โจว ซิงฉือ หรือ Stephen Chow เข้าสู่วงการแสดงในปี 1988 เริ่มต้นด้วยการเป็นนักแสดงสมทบในละครทีวี และค่อย ๆ ได้รับความนิยมจนขยับมาเป็นนักแสดงนำทั้งในละครทีวี และภาพยนตร์ เรียกได้ว่าช่วงปี 90’s นี่คือยุคทองของ โจว ซิงฉือ แค่ปี 1990 ปีเดียวนั้น มีหนังของเขาออกฉายมากถึง 11 เรื่อง และ ‘คนเล็กตัดใหญ่’ (The Unmatchable Match) ก็เป็นเรื่องแรกที่ค่ายหนังในไทยใส่คำว่า “คนเล็ก” เข้าไปในชื่อหนัง และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ โจว ซิงฉือ ทำให้หลาย ๆ เรื่องหลังจากนี้จะต้องมีคำว่า ‘คนเล็ก’ โจว ซิงฉือ ขึ้นแท่นพระเอกสุดฮอตอย่างต่อเนื่อง ปี 1991 และปี 1992 มีผลงานออกมาปีละ 7 – 8 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหนังที่เขาประกบคู่กับ อู๋ ม่งต๊ะ
หลังสั่งสมวิชามาหลายปี ในปี 1993 โจว ซิงฉือ ก็ประเดิมงานกำกับครั้งแรกใน ‘ถังไป่หู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศ’ (Flirting Scholar) ตั้งแต่นั้นมาเขาก็มีงานแสดง และงานกำกับควบคู่กันไป จนกระทั่งปี 1995 ก็เริ่มลดงานแสดงลงเหลือแค่ปีละ 2 เรื่องเท่านั้น เขาทิ้งทวนศตวรรษที่ 20 ด้วย ‘คนเล็กไม่เกรงใจนรก’ (King of Comedy) แล้วก็หายไป 2 ปี กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2001 ด้วย ‘นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่’ (Shaolin Soccer) ที่เขายังคงแสดงนำและกำกับเอง เป็นหนังเรื่องโปรดของหลาย ๆ คนอีกเรื่อง แล้ว โจว ซิงฉือ ก็หายไปอีก 3 ปี กลับมาอีกครั้งในปี 2004 กับ ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ (Kung Fu Hustle) ที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้
‘คนเล็กหมัดเทวดา’ (Kung Fu Hustle) เป็นหนังของ โจว ซิงฉือ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดทั้งในฐานะนักแสดงนำ และผู้กำกับ หนังประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และด้านรางวัลต่าง ๆ หนังทำเงินในฮ่องกงไปได้ 61 ล้านเหรียญฮ่องกง สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง และไปทำเงินในสหรัฐฯ ได้อีก 17 ล้านเหรียญ ขึ้นแท่นหนังใช้ภาษาต่างประเทศที่ทำเงินสูงที่สุดในสหรัฐฯ ในปี 2005 แล้วไม่เพียงแค่นั้น ยังกวาดรายได้เพิ่มอีก 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในตลาดโฮมวิดีโอ
ด้านรางวัลนั้น ‘Kung Fu Hustle’ เข้าชิง 16 รางวัล บนเวที Hong Kong Film Awards แต่กวาดมาได้ 6 รางวัล และหนึ่งในนั้นคือ ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ แล้วยังไปกวาดอีก 5 รางวัลม้าทองคำ ซึ่งหนึ่งในนั้น โจว ซิงฉือ ได้รับรางวัล ‘ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’
แม้ว่าตัวหนังจะมีความเป็นเอเซียสูง ทั้งเรื่องราวและมุกตลกที่ใช้ในหนัง แต่หนังกลับได้รับการยอมรับในตลาดสากล หนังได้คะแนนบนเว็บไซต์ Rottentomatoes สูงถึง 91% จากนักวิจารณ์ 191 คน โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Eberts) นักวิจารณ์ชื่อดังที่ทั่วโลกให้การยอมรับ บอกว่า “เหมือนจับเอา แจ็กกี้ ชาน และ บัสเตอร์ คีตัน มาเจอกับ เควนทิน ทารันทิโน และ บักส์ บันนี่” ส่วน บิลล์ เมอร์เรย์ (Bill Murray) นักแสดงตลกอาวุโส กล่าวว่า “นี่คือหนังตลกที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในยุคใหม่” ส่วน เจมส์ กันน์ (James Gunn) นั้นกล่าวยกย่องไว้อย่างเลิศเลอว่า “นี่คือหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยสร้างมาก”
หลังจากก้าวถึงจุดสูงสุดกับ ‘Kung Fu Hustle’โจว ซิงฉือ ก็มีผลงานแสดงอีกแค่เรื่องเดียวใน ‘คนเล็กของเล่นใหญ่’ (CJ7) เมื่อปี 2008 จากนั้นเขาก็รับแต่หน้าที่ผู้กำกับอย่างเดียวปล่อยผลงานออกมาอีก 2 เรื่องคือ ‘เงือกสาว ปัง ปัง’ (The Mermaid) ปี 2016 และ ‘คนเล็กไม่เกรงใจนรก 2’ (The New King of Comedy) ปี 2019 เป็นความพยายามปลุกปั้นนักแสดงสาวหน้าใหม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองเรื่อง นับเป็นการปิดฉากบทบาทในวงการบันเทิงของ โจว ซิงฉือ ทิ้งผลงานหลายเรื่องไว้ให้เป็นความทรงจำของแฟน ๆ และในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของ ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ (Kung Fu Hustle) ผู้เขียนจึงขอหยิบ 10 เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจจากหนังมาฝากกันครับ
1.หยวน วูปิง (Yuen Woo-ping) เป็นผู้ออกแบบคิวบู๊ให้เรื่องนี้
แม้ว่าโทนของ ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ จะออกไปทางตลก แต่หนังก็มีฉากบู๊เด่น ๆ อยู่มาก ด้วยเหตุนี้ โจว ซิงฉือ จึงเลือก หยวน วูปิง ในฐานะปรมาจารย์ทางด้านนี้ให้มารับผิดชอบฉากต่อสู้ทุกฉากในหนัง นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ฉากต่อสู้ต่าง ๆ จึงดูรุนแรง ดุเดือด ไม่แพ้หนังกำลังภายในเรื่องอื่น ๆ เลย
หยวน วูปิง เป็นทั้งนักออกแบบท่าทางการต่อสู้ เป็นทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ เขาเริ่มต้นด้วยการออกแบบคิวบู๊ให้กับ ‘ไอ้หนุ่มพันมือ’ และ ‘ไอ้หนุ่มหมัดเมา’ ปี 1978 ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่สร้างชื่อให้กับ เฉินหลง จากนั้นเขาจึงได้ร่วมงานกับผู้กำกับและนักแสดงชื่อดังมากมาย ทั้ง ดอนนี่ เยน, เจ็ต ลี, มิเชลล์ โหย่ว และ หง จินเป่า ด้วยฝีมือที่หาใครเทียม งานที่โดดเด่นที่สุดของเขาก็คือ ‘ไอ้หนุ่มซินตึ้ง หัวใจผงาดฟ้า’ ปี 1994 ที่ไปเข้าตาสองพี่น้องวาชอว์สกี จึงชักชวนเขาไปออกเบบคิวบู๊ให้กับ ‘The Matrix’ ปี 2004
2.ตรอกเล้าหมู สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ โจว ซิงฉือ
ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าสถานที่ที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ “ตรอกเล้าหมู” ที่เป็นแฟลตของบรรดาคนยากไร้ แต่เบื้องหลังกลับเป็นแหล่งรวมของบรรดายอดฝีมือในยุทธจักรที่ปลีกตัวมาใช้ชีวิตสงบ ทำมาหากินเพื่อดำเนินชีวิตไปแต่ละวัน โจว ซิงฉือ ให้ความสำคัญในการสร้าง “ตรอกเล้าหมู” อย่างมาก จากส่วนหนึ่งที่ โจว ซิงฉือ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Observer เขาเผยว่า ต้องการให้ภาพของ “ตรอกเล้าหมู” ออกมาตรงตามภาพจากความทรงจำในวัยเด็กของเขา ที่เขาเคยอยู่ในย่านสลัมแออัดในฮ่องกง
3.โจว ซิงฉือ อยากให้ภาพลักษณ์ของ “แก๊งขวานซิ่ง” ออกมาแตกต่างจากแก๊งอื่น ๆ ในหนัง เลยให้สมาชิกแก๊งเต้นด้วยกัน
เฉิน กั๋วคุน ผู้รับบท “พี่ซัม” หัวหน้าแก๊งขวานซิ่งนั้น นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว เขายังมีความสามารถในการออกแบบท่าเต้น เป็นทั้งนักร้องนำวงร็อก และเป็นนักกวีอีกด้วย กั๋วคุนยังเคยฝึก เจี๋ยฉวนเต้า (Jeet Kune Do) ศิลปะการป้องกันตัวที่คิดค้นขึ้นมาโดย บรู๊ซ ลี อีกด้วย
โจว ซิงฉือ ในฐานะผู้กำกับนั้น เขาอยากให้ภาพลักษณ์ของแก๊งขวานซิ่งนั้นมีความโหดดุตามแบบฉบับชาวแก๊งแต่ก็ยังให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแก๊งนอกกฎหมายทั่วไปในหนังอีกด้วย แต่พอนึกขึ้นมาได้ว่า เฉิน กั๋วคุน นั้นมีทักษะการเต้นด้วย เขาก็เลยอ๋อ “ทำไมชาวแก๊งจะเต้นไม่ได้ล่ะ มาเต้นกันเถอะ” เราก็เลยได้เห็นภาพของชาวแก๊งควงขวานออกมาเต้นเรียงหน้ากระดานกัน แก๊งขวานซิ่งก็เลยมาพร้อมทั้งความโหดดุแต่ก็มีมุมน่ารักสลับกันไป
4.เดิมทีจะมีฉาก 2 มือสังหารกู่เจิงสู้กับฉลามใต้น้ำ แต่ทีม CGI บอกว่ายากเกินไป
เสน่ห์ของหนัง ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ ก็คือการที่หนังอัดแน่นไปด้วยยอดฝีมือทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย แต่หลายคนก็น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า ยอดฝีมือที่ดูมีพิษสงและทำให้หนังเข้มข้นอย่างมากก็คือ 2 มือสังหารที่ใช้กู่เจิง เครื่องดนตรี 7 สายเป็นอาวุธสังหารที่สามารถยิงดาบที่มองไม่เห็นออกมาใส่คู่ต่อสู้ได้ ตามบทภาพยนตร์นั้น 2 มือสังหารนั้นมาจากดินแดนชายฝั่งทะเล โจว ซิงฉือ ก็เลยอยากมีฉากที่โชว์พิษสงของ 2 นักฆ่านี้ด้วยการใส่ฉากที่ 2 นักฆ่านี้ใช้กู่เจิงต่อสู้กับฉลาม แต่ทางทีม CGI ก็บอกกับผู้กำกับโจวว่า “ทำไม่ได้หรอก ลืมเรื่องนี้ไปซะ” เราก็เลยได้เห็นแต่ฉากต่อสู้ที่ตรอกเล้าหมูแค่นั้น
5.ได้ตัวนักแสดง ยฺเหวียน ชิว มารับบท “เจ๊สี่” โดยบังเอิญ
หลังจากที่ โจว ซิงฉือ เขียนบทเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาก็คือการออดิชันนักแสดง ซึ่งเขาก็รับหน้าที่คัดเลือกด้วยตัวเอง เนื่องจาก โจว ซิงฉือ เป็นผู้สร้างสรรค์ตัวละครที่มีความผิดปกติและประหลาดขึ้นมาจากจินตนาการของเขาเอง และในตอนที่คัดเลือกนักแสดงมารับบท “เจ๊สี่” นั้น ก็มีผู้มาออดิชันมากมาย ส่วน ยฺเหวียน ชิว นั้นไม่ได้มาออดิชันบทนี้ แต่เธอมากับเพื่อนที่มาออดิชันบทนี้ ซึ่งขณะที่ยืนดูเพื่อนอยู่นั้น ยุเหวียน ชิว ก็ยืนคาบบุหรี่พร้อมกับสีหน้าสายตาที่ดูเย้ยหยัน ซึ่ง โจว ซิงฉือ เหลือบไปเห็นพอดีว่าเธอช่างตรงกับคาแรกเตอร์ตัวละคร เจ๊สี่ ที่เขาเขียนไว้ โดยที่ไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า ยุเหวียน ชิว นั้นเป็นนักแสดงอาวุโสผ่านงานแสดงมามาก รวมถึงหนัง เจมส์ บอนด์ ภาค ‘The Man with the Golden Gun’ มาแล้วด้วย
6.เหลียง เสี่ยวหลง ผู้รับบท “เทพเมฆาอัคคี” เป็นฮีโรที่ โจว ซิงฉือ ชื่นชอบมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
หลังจากที่ บรู๊ซ ลี เสียชีวิตในปี 1973 ผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนมากในฮ่องกง จีน และ ไต้หวัน ต่างก็สร้างหนังจีนกำลังภายในออกมามากมาย โดยพยายามคัดหานักแสดงที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ บรู๊ซ ลี มาแสดงนำ จนมีชื่อเรียกหนังแนวนี้ว่า “Bruceploitation” และ เหลียง เสี่ยวหลง ก็เป็นหนึ่งในนักแสดงที่แจ้งเกิดขึ้นมาในช่วงนี้ จนได้รับฉายาว่า “มังกรตัวที่ 3” ตามหลัง บรู๊ซ ลี และ เฉินหลง แต่หลังจากนั้นไม่นาน อุตสาหกรรมภาพยตตร์ในไต้หวันก็ล่มสลาย เสี่ยวหลงจึงผันตัวเองไปเป็นนักธุรกิจ แต่ โจว ซิงฉือ ก็ไปตามเขากลับมาแสดงได้สำเร็จ หลังจากห่างหายจากงานแสดงมาแล้ว 15 ปี
7.หวง เชิ่งอี เอาชนะคู่แข่ง 8,000 คน คว้าบท “ฟ่ง” สาวใบ้ขายไอติมมาได้สำเร็จ
หวง เชิ่งอี (Huang Shengyi) เจ้าของบท “ซิง” สาวใบ้ขายไอติม หรือนางเอกของเรื่องนั้น เธอก้าวเข้าสู่วงการแสดงจากการเป็นนักแสดงละครทีวี ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ นั้นคือผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ ทำให้ โจว ซิงฉือ ถูกถามว่าทำไมถึงเลือก หวง เชิ่งอี มารับบทนี้ เขาตอบว่าเขารู้สึกสนุกกับการได้ร่วมงานกับนักแสดงหน้าใหม่ และเขามีความรู้สึกที่ดีต่อเธอ
บท “ฟ่ง” นั้นเป็นสาวใบ้ เธอจึงไม่มีบทพูดใด ๆ ในเรื่องนี้ ทำให้เธอต้องขับเน้นการแสดงผ่านทางสีหน้าและภาษากายเท่านั้น แม้ว่าจะมีช่วงเวลาบนหน้าจอเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่ใบหน้าที่สวยงามและดูไร้เดียงสา ก็ทำให้เธอเป็นที่จดจำ เรียกได้ว่า ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ เป็นผลงานแจ้งเกิดของเธอ เพราะหลังจากเรื่องนี้ เธอก็มีงานแสดงต่อเนื่องมานับสิบ ๆ เรื่อง แถมยังเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาอีกมากมาย
8.มีหลายฉากที่แสดงความเคารพต่อ บรู๊ซ ลี
ฉากแรกที่ เฮียแหลม และ เจ๊สี่ เต้นรำด้วยกันมองเห็นเป็นเงาผ่านหน้าต่าง ฉากนี้ตั้งใจใส่มาเพื่อเป็นการสดุดีต่อ บรู๊ซ ลี ในฐานะผู้ชนะเลิศการแข่งขันเต้นรำชะช่ะช่าชิงแชมป์ฮ่องกงเมื่อปี 1958 อีกฉากที่ใส่เข้ามาเพื่อเป็นการคารวะต่อ บรู๊ซ ลี ก็คือ หลังจากที่เจ๊สี่ปราบ 2 มือสังหารกู่เจิงได้แล้ว เธอก็เข้าไปนั่งในรถของพี่ซัม หัวหน้าแก๊งขวานซิ่ง ฉากนี้ล่ะที่เจ๊สี่แสดงท่าทางเลียนแบบ บรู๊ซ ลี จากหนังเรื่อง ‘Return of the Dragon'(1974) ในฉากที่เขาเผชิญหน้าหัวหน้าแก๊ง เจ๊สี่ก็เลียนแบบฉากนี้ด้วยการกระดิกนิ้วใส่พี่ซัม จากนั้นเธอก็กำมือสองข้างเข้าด้วยกันบีบมือจนได้ยินเสียงข้อนิ้วดัง แล้วก็ผงกหัวเข้าหาพี่ซัม เป็นเชิงคำถามว่า “เข้าใจแล้วใช่ไหม ?” จากนั้นเธอก็ยกนิ้วโป้งขึ้นปาดจมูก อันเป็นท่าหนึ่งที่โด่งดังของ บรู๊ซ ลี
9.รูปแบบการใช้พลังฝ่ามือของซิงใช้ต่อสู้กับเทพอัคคีเมฆาในตอนจบนั้น เป็นวิชาที่มีจริงจากวัดเส้าหลินเรียกว่า “Fut Gar Kuen”
ในฉากต่อสู้ท้ายเรื่อง ซิงใช้วิชา “ฝ่ามือจุติจากฟากฟ้า” มาเป็นไม้ตายจัดการกับเทพอัคคีเมฆา แล้วทิ้งรอยฝ่ามือขนาดใหญ่ไว้บนพื้นดิน รูปแบบการต่อสู้ด้วยพลังฝ่ามือนี้ เป็นวิชาที่มีจริงในวัดเส้าหลิน นักสู้จะโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยฝ่ามืออันทรงพลังของเขา เป็นวิชาที่มีชื่อว่า “Fut Gar Kuen” เป็นการประยุกต์ใช้ทั้งหมัด ฝ่ามือ และการเตะช่วงล่าง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อหาจังหวะจู่โจมคู่ต่อสู้
10.ชื่อวิชาต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ล้วนนำมาจากนิยายของ “กิมย้ง”
จา เหลียงยง หรือที่รู้จักกันในนาม กิมย้ง เป็นนักประพันธ์ชาวจีน และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “หมิงเป้า” หนังสือพิมพ์รายวันของฮ่องกง กิมย้งเขียนนิยายออกมา 15 เรื่องตั้งแต่ช่วงปี 1955 ถึง 1972 ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์นิยายกำลังภายในที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ด้วยยอดขายมากกว่า 100 ล้านเล่ม ในฉากที่ เจ๊สี่ และ เฮียแหลม เผชิญหน้ากับ เทพเมฆาอัคคี นั้น ก็มีการเอ่ยถึงชื่อ “เอี้ยก้วย” และ “เซียวเหล่งนึ่ง” ก็เป็นตัวละครชื่อดังจากนิยาย “มังกรหยก” นิยายเรื่องดังที่สุด ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครชุดมาแล้วหลายครั้ง
ที่มา : unbelievable-facts wikipedia