทำสถิติเป็นหนังญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงที่สุดของปี 1997 ปิดท้ายด้วย ‘ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา’ (My Neighbors the Yamadas) ที่ออกฉายในปี 1999 ที่นำเสนอด้วยภาพวาดสีน้ำ แต่ถือเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคดิจิทัลแบบเต็มตัว
จุดเปลี่ยนสำคัญที่พาให้จิบลิกลายเป็นสตูดิโอแอนิเมชันระดับโลกก็คือ ‘มิติวิญญาณมหัศจรรย์’ (Spirited Away) ผลงานลำดับที่ 10 ของจิบลิ กำกับโดยมิยาซากิ ที่ออกฉายในปี 2001 เรื่องราวการผจญภัยของจิฮิโระ เด็กหญิงที่พลัดหลงเข้าไปในดินแดนประหลาดที่พ่อแม่ของเธอถูกสาปให้กลายเป็นหมู กับเรื่องราวการจิกกัดทุนนิยม กลายเป็นผลงานแรกของจิบลิที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ และยังเป็นแอนิเมชันจากต่างชาติ ของญี่ปุ่น ของเอเชียเรื่องแรกและเรื่องเดียว ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ และสามารถทำรายได้จากการฉายทั่วโลกสูงถึง 395 ล้านเหรียญ
และในปีเดียวกันนั้นเอง จิบลิก็ได้ฤกษ์เปิดตัว พิพิธภัณฑ์สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli Museum) ขึ้นที่โตเกียว ซึ่งเป็นแผนที่มิยาซากิตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 1998 โดยเขาได้ออกแบบอาณาจักรแห่งนี้ด้วยการจำลองฉากดังจากแอนิเมชันออกมาเป็นของจริง และจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวกับแอนิเมชันของจิบลิเอาไว้อย่างครบครันและสามารถเดินชมได้ด้วยตัวเอง และมีการฉายแอนิเมชันจากทั่วโลกให้ได้ชมกัน
ชาวไทยได้มีโอกาสรู้จักแอนิเมชันของจิบลิเป็นวงกว้างครั้งแรก นั่นก็คือ ‘โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย’ (Ponyo) ที่ค่าย M Pictures ได้ซื้อสิทธิ์มาฉายครั้งแรกในปี 2008 ก่อนที่จะมีการนำเอาหนังแอนิเมชันของจิบลิเรื่องอื่น ๆ มาฉายในภายหลัง แม้จะทำรายได้สู้แอนิเมชันดัง ๆ ไม่ได้ และฐานแฟนหนังจิบลิจะยังมีไม่มากเท่าสตูดิโอใหญ่ ๆ ระดับโลก แต่ตัวหนังก็ยังได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของชาวไทยแบบปากต่อปากมากขึ้นเรื่อย ๆ
แก่นแท้ของเรื่องราว
ภายใต้เรื่องราวการผจญภัยแฟนตาซีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าติดตาม สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของแอนิเมชันจากสตูดิโอจิบลิที่ไม่มีใครเหมือน งานภาพอันงดงามประณีตงดงามราวภาพศิลปะ รวมทั้งตัวละครที่เปี่ยมเสน่ห์ การนำเสนอธีมอันลึกซึ้งผ่านเรื่องราวสุดเข้มข้น สมจริง สอดแทรกปรัชญาการดำรงชีวิต วิพากษ์สังคม แต่ยังมีเนื้อหาที่ดูได้ง่ายทั้งครอบครัว
การออกแบบคาแรกเตอร์ตัวละครที่เรียบง่ายแต่มีความน่ารัก รวมทั้งการสอดแทรกความเป็นสากลเข้ากับความเป็นญี่ปุ่น ทั้งวิถีชีวิตในยุคต่าง ๆ ตำนานความเชื่อจากโบราณ รวมทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้อย่างน่าติดตาม
ปรัชญาสำคัญของมิยาซากิคือ การซื่อสัตย์ต่อผลงาน และซื่อสัตย์ต่อหัวใจของตัวเองเสมอในผลงานทุกเรื่อง มิยาซากิจะวาดภาพขึ้นมาก่อนเพื่อขยายขอบเขตจินตนาการออกไปให้กว้างที่สุดก่อนที่จะเริ่มเขียนบท และจะเป็นคนตรวจงานแอนิเมชันที่ทีมงานวาดขึ้นด้วยมือต้วยตัวเองทั้งหมด แม้แอนิเมชันจะทำรายได้ค่อนข้างดี แต่กลับมีข่าวว่าขาดทุน เนื่องจากหมดงบไปกับการสร้างหนังเป็นจำนวนมาก
เป็นเหตุผลที่ปี 2020 มิยาซากิได้ตัดสินใจมอบสิทธิ์แอนิเมชันของจิบลิเกือบทุกเรื่องให้ Netflix ฉาย เพราะแม้เขาจะไม่รู้จัก ไม่เคยมี และไม่เคยใช้ Netflix เลย แต่เหตุผลหลักที่เขายอมก็เพราะว่าต้องการเงินเพื่อไปใช้เป็นงบในการทำแอนิเมชันเรื่องต่อไปให้สำเร็จ ในยามที่บริษัทเกือบจะล้มละลายนั่นเอง
สายลมระลอกต่อไป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากจิบลิจะผลิตผลงานแอนิเมชันที่กำกับโดยมิยาซากิ และทากาฮาตะเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็ยังมีการพยายามผลักดันผลงานหนังของผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ ด้วย เช่น ‘โอเชี่ยนเวฟส์ สองหัวใจหนึ่งรักเดียว’ (Ocean Waves) หนังโรแมนติกวัยรุ่นเรื่องแรกของจิบลิ ผลงานของ โทโมมิ โมชิซึกิ (Tomomi Mochizuki) ที่ฉายในปี 1993
‘วันนั้น…วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู’ (Whisper of the Heart) ผลงานของ โยชิฟูมิ คอนโดะ (Yoshifumi Kondō) ที่ฉายในปี 1995 และ ‘อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว’ (Arrietty) ผลงานของ ฮิโระมาสะ โยะเนบายาชิ (Hiromasa Yonebayashi) ที่ฉายในปี 2010
รวมทั้ง โกโระ มิยาซากิ (Gorō Miyazaki) ลูกชายของมิยาซากิ ที่แต่เดิมทำงานเป็นนักภูมิสถาปัตย์ และเคยมีส่วนร่วมในการออกแบบพิพิธภัณฑ์จิบลิ ได้มีโอกาสกำกับหนังของจิบลิ แม้พ่อของเขาจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าโกโระยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้กำกับ และโกโระเองก็เติบโตในช่วงเวลาที่พ่อของเขาทุ่มเทเวลาในการทำงานแอนิเมชันแบบหามรุ่งหามค่ำจนแทบไม่มีเวลาให้กับครอบครัว
แต่สุดท้าย โกโระก็ได้โอกาสชิมลางกำกับแอนิเมชัน ทั้ง ‘ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร’ (Tales from Earthsea, 2006) หรือ ที่ทำรายได้ไม่สวยงามนัก ก่อนจะกู้ชื่อได้หลังจากกำกับหนังรักวัยรุ่นย้อนยุค ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill, 2011)
ผลจากความนิยมของสตูดิโอจิบลิ ทำให้จิบลิกลายเป็นอีกหนึ่ง Pop-Culture ของญี่ปุ่น ทั้งการเปิดตัว จิบลิ พาร์ก (Ghibli Park) สวนสนุกในธีมของสตูดิโอจิบลิ ที่เปิดตัวในปี 2022 ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ในเมืองนากะคุเตะ จังหวัดไอจิ ที่มีเครื่องเล่นที่หยิบเอาแอนิเมชันของจิบลิมาแปลงเป็นเครื่องเล่น 5 โซน
นอกจากนี้ จิบลิยังได้ก้าวสู่วงการแฟชั่นด้วยการร่วมกับแบรนด์ดัง เช่น Loewe ที่เปิดตัวคอลเล็กชัน โทโทโร่เพื่อนรัก (My Neighbor Totoro) ในปี 2021 และ Spirited Away ในปี 2022 และร่วมกับแบรนด์ Uniqlo ด้วยการเปิดตัวคอลเล็กชันเสื้อยืด UT ลาย โทโทโร่เพื่อนรัก ที่ได้รับความนิยมจากแฟน ๆ
ไฟฝันที่ไม่มีวันหมด
แม้ว่ามิยาซากิจะยังคงรักในการทำแอนิเมชัน และผลงานของเขากลายเป็นที่ประจักษ์และแรงบันดาลใจให้กับวงการแอนิเมชันโลก จนทำให้จิบลิได้รับฉายาว่าเป็นดิสนีย์แห่งญี่ปุ่น และตัวเขาเองได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งแอนิเมชันของญี่ปุ่น แต่มิยาซากิเองก็เคยเปิดเผยว่า เขาเองก็มีความรู้สึกเบื่อหน่ายงานแอนิเมชันอยู่ไม่น้อย ด้วยอายุขัยที่ทำให้เขาทำงานได้ช้าลง
และจากการทุ่มเทแบบเก็บทุกเม็ดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจเกษียณ หลังจากเสร็จสิ้นผลงานเรื่อง ‘เจ้าหญิงโมโมโนเกะ’ ในปี 1998 เพื่อต้องการจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลแทน ก่อนจะกลับมารับหน้าที่กำกับ ‘ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์’ (Howl’s Moving Castle) แอนิเมชันฟอร์มยักษ์ของจิบลิที่ฉายในปี 2004 เนื่องจากไม่สามารถหาผู้กำกับรุ่นใหม่มาทำงานแทนได้
ในปี 2013 มิยาซากิได้ประกาศว่า ‘ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก’ (The Wind Rises) ผลงานแอนิเมชันที่รังสรรค์จากแรงบันดาลใจและความชอบในเครื่องบินของเขาเอง จะเป็นผลงานแอนิเมชันเรื่องสุดท้ายก่อนเกษียณ ด้วยวัยและร่างกายที่เริ่มร่วงโรย ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ ‘เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่’ (The Tale of the Princess Kaguya) แอนิเมชันที่ใช้ลายเส้นแบบพู่กันญี่ปุ่น ผลงานกำกับทากาฮาตะเข้าฉาย ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของทากาฮาตะ ก่อนจะเสียชีวิตในปี 2018
อีก 10 ปีถัดมา มิยาซากิกลับคำของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการกำกับและเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับแอนิเมชันเรื่องล่าสุดของจิบลิที่มีชื่อว่า ‘The Boy and the Heron’ ที่ดัดแปลงจากนิยายผลงานการเขียนของ โยชิโนะ เกนซาบุโระ (Genzaburō Yoshino) ซึ่งเป็นนิยายเรื่องโปรดในวัยเด็กของมิยาซากิ เป็น เรื่องราวการรับมือปัญหาวัยรุ่น และการก้าวผ่านวัยของเด็กชายวัย 15 ปีที่สูญเสียพ่ออย่างกะทันหัน โดยมิยาซากิตั้งใจว่านี่จะเป็นของขวัญในฐานะปู่ ที่มอบไว้ให้กับหลานชาย ก่อนที่เขาจะจากไป
หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังจิบลิเรื่องแรกที่ไม่มีการทำการโปรโมตใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีข้อมูลหนัง ไม่มีเรื่องย่อ ไม่มีตัวอย่างให้ชม มีเพียงโปสเตอร์ใบเดียวเท่านั้น แต่แม้จะไม่โปรโมท แต่ก็สามารถทำรายได้ในญี่ปุ่นสัปดาห์แรกไปมากถึง 1,830 ล้านเยน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ด้วยวัย 82 ปีของมิยาซากิ นี่อาจเป็นผลงานเกษียณ ก่อนที่มิยาซากิจะตัดสินใจวางมืออย่างแท้จริงเสียที
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส