ในขณะที่ Star Wars :The Force Awakens พาเรื่องราวเดินหน้าไปข้างหน้าในอนาคตไกล ๆ แฟนเก่าดีใจที่ได้เห็นตัวละครที่รักอย่าง ลุค , ฮัน และ เลอา แต่ Rouge One กลับพาเราย้อนอดีตกลับมาในบรรยากาศของ Star Wars ยุคต้น ๆ อีกครั้ง ได้เห็นยานดีไซน์เดิม ๆ ชุดฟอร์มเดิม ๆ บนเรื่องราวของตัวละครทีมใหม่ กับเนื้อหาที่มากับความหม่นทั้งภาพและเรื่องราว นับว่าเป็นภาคแยกเรื่องแรกที่ทำออกมาด้วยความเคารพหนังไตรภาคต้นฉบับอย่างแท้จริง
ไอเดียเริ่มต้นของ Rouge One มาจากมันสมองของ จอห์น นอลล์ ศิษย์ลูกหม้อของ จอร์จ ลูคัส เขาเป็นทีมงาน Indrustrial Light & Magic ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง และจอห์น กับ โธมัส พี่ชายก็ยังเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นซอฟต์แวร์ Photoshop ที่ใช้กันอยู่ทั้งโลกขณะนี้ จอห์น ก็อยู่กับลูคัส ฟิล์ม มาตลอดดูแลเรื่อง CGI ของ Star wars มาทุกภาค
หลังจากดิสนีย์ซื้อลูคัสฟิล์มมาแล้ว ต่างก็มีการนำเสนอไอเดียสำหรับหนัง Star Wars ภาคแยกออกมามากมาย แต่ทุกเรื่องก็ไม่โดนใจ จอห์น เลย เขาเลยลงมือเขียนเรื่องด้วยตัวเองและทำหนังสั้น 28 นาทีออกมา เพื่อน ๆ เห็นหนังสั้นของ จอห์น ก็ชื่นชมและยุให้ จอห์น เอาไปเสนอ แคทเธอลีน เคนเนดี้ Ceo ของลูคัส ฟิล์ม ขณะนี้ แคทเธอลีน ดูแล้วก็ชอบ เลยผลักดันไอเดียของจอห์น ให้กลายเป็น Rogue One: A Star Wars Story
สุดท้ายจากที่จอห์น เคยมีแต่เครดิตในฐานะผู้ดูแลเรื่อง CGI เรื่องนี้ก็เลยได้เครดิตเพิ่มในฐานะเจ้าของเรื่อง และอำนวยการสร้างด้วย ส่วนหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ตกเป็นของ 2 มือเขียนบทที่สไตล์แตกต่างกันลิบลับ คนแรกมาจากสายคอมมีดี้ โรแมนติก คริส ไวตซ์ ผู้กำกับและมือเขียนบทจาก about a boy (2002), The Twilight Saga: New Moon (2009) มาประกบคู่กับมือเขียนบทสายดราม่า การเมือง โทนี่ กิลรอย คนนี้เขียนหนัง Bourne ทุกภาค และกำกับ The Bourne Legacy (2012) ด้วย
เหตุการณ์ใน Rogue One: A Star Wars Story เป็นช่วงเวลาให้หลังเรื่องราวในหนังอนิเมชั่น Star Wars Rebels (2014) อยู่ 5 ปี แต่เชื่อมต่อกับ A New Hope (1977) แบบทันที ตัวหลักของเรื่องคือ จิน เออร์โซ อดีตทหารฝ่ายพันธมิตร ทำหน้าที่หน่วยกล้าตาย นำทีมที่มีทั้งนักบินแปรพักตร์ ทหารพันธมิตร หุ่นยนต์จักรวรรดิ และเจไดตาบอด มุ่งสู่ฐานทัพจักวรรดิเพื่อชิงพิมพ์เขียวของเดธสตาร์ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำลายล้างเดธสตาร์
ช่วงเปิดตัวของหนัง 15 นาทีแรกแนะนำให้ใช้สมาธิขณะดูให้มาก เพราะหนังจะแนะนำตัวละครเข้ามาหลายตัว บางตัวก็หน้าตาคล้าย ๆ กันพาสับสนอีก แล้วก็ยังพาเราไปดาวนั้นดาวนี้อาณานิคมของจักรวรรดิบ้าง ฐานของพันธมิตรบ้าง ตั้งใจดูดี ๆ เดี๋ยวจะมีงง ชั่วโมงแรกของหนังไปแบบช้า ๆ ไม่เน้นแอ็คชั่นแต่เน้นหนักเรื่องราวความเป็นมาของจิน และบรรดาผู้คนรอบข้าง รวมถึงการรวบรวมสมัครพรรคพวกในทีม Rogue One พอเข้าครึ่งหลังเมื่อ Rogue One ครบทีมแล้วเริ่มบุกเข้าโจมตีฐานทัพของจักรวรรดิถึงจะมีแอ็คชั่นจัดเต็ม ยิงกันยาว ๆ ที่ล้วนเป็นฉากยิงปืนแสง ขับยานยิงกัน ไม่มีฉากดวลไลท์เซเบอร์ ไม่มีการใช้พลังเจไดต่อสู้กัน ให้อารมณ์ต่างจากภาคอื่น ๆ ก่อนจะลงเอยได้สวยงามและน่าชื่นชมที่ต่อเนื่องกับฉากเปิดของ A New Hope ที่ถูกสร้างไว้เมื่อ 39 ปีก่อนได้อย่างเป๊ะมาก หน้าตายาน แสงสี ชุด เหมือนทุกอย่างเลย ชื่นชมความตั้งใจของทีมงานครับ
นับได้ว่าเป็นภาคที่น่าจะได้ใจสาวกสตาร์วอร์สเดิม ๆ ด้วยบรรยากาศรายล้อมที่ดูคุ้นเคย มีการดึงตัวละครสำคัญจากภาคก่อนหน้าและตามหลังกลับมาบางตัวเช่น เบล ออร์แกนา พ่อเลี้ยงของเจ้าหญิงเลอา และ บทผู้ว่าการ มอฟฟ์ ทาร์กิน บทของปีเตอร์ คูชิ่ง ที่เคยปรากฏตัวมาในภาค A New Hope (1977) นับเป็นเซอร์ไพรส์มากที่ได้เห็น ปีเตอร์ คุชชิ่ง กลับมามีบทบาทสำคัญบนจอภาพยนตร์ได้แบบนี้ และน่าจะเป็นครั้งแรกของฮอลลีวู้ดที่ใช้ CGI สร้างภาพดาราผู้ล่วงลับไปตั้งแต่ปี 1994 ให้กลับมาแสดงร่วมกับตัวละครอื่นแบบยาว ๆ อย่างนี้
ส่วนบท ซอว์ เกอร์เรรา ของฟอร์เรสต์ วิเธเกอร์ ก็เป็นตัวละครที่ถูกดึงมากจากอนิเมชั่น Star Wars Rebels (2014) รายสำคัญสุดก็คือ ดาร์ธ เวเดอร์ ที่บางคนคาดหวังว่าจะได้เห็นเฮย์เด็น คริสเต็นเซ่น กลับมาอีกครั้ง แต่ทางผู้สร้างเลือกจะใช้ดาร์ธ เวเดอร์ ในภาพลักษณ์ยุคหลังมาแทน แล้วใช้บริการ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ ให้มาพากย์เสียงอีกครั้ง การปรากฎตัวของตัวละครอมตะอย่าง ดาร์ธ เวเดอร์ นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คนที่โตมากับสตาร์วอร์ส ต่างก็คิดถึง ดีใจที่ได้เห็นวายร้ายเกราะดำออกมาพร้อมกับเพลงธีมประจำตัว The Imperial March อีกครั้ง แต่ใจผมยังคิดว่าฉากเปิดตัวของดาร์ธ น่าจะทำได้เท่และยิ่งใหญ่กว่านี้นะ และควรจะเก็บไว้เป็นเซอร์ไพรส์ ไม่น่าเผยมาให้รู้ตั้งแต่ในเทรลเลอร์ และเหมือนเป็นธรรมเนียมของหนังสตาร์วอร์ส ที่ว่าทุกภาคจะต้องมีตัวละครพูดมากไว้ตัวหนึ่ง ภาคนี้ก็เป็นหน้าที่ของ K-2S0 หุ่นรับใช้ของจักรวรรดิที่ถูกฝ่ายพันธมิตรจับมาโปรแกรมใหม่ ก็ถือว่าทีมงานมีการแก้ไขข้อผิดพลาดจากภาคก่อน ๆ หลังจากที่ตัวจาจา บิงค์ ในภาค 1-2-3 โดนแฟนหนังด่ามากว่าน่ารำคาญสุด ตัว K-2S0 ก็ถือว่าเป็นตัวปล่อยมุกของเรื่องที่ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มุกของหนังส่วนใหญ่ล้วนมาจากความไร้เดียงสาของตัว K-2S0 ล้วน ๆ และไม่เยอะเกินไป
เป็นหนังปลายปีที่ใช้ทุนสร้างไปมหาศาลถึง 200 ล้านเหรียญ ต่อให้มากกว่านี้ก็ได้กำไรแน่นอน เพราะสาวกสตาร์วอร์สมีมากพอและเหนียวแน่นมาก และเป็นภาคที่แฟนใหม่ที่ไม่เคยดูสตาร์วอร์สมาสักภาคเดียว ก็ดูได้รู้เรื่อง รวมไปถึงแผนการตลาดที่คาดหวังรายได้จากจีน ที่วันนี้นับว่าเป็นตลาดหลักอีกแหล่งของฮอลลีวู้ดไปแล้ว ด้วยการเพิ่มบทสำคัญในทีม Rogue One ให้กับ ดอนนี่ เยน และ เจียง เหวิน 2 ดาราเบอร์ต้น ๆ ของจีนในวันนี้ โดยเฉพาะบท ชีรุตของดอนนี่ เยน เป็นบทที่เด่นมาก บทชีรุต ถูกวางมาให้คลุมเครือไม่ชี้ชัดว่าเป็นเจได หรือไม่ แต่ก็มีฉากเท่ ๆ ให้โชว์หลายครั้งมาก โดยเฉพาะอาวุธประจำตัวทรงพลังของชีรุต ที่เป็นได้ทั้งพลองและอาวุธยิงประสิทธิภาพสูง ก็สมควรเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตนักแสดงของทั้ง ดอนนี่ เยน และเจียง เหวิน ที่ได้เป็นสมาชิกในหนังตระกูล สตาร์วอร์ส
โทนของ Rogue One: A Star Wars Story ออกมาในอารมณ์ผสมผสานของดราม่าและแอ็คชั่น ที่ดูชัดเจนว่าหนังพยายามขับเน้นเรื่องเยื่อใยความรักความผูกพันของพ่อลูก เกเลน และ จิน บทเกเลนนับเป็นการพลิกบทบาทที่ดูผิดตาไปมากสำหรับ แมด มิคเคลเซน วายร้ายขาประจำของฮอลลีวู้ด ต้องชื่นชมว่า แมด ทำให้ลืมภาพลักษณ์วายร้ายที่ผ่าน ๆ มาของเขาไปได้ แต่การลากยาวในส่วนดราม่าชั่วโมงกว่าของหนังก็ไม่ได้พาอารมณ์ไปถึงกับชวนซึ้งเสียน้ำตานะ ถ้ายาวกว่านี้คงจะเป็นสตาร์วอร์สภาคดราม่าเป็นแน่ เลยต้องรีบพาคนดูเข้าสู่โหมดแอ็คชั่นกันยาว ๆ แต่ด้วยความที่เป็นภาคที่สอดแทรกอยู่ในตำนานสตาร์วอร์ส ทำให้เนื้อหาถูกตีกรอบทั้งหน้าและหลังไว้ จุดจบของหนังจึงเป็นที่รู้กันอยู่แล้วทำให้ดิ้นไปไหนไม่ได้มาก เนื้อหาดำเนินอยู่บนพลอตสั้น ๆ ของทีมพันธมิตรที่บุกเข้าไปชิงผังเดธสตาร์แต่นำมาขยายรายละเอียดของความสัมพันธ์พ่อลูกลงไป Rogue One จึงไม่ใช่สตาร์วอร์สภาคที่มีเซอร์ไพรส์อะไรในเส้นเรื่อง ไม่มีฉากให้ลุ้นมากนัก แต่ก็คงเสน่ห์ของความเป็นสตาร์วอร์สไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่รู้สึกถึงความขลังที่คงให้สัมผัสได้ในภาคหลักเท่านั้น