หนึ่งในความคลาสสิกของ ‘Saving Private Ryan’ (1998) ผลงานการกำกับคลาสสิกของพ่อมดฮอลลีวูด สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และอีกหนึ่งผลงานสุดยอดการแสดงของ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) คงไม่ใช่แค่การแสดง การกำกับ และเรื่องราวของปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สามารถคว้า 5 รางวัลออสการ์ 2 รางวัลลูกโลกทองคำไปครอง แต่เสน่ห์อันสำคัญของหนังเรื่องนี้ก็คือ การการถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามออกมาได้อย่างสมจริงและสะเทือนใจราวกับสมรภูมิจริง ที่มีเบื้องหลังแสนจะวุ่นวาย
คนหนึ่งที่ยืนยันถึงขั้นตอนการถ่ายทำที่แหวกแนวกว่าหนังฮอลลีวูดทั่ว ๆ ไปก็คือ พอล จิอาแมตติ (Paul Giamatti) นักแสดงผู้รับบทเป็น จ่าสิบเอก วิลเลียม ฮิลล์ (Sergeant William Hill) ที่ปรากฏตัวสั้น ๆ ในฉากสมรภูมิที่เมืองนอยวิลล์ (Neuville) ประเทศฝรั่งเศส ฉากเด่นที่สุดของเขาก็คือ ฉากที่จ่าฮิลล์ทรุดตัวลงนั่งกับซากปรักหักพัง เพราะว่ามีเศษอะไรบางอย่างติดอยู่ในรองเท้า ก่อนที่เขาจะเอามือไปพิงเสา ก่อนจะล้มไปกระแทกกำแพงพังทลาย หน่วยทหารของกัปตันมิลเลอร์ (แฮงส์) จำต้องปะทะกับทหารเยอรมันที่กบดานอยู่ด้านหลังกำแพงแบบไม่ทันตั้งตัว
โดยจิอาแมตติได้เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้กับ GQ ถึงเบื้องหลังการถ่ายทำที่ต่างออกไปจากหนังเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะเทคนิคอันแยบยลที่สปีลเบิร์กนำมาใช้ นั่นก็คือการวางแผนการถ่ายทำเอาไว้แบบคร่าว ๆ มีการวางแผนและออกแบบทุกอย่าง ทั้งนักแสดงและทีมงานเอาไว้แบบไม่ให้ดูเหมือนแสดง เพื่อให้ได้อารมณ์และภาพราวกับว่ากำลังถ่ายสารคดีสงคราม แม้แต่การเพิ่มซีนหน้างานที่ไม่มีในบท ยกตัวอย่างเช่นฉากถอดรองเท้า (และฉากไฮไลต์อีกหลายฉาก) ที่ไม่มีอยู่ในบทดั้งเดิม นอกจากนี้ จิอาแมตติก็เผยว่า อันที่จริง ตัวเขาในหนังเรื่องนี้ก็แทบไม่มีคาแรกเตอร์อะไรด้วยซ้ำ
“ผมเคยถ่ายหนังสงครามมาก่อน แต่นั่นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ (สปีลเบิร์ก) ใช้ในหนังเรื่องนั้น ผมเองก็ไม่รู้ว่ามีคนคุมกล้อง Steadicam กี่คนในคราวเดียว คือมันไม่ถึงกับไม่มีโครงสร้างอะไรนะครับ แต่มันมีแบบหลวมมาก ๆ ซะจนตากล้องต้องวิ่งไปรอบ ๆ เพื่อถ่ายทุกอย่างที่เขาจะถ่ายได้เหมือนคนทำหนังสารคดีเลย แล้วบางคนก็ล้มบ้าง วิ่งชนกันบ้าง เขาอยากให้มันเป็นฉากที่มีชีวิต เขาเลยไม่อยากให้ทุกอย่างมันดูประสานกันไปหมด เพราะชีวิตจริงคุณก็คงไม่ได้สั่งคัต หยุด แล้วเริ่มใหม่ตลอดเวลา”
“ผมคิดว่าตอนถ่ายผมก็ล้ม เพราะมันลื่นชิบเป๋ง โคลนโคตรเยอะแบบไม่น่าเชื่อ ทุกคนก็เลยล้มกันตลอด แล้วสปีลเบิร์กก็เลยเริ่มค่อย ๆ คิดได้ว่าอยากให้เท้าของ (จ่าฮิลล์) เกิดรู้สึกติดขัด และมีอะไรอยู่ในรองเท้า และเขาก็เริ่มค่อย ๆ สร้างมันขึ้นมา เขาจะค่อย ๆ เข้ามาบอกสถานการณ์และเรื่องราวบางอย่างให้กับเรา มันเหมือนภาพสเก็ตช์ที่ละเอียดมาก ผมเลยไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร อันที่จริงผมแทบจะไม่มีคาแรกเตอร์อะไรด้วยซ้ำ”
ด้วยความที่ ‘Saving Private Ryan’ เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่โดยได้แรงบันดาลใจบางส่วนมาจากเรื่องจริงอีกที สปีลเบิร์กจึงใส่ใจในขั้นตอนการถ่ายทำทุกส่วนเพื่อให้หนังออกมาสมจริงมากที่สุด ทั้งวิธีการเรียงการถ่ายทำตามลำดับเวลาจริง และใช้วิธีการบรีฟบทแบบสั้น ๆ ในแต่ละวันแทนเพื่อให้นักแสดงค่อย ๆ ซึมซับเรื่องราวและมีพัฒนาการทางอารมณ์ไปตั้งแต่ต้นจนจบ และเกิดแรงสะเทือนใจอันรุนแรงเมื่อต้องเผชิญการสูญเสีย รวมทั้งก่อนหน้าที่จะถ่ายทำ นักแสดงทุกคน (ยกเว้นแฮงส์) ต้องเข้ารับการฝีกทหารจริง ๆ เป็นเวลา 6 วัน
ในฉากไฮไลต์สำคัญที่เป็นฉากเปิดเรื่อง นั่นก็คือฉากวัน D-Day ที่หาดโอมาฮา (Omaha Beach) ความยาว 23 นาที ก็ถือเป็นฉากสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็ว่าได้ เพราะเป็นฉากที่ต้องใช้ตัวประกอบจริงราว ๆ 1,500 คน ถ่ายในทะเลที่ประเทศไอร์แลนด์จริง ๆ ทหารที่แขนขาขาดก็ใช้ทหารพิการมาร่วมแสดง โดยไม่ใช้อุปกรณ์เทียมแต่อย่างใด
ส่วนการถ่ายภาพ ตากล้องต้องใช้กล้อง Steadicam ถ่ายทำซีนที่เกิดขึ้นรวดเดียวโดยไม่ได้มีการบล็อกช็อตเอาไว้ก่อน หรือมีการใช้สตอรีบอร์ดเลยแม้แต่น้อย แต่ใช้วิธีแบกกล้องลงไปลุยถ่ายกลางสมรภูมิแบบชนิดที่เลนส์เปื้อนโคลนก็ไม่ยอมให้คัต แค่เฉพาะฉากนี้ใช้เวลาเตรียมงานและถ่ายทำนานถึง 3 สัปดาห์ และใช้งบประมาณไปราว 11-12 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 20% จากงบประมาณทั้งหมด 65-70 ล้านเหรียญ
ด้วยการออกแบบการถ่ายทำที่มีโครงสร้างแบบหลวม ๆ ถ่ายไปวางแผนไปของสปีลเบิร์กนี้เอง ที่ทำให้ ‘Saving Private Ryan’ กลายเป็นหนังสงครามที่สมจริงราวกับสารคดี ชนิดที่เรียกว่าตอนฉาย ทหารบางคนที่มีอาการ PTSD หรือสภาวะทางจิตหลังเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจรุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder) ต้องลุกออกจากโรง เพราะทนดูจนจบไม่ได้จริง ๆ และแน่นอนว่า นี่คือหนังสงครามที่ว่าด้วยการต่อต้านสงคราม (Anti-War) ที่ดีที่สุดอีกหนึ่งเรื่องอย่างไม่ต้องสงสัย
ที่มา: Screen Rant