ในปี 2007 ‘ฟ้าจรดทราย เดอะ มิวสิคัล’ เปิดการแสดงที่ ‘เบิกโรง’ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ และเป็นครั้งแรกที่ละครเพลงจากค่ายซีเนริโอได้ย้ายจากการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมมาสู่โรงละครที่จะกลายเป็นบ้านของละครเวทีและละครเพลงของซีเนริโออีกหลายต่อหลายปีนับตั้งแต่นั้น
ซึ่ง ‘ฟ้าจรดทราย’ ในเวอร์ชันซึ่งนำแสดงโดย ‘นัท-มีเรีย เบนเนเดดตี้’ ‘มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์’ ‘หญิง-รฐา โพธิ์งาม’ และ ‘ศรัญญู วงศ์กระจ่าง’ ผู้ล่วงลับ ก็กลายเป็นเวอร์ชันในดวงใจของแฟนละครเพลงอีกหลายคน ด้วยแคสติงที่นับว่าเหมาะสมในสมัยนั้น โดยเฉพาะบทมิเชลที่แฟน ๆ และผู้ชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราวกับเดินออกมาจากนิยายที่ประพันธ์โดย โสภาค สุวรรณ
17 ปีต่อมาเมื่อ ‘ฟ้าจรดทราย’ จะถูกนำมารีเมกอีกครั้ง ทุกคนจึงจับตามองว่าจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องการเลือก ‘แก้ม-กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด’ มารับบทมิเชล ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่ได้ตรงกับคำบรรยายในบทประพันธ์เท่าไหร่นัก
‘ฟ้าจรดทราย เดอะ มิวสิคัล 2024’ ต่างกับ ‘ฟ้าจรดทราย เดอะ มิวสิคัล 2007’ อย่างไร ?
แน่นอนว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คือโครงเรื่องหลักที่บอกเล่าเรื่องราวของมิเชล เดอลาโรนีลส์ (รับบทโดย แก้ม-กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด) หญิงสาวลูกครึ่งเอเชียฝรั่งเศส ตาม แคชฟียา (หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ) เพื่อนรักมายังเมืองฮิลฟารา ดินแดนทะเลทรายอันไกลโพ้น ด้วยความตั้งใจที่จะมาเปิดโรงเรียน มอบความรู้ให้กับเด็กสาว เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ แต่กลับโดนเพื่อนหักหลังส่งเธอไปถวายตัวเป็นชายาองค์ราชาอาเหม็ด (กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) ราชาผู้ทรงธรรมแต่ไร้ทายาท เพราะความเข้าใจผิดคิดว่ามิเชลแย่งคนรัก มิหนำซ้ำมิเชลดันเดินทางมาถึงในช่วงวันเดียวกับคำทำนายว่า จะมีหญิงที่มอบรัชทายาทให้กับเมือง ทำให้องค์อาเหม็ดปรารถนาให้เธอถวายตัวก่อนที่จะเกิดเหตุกบฏโดยโอมาน (เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ) พระอนุชา ทำให้มิเชลต้องเดินทางในทะเลทรายไปกับพันเอกชารีฟ อัลฟารัซ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) องค์รักษ์ของพระราชาที่ช่วยเธอออกมา และความสัมพันธ์ที่ห่างแต่เคียงคู่กันไปดั่งทรายและฟ้าของทั้งคู่ก็เริ่มขึ้นนับตั้งแต่นั้น
แต่ทั้งบทละคร เนื้อเพลง และการตีความตัวละครนั้นต่างออกไปจากเวอร์ชันก่อนพอสมควร อย่างการเปลี่ยนเนื้อเพลงและบทที่ทำให้เวอร์ชันนี้ Politically Correct เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น อาทิ การแก้เนื้อเรื่องการพบกันครั้งแรกของตัวละครเอกให้มีเหตุการณ์การปราบกบฏ ในขณะที่เวอร์ชันก่อนจะเป็นปมนำผู้หญิงเข้าฮาเร็ม และการได้เป็นสนมเปรียบเหมือนความฝันของผู้หญิงทุกคน เวอร์ชันนี้ผู้ชมจะได้เห็นประชาชนหญิงของฮิลฟาราผู้มีความฝัน แต่ทางเลือกในความเป็นจริงนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้เข้าวังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาจะมีได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้แรงจูงใจของมิเชลในการมอบชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้หญิงดูแข็งแรงขึ้นด้วย และอาเหม็ด (ด้วยความช่วยเหลือของชารีฟ) เป็นพระราชาที่เข้าใจความสำคัญของความเท่าเทียมมากขึ้น เมตตา มีเหตุผล และผูกพันกับชารีฟมากกว่าก่อน
ชารีฟถูกตีความให้มีความเป็นชายในฝันของคนปัจจุบันมากกว่าเวอร์ชันก่อน แม้จะยังคงมีปมเรื่องความต่างของวัฒนธรรมและความเชื่อของบทบาททางเพศอยู่ แต่การเปลี่ยนให้ชารีฟเป็นคนยื่นมีดให้แก่มิเชลไว้ป้องกันตัวเองจากผู้ชาย ทำให้ชารีฟในปี 2024 มีธงเขียวปักแซมอยู่มากขึ้นอีกนิด
บทละครลดความเป็น Damsel in Distress ของมิเชล และเปลี่ยนให้กลายเป็นหญิงสาวที่เพียงแค่ต้องการเลือกทางของตนเอง และหาที่ที่ยอมรับและต้องการเธอ ก็ทำให้มิเชลเป็นภาพสะท้อนที่ใกล้เคียงกับหญิงสาวในปัจจุบันนี้มากขึ้นอีกหน่อย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ร่องรอยเดิมของความเชื่อแบบเก่าก็ยังมีให้เห็น อย่างมุขตัวละครหญิงบางตัวที่อยากมีสามีใจจะขาด หรือฮาเร็มที่ใช้ท่าเต้นพิสดารเพื่อสื่อนัยทางเพศก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งลดทอนความตั้งใจของการปรับบทนั้นดูเบาบางลงอย่างน่าเสียดายเล็กน้อย
ในแง่ของดนตรีมีการเปลี่ยนเนื้อเพลง ลด และเพิ่มเพลง อย่างการตัดทอนเพลงของมิเชล-ชารีฟ ที่เปลี่ยนไปมากพอสมควร ซึ่งการตัดสินใจที่จะลดความเข้าใจผิดระหว่างตัวละครที่ยืดเยื้อ ตัดเพลงอย่าง “ผิดอะไร” เปลี่ยนเพลง “ไร้พันธนาการ Reprise”‘ ในตอนท้าย เพิ่มเพลงรักหวาน ๆ ก็ทำให้ผู้ชมเต็มอิ่มกับความชวนฝันของละครมากขึ้น และทำให้ตัวละครน่าเอาใจช่วยมากขึ้นได้เป็นอย่างดี
ส่วนสำคัญอีกหนึ่งส่วนที่ถูกตัดไปคือฉากเปิดเรื่องที่สั้นลง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในการรีเมกครั้งหลัง ๆ ของรัชดาลัย ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม แน่นอนว่าเรื่องกระชับขึ้น แต่สิ่งที่หายไปด้วยคือความผูกพันของแคชฟียาและมิเชล และความตั้งใจของพวกเธอที่จะมีโรงเรียนร่วมกัน ทำให้เพลงที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของแคชฟียาน้อยลงไปอีก และทำให้ความรักเพื่อนที่ยิ่งมีมากก็จะกลายเป็นความแค้นหนักจนถึงกับจะเอาให้ตายน้อยลงไปด้วย สิ่งนี้ถูกทดแทนด้วยความแค้นที่เกรี้ยวกราดมากขึ้นของแคชฟียาในเวอร์ชันของหนูนา หนึ่งธิดาที่ร้ายแบบลูกคุณหนูเอาแต่ใจ แค้นถึงไส้ถึงพุง จนอยู่ระหว่างการจะกลายจาก Character ไปเป็น Caricature และอีกหนึ่งตัวละครที่ไปในเส้นทางของ Caricature อย่างเต็มตัวในเวอร์ชันนี้คือโอมาน ซึ่งโหยหาอำนาจและการยอมรับ จนการยึดบัลลังก์ดูคล้ายเป็นการสำเร็จความใคร่ทางอำนาจ ซึ่งหากคิดว่าการแสดงแบบเข้าใจง่ายเป็นโจทย์ที่ผู้กำกับให้มา นักแสดงทั้งสองคนก็ทำได้ทะลุเป้า
ด้านตัวละครหลักคนอื่น ๆ อย่าง กบ ทรงสิทธิ์ เป็นนักแสดงที่เหมาะกับการตีความเวอร์ชันใหม่ที่อาเหม็ดมีความเมตตามากขึ้นด้วยเสียงนุ่ม ๆ ส่วน แก้ม กุลกรณ์พัชร์ ที่ยืนหยัดท่ามกลางคำวิจารณ์ก็ยังคงถ่ายทอดบทด้วยเสียงที่ไพเราะแม่นยำ แต่สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เธอกลายเป็นมิเชลโดนสมบูรณ์ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกที่คงจะละลายหายไปในไม่ช้าเมื่อผู้ชมถูกดึงดูดเข้าไปในเรื่อง แต่เป็นหลายครั้งเราได้เห็นนักร้องที่กำลังเดินไปเข้าไฟตาม blocking แทนที่จะเป็นมิเชลผู้กำลังเขินอายจนต้องเดินหลบ หรือลังเลจนไม่กล้าสู้สายตาซ้อนขึ้นมาระหว่างที่ชม ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นเพราะความกังวลหรือเหตุผลใด แต่เชื่อว่าประสบการณ์หลายปีของเธอบนเวทีจะทำให้รายละเอียดของการแสดงในรอบต่อ ๆ มาดีขึ้นอย่างแน่นอน
คนที่ต้องกล่าวถึงอย่างแน่นอนคือณเดชน์ คูกิมิยะ ใครที่เคยรู้จักเขาก็ต้องรู้ว่าเขาเป็นนักแสดงที่เล่นละครดี และร้องเพลงได้ดี แต่การแสดงของเขาในบทชารีฟก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าณเดชน์สามารถดันบาร์ของตัวเองให้สูงขึ้นได้อีก เพราะการแสดงของเขาทำให้เราต้องมองอย่างไม่คลาดสายตา การอยู่กับตัวละครด้วยสมาธิที่แน่วแน่ท่ามกลางเสียกรี๊ด การร้องพร้อมเล่นฉากแอ็กชันได้เสียงไม่มีแกว่งหรือร่องรอยของความเหนื่อย การแสดงที่เหมาะเจาะ รวมถึงการใช้จังหวะหนักเบาในเพลง รายละเอียดทั้งหมดสะท้อนให้เห็นความทุ่มเทตั้งใจ ทำให้ผู้ชมถูกดึงเข้าไปและเชื่อในตัวละครหมดใจจนข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นหายไปพร้อมลมทะเลทราย และจากนี้ถ้า ณเดชน์ คูกิมิยะ จะเป็นอีกชื่อที่เป็น magnet ดึงดูดผู้ชมละครเวทีก็จะไม่น่าประหลาดใจเลย มีแค่ฉากเดียวที่เป็นเหมือนทั้งพรและคำสาปของเรื่อง ก็คือฉากรักกลางทะเลทรายซึ่งเรียกเสียฮือฮาและกรีดร้องจากผู้ชมที่กลบเสียงร้องที่นักแสดงตั้งใจถ่ายทอดออกมาจนเกือบมิดจนน่าเสียดาย
สุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือฉากที่เป็นจุดสนใจของละครเวทีจากซีเนริโอเสมอมา แม้ว่าฉากจะสวยงามและเก็บฉาก highlight ที่เคยมีไว้ได้พอสมควร แต่การสูญเสีย element สำคัญที่เคยมีในฉากเดิมอย่างสายพาน และเครื่องบินตอนเปิดตัวมิเชลที่เคยสร้างความฮือฮาไว้ ก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย แม้จะชดเชยงานฉากด้วยจอแอลอีดีขนาดใหญ่ โปรเจ็กชันที่ legs ฝั่งซ้ายและขวา รวมถึง proscenium ที่สวยงามก็ตามที
ถ้าให้ตัดสินละครเรื่องนี้จากบรรทัดฐานที่ละครเพลงของซีเนริโอสร้างไว้ คือฉากอลังการ เพลงฟังง่าย นักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์ ‘ฟ้าจรดทราย เดอะ มิวสิคัล’ ก็เป็นอีกเรื่องที่ตอบสนองสามอย่างนี้ได้อย่างครบถ้วน และหากตอนจบของเรื่องเป็นตอนจบอันแสนสุขเมื่อกษัตริย์ได้คืนบัลลังก์ ‘ฟ้าจรดทราย’ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้รัชดาลัยได้กลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้งหลังจากร้างลามาหลายปี
เรื่อง: วาดฝัน