“Script Doctor” แม้จะมีคำว่า Doctor แต่พวกเขาก็ไม่ใช่แพทย์แต่อย่างใด แต่เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเขียนบทภาพยนตร์ และใช้ทักษะทางด้านนี้มาแก้ไขบทภาพยนตร์ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนถ่ายทำ หรือระหว่างถ่ายทำก็มี และด้วยความเชี่ยวชาญระดับนี้ ทำให้บุคลากรในอาชีพนี้ถึงมีราคาค่าจ้างแพงระดับหูฉี่ แต่สตูดิโอหลายแห่งก็ยอมควักกระเป๋าจ่าย โดยเฉพาะหนังหลาย ๆ เรื่องที่ลงทุนจ้างนักแสดงระดับ A List มาแล้ว ใช้ทุนสร้างมหาศาล แต่ผู้บริหารอ่านบทแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่สมบูรณ์พอ ยังมีอะไรขาดหายไป เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ สตูดิโอก็จำต้องควักกระเป๋าเพิ่มเพื่อจ้าง นักแก้ไขบท มาเกลาบทภาพยนตร์เพื่อให้มั่นใจว่า บทภาพยนตร์เวอร์ชันสุดท้ายนี้จะสมบูรณ์ ลดโอกาสเสี่ยงที่หนังจะเจ๊งตอนออกฉาย
และหนึ่งในนักแก้ไขบทภาพยนตร์ที่มีประสบการณ์ยาวนาน จัดเป็นมือวางระดับต้น ๆ ของฮอลลีวูดก็คือ สก็อตต์ แฟรงก์ (Scott Frank) เขาผู้นี้มีค่าตัวอยู่ 300,000 เหรียญต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 10 ล้านบาท เครดิตของแฟรงก์นั้นสวยงามมาก เขาเคยพลิกหนังที่มีวี่แววว่าจะล้มเหลวให้กลายเป็นหนังฮิตทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศมาแล้วนับไม่ถ้วน มีหนังทำเงินที่เป็นผลงานของเขามากกว่า 60 เรื่อง อย่างเช่น ‘Saving Private Ryan’, ‘Night at the Museum’, ‘Unfaithful’, ‘Rise of the Planet of the Apes’, ‘The Ring’, ‘The Hunger Games: Catching Fire’, ‘Gravity’และยังมีหนัง ‘X-Men’ อีกหลายเรื่อง
เมื่อแฟรงก์ได้รับบทภาพยนตร์มา เขาจะทำการตัดบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกันออกไป ปรับเปลี่ยนบทสนทนา และเพิ่มฉากหลังให้กับตัวละคร และทำให้โครงเรื่องมีความหนักแน่นขึ้นอีกหน่อย แฟรงก์บอกว่า 90% ของงานแก้ไขบทของเขาคืองานแก้ “ตัวละคร”
อย่างใน ‘Minority Report’ เขาก็แก้ไขตัวละครของ ทอม ครูซ แบกรับความโศกเศร้าจากลูกชายที่หายตัวไป, ใน ‘Saving Private Ryan’ แฟรงก์ก็เพิ่มบทบาทความสำคัญให้กับทหารคนอื่น ๆ ในทีม ด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์ของพวกเขาเหล่านั้นกับคนรอเขาอยู่ที่บ้าน, แฟรงก์เพิ่มความสัมพันธ์ให้กับตัวละครของ นาโอมิ วัตต์ กับลูกชายใน ‘The Ring’, และเพิ่มเรื่องราวให้กับตัวละครของ แซนดรา บุลล็อก ขณะที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ ใน ‘Gravity’ และเพิ่มตัวละครของ จอห์น ลิธกาว เข้าไปใน ‘Rise of the Planet of the Apes’ นอกเหนือจากงานแก้ไขบทภาพยนตร์แล้ว แฟรงก์ยังเป็นผู้กำกับฝีมือดีอีกด้วย ‘The Queen’s Gambit’ มินิซีรีส์เรื่องฮิตก็เป็นหนึ่งในผลงานกำกับของ สก็อตต์ แฟรงก์
และงานที่เป็นความภาคภูมิใจของแฟรงก์ก็คือ เขาเขียนบทภาพยนตร์ ‘The Hunger Games: Catching Fire’ ขึ้นมาใหม่หมดภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากได้รับมอบหมายงานมากจาก นินา จอคอบสัน ( Nina Jacobson) ผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ จาคอบสันเปรียบเปรยการทำงานของแฟรงก์ว่า “เขาวางเส้นทางรางรถไฟใหม่และควบคุมรถไฟที่กำลังแล่นไปบนรางพร้อม ๆ กัน” และนี่คืออีกเหตุผลที่ทำไมผู้สร้างหนังมากมายถึงยอมจ้างเขาทั้งที่ค่าตัวแพงขนาดนี้
จาคอบสันเรียกแฟรงก์ว่าเขาเหมือนกับ “กิ้งก่า” ที่สามารถหลอมรวมร่างตัวเองเข้ากับงานนั้นจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยมาตรฐานที่สูงจนน่าทึ่ง แม้ว่าจะเป็นการทำงานที่มีความกดดันจากเงื่อนไขเรื่องเวลาก็ตาม
“เขาเป็นคนประเภทที่แทบไม่มีความผิดพลาดเลย เขาสามารถวินิจฉัยสิ่งที่เราต้องการได้ แล้วเขาก็จะทำงานร่วมกับผู้กำกับและสามารถมอบงานให้เราได้ แทบจะไม่มีผู้บริหารหรือโปรดิวเซอร์คนไหนที่ไม่คิดถึงเขาเป็นคนแรกในเวลาที่พวกเขามีปัญหากับบทภาพยนตร์”
ทุกวันนี้ ‘นักแก้ไขบทภาพยนตร์’ ก็ยังเป็นที่ต้องการสูงในฮอลลีวูด มีผู้กำกับมือทองหลายคนที่ก็พ่วงหน้าที่ ‘นักแก้ไขบทภาพยนตร์’ ไปด้วยอย่างเช่น จอห์น เซย์เลส ก็แก้ไขบทให้ ‘The Fugitive และ Apollo 13’ เควนทิน ทาแรนติโน แก้ไขบทให้ ‘Crimson Tide’, แฟรงก์ ดาราบอนต์ แก้ไขบทให้ ‘Minority Report’ และ ‘Saving Private Ryan’
ที่มา : Ladbible