แม้ปัจจุบันนี้การสปอยล์ (โดยเจตนาในการวิเคราะห์และอธิบายหนัง) จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรีวิวหนังในยุคปัจจุบันไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น แม้ตัวหนังจะเข้าฉายมาเป็นปี ๆ และนำลงฉายผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงแล้ว การสปอยล์ หรือหยอกว่าจะสปอยล์หนังในการสนทนาในเชิงล้อเล่น ก็ยังถือเป็นเรื่องซีเรียสคอขาดบาดตาย เพราะใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้ดูหนังดัง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ได้ดูแล้ว
เว็บไซต์สำนักข่าว ABC ของประเทศออสเตรเลีย ได้รายงานข่าวว่า พลฯ โดมินิก ฟรานซิส เกย์เนอร์ (Dominic Francis Gaynor) เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจเดย์สตรีต (Day Street) ย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งเมืองซิดนีย์ (Sydney) รัฐนิวเซาธ์เวลล์ (New South Wales) ประเทศออสเตรเลีย วัย 30 ปีได้สารภาพผิดในข้อหาใช้อาวุธปืนจ่อไปที่เพื่อนตำรวจ พลฯ มอร์แกน รอยสตัน (Morgan Royston) วัย 26 ปี ที่ทำงานอยู่ในสถานีเดียวกัน
หลังจากที่รอยสตันได้พูดว่าจะสปอยล์เรื่องราวจากหนัง ‘Top Gun: Maverick’ (2022) หนังแอ็กชันเครื่องบินรบ ภาคต่อของ ‘Top Gun’ (1986) แสดงนำโดย ทอม ครูซ (Tom Cruise) ที่ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม และทำรายได้ในช่วงโรคระบาดได้สูงถึง 1,496 ล้านเหรียญ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 รางวัล
ในเอกสารคดีความของศาลเปิดเผยว่า คืนก่อนหน้าวันเกิดเหตุ รอยสตัน ในฐานะผู้ฟ้องร้อง ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Top Gun: Maverick’ จนกระทั่งวันก่อเหตุ รอยสตันได้เข้าไปพูดกับเกย์เนอร์ว่า “ฉันจะสปอยล์หนังเรื่องนี้ให้แกฟัง” พร้อมทั้งหัวเราะเยาะ ในขณะนั้น เกย์เนอร์พยายามเดินออกจากห้องและพูดว่า “อย่าสปอยล์นะไอ้สั–! ไม่งั้นกูยิงมึ-แน่!”
พร้อมทั้งชักปืนพกสั้นของตนเอง และทำการยกปืนขึ้นเล็งไปที่รอยสตัน ถือค้างไว้ประมาณ 5 วินาที นิ้วของเกย์เนอร์ค้างอยู่ที่โครงปืนโดยไม่ได้อยู่ที่ตัวเหนี่ยวไก ในเอกสารยังระบุด้วยว่า ผู้กระทำความผิดมีอาการหัวเราะอยู่ตลอดระหว่างก่อเหตุ
สำนักข่าว ABC ได้อัปเดตรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน รอยสตันที่ได้ได้เปิดเผยในระหว่างให้การในศาลว่า แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เพื่อนตำรวจมักจะหยอกล้อและยิงมุกใส่กันในที่ทำงาน แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไป จนทำให้ตัวเขาเองรู้สึกตกใจและหวาดกลัวเป็นอย่างมาก จนทำให้เขาเกิดอาการซึมเศร้าหลังจากเกิดเหตุ
รอยสตันผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจมาตลอดได้กล่าวว่า “ผมได้สูญเสียความไว้วางใจ และความชื่นชมต่อกองกำลังตำรวจของนิวเซาธ์เวลล์ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อผมได้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนนี้ ผมเกิดความรู้สึกอยากจับตามองพวกเขา และคอยตรวจสอบว่าอาวุธปืนไม่ได้อยู่ในมือของพวกเขา”
ในขณะที่ คริส แม็กคาลี (Chris Micali) ทนายความของเกย์เนอร์ ได้กล่าวว่า แม้ลูกความของเขาจะให้การว่าตนไม่มีเจตนาร้ายที่จะข่มขู่หรือทำให้หวาดกลัว แต่เขาก็ได้กล่าวว่า ลูกความของเขาได้ได้กระทำผิดร้ายแรง ทำให้คำพิพากษาน่าจะมีผลทำให้เขาถูกลงโทษให้ปลดออกจากราชการ ซึ่งจะทำให้เขาต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนมหาศาล
โดยในเบื้องต้น เกย์เนอร์ได้รับโทษถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนเป็นเวลา 2 ปี และทำงานบริการทำงานบริการสังคมเป็นจำนวน 100 ชั่วโมง
ในขณะที่ อลิสัน เกรย์ลิน (Alison Graylin) หัวหน้าอัยการ ได้ให้คำอธิบายว่า ศาลมักจะมีมุมมองในเชิงลบต่อการล้อเล่นด้วยความคึกคะนอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคือผู้ที่ได้รับวางใจจากประชาชนให้เป็นผู้ถืออาวุธ การล้อเล่นในเชิงคึกคะนอง แม้จะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกัน ก็ยังถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง “เหยื่อมีสิทธิ์ที่จะได้รับความไว้วางใจนั้น เช่นเดียวกับคนธรรมดาในสังคม” เกรย์ลินกล่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส