กว่าที่ ‘Spider-Man’ (2001) หนังไอ้แมงมุมเรื่องแรกของ Sony Pictures และ Columbia Pictures จะได้ถือกำเนิดจนกลายมาเป็นตำนานหนังซูเปอร์ฮีโรในทุกวันนี้ ต้องผ่านตำนานการก่อกำเนิดและการพัฒนาที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมามากมาย มีผู้กำกับมากมายหลายคนที่วนเวียนเข้ามาพัฒนาหนัง ‘Spider-Man’ ในแบบฉบับของตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ผู้กำกับมากฝีมือเจ้าของผลงานกำกับหนังหลากแนว ตั้งแต่ ‘Se7en’ (1995), ‘Fight Club’ (1999), ‘The Social Network (2010)’, ‘Gone Girl’ (2014) และอีกมากมาย

แต่ดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ของฟินเชอร์เองจะมองตัวละคร ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ (Peter Parker) และ Spider-Man ต่างออกไป เพราะไอเดียบทหนังที่เขาเสนอกับทาง Sony ก็คือการเล่าเรื่องของ Spider-Man และเลือกที่จะเล่าเนื้อหาที่มาที่ไปของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ เพียงคร่าว ๆ และตัดเนื้อหาช่วงจุดกำเนิดตอนที่ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ถูกแมงมุมปนเปื้อนรังสีกัดที่มือและกลายมาเป็น Spider-Man ออกไปด้วย ซึ่งทำให้ Sony ไม่ชอบและไม่ซื้อแนวทางนี้ จนทำให้ต้องแยกทางกันไป

ฟินเชอร์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้กับเว็บไซต์ The Guardians ในระหว่างโปรโมต ‘The Killer’ ภาพยนตร์ดราม่าอาชญากรรมเรื่องใหม่ในรอบหลายปีของเขา ซึ่งเขาเลือกที่จะพููดว่า สตูดิโอเจ้าของหนังนั้นพลาดที่เลือกจะเมินเฉยไอเดียหนัง Spider-Man ของเขาไป โดยเฉพาะการจงใจข้ามช็อตที่ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ถูกแมงมุมกัด

Spider-Man Tobey Maguire

ฟินเชอร์เล่าแบบกลั้วหัวเราะว่า “พวกเขาแม่-ไม่ได้มีความสนใจในไอเดียนี้เลยครับ ซึ่งผมก็เข้าใจแล้วแหละว่า พวกเขาทำตัวเหมือนกับว่า ‘ทำไมคุณถึงอยากจะรื้อเรื่องราวต้นกำเนิดออกไปเสียล่ะ ? ‘ แล้วผมก็แบบว่า ‘เพราะมันดูโง่เหรอ ? ‘ คือเรื่องราวต้นกำเนิดน่ะ มันมีความหมายต่อผู้คนมากมายนั่นแหละครับ แต่พอผมมองดูแล้วก็พบว่า ‘แมงมุมสีแดงและสีน้ำเงินงั้นเหรอ ? ‘ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมสามารถทำได้ในชีวิตของผม แต่สิ่งนี้ไม่ใช่หนึ่งในนั้น”

ปี 1999 หลังจากที่ Marvel ได้ขายขาดลิขสิทธิ์ Spider-Man และบรรดาตัวละครใน Spiderverse ทั้งหมดให้กับทาง Sony เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการเริ่มต้นโปรเจกต์หนังไอ้แมงมุมเรื่องแรกทันที โดยมีผู้กำกับหลายชื่อที่ถูกวางให้เข้ามากำกับหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ แบร์รี ซอนเนนเฟลด์ (Barry Sonnenfeld), โรแลนด์ เอ็มเมอร์ริช (Roland Emmerich), ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton), ไมเคิล เบย์ (Michael Bay), ยาน เดอ บอนต์ (Jan de Bont), คริส โคลัมบัส (Chris Columbus), รวมทั้งตัวของฟินเชอร์ด้วย

ไอเดียหนัง Spider-Man ฉบับดาร์กของฟินเชอร์นั้น อ้างอิงมาจากคอมิก ‘Amazing Spider-Man’ เล่มที่ 121-122 ตอนที่มีชื่อว่า ‘The Night Gwen Stacy Died’ เล่าเรื่องของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ หลังจากที่ลุงเบนเสียชีวิต แฟนเก่าอย่างเอ็มเจ (MJ) ก็หายตัวไป พอต้องมาคบหากับแฟนใหม่อย่าง เกวน สเตซี (Gwen Stacy) ก็ดันถูกวายร้าย กรีน ก็อบลิน (Green Goblin) สังหารอย่างโหดเหี้ยม

กลายเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของซูเปอร์ฮีโรที่มีพลังพิเศษคอยช่วยเหลือผู้คน แต่ตัวเขาเองกลับต้องเผชิญกับความสูญเสีย กลายเป็นความแตกสลายภายในจิตใจ โดยตัวหนังเลือกที่จะเล่าเรื่องราวต้นกำเนิดของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ (แบบรวบ ๆ ) ในรูปแบบโอเปรา หรือมิวสิกวิดีโอในช่วง 10 นาทีแรกของหนัง และตัดช็อตต้นกำเนิดพลังแมงมุมออกไป

Spider-Man Tobey Maguire Kirsten Dunst

แน่นอนว่าสตูดิโออย่าง Sony ที่อยากเปิดตัว Spider-Man ในรูปแบบหนังซูเปอร์ฮีโรแบบครอบครัว ย่อมไม่ชอบไอเดียนี้ของฟินเชอร์อย่างแรงจนต้องปัดตกจนต้องแยกทางกัน ก่อนจะได้ แซม ไรมี (Sam Raimi) มารับช่วงต่อ กลายเป็นไอ้แมงมุมฉบับ โทบี แม็กไกวร์ (Tobey Maguire) ที่ทำรายได้ Box Office ทั่วโลกสูงถึง 825 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งยุค 2000 จนต้องมีการสานต่อออกมาอีก 2 ภาค

ภายหลัง Sony ได้ตัดสินใจรีบูตหนังไอ้แมงมุมใหม่ในชื่อ ‘The Amazing Spider-Man’ ที่จะเป็นการเล่าเรื่องของสไปเดอร์-แมนในมุมที่ดาร์กและจริงจังขึ้น โดยได้เอาไอเดียจากคอมิกที่ให้ เกวน สเตซี ตกตึกตายมาใช้ใน ‘The Amazing Spider-Man 2’ (2014) ด้วย และได้เรียกให้ฟินเชอร์กลับมากำกับอีกครั้ง แต่ตัวเขาเองหมดความสนใจในการกำกับหนัง Spider-Man แล้ว จึงได้ตอบปฏิเสธไปในที่สุด

และภายหลัง Marvel Studios ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องของ ‘Spider-Man’ ฉบับ MCU หรือเวอร์ชันของ ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) ใหม่ ด้วยการเล่าจุดกำเนิดของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ วัยมัธยม (ที่ไม่จำเป็นต้องถูกแมงมุมกัด) ซึ่งทั้ง 3 ภาคนั้นได้ถูกขมวดรวม กลายมาเป็นเรื่องราวต้นกำเนิดที่แท้จริงของ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ในเวลาต่อมา


ที่มา: The Guardians, NME, Screen Rant

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส