เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ได้อธิบายถึงเหตุผลที่เขานำข้อความจากเรื่องสั้นต้นฉบับของ โรอาลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ใส่ในผลงานกำกับล่าสุดของเชา
ภาพยนตร์สั้นล่าสุดของแอนเดอร์สัน (สตรีมแล้วบน Netflix) มีด้วยกัน 4 เรื่อง ได้แก่ ‘The Swan’, ‘The Rat Catcher’, ‘Poison’ และ ‘The Wonderful Story of Henry Sugar’ ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นของดาห์ลด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องหลังที่สื่อต่างประเทศยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการดัดแปลงที่ดีที่สุดของแอนเดอร์สันเลยก็ว่าได้
แอนเดอร์สันกล่าวว่า เขาสนใจวิธีการเล่าเรื่องของดาห์ลมาก เขาจึงตัดสินใจนำคำบรรยายต้นฉบับของดาห์ลในเรื่องสั้นเหล่านั้นใส่เป็นคำบรรยายในทุกฉากของภาพยนตร์สั้นของเขาอย่างเต็มที่
“ผมเคยคิดจะดัดแปลง ‘Henry Sugar’ เป็นภาพยนตร์มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่ผมอาศัยอยู่ที่ Gipsy House (ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวดาห์ลในบัคคิงแฮมเชอร์ สหราชอาณาจักร) แต่ผมยังคิดไม่ออกว่าจะดัดแปลงมันออกมาอย่างไรดี”
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวดาห์ลได้เก็บสิทธิ์ในการดัดแปลงเรื่องสั้นนี้เอาไว้ให้แก่ผม ดังนั้น เมื่อถึงช่วงที่ผมเกิดแรงบันดาลใจมากที่สุด ผมก็คิดได้ว่า ผมสนใจวิธีการเล่าเรื่องของดาห์ลมากเสียจนทำให้ผมรู้สึกว่าเหมือนเข้ามาอยู่ในเรื่องนั้นด้วยจริง ๆ เรื่องราวเหล่านั้นโดนใจผมมากตั้งแต่เมื่อตอนที่ผมยังเด็ก แต่ถ้าคุณเอาคำบรรยายเหล่านั้นออก ผมคิดว่านี่จะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ผมอยากสร้างเลย”
“ผมจึงนำคำบรรยายของดาห์ลมาใส่ในภาพยนตร์ เพราะเขาไม่ใช่แค่นักเขียน แต่เป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด และนักแสดงต้องแสดงฉากนั้นไปพร้อมกับพูดบทที่มาจากคำบรรยายของดาห์ลไปพร้อมกันด้วย”
แอนเดอร์สันมักจะนำคำบรรยายมาใส่ในภาพยนตร์ของเขาอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ‘Moonrise Kingdom’ (2012) ที่เขาใส่เสียงบรรยายเพื่อให้ผู้ชมเข้าในพื้นหลังและเรื่องราวความรักของ Sam และ Suzy มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่อง ยังคงอุดมไปด้วยเอกลัษณ์เฉพาะตัวของแอนเดอร์สันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น งานภาพที่ให้ความรู้สึกคล้ายภาพวาดสีน้ำมัน, การนำเสนอภาพให้มีความสมมาตรอย่างประณีต, การตัดต่อที่รวดเร็วและแม่นยำ, มุกตลกร้าย และทีมนักแสดงคุณภาพชุดใหญ่
ที่มา : ScreenRant