“ศิษย์ต้องไปได้ไกลกว่าอาจารย์”
ประโยคเน้นย้ำถึงความหมายของความแข็งแกร่งที่แต่งแต้มสีสันของเรื่องราว เพราะมันเป็นไฟต์บังคับให้ตัวเอกต้องกลายเป็นสุดยอดฮีโรที่แข็งแกร่งกว่าอาจารย์ของพวกเขา
อาจารย์เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความหวัง และการชี้นำ พวกเขาคือคนที่สอนทุกวิชาให้ตัวเอกเติบโต เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าในการ์ตูนโชเน็นแต่ละเรื่องนั้น ตัวเอกแทบจะไม่สามารถเก่งขึ้นได้เลย ถ้าหากพวกเขาไม่ได้เรียนวิชามาจากอาจารย์ ทว่าในช่วงหลังจะมีสิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั่นคือการที่การ์ตูนโชเน็นยุคใหม่ มักจะต้องฆ่าอาจารย์ของตัวเอกเสมอไป
การสูญเสียอาจารย์ของตัวเอก สร้างแรงกระเพื่อมให้เนื้อเรื่องมหาศาล เพราะอาจารย์บางคนแทบจะเป็นจุดรวมใจของแฟนคลับเรื่องนั้น ๆ บางตัวละครโผล่มาเพียงมูฟวี่เดียว แต่ก็อยู่ในใจของแฟนคลับนานนับหลายปี บางตัวละครโผล่มาตลอดเรื่อง แต่คนเขียนก็ดันฆ่าทิ้งแบบไม่ไยดีอะไร ซึ่งเอาจริง ๆ ตัวละครพวกนี้สามารถอยู่ยาว จนจบเรื่องได้ แต่ทำไมโชเน็นถึงมักฆ่าอาจารย์ของตัวเอกกันนะ วันนี้เราลองมาแบ๋ไต๋กันดีกว่าครับ
1. พลอตบังคับที่ทำให้ตัวเอกต้องพัฒนา

เจ้าฆ่าอาจารย์ข้า งั้นข้าจะล้างแค้นให้ท่านอาจารย์เอง
ว่ากันตามตรง การ์ตูนโชเน็นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง เพราะภาพยนตร์คลาสสิกหลายเรื่องเองนั้นก็มีพลอตที่อาจารย์ต้องเสียสละให้เหล่าตัวเอกเดินหน้าต่อ อาทิ Star Wars ที่โอบีวันยอมเสียสละให้ลุค และเพื่อนหนีขึ้นยาน
นั่นทำให้การตายของอาจารย์ก็ได้สร้างความสูญเสีย พร้อมกับตั้งปณิธานให้กับตัวเอกไปพร้อมกัน เพราะเมื่อคนสำคัญของเขาถูกสังหารไป มันเป็นแรงจูงใจให้ตัวเอกมีเหตุผลที่จะเก่งขึ้นเพื่อไม่ให้ต้องมีใครเจ็บปวดอีกต่อไป สิ่งนี้เองเป็นหนึ่งในพลอตที่สร้างไดนามิกให้เรื่องราวมหาศาล
2. ทำให้เรื่องราวถึงจุดเดิมพัน

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการถึงจุดเดิมพันของเนื้อเรื่อง เพราะเมื่ออาจารย์ของพระเอกถูกฆ่าก็แสดงว่าศัตรูเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ที่แข็งแกร่งกว่าอาจารย์ของพระเอกซะอีก สิ่งนี้กระตุ้นความรู้สึกสงสัย และความตื่นเต้นให้กับผู้ชม ทำให้คนอ่านอยากรู้ต่อว่าตัวเอกจะหาวิธีไหนมาจัดการศัตรูที่เอาชนะคนที่สอนเขามาได้กัน สิ่งนี้มีให้เห็นในการ์ตูนโชเน็นหลายเรื่อง เช่น โกะโจ ซาโตรุ (Jujutsu Kaisen) และยาโมโมโตะ เก็นริวไซ (Bleach) ซึ่งเป็นตัวละครที่แข็งแกร่งที่สุดในเรื่อง แต่กลับถูกสังหาร ทำให้เราแทบไม่รู้เลยว่า เหล่าตัวละครในเรื่องจะหาหนทางชนะตัวร้ายยังไง
3. การเผยความเป็นจริงอันโหดร้ายของโลก

การ์ตูนโชเน็นหลายเรื่องมีฉากหลังอยู่ในโลกที่อันตราย และไม่สดใสนัก การเสียชีวิตของอาจารย์ตัวเอก จึงเป็นการเตือนผู้ชมว่านี่ไม่ใช่การ์ตูนสดใสนะ เพราะแม้แต่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดก็ยังมีเลือด เจ็บปวดได้ ตายเป็น ซึ่งเราสามารถเห็นสิ่งนี้ได้ใน Kimetsu no Yaiba ที่เรนโกคุ เคียวจูโร่ นั้นแพ้ให้กับอากาสะเพียงเพราะเขาเป็นมนุษย์ จึงไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ดั่งเช่นอสูร
4. มีพลังมากไป ก็เลยตัดบททิ้ง

อาจารย์เกเงะ อากูตามิ (Gege Akutami) ผู้เขียน Jujutsu Kaisen เคยออกมาบอกว่าตัวละครโกะโจ ซาโตรุเป็นตัวละครที่จัดการยากที่สุด เพราะเขาดันเขียนให้ตัวละครเก่งเกินไป เขาเลยต้องทำการตัดบทโกะโจ ทั้งการผนึก และฆ่าให้ตาย เพื่อทำให้ตัวละครอื่นได้มีซีนโชว์เทพบ้าง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับอาจารย์ฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) ผู้แต่ง Attack on Titan ทำให้รีไวล์ แอ็กเคอร์แมนบาดเจ็บสาหัส หรือเรียกว่าเนิร์ฟ เพื่อทำให้กลุ่มตัวเอกอ่อนแอลง
5. เพื่อให้ตัวเอกเติบโต
“นี่คือเรื่องราวก่อนที่ผมจะกลายเป็นสุดยอดฮีโร”

คำโปรยใน My Hero Academia ที่เราจะเห็นเลยว่า หากออลไมต์ ไม่ส่งต่อพลังให้กับมิโดริยะ เขาก็ไม่มีทางขึ้นมาเป็นสุดยอดฮีโร่ได้
การตายของอาจารย์ จึงเป็นตัวเร่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเติบโตของตัวเอก มันสามารถบังคับให้พวกเขาเผชิญหน้ากับศึกครั้งใหญ่ ความตาย รวมถึงเรียนรู้พลังใหม่ เพื่อพัฒนาความสามารถ และความรู้สึกพึ่งพาตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้ สิ่งนี้สามารถเห็นได้จาก Naruto Shippuden ที่จิไรยะ โดนเพน หกวิถีฆ่าตาย นั่นทำให้นารุโตะเรียนรู้จนสามารถฝึกโหมดเซียนได้สำเร็จ จนกลายเป็นวีรบุรุษของโคโนฮะ ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เขากลายเป็นโฮคาเงะในที่สุด

แม้ว่าอนิเมะบางเรื่องจะไม่ได้ฆ่าอาจารย์ของตัวเอก แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนแต่งจะหาวิธีลดบทอาจารย์ของเหล่าตัวเอก เพราะสิ่งนี้ทำให้มันเกิดผลดีในการเล่าเรื่องได้
6. สร้างความสะเทือนใจให้คนอ่าน
บางครั้งแล้ว น้ำตาของคนอ่านก็คือความสุขของคนแต่ง
ตั้งแต่จิไรยะ เรนโกคุ มาจนถึงโกะโจ ซาโตรุ เราจะเห็นได้เลยว่า อาจารย์ของเหล่าตัวเอกมีผลกับเนื้อเรื่องมหาศาล พวกเขาคือตัวละครที่คนแต่งตั้งใจปัก Death Flag ให้คนอ่านรู้สึกผูกพัน และฆ่าทิ้งกันดื้อ ๆ ซึ่งตัวละครบางตัวจะอยู่ยันจบเรื่องก็ได้ แต่การตัดพวกเขาให้ตายก็สร้างอิมแพกต์ได้มากกว่า ยิ่งในโลกโซเชียลที่เห็นรีแอ็กของคนอ่านทันทีแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราสามารถพูดถึงการตายของเหล่าอาจารย์ได้อย่างถึงพริก ถึงขิงกันทีเดียว
เราจะเห็นเลยว่า การตัดบทอาจารย์ของตัวเอกนั้น เป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับการ์ตูนโชเน็น เพราะสิ่งนี้จะทำให้ตัวเอกถูกผลักดัน และเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงสร้างน้ำหนักทางอารมณ์ให้คนอ่านสะเทือนใจจนเป็นที่จดจำ
เอาจริงพวกเขาไม่ต้องฆ่าอาจารย์ของตัวเอกก็ได้ แต่ทำไงได้ล่ะ เพราะการจะให้ลูกศิษย์เฉิดฉายได้ ก็ต้องมาจากการตัดบทอาจารย์นี่แหละ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส