จากทายาทบริษัทค่ายเพลงเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย สู่โปรดิวเซอร์เพลงของซูเปอร์สตาร์เบอร์ 1 ของเมืองไทย ‘เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์’

beartai BUZZ  ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ ‘แก๊ก-มุขเอก จงมั่นคง’ ทายาท ‘เล็ก-บุษบา ดาวเรือง’ ประธานบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถึงเส้นทางโปรดิวเซอร์ และการก้าวขึ้นมาเป็นนักบริหารค่ายเพลงระดับประเทศ

เสียงแรกที่เข้าในหัว จำได้ไหมว่าเป็นเสียงอะไร?

แก๊ก: จริง ๆ เสียงดนตรีในวัยเด็กเป็นเสียงที่เราได้ยินมาโดยตลอด คือผมอาจจะเกิดมาพร้อมกับบริษัทนี้ มันก็เลยมีโอกาสได้ยินเพลงของที่นี่มาตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าเกิดจะนึกจริง ๆ ก็คงจะเป็นประมาณยุคอัลบั้ม ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ หรือว่าเพลง “บ้าหอบฟาง” ถ้าช่วงเราโตขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นวง ‘อินคา’ หรือ ‘อัสนี-วสันต์’ ช่วงวัยรุ่นก็จะเป็นดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ช่วงนั้นแกรมมี่ยังไม่ได้ทำอัลเทอร์เนทีฟเท่าไหร่ ช่วงวัยรุ่นจะเป็นแบบว่า เจ-เจตริน เพลง “ร.ฟ.ร. Love Train”

ตั้งแต่เด็กมีความฝัน อยากจะทำงานในบริษัทแกรมมี่ไหม?

แก๊ก: ตอนเด็กมาก ๆ อยากทำที่บริษัทเพราะว่าน่าจะสนุกดี เราเปิดคอนเสิร์ตของตัวเองที่บ้าน จัดฉาก จัดเวทีของเราเอง มันสนุกมันได้หัดแต่งเพลงมั่วซั่วของเราเอง แต่ว่าพอโตมาจริง ๆ มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะต้องทำบริษัท มันเริ่มต้นจากการที่เริ่มอยากเล่นดนตรีช่วงวัยรุ่น อยากทำเพลงเอง แล้วก็เริ่มที่จะรู้ว่าในอุตสาหกรรมดนตรีเนี่ยมันมีมากกว่าการทำเพลง เราได้มีโอกาสเรียนกับ พี่โอ๋-ซีเปีย ช่วงนั้นเขาเป็นโปรดิวเซอร์หัวก้าวหน้าคนหนึ่ง เขาก็สร้างอะไรใหม่ ๆ ให้กับให้วงการเพลงไทยเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะวงที่เป็นใต้ดินก็รู้สึกว่ามันมีหลายพื้นที่ในในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่พยายามค้นหาว่า เราอยากทำอะไรกันแน่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยที่ยังไม่ได้คิดว่าจะอยู่ในบริษัทไหนอะไรยังไง

จุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพโปรดิวเซอร์

แก๊ก: มันเริ่มจากการที่โปรดิวเซอร์เอง เริ่มจากการที่เราเอาตัวไปอยู่ในพื้นที่ที่มันได้เจอผู้คน ได้เจอศิลปิน ได้เจอน้อง ๆ ที่มีศักยภาพ มีน้อง ๆ ที่เก่งมากบางเรื่อง แต่ก็ยังขาดอะไรบางอย่าง แล้วเราอาจจะพอสามารถเติมให้เขาได้ มันก็เลยเป็นการเชื่อมโยงในฐานะโปรดิวเซอร์ด้วยว่า ถ้าเกิดคนนี้มันแข็งด้านนี้ อ่อนด้านนี้ เอามาเจอกับอีกคนหนึ่งที่มันแข็งด้านนี้ แต่อ่อนด้านนี้ แล้วก็มาเจอกันมันจะเกิดสิ่งที่ลงตัว

สไตล์การโปรดิวซ์เพลงของคุณมีขอบเขตไหม?

แก๊ก: มันไม่ได้มีขีดจำกัดขนาดนั้น แต่ว่ามันก็ไม่ได้กว้างขนาดนั้นเหมือนกัน เพราะว่าสมมติมันเป็นแนวที่ไม่ได้เยอะมากจริง ๆ ในการทำบางอย่างมันเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางเข้าใจได้เท่ากับคนที่เขาเกิด และโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น อย่างเช่น ถ้ามีเพลงลูกทุ่งมาแล้วต้องเขียนเนื้อแบบว่า นั่งอยู่ข้างกองฟาง ผมจินตนาการไม่ออกว่าถ้าเรานั่งอยู่ข้างกองฟาง ซีนมันควรเป็นแบบไหนเราถึงจะเชื่อ ณ  วันหนึ่งผมก็พบว่าโปรดิวเซอร์จริง ๆ ไม่ต้องดิ้นรนทำเองทุกอย่างเราสามารถหยิบ สิ่งต่าง ๆ ได้เต็มไปหมดจากคนรอบตัวของเรา ซึ่งบางคนเขาก็จะมีความสามารถในแต่ละด้าน แต่ว่าความสำคัญมันต้องดูให้ออกว่าใครที่ช่วยเราได้ในเรื่องไหนได้จริง ๆ ถ้าเกิดว่าเราหยิบมาได้ถูกเรื่องทุกคนจะมีความสุขที่ได้ของที่ดี

วงที่คิดว่าเป็นผลงานโปรดิวซ์ที่ประทับใจที่สุด?

แก๊ก: จริง ๆ มันมีหลายวงนะ แต่ว่าวงแรก ๆ น่าจะเป็นเพลงของวง ‘The Zebras’ ผมว่าเป็นอันที่น่าสนใจอยู่พอสมควรเพราะว่า หลังจากที่ผมไม่ได้ทำค่ายเพลงสนามหลวงแล้ว ในช่วงแรก ๆ ผมก็ออกไปทำโปรดิวเซอร์ และแต่งเพลงอิสระ ทำเพลงทั่วไปมีเพลง องค์กรหรือโฆษณาต่าง ๆ พอได้กลับมาช่วยที่แกรมมี่อีกครั้งช่วงนั้นก็จะมี ‘The Zebras’, ‘วง Soulda’ และมิ้น สวรรยา มันก็มีหลายคน วง ‘The Zebras’ เป็นวงที่ผมเคยโปรดิวซ์ตั้งแต่เป็นวงอินดี้ ผมว่าความสนุกคือต้องมีคุยเรื่องงบประมาณที่ค่อนข้างซีเรียส แล้วมันเป็นความอยากที่จะได้วงออร์เคสตรา ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะมีงบสำหรับออร์เคสตราให้กับวงที่เป็นวงอินดี้ แล้วมันต้องทำ MV ด้วย ผมก็เลยกำกับเอง ตัดเองโดยที่เอางบเหล่านี้มาจ่ายวงออร์เคสตรา มันก็เลยเป็นความสะใจของเราที่ได้วงออร์เคสตราอยู่กับศิลปินนี้

ถัดมาเป็นอีกวงที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เพราะว่า เป็นโปรดิวเซอร์ให้ พี่พราย ปฐมพร คือพี่พรายเป็นหนึ่ง ในไอดอลของเรา เพราะว่าผมโตมาแล้วฟังเพลงแบบนี้ แต่อันที่รู้สึกน่าสนใจคือเพลงของพี่พรายฟังแล้วมันไม่ได้เป็นการร้องที่สมบูรณ์แบบแต่ว่าในการสื่อสารอารมณ์ มันเชื่อ มันใช่ มันใช่มาก ๆ ในวิธีการเขียนเนื้อเพลงของเขา ผมคิดว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจ ผมรู้จักกับพี่พรายแบบงงมากเลยคือ ผมมีเพื่อนที่เป็นแฟนคลับพี่พราย แล้วมีปีหนึ่งเขาจะจัดงานวันเกิดให้พี่พราย โดยของขวัญจะเป็นเพลงที่แฟนคลับทั้งหมด Cover ผมก็เลยไปช่วยและได้รู้จักกันในงานปาร์ตี้วันนั้น พอพี่พรายทำอัลบั้มชื่อ ‘Precious’ เสร็จ ซึ่งเป็นอัลบั้มที่จริงก็หายไปนาน แล้วก็กลับมาทำเพราะว่าอยากทำ เขาก็ชวนผมว่าอยากให้มาช่วยทำ ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นความประทับใจที่เราได้โอกาส มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินที่เราศรัทธา

การร่วมงานกับพี่เบิร์ดในอัลบั้มครั้งนี้

แก๊ก: การทำงานกับพี่เบิร์ดจริง ๆ ไม่ได้ยาก แต่สิ่งที่ยากคือเราต้องรับผิดชอบส่วนของเราให้ดีที่สุด เพราะเมื่อเพลงมาถึงมือพี่เบิร์ดแล้ว เขาก็มีความเชื่อมั่นในทีมงานว่าสิ่งที่เลือกมา มันดีที่สุดสำหรับเพลงนี้ และสำหรับตัวเขา เพราะฉะนั้นก่อนหน้านั้นเราต้องทำการบ้านกันเยอะมาก ๆ อย่างเพลงที่ผมโปรดิวซ์แล้วรู้สึกสนุกมาก ๆ ก็คือเพลง “มากองรวมกันตรงนี้” ซึ่งจริง ๆ มันเป็นเพลงที่ได้จากพี่ฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) อยู่มาวันหนึ่งพี่ฟองเบียร์โทรมาหาเรา เขาบอกขอนัดหน่อยมีเพลงมาให้ฟัง ตอนนั้นเขาไม่ได้บอกว่าเป็นเพลงของใครด้วยซ้ำ แต่ว่าพอไปเจอกัน เขาก็เปิดเพลงแล้วก็บอกว่า เพลงนี้น่าจะเหมาะกับพี่เบิร์ด

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่เราอยากจะให้แฟนเก่า ๆ ได้หายคิดถึงแล้วก็อยากจะให้แฟนใหม่ ๆ ได้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับพี่เบิร์ด น้อง ๆ บางคนเกิดไม่ทัน โตไม่ทัน เลยพยายามจะหาส่วนผสมที่มันน่าสนุก เป็นส่วนผสมที่เรารู้สึกว่านานแล้วที่ไม่ได้มีการบันทึกเสียงแบบพร้อมกันทั้งวง โดยเฉพาะกับเพลงสมัยใหม่ส่วนใหญ่หลายเพลงทั้งหมดจะจบครบที่คอมพิวเตอร์ เราเลยลองหานักดนตรีเก่ง ๆ ที่มีลายมือชัดเจนการเป็นโปรดิวเซอร์เพลงนี้มันเลยสนุกเพราะว่ามันเป็นเพลงที่ไม่ได้ยินมานานแล้ว ด้วยวิธีการบันทึกเสียงหรืออะไรก็ตาม

การกลับมาของพี่เบิร์ดครั้งนี้ตั้งใจทำเพลงเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ไหม?

แก๊ก: ความจริงแล้วมันอยู่ที่กลุ่มเป้าหมายของเราด้วยว่าเราจะเอาแบบไหน ผมว่าจริง ๆ แล้วการที่จะมีสักเพลงหนึ่งที่สามารถเอาใจได้ทุกคนมันยากมาก ดังนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เราทำให้มันคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเราชอบ ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป้าหมายของเราก็คงอยากให้ทุกคนที่เป็นแฟนเพลงมีความสุข เพราะว่าจริง ๆ แล้วแฟนคลับพี่เบิร์ดมันกว้างโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราอาจจะไม่ได้ต้องกว้างแล้วไปถึงแฟนคลับคนอื่น ๆ ที่เขาไม่เกี่ยวด้วยเราไม่ได้มุ่งมั่นในการที่จะทำแบบชุดนี้ฉันจะขยายให้แฟนคลับของวงแบบสมมุติแฟนคลับ ยังโอม ต้องหันมาชอบเลย

3 เพลงในแกรมมี่ที่มีความหมายกับเรา

แก๊ก: ถ้าให้นึกถึงเพลงที่รู้สึกว่าประทับใจแล้วก็ยังหยิบมาฟังเรื่อย ๆ ผมอาจจะนึกถึงเพลง “ฝัน” ของ Silly Fools ในอัลบั้ม ‘Candy Man’ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ล้ำมาก ทุกอย่างมันล้ำมาก แล้วมันก็ไม่เหมือนใครถ้าเกิดฟัง Silly Fools ตั้งแต่ชุดแรก “รอยยิ้ม” หรือ “จิบเดียวก็ซึ้ง” ลึก ๆ เพลงมันมีความป๊อปอยู่ แล้วผมว่า “ฝัน” เป็นเพลงสำหรับคนที่มีความฝัน หรือคนที่มีความตั้งใจ มันเป็นเพลงที่ให้กำลังใจได้ดีมากที่สุดเพลงหนึ่งในช่วงเวลานั้น

พอพูดแบบนี้ผมนึกถึงอีกเพลงหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมันเชื่อมโยงกับเมื่อกี้เพลง “ความเชื่อ” ของ ‘Bodyslam’ อันนี้เป็นขั้นกว่าของเพลงเมื่อกี้ในเชิงความรู้สึก หมายถึงว่า เพลงเมื่อกี้มันสัมผัสใจในระดับที่หนึ่ง แต่ว่าเพลงนี้มันยิ่งสัมผัสใจในระดับที่สอง เพราะว่าการที่เขาค่อย ๆ เล่าแบบนั้นแล้วตอนที่เสียงของ พี่แอ๊ด คาราบาว เข้ามาซ้ำ คนที่เขาฟังแล้วบอกว่าฟังเพลงนี้แล้วน้ำตาไหลเพราะว่า มันสะท้อนใจตัวเองผมว่ามันใช่มากเพราะเป็นเพลงที่เขาเรียกว่า ให้กำลังใจและให้ทุก ๆ อย่าง

เพลงที่ 3 ผมพยายามนึกถึงเพลง พี่เสก โลโซ เพราะว่าพี่เสกเป็นคนที่ธรรมชาติมาก ๆ ผมจำได้จะมีวันหนึ่ง เขาเหมือนอยู่แถว ๆ บ้านผม แล้วเขาก็ขอเข้ามาอัดเดโมเพลงเพราะว่า นึกออกพอดี เลยอยากจะอัดไว้ แล้วก็เข้ามาอัด มันเหมือนกับเขาหายใจเข้าออกเป็นเรื่องนี้อยู่แล้ว มันอยู่ในชีวิตเขาเลยการแต่งเพลงอะไรพวกนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่าเพลงของพี่เสก ผมชอบเพลง “เก็บดาวมาให้เธอ” ผมรู้สึกว่ามันเป็นเพลงที่เซอร์ไพรส์ สำหรับแฟนคลับพี่เสกจะรู้สึกว่ามันมีคอร์ดแบบนี้ด้วยเหรอ คอร์ดมันไม่เหมือนเพลงอื่น ๆ ของเขาเลย

เป้าหมายในฐานะผู้บริหารแกรมมี่

แก๊ก: สำหรับเป้าหมายระยะสั้นของตัวเองก็คงจะพยายามทำตรงนี้ต่อไปให้มันครบถ้วน ถ้าในระยะยาวเราก็คงจะตั้งใจว่าจะทำเพลงให้มันมีมาตรฐานที่ดีที่สุดเพื่อศิลปินทุกคนที่มีแพชชันในการทำงาน ตั้งใจทำเพื่อให้คนฟังได้ฟังเพลงของเราได้รับความสุขที่สุด ได้นำเพลงไปใช้ประกอบชีวิตของเขาประกอบช่วงเวลาประกอบช่วงชีวิตของเขาเพราะว่า เพลงมันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นชีวิตของคนมันเป็นส่วนประกอบ หนึ่งของชีวิตคน เราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ดีที่สุด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส