‘Avatar: The Last Airbender’ คือหนึ่งในซีรีส์แอนิเมชันที่ดัดแปลงเป็นเวอร์ชันคนแสดงยากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก ไม่ใช่เพราะว่ามันมีธีมแฟนตาซี จนต้องใช้ CG เยอะ แต่เป็นเพราะมันคือการ์ตูนที่เปลี่ยนมุมมองของชาวตะวันตกต่อแอนิเมชันไปอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งแรงกดดันอันมหาศาลนี่แหละ ที่ทำให้ Avatar: The Last Airbender ดัดแปลงเป็นเวอร์ชันคนแสดงให้สำเร็จได้ยาก ถึงขนาดที่ว่า ณ เวลานี้ซึ่งซีรีส์คนแสดงของเวอร์ชัน Netflix ฉายจบไปแล้ว จนได้กระแสตอบรับที่ดี แต่แฟนตะวันตกก็ยังไม่หยุดเถียงกันเรื่องความชอบ/ไม่ชอบของซีรีส์คนแสดงนี้สักที
ว่าแต่ทำไม Avatar: The Last Airbender ถึงทรงอิทธิพลต่อโลกแอนิเมชันฝั่งตะวันตกกันนักนะ
ตามข้อมูลของ New York Film Academy เอาเข้าจริงแอนิเมชันตะวันตกมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าร้อยปีแล้ว โดยมันเริ่มต้นจากเครื่องเซลลูลอยด์ที่ผลิตในฝรั่งเศสช่วงปี 1880 และหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมา จนการมาถึงของเรื่อง ‘Steamboat Willie’ ในปี 1928 ซึ่งเป็นแอนิเมชัน Mickey Mouse ของ Walt Disney ที่ได้พลิกโฉมวงการแอนิเมชันให้โด่งดังไปทั่วโลก
แม้แอนิเมชันจะมีความโด่งดังมากมาย แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ตลาดแอนิเมชันมักจะมีแค่เด็กเล็กเป็นกลุ่มทาร์เก็ตหลัก โดยสมัยก่อนแอนิเมชันมักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผลิตมาสำหรับเด็ก เพราะมันมักเป็นสื่อที่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ผสมอารมณ์ขันอันหวือหวา และปิดจบด้วยบทเรียนศีลธรรมอันเรียบง่าย
‘Nickelodeon’ เองก็เป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ ที่ผลิตซีรีส์แอนิเมชันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในสมัยนั้นแอนิเมชันที่ช่องผลิตก็มักจะเป็นการ์ตูนเด็กที่มีเนื้อหาเบาสมอง และตัวละครที่มีมิติแบนราบ ทว่าการมาถึงของ Avatar: The Last Airbender ก็ได้ทำลายภาพจำนี้ไปทั้งสิ้น เพราะมันเป็นแอนิเมชันเรื่องเดียวในเวลานั้น ที่ทำลายขนบธรรมเนียมของการ์ตูนเด็กในช่อง Nickelodeon รวมไปถึงซีรีส์แอนิเมชันของช่องการ์ตูนอื่น ๆ ที่ออกมาในเวลาเดียวกัน
ในเวลานั้นซีรีส์แอนิเมชันปกติมักจะเล่าเรื่องราวที่เรียบง่าย เมื่อตัวละครเจอปัญหาก็สามารถแก้ไข และจบได้ในตอนเดียว (หรือไม่เกิน 2 ตอน) ทว่า Avatar: The Last Airbender กลับเป็นซีรีส์ที่ทุกตอนมีความต่อเนื่องกัน เราไม่สามารถที่จะดูแล้วก็จบได้ทันที ซึ่งถ้าใครที่เริ่มดูก็จะพบว่าแต่ละตอน คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยิ่งใหญ่ที่กำลังมาถึง
เอาจริง ๆ การวางเนื้อเรื่องประมาณนี้ คนไทยอย่างเรา ๆ ก็คุ้นชินกันอยู่แล้ว เพราะมันคือการวางพลอตแบบพวกอนิเมะญี่ปุ่นหรือ ‘การ์ตูนโชเน็น’ นั่นแหละ เพียงแต่ว่าฝั่งตะวันตกไม่เคยมีใครทำการ์ตูนที่มีตอนต่อกันเป็นซีรีส์ลงช่องการ์ตูนเด็กมาก่อน
นั่นจึงทำให้ Avatar นับเป็นแอนิเมชันตะวันตกเรื่องแรก ๆ ที่หยิบยืมการวางโครงเรื่องของการ์ตูนโชเน็นจากญี่ปุ่นมาใส่ ซึ่งถ้าใครรู้สึกว่าเวลาดูแล้ว มันให้ฟีลเหมือนดูการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คือแอนิเมชันฝรั่งที่มีกลิ่นอายการ์ตูนญี่ปุ่นยังไงล่ะ
มิเชล ดันเต้ ดิมาร์ติโน (Michael Dante DiMartino) และไบรอัน โคเนียตซ์โก้ (Bryan Konietzko) สองผู้สร้างเองก็ออกมายอมรับอย่างเปิดเผยว่า พวกเขาชื่นชอบอนิเมะญี่ปุ่นมาก เลยนำองค์ประกอบหลายอย่างของการ์ตูนญี่ปุ่นมาใส่ ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็กชัน, มิติของละครที่ซับซ้อน และการเต็มใจที่จะแก้ปัญหาตัวเองในแบบผู้ใหญ่ (การก้าวพ้นผ่านวัย) ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ Avatar: The Last Airbender ดึงดูดผู้ชมทุกวัย
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือธีมของเรื่องราว เพราะการ์ตูนเด็กบางเรื่องมักมีเมสเซจที่ลึกซึ้งกว่าปกติ และเป็นเรื่องธรรมดาหากจะมีตอนที่สร้างมาเพื่อให้ผู้ใหญ่ดู แต่ Avatar: The Last Airbender ได้เซตเนื้อเรื่องไว้สำหรับผู้ใหญ่มาตั้งแต่ต้น และไม่เคยถอยออกมาจากสิ่งที่วางเอาไว้เลย
Avatar: The Last Airbender เล่าเรื่องของแอง เณรน้อยวัย 12 ที่ต้องต่อสู้กับโชคชะตาของตน เพราะเขาคือวีรบุรุษผู้กลับชาติมาเกิด ซึ่งต้องกอบกู้โลกจากแคว้นอัคคี โดยแองถูกสองพี่น้องเผ่าวารีปลุกให้ตื่น หลังจากหลับใหลไปกว่า 100 ปี
เราจะพบว่าตัวละครหลักสูญเสียบ้านเกิด และพวกพ้องทั้งหมดไปเนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งโลกก็บอบช้ำจากการสู้รบอย่างยาวนานกว่า 100 ปี และการที่เนื้อเรื่องนั้นไม่ได้ดำเนินเรื่องที่แองเพียงคนเดียวเพราะเรื่องราวยังทำให้ตัวละครอื่น ๆ ได้พัฒนาตามไป ซึ่งเป็นรสชาติที่ไม่ค่อยเจอในการ์ตูนเด็กของตะวันตกเท่าไหร่ จุดนี้แหละ คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า Avatar: The Last Airbender มีศักยภาพที่สามารถประสบความสำเร็จได้
ในครั้งแรกที่ออกอากาศ เหล่านักวิจารณ์ค่อนข้างจะยอมรับ Avatar: The Last Airbender กันได้ช้า เพราะมันเป็นแอนิเมชันที่มีรสชาติแตกต่างจากเรื่องอื่นในยุคเดียวกัน นั่นทำให้ซีรีส์อดเข้าชิง Emmy Award ในปี 2004 โดยแพ้ให้กับ South Park ซีซัน 10 ไป ทว่าเมื่อ Avatar: The Last Airbender ฉายมาถึงซีซันสุดท้าย มันก็ได้รับรางวัล Peabody มาครอบครองจนได้ ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นว่าเหล่านักวิจารณ์ได้เข้าใจถึงแก่นของแนวทางแอนิเมชันประเภทนี้แล้ว
การมาของ Avatar: The Last Airbender ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของซีรีส์แอนิเมชันสำหรับเด็กในฝั่งตะวันตกใหม่ จนหลายคนพูดว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ยุคทอง’ แห่งซีรีส์แอนิเมชัน ที่แม้จะมีทาร์เก็ตในการฉายไปที่เด็ก แต่ก็ดำเนินเรื่องในแบบผู้ใหญ่ ใส่เรื่องราวซับซ้อน และตัวละครที่มีมิติอันละเอียดอ่อน จนทำให้แอนิเมชันยุคต่อไปสามารถดึงดูดใจผู้ใหญ่ในวงกว้างได้
ในขณะที่ Avatar: The Last Airbender กำลังฉาย ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการเชิดชูให้เทียบเท่า ‘Harry Poter’ บ่อยมาก เนื่องจากมีมันมีสถานะเป็นแฟนตาซีที่เล่าถึงการเติบโตก่อนวัยก่อนผู้ใหญ่ที่กำลังมาถึง รวมทั้งมีเนื้อหาเฉพาะทาง ที่ตัวละครอยู่ในโลกมหัศจรรย์อันแปลกประหลาด จนทำให้ Avatar: The Last Airbender กลายเป็นสิ่งที่ล้ำหน้าเหนือกาลเวลา แม้มาดูตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันสดใหม่อยู่
ความสำเร็จของ Avatar: The Last Airbender พิสูจน์ให้เห็นว่าแอนิเมชันเป็นมากกว่าสื่อบันเทิงของเด็ก มันจุดประกายยุคใหม่ของแอนิเมชันตะวันตก โดยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างรุ่นต่อไป ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของการเล่าเรื่อง และสร้างเนื้อหาที่มีส่วนร่วมกับผู้ชมในระดับที่ลึกยิ่งกว่าเดิม ซึ่งซีรีส์อย่าง ‘Teen Titans’, ‘The Legend of Korra’, ‘Ben 10’ หรือแม้แต่ ‘Gravity Falls’ จะดำเนินเรื่องด้วยแนวทางนี้ไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีการเบิกทางของ Avatar: The Last Airbender
Avatar: The Last Airbender จึงถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเล่าเรื่อง และผลกระทบที่ยั่งยืนของแอนิเมชัน ด้วยตำนานอันยาวนาน ตัวละครที่น่าดึงดูด และธีมที่เป็นสากลซึ่งเข้าถึงผู้ชมทุกวัย ก็ทำให้ซีรีส์เรื่องจึงก้าวข้ามขอบเขตทางวัฒนธรรม และแม้จะผ่านไปเกือบ 20 ปี มันยังคงถูกพูดในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่มันเปิดตัวครั้งแรก
ที่มา: Rotten Tomatoes, Northern Star, gamerant, SYFY WIRE, Vox