เรื่องราวการผจญภัยในโลกเวทมนตร์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ‘Harry Potter’ วรรณกรรมเยาวชนจากปลายปากกาและน้ำหมึกของ เจ เค โรว์ลิง (J.K. Rowling) ที่ถูกร่ายมนตร์จากตัวหนังสือ สู่รูปแบบภาพยนตร์ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลชุดหนึ่ง
ด้วยเรื่องราวในโลกเวทมนตร์ กับการผจญภัยของพ่อมดน้อย แฮร์รี่ พอตเตอร์ และผองเพื่อนพ่อมดแม่มดแห่งโรงเรียนฮอกวอตส์ที่สร้างความประทับใจได้ไม่แพ้หนังสือ และนี่คือ 10 เกร็ดเบื้องหลังแฟรนไชส์หนังทั้ง 7 ภาค ที่เหล่ามักเกิลและพอตเตอร์เฮดอาจไม่เคยรู้มาก่อน
สตีเวน สปีลเบิร์ก เคยถูกทาบทามกำกับ ‘Harry Potter’ ก่อนปฏิเสธไปในที่สุด
จุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์หนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เริ่มต้นขึ้นในปี 1997 เดวิด เฮย์แมน (David Heyman) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ที่กำลังมองหาวรรณกรรมเยาวชนเพื่อนำไปเสนอให้กับสตูดิโอ Warner Bros. ในเวลานั้น เฮย์แมนได้อ่านและเกิดความประทับใจ จนเกิดการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ โดย เจ. เค. โรว์ลิง ได้ขายลิขสิทธิ์หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ 4 เล่มแรกให้กับ Warner Bros. ด้วยมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯกระบวนการคัดเลือกผู้กำกับจึงได้เริ่มต้นขึ้นในเวลาต่อมา
ซึ่งพ่อมดตัวจริงของฮอลลีวูดอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ก็เป็นอีกชื่อที่ถูกเสนอให้เข้ามารับหน้าที่กำกับด้วย แต่สปีลเบิร์กเองกลับมีไอเดียอยากทำ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในรูปแบบแอนิเมชันมากกว่า ประกอบกับช่วงนั้น เคต แคปชอว์ (Kate Capshaw) ภรรยาของสปีลเบิร์ก เพิ่งจะให้กำเนิดทายาท ทำให้สปีลเบิร์กปฏิเสธโปรเจกต์นี้ไป ก่อนที่จะได้ คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) ผู้กำกับที่คุ้นเคยกับการทำหนังเด็กมากำกับแทน
เจ. เค. โรว์ลิง เคยปฏิเสธไอเดีย ‘Harry Potter’ ฉบับละครเวทีมิวสิคัลของ ไมเคิล แจ็กสัน
ปี 1997 หลังจากตีพิมพ์หนังสือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์’ นับแต่นั้น เรื่องราวของพ่อมดน้อย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในฉบับหนังสือและฉบับภาพยนตร์ รวมทั้งยังต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวิดีโอเกม ละครเวที และสวนสนุก ก่อนจะขยายกลายเป็นจักรวาลเวทมนตร์ หรือ ‘Wizarding World’ ที่มีภาพยนตร์ ‘Harry Potter’ เป็นแกนหลัก และแฟรนไชส์สัตว์มหัศจรรย์ ‘Fantastic Beasts’ อีก 3 ภาค
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เคยเกือบถูกดัดแปลงในรูปแบบละครเวทีมิวสิคัลแล้ว โดย เจ. เค. โรว์ลิง ได้เปิดเผยในรายการพิเศษของ โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ว่า เธอเคยปฏิเสธไอเดียการสร้างละครเวทีมิวสิคัล ของราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับอย่าง ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) มาแล้ว แม้เธอจะไม่ได้เปิดเผยว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และเหตุผลอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจปฏิเสธ โรว์ลิงเปิดเผยแค่ว่า มันอาจจะออกมาดูแย่กว่าที่คิดก็เป็นได้
โรบิน วิลเลียมส์ ชวดบทบาท แฮกริด เพราะไม่ใช่คนอังกฤษ
หนึ่งเงื่อนไขที่ เจ. เค. โรว์ลิง ยอมขายลิขสิทธิ์หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คือ การระบุว่า นักแสดงที่จะมาเล่นหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะต้องเป็นนักแสดงอังกฤษ สกอตติช หรือไอริชเท่านั้น ทำให้นักแสดงดัง ๆ ที่ถูกวางตัวไว้แต่แรกต้องถูกปฏิเสธไปเพราะไม่เข้าเงื่อนไข อาทิ โรซี โอดอนเนล (Rosie O’Donnell) ที่ถูกวางไว้ให้รับบทเป็น มอลลี วีสลีย์ ก่อนจะได้ จูลี วอลเทอร์ส (Julie Walters) มารับบท รวมทั้ง ดรูว์ แบร์รีมอร์ (Drew Barrymore) ที่ถูกวางให้มารับเชิญ แต่กลับไม่ได้บทเพราะทั้งคู่เป็นชาวอเมริกัน
และอีกบทบาทสำคัญก็คือ รูเบอัส แฮกริด ลูกครึ่งยักษ์จิตใจดี ผู้รักษากุญแจของฮอกวอตส์ ที่แต่เดิมถูกวางตัวไว้ให้นักแสดงตลกในตำนาน โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) มารับบท ซึ่งทางสตูดิโอเองก็เห็นด้วย และวิลเลียมส์เองก็สนใจบทนี้อย่างมาก แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถรับบทได้ เพราะวิลเลียมส์เป็นชาวอเมริกัน สุดท้ายสตูดิโอจึงได้ ร็อบบี โคลเทรน (Robbie Coltrane) นักแสดงร่างยักษ์ชาวสกอตมารับบทนี้แทน
อลัน ริกแมน คือนักแสดงคนเดียวที่รู้บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด
ศาสตราจารย์ เซเวอร์รัส สเนป (Severus Snape) อาจารย์ประจำบ้านสลิธีริน ที่รับบทโดย อลัน ริกแมน (Alan Rickman) นักแสดงมากฝีมือผู้ล่วงลับ ถือเป็นตัวละครที่ซับซ้อน และเก็บซ่อนความลับอะไรบางอย่างไว้ ซึ่ง เจเค โรว์ลิง ได้แรงบันดาลใจตัวละครนี้จาก จอห์น เน็ตเทิลชิป (John Nettleship) ครูสอนวิชาเคมีในโรงเรียนที่โรว์ลิงรู้สึกไม่ค่อยชอบ เช่นเดียวกับกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ตอนแรก ๆ ก็รู้สึกไม่ชอบสเนปตั้งแต่แรกพบ
ความพิเศษของตัวละครนี้ก็คือ โรว์ลิงเป็นผู้คัดเลือกให้ริกแมนมารับบทนี้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในระหว่างถ่ายทำ ไม่มีนักแสดงและทีมงานคนไหนที่รู้เรื่องราวทั้งหมดยกเว้นริกแมน เพราะเขาเป็นนักแสดงเพียงคนเดียวที่รู้ชะตากรรมของตัวละครสเนป ในตอนท้ายจากปากของโรว์ลิง ทั้ง ๆ ที่หนังสือยังไม่ทันได้ตีพิมพ์ด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะปูมหลังความสัมพันธ์ระหว่างสเนปในวัยหนุ่ม กับ ลิลี่ พอตเตอร์ แม่ของแฮร์รี่ รวมไปถึงเหตุผลในความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดแฮร์รี่ของสเนป ทำให้ริกแมนจึงต้องเก็บงำความลับนี้เอาไว้กับตัวจนกว่าหนังสือเล่มสุดท้ายจะตีพิมพ์
อัลฟองโซ กัวรอน สั่งการบ้านให้ 3 นักแสดงนำเขียนเรียงความถึงตัวละครของตัวเอง
‘Harry Potter and the Prisoner of Azkaban’ ที่ฉายในปี 2004 ถือเป็นภาคแรกที่มีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับจาก คริส โคลัมบัส ใน 2 ภาคแรก เป็น อัลฟองโซ กัวรอน (Alfonso Cuarón) ผู้กำกับชาวเม็กซิกัน เจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ ช่วงแรกกัวรอนต้องการเร่งทำความรู้จักกับบรรดานักแสดง โดยเฉพาะ 3 นักแสดงหลัก ทั้ง แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ผู้รับบท แฮร์รี่ พอตเตอร์, เอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) ในบท เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ และ รูเพิร์ต กรินต์ (Rupert Grint) เจ้าของบท รอน วีสลีย์ ให้เร็วที่สุด
กัวรอนจึงได้มอบการบ้านให้ทั้ง 3 คนไปเขียนเรียงความบรรยายตัวละครของตัวเอง เพื่อทดสอบว่านักแสดงทั้ง 3 คนเข้าถึงตัวละครมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอถึงคราวส่งการบ้าน วัตสันได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับเฮอร์ไมโอนีแบบละเอียดยิบถึง 16 หน้า ส่วนแรดคลิฟฟ์ เขียนถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์ มา 1 หน้าถ้วน มีแค่กรินต์ ที่ดันเบี้ยวไม่ยอมส่งการบ้านเสียอย่างนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเขากำลังง่วนกับการเรียนและเตรียมสอบชั้นมัธยมปลายจนไม่มีเวลาจะเขียน อีกทั้งยังให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นรอนก็คงเบี้ยวไม่ส่งการบ้านเหมือนเขา
แดเนียล แรดคลิฟฟ์ คือนักแสดงที่ทำสถิติทำไม้กายสิทธิ์หักมากที่สุด
ไม้กายสิทธิ์ ถือเป็นไอเทมสำคัญประจำตัวพ่อมดแม่มดในโลกเวทมนตร์ เบื้องหลังของไม้กายสิทธิ์เหล่านี้ถือเป็นงานฝีมือที่ฝ่ายจัดทำอุปกรณ์ประกอบฉากต้องทำขึ้นด้วยมือแทบทุกอัน โดยอ้างอิงจากบุคลิกและความพิเศษของตัวละครแต่ละตัวเป็นหลัก เพื่อให้ไม้กายสิทธิ์ส่งเสริมภาพของคาแรกเตอร์ให้ได้มากที่สุด
นั่นจึงทำให้ทีมงานต้องใช้วัสดุที่แตกต่างกันในการทำไม้กายสิทธิ์ที่ใช้ถ่ายทำขึ้นมานับพันชิ้น ที่มีขนาดและรูปแบบไม่เหมือนกันเลย ซึ่งไม้กายสิทธิ์ที่แรดคลิฟฟ์ใช้ในการถ่ายทำ รวมแล้วมีมากถึง 70-80 อัน และต้องเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ เพราะแรดคลิฟฟ์ มักจะชอบเอาไปทำเป็นไม้ตีกลองจนหักอยู่บ่อย ๆ เล่นเอาทีมงานพรอปถึงกับมองบน
ฉากทะเลสาบใน ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ ใช้แทงก์น้ำถ่ายหนังใหญ่ที่สุดในโลก
ฉากหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของ ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ ก็คือ ฉากการประลองเวทไตรภาคี โดยแฮร์รี่และตัวแทนจากโรงเรียนเวทมนตร์ต่าง ๆ ต้องผจญภัยในการแข่งขันสุดโหดด่านต่าง ๆ และหนึ่งในการแข่งขันก็คือการดำน้ำลงไปในบึงใหญ่ ซึ่งเบื้องหลังการถ่ายทำก็โหดหินไม่แพ้กัน เพราะทีมงานต้องออกแบบและสร้างแทงก์น้ำบลูสกรีนขนาดยักษ์ ที่มีความกว้าง 20 x 20 เมตร มีความลึกกว่า 6 เมตร ขึ้นที่สตูดิโอลีฟสเดน (Leavesden Studios) ประเทศอังกฤษ
ทีมงาน 50 คนต้องใช้เวลากว่า 3 เดือนในการสร้างแทงก์น้ำที่มีความจุมากกว่า 500,000 แกลลอน หรือราว 2,200,000 ลิตร และน้ำทั้งหมดในแทงก์ต้องผ่านการกรองด้วยอุลตราไวโอเลตและคลอรีนเพื่อให้น้ำสะอาด และทำให้นักแสดงสามารถดำน้ำลงไปถ่ายทำและลืมตาในน้ำได้โดยไม่ระคายเคือง และก่อนการถ่ายทำ นักแสดงต้องฝึกซ้อมล่วงหน้าก่อนถ่ายทำจริง
มีการบันทึกไว้ว่า แรดคลิฟฟ์ใช้เวลาถ่ายทำฉากนี้ยาวนานถึง 41 ชั่วโมง 38 นาที จนเกิดอาการหูอักเสบไป 2 ครั้งระหว่างถ่ายทำ กลายเป็นฉากที่ถ่ายทำยากที่สุดฉากหนึ่ง และตัวแทงก์ยังได้รับการบันทึกใน Guinness World Records ว่าเป็นแทงก์น้ำสำหรับใช้ถ่ายทำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
อลัน ริกแมน เคยคิดอยากจะลาออกจากบท เซเวอรัส สเนป ตั้งแต่ภาค ‘Harry Potter and the Chamber of Secrets’
แม้แฟรนไชส์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะเป็นแฟรนไชส์ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จในระดับบล็อกบัสเตอร์ แต่ใช่ว่านักแสดงทุกคนอยากจะร่วมงานกับแฟรนไชส์ไปจนสุดทาง ซึ่งนักแสดงคนนั้นก็คือ อลัน ริกแมน ผู้รับบท เซเวอรัส สเนป นั่นเอง โดยเขาได้เปิดเผยในหนังสือไดอารี่ส่วนตัว ‘Madly, Deeply: The Diaries of Alan Rickman’ ที่มีข้อความส่วนหนึ่งได้เปิดเผยถึงความรู้สึกอึดอัดและผิดหวัง จนคิดอยากจะถอนตัวจากบทสเนป ตั้งแต่ภาค ‘Harry Potter and the Chamber of Secrets’
ในช่วงเวลานั้น เขาเองมีความตั้งใจที่จะถอนตัวอย่างชัดเจน และได้มีการพูดคุยกับเอเจนซีส่วนตัวของเขา เพื่อเตรียมการถอนตัวจากบทบาทดังกล่าวในภาคต่อไปที่กำลังจะถ่ายทำไว้แล้ว แต่เขาเองก็รู้ดีว่า การถอนตัวจากแฟรนไชส์หนังฟอร์มยักษ์คงไม่ใช่เรื่องที่สตูดิโอจะยอมได้โดยง่าย นั่นจึงทำให้เขายอมกลับไปรับบทต่อ
แต่สุดท้ายก็มีข่าวร้ายเกิดขึ้นในปี 2005 ระหว่างรับบทใน ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ หมอได้วินิจฉัยพบว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดในเดือนมกราคมในปีถัดมา และยังคงกลับมาสานต่อบทเดิมจนถึงภาคสุดท้าย ไปพร้อม ๆ กับการรักษาตัวจากมะเร็งร้ายไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งในที่สุด ริกแมนก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับในปี 2016
2 ฉากสำคัญใน ‘Harry Potter and the Deathly Hallows‘ ที่ถูกเปลี่ยนหน้างาน
นอกจากภาคสุดท้ายอย่าง ‘Harry Potter and the Deathly Hallows’ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค เพราะตัวบทที่มีความยาวมากกว่า 500 หน้าแล้ว ยังเป็นภาคเดียวที่ เจ. เค. โรว์ลิง ได้เข้ามาเป็นโปรดิวเซอร์อย่างเป็นทางการ แม้ที่ผ่านมา โรว์ลิงจะมีบทบาทในการกำกับรายละเอียดและเนื้อหาของหนัง โดยเฉพาะในช่วงที่หนังสือยังไม่ได้ตีพิมพ์
ใน ‘Harry Potter and the Deathly Hallows – Part 2’ มีฉากสำคัญที่ถูกเปลี่ยนไปจากบทดั้งเดิม นั่นก็คือ ฉากการดวลกันของ เซเวอรัส สเนป กับ ศาสตราจารย์มิเนอร์วา มักกอนนากัล ในบทดั้งเดิม ฉากนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับสเนป แต่โรว์ลิงได้เปลี่ยนให้เป็นการดวลกันระหว่างสเนป กับศาสตราจารย์มักกอนนากัล ที่ตรงตามหนังสือต้นฉบับแทน
อีกฉากที่ถูกตัดออกไปจากหนังก็คือ ฉากดวลครั้งสุดท้ายระหว่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ และลอร์ดโวลเดอมอร์ ซึ่งแต่เดิมจะมีช็อตที่ เดรโก มัลฟอย สมาชิกผู้เสพความตาย ได้ตัดสินใจแปรพักตร์ และมอบไม้กายสิทธิ์ให้กับแฮร์รี่ ซึ่งเป็นฉากที่ถูกถ่ายทำไว้แล้ว แต่สุดท้ายกลับโดนตัดออก
เรล์ฟ ไฟนส์ เกลียด แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ยอมรับบท ลอร์ดโวลเดอร์มอร์ เพราะน้องสาวและหลาน
ใน ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ เป็นภาคแรกที่วายร้าย ลอร์ดโวลเดอมอร์ ที่นำแสดงโดย เรล์ฟ ไฟนส์ (Ralph Fiennes) ปรากฏตัวเป็นครั้งแรก แต่เราเกือบจะไม่ได้เห็นเขารับบทนี้แล้ว เพราะเขาเองไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้และไม่ชอบหนัง 3 ภาคแรกเอาซะเลย เจ้าตัวจึงปฏิเสธบทนี้ไปในทีแรก ก่อนที่ มาร์ธา ไฟนส์ น้องสาว และลูก ๆ ของเธอ ที่เป็นแฟน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตัวยง ช่วยกันเชียร์ให้ลุงเรล์ฟยอมรับบทนี้ อีกคนที่ช่วยกันโน้มน้าวอีกแรงก็คือ ผู้กำกับภาคนี้อย่าง ไมก์ นิวเวลล์ (Mike Newell)
ในระหว่างถ่ายทำ เรล์ฟต้องเจออุปสรรคอีกอย่างก็คือ เขาเป็นคนที่เกลียดการแต่งหน้าเอฟเฟกต์มาก ทำให้ช่างแต่งหน้าต้องใช้เวลาแต่งหน้าให้กับเขาเพียง 2 ชั่วโมง ส่วนจมูกใช้การตกแต่งด้วย CGI เพื่อให้คล่องตัวและลดเวลาการติดอวัยวะเทียม และคิวถ่ายของเขาในภาคนี้ก็มีแค่ 2 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ ไฟนส์ ทิฟฟิน (Fiennes Tiffin) ที่เคยรับบทเป็น ทอม ริดเดิล หรือ ลอร์ดโวลเดอร์มอร์วัยเด็ก ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ก็คือลูกชายของมาร์ธา หลานของลุงเรล์ฟนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส