ดราม่าหนึ่งที่ฮอลลีวูดมักจะประสบปัญหามายาวนานก็คือ การการเหมารวมเชื้อชาติ (Stereotype) ที่เกิดจากการเข้าใจชนชาติอื่น ๆ นอกฮอลลีวูดอย่างขาดมิติ จนนำไปสู่การนำเสนอภาพลักษณ์ กริยาท่าทาง นิสัยใจคอ ที่สร้างความเข้าใจผิดและเป็นพิษต่อภาพลักษณ์คนชาตินั้น ๆ ยกตัวอย่างกรณีที่มีการนำเสนอภาพของการเหมารวมชาวญี่ปุ่นที่ดูผิดเพี้ยนในหนังคลาสสิก ‘Breakfast at Tiffany’s’ (1961)
กรณีการเหมารวมล่าสุดก็คือ หนังดราม่าชีวประวัติเรื่อง ‘Maestro’ ของ Netflix ที่เพิ่งปล่อยตัวอย่างออกมาไม่นานนี้ โดยมี แบรดลีย์ คูเปอร์ (Bradley Cooper) รับบทเป็น เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) นักประพันธ์เพลงชาวยิวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของผลงานประพันธ์เพลงละครบรอดเวย์ ‘West Side Story’
หลังจากปล่อยตัวอย่างแรก ก็มีความคิดเห็นหลายส่วนจากอินเทอร์เน็ต ที่วิพากษ์วิจารณ์การสวมจมูกเทียมของคูเปอร์เพื่อรับบทเป็นเบิร์นสไตน์ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่ชาวยิว บางส่วนมองว่า การใช้จมูกเทียมของเขาคือการทำ ‘Jewface’ หรือการดูหมิ่นภาพลักษณ์ชาวยิวผ่านใบหน้าแบบเหมารวม ในขณะที่บางส่วนมองว่า จมูกดั้งเดิมของคูเปอร์ก็มีขนาดที่ใกล้เคียงกับเบิร์นสไตน์ตัวจริง โดยที่แทบไม่ต้องสวมจมูกเทียมให้ดูขัดสายตาด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า ทำไมคูเปอร์ถึงไม่คัดเลือกนักแสดงเชื้อสายยิวแท้ ๆ มารับบท และยังเชื่อมโยงไปถึงนักแสดงหนุ่มอีกคนอย่าง เจค จิลเลนฮาล (Jake Gyllenhaal) ผู้มีเชื้อสายยิวจากฝั่งแม่ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งชวดการประมูลสิทธิ์การสร้างหนังเรื่องนี้จากทายาทของเบิร์นสไตน์ไปอย่างน่าเสียดาย
บางส่วนถึงขั้นประณามคูเปอร์ว่าเป็นพวกต่อต้านชาวยิว และใช้ภาพมายาคติเหมารวมของชาวยิวมาเป็นต้นแบบโดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นจริง ในขณะที่คนในวงการภาพยนตร์ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยมองว่าการแต่งเป็นชาวยิวของคูเปอร์ เป็นเพียงการแต่งคอสเพลย์เลียนแบบชาติพันธุ์ และวิจารณ์รุนแรงว่า ถ้าคูเปอร์ไม่สามารถแสดงได้ด้วยพลังของการแสดง ก็จงเอานักแสดงชาวยิวจริง ๆ มาเล่นแทนจะดีกว่า
‘Maestro’ เล่าถึงช่วงชีวิตของเขากับภรรยา เฟลิเซีย มอนเตเลเกร (Felicia Montealegre) แสดงโดย แครี มัลลิแกน (Carey Mulligan) ที่แต่งงานกันในปี 1951 โดยคูเปอร์ยังรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ และเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ตัวหนังจะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิสในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และมีกำหนดสตรีมทาง Netflix ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้
แม้จะโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ เจมี, อเล็กซานเดอร์ และ นีนา (Jamie, Alexander, Nina Bernstein) ทายาททั้ง 3 ของคีตกวีผู้ล่วงลับ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทาง X เพื่อสนับสนุนคูเปอร์ในฐานะที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมตลอดเวลาในการสร้างหนัง และมองเห็นถึงความตั้งใจของคูเปอร์ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพ่อผู้เป็นต้นแบบ
“แบรดลีย์ คูเปอร์ ได้ให้พวกเราอยู่ร่วมในทุกย่างก้าวของเขาในการเดินทางอันน่าอัศจรรย์ ในระหว่างที่เขากำลังสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพ่อของเรา เราสัมผัสได้ถึงแก่นแท้ เพื่อเป็นสักขีพยานในความมุ่งมั่นอันลึกซึ้งของเขา อ้อมกอดแห่งความรักในดนตรีของพ่อ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการสำรวจของเขาด้วยใจอันเปิดกว้างอย่างแท้จริง”
และยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเขาไม่ติดใจในการใช้จมูกเทียมของคูเปอร์ เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์บนใบหน้าของเบิร์นสไตน์ “เราหัวใจแตกสลายที่ได้เห็นการบิดเบือนความจริง หรือเข้าใจผิดในเจตนาแห่งความพยายามของเขา จริงอยู่ที่ ลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ มีจมูกที่ใหญ่และสวยงาม แบรดลีย์จึงใช้การแต่งหน้าเพื่อเพิ่มความสมจริง ซึ่งเราเห็นดีเห็นงามด้วย และเรามั่นใจว่าพ่อของเราก็จะเห็นดีด้วยเช่นกัน”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส