เมื่อค่ำคืนวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) สตีฟ ฮาร์เวลล์ (Steve Harwell) อดีตฟรอนต์แมน และหนึ่งในสมาชิกดั้งเดิมของวงป๊อปพังก์แห่งยุค 90s อย่าง ‘Smash Mouth’ เจ้าของเพลงฮิต “All Star” ที่โด่งดังกลายเป็นมีมบนอินเทอร์เน็ต ได้เสียชีวิตแล้วในวัย 56 ปี

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฮาร์เวลล์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ และต้องประสบปัญหากับภาวะหัวใจล้มเหลวและยังต้องเผชิญกับโรคทางระบบประสาท (Wernicke’s encephalopathy) ที่เป็นผลพวงจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ก่อนที่ในปี 2017 ฮาร์เวลล์ต้องเข้ารับการรักษาอาการเกี่ยวกับหัวใจ ทำให้วงจำเป็นต้องเลื่อนตารางการแสดงคอนเสิร์ตออกไปหลายครั้ง และยังต้องเผชิญกับอาการทางสมอง ที่ทำให้เขาเกิดอาการพูดไม่ชัด สื่อสารไม่ได้ และเกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ จนทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากวงในปี 2021

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า ฮาร์เวลล์ที่เกษียณจากวงการเพลงและรักษาอาการป่วยในบ้านพักของตนเอง ต้องเข้ารับการรักษาอาการภาวะตับวายขั้นสุดท้ายในโรงพยาบาล โดย โรเบิร์ต เฮย์ส (Robert Hayes) ผู้จัดการของวง ได้ออกมายืนยันกับสื่อเมื่อวันที่ 3 กันยายน (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา) ว่า ฮาร์เวลล์น่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก่อนที่ฮาร์เวลล์จะเสียชีวิตอย่างสงบ ภายในบ้านพักของตนเอง พร้อมด้วยครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งสุดท้ายในวันต่อมา

"All Star" 'Smash Mouth'

ผลงานเด่นที่สุดตลอดกาลของฮาร์เวลล์ และ ‘Smash Mouth’ วงร็อกอเมริกันยุค 90s และ 2000s คงหนีไม่พ้นที่มีชื่อว่า “All Star” เพลงแนวอัลเตอร์เนทีฟร็อก-พาวเวอร์ป๊อป ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มที่ 2 ของวง ‘Astro Lounge’ ที่วางแผงในปี 1999 ซึ่งที่มาของเพลงนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะแม้จะเป็นเพลงจังหวะสนุก ๆ และได้ภาพความกวนจาก MV ที่ส่งให้วงนี้ดังเปรี้ยงถูกใจวัยรุ่น แต่จริง ๆ แล้วความหมายและเบื้องหลังของเพลงนี้มีความเป็นมาที่อบอุ่นตรงข้ามกับจังหวะเพลงมาก ๆ และเดิมทีเพลงนี้เกือบจะไม่มีอยู่ในอัลบั้มด้วยซ้ำ

ที่มาของเพลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่วงได้ทำการบันทึกเสียงแทร็กในอัลบั้ม ‘Astro Lounge’ จนเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่สุดท้าย Interscope ค่ายต้นสังกัดของวง กลับรู้สึกว่ายังไม่มีเพลงไหนที่จะตัดเอามาเป็นซิงเกิลโปรโมตและเปิดทางวิทยุได้เลย เพราะช่วงนั้นวงเองก็เพิ่งเปลี่ยนแนวทางเพลงจากพังก์ร็อกในอัลบั้มแรก ‘Fush Yu Mang’ (1997) มาสู่เพลงแนวร็อกและพาวเวอร์ป๊อปที่แมสและเหมาะกับการเปิดในวิทยุมากขึ้น ทำให้วงจึงต้องรื้อเอาเพลงจังหวะทำนองเรียบง่ายแต่ติดหูที่แต่งไว้แต่ไม่ได้ถูกใช้มาเพิ่มเข้าไปในอัลบั้ม

ในที่สุด วงก็ตัดสินใจเลือกเพลง “All Star” นี้ขึ้นมาบันทึกเสียงเพิ่มเติมในภายหลัง โดย เกร็ก แคมป์ (Greg Camp) มือกีตาร์ของวง และผู้แต่งเพลงนี้ รวมทั้งเพลงป๊อป ๆ ทุกแทร็กในอัลบั้ม ได้เปิดเผยเบื้องหลังเกี่ยวกับเนื้อเพลงนี้ว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากแฟนเพลงของพวกเขาที่โดนบูลลี โดนกลั่นแกล้งรังแก หรือเป็นคนนอกคอกที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผ่านจดหมายที่บรรดาแฟน ๆ ส่งมาถึงพวกเขา ตอนที่กำลังออกทัวร์ช่วงโปรโมตอัลบั้มแรก ทำให้พวกเขาอยากแต่งเพลงเพื่อให้กำลังใจ

"All Star" 'Smash Mouth'

“เรามักจะได้รับจดหมายถุงใหญ่จากแฟน ๆ ครับ และเราจะชอบยกไปที่ร้านซักผ้า และนั่งอ่านจดหมายทั้งหมดตอนที่พวกเรากำลังนั่งรอเสื้อผ้าที่ซักให้แห้ง ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของจดหมายทั้งหมดถูกส่งมาจากเด็ก ๆ ที่ถูกรังแก หรือมักจะโดนพี่ชาย หรือพี่ ๆ ของพวกเขารุมแกล้งบ่อย ๆ เพียงเพราะแค่ชอบวง ‘Smash Mouth’ หรือสิ่งที่พวกเขาชอบทำ วิธีการแต่งตัว หรือสิ่งของอะไรต่าง ๆ เพลงนี้เลยถูกออกแบบให้เป็นเพลงที่เป็นการเยียวยา สร้างกำลังใจ และความมั่นใจในตนเองให้กับผู้คนเหล่านี้”

เพลงนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยคำวิจารณ์ในทางบวก สามารถไต่ไปถึงอันดับที่ 4 บนชาร์ต Billboard Hot 100 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี สาขาการแสดงเพลงป๊อปยอดเยี่ยมจากศิลปินคู่หรือกลุ่มในปี 2000

และยังเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดของวงในฐานะป๊อปคัลเจอร์จากยุค 90s ที่ถูกนำไปประกอบภาพยนตร์อีกมากมาย ตั้งแต่หนังซูเปอร์ฮีโรตลก ‘Mystery Men’ (1999) ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ เบน สติลเลอร์ (Ben Stiller) และทีมนักแสดงจากหนังเรื่องนี้ ก็ไปร่วมแจมใน MV ด้วยเช่นกัน รวมทั้งหนัง ‘Inspector Gadget’ (1999), หรือแม้แต่ในหนังอนิเมะ ‘Digimon: The Movie’ (2000)

นอกจากนี้ ทั้งวงยังเคยไปร่วมแจมและเล่นเพลงนี้ในท้ายเครดิตหนังตลก ‘Rat Race’ (2001) และถูกนำไปใช้ในฉากเปิดตัวเจ้ายักษ์เขียวในหนังแอนิเมชัน ‘Shrek’ (2001) ที่ทำให้เพลงนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง และกลายไปเป็นมีมตลกบนโลกอินเทอร์เน็ตมาจนถึงทุกวันนี้


ที่มา: The New York Times, Unilad, Far Out

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส