หลังจากที่ประเด็นภัยคุกคามของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นประเด็นใหญ่ในวงการบันเทิงจนกลายมาเป็นการประท้วงหยุดงานของคนทำงานในฮอลลีวูด ล่าสุด แวดวงการเมืองก็หันมาสนใจในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะล่าสุด โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อดำเนินการในการกำกับควบคุมการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อหวังจะลดภัยคุกคามของ AI ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้นักแสดงฮอลลีวูดแถวหน้าอย่าง ทอม ครูซ (Tom Cruise) และผลงานหนังเรื่องล่าสุดที่เขาแสดงและเป็นโปรดิวเซอร์อย่าง ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ ผลงานกำกับและเขียนบทโดย คริสโตเฟอร์ แม็กควอรี (Christopher McQuarrie) ที่จุดประกายให้ไบเดนมีความสนใจต่อประเด็นภัยคุกคามของปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น

ผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้กับสำนักข่าว AP ก็คือ บรูซ รีด (Bruce Reed) รองเสนาธิการทำเนียบขาว ที่ได้กล่าวถึงประธานาธิบดี ที่ได้มีโอกาสชมหนังเรื่องนี้ในแคมป์เดวิด (Camp David) หรือเซฟเฮาส์ส่วนตัวของประธานาธิบดีในช่วงสุดสัปดาห์ว่า “ถ้าหากท่านไม่ได้กังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ AI อาจผิดพลาด ก่อนการมาของหนังเรื่องนั้น ท่านก็คงเห็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องกังวล”

Mission: Impossible — Dead Reckoning Tom Cruise

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหาร เพื่อดำเนินการในการกำกับควบคุมการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหวังจะให้เกิดการใช้งาน AI ได้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงการเกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ สาธารณสุข ความเป็นส่วนตัว สิทธิพลเมือง สิทธิแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์

คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมการใช้งาน AI ใน 4 ประเด็น ได้แก่ การให้บริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ จำเป็นต้องรายงานผลการทดสอบความปลอดภัยต่อรัฐบาล, การตั้งทีมเพื่อตรวจจับหาข้อบกพร่องในโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์, การระบุลายน้ำในผลงานที่สร้างขึ้นจาก AI เพื่อป้องการปลอมแปลงและการฉ้อโกง และการตั้งค่ามาตรฐานเกี่ยวกับการสังเคราะห์ทางชีวภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาวุธชีวภาพขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์

Mission: Impossible — Dead Reckoning Tom Cruise

‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ของแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ ที่ถูกแบ่งเป็น 2 ภาค ว่าด้วยเรื่องราวของ อีธาน ฮันต์ (Ethan Hunt) และพรรคพวก ที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามโลกที่มาในคราบของระบบ AI นี้มีชื่อว่า เอนทิตี (Entity) ที่มีความสามารถในการแทรกซึมระบบฐานข้อมูล เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ กระจาย Fake News และแทรกซึมเข้าระบบความมั่นคงเพื่อก่อเหตุวินาศกรรม ลบร่องรอยตัวเองได้ภายในเสี้ยววินาที และสามารถวิวัฒน์ตัวเองได้ไม่สิ้นสุด

รีดที่มีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้ร่วมกับไบเดน ได้เปิดเผยถึงความสนใจและตื่นตระหนกของประธานาธิบดี ต่อบรรดาภาพปลอมของตัวเขาเองที่ทำขึ้นจาก AI รวมทั้งการใช้ AI ในการโคลนนิงเสียงได้อย่างแนบเนียน ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้จุดประกายให้ไบเดนมีความสนใจในประเด็นดังกล่าว นำไปสู่การประชุมกับผู้เชี่ยวชาญ และนำไปสู่การร่างคำสั่งดังกล่าวในที่สุด

“ท่านได้มีโอกาสเห็น AI ที่ปลอมเป็นตัวท่านเอง หรือสุนัขของท่านได้ ท่านเห็นว่ามันสามารถสร้างบทกวีที่ไม่ดีได้อย่างไร ท่านได้เห็นและได้ยินเทคโนโลยีการโคลนเสียงที่น่าทึ่งและน่าสะพรึงกลัว ซึ่งสามารถปลอมเสียงของคุณ และเปลี่ยนให้กลายเป็นบทสนทนาปลอม ๆ ได้ภายใน 3 วินาที”


ที่มา: IndieWire, AP, Fortune

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส