หากพูดถึงรายการที่ชวนคุยเรื่องราวสยองขวัญ ลี้ลับ ชวนให้ผู้ฟังขนหัวลุก หลายคนอาจรู้จักกับรายการ ‘อังคารคลุมโปง’ ของเอไทม์ (ATIME) และเรื่องราวสุดสยองเหล่านั้นก็ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อเป็นซีรีส์ของ Netflix ที่มีทั้งหมด 8 ตอน กับซีรีส์ที่มีชื่อว่า ‘อังคารคลุมโปง: เอ็กซ์ตรีม’ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่เคยสร้างความระทึกขวัญและชวนผวาจากรายการวิทยุยอดฮิต ‘EFM’ อย่าง ‘อังคารคลุมโปง’

โดย BT BUZZ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับซีรีส์ ‘อังคารคลุมโปง: เอ็กซ์ตรีม’ ทั้ง 3 คน อย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับซีรีส์ตอน ‘ครูเวร’, ตุ๋ย-พฤกษ์ เอมะรุจิ ผู้กำกับ ‘น้องสาวที่หายไป’ และ นท-อภิโชค จันทรเสน ผู้กำกับ ‘คำสาบาน’ ชวนกันคุยถึงที่มาของซีรีส์แต่ละตอน และพูดถึงเรื่องราวความหลอน ความน่ากลัวในแบบฉบับของผู้กำกับแต่ละคน 

แนะนำตัวผู้กำกับแต่ละคน

มะเดี่ยว: มะเดี่ยวนะครับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เป็นไฮโซเซเลบริตีที่เข้ามาในวงการภาพยนตร์ครับ ก็ทํามา 20 ปีแล้ว แต่อย่าไปพูดนะ เดี๋ยว ‘แก่’ รู้จักพี่ในฐานะเป็นไฮโซแล้วกัน อยากแนะนําตัวเองแบบนี้มานานแล้ว

พฤกษ์: ผมพฤกษ์ เอมะรุจิ เป็นผู้กำกับครับ ทำหนัง ‘ไบค์แมน’, ‘อีเรียมซิ่ง’, ‘ใจฟูสตอรี่’ ครับ แล้วก็เคยทำ ‘อังคารคลุมโปง’ เวอร์ชันที่แล้วครับ มาเวอร์ชันนี้ผมทำตอนที่ 1 ชื่อตอน ‘น้องสาวที่หายไป’

นท: นท อภิโชค ครับ จริง ๆ เป็นคนเขียนบท แต่ก็ทํากํากับด้วย เรื่องที่เคยเขียนก็คือ ‘HOMESTAY’ ครับ แล้วเดี๋ยวก็จะมีผลงานอีกอันหนึ่งกับ Netflix เรื่อง ‘Tomorrow and I’ ออกปลายปีนะครับ ส่วนในซีรีส์เรื่องนี้ ผมเองทําเรื่องที่ 4 ครับ ‘คําสาบาน’ 

พูดถึง ‘อังคารคลุมโปง’ นึกถึงอะไร?

มะเดี่ยว: นึกถึงรายการที่มี มดดํา (คชาภา ตันเจริญ) แล้วก็มีเหล่าบรรดาผองเพื่อน ดีเจเอไทม์ ชวนคนมาเล่าเรื่องผี

พฤกษ์: นึกถึงรายการนะครับ แล้วก็อีกอันหนึ่งคือ หมอบี (หมอบี ทูตสื่อวิญญาณ) เรารู้จักหมอบีจากรายการนี้แหละครับ

นท: ผมเห็นตามคํา (อังคารคลุมโปง) เลยครับ คือเป็นเด็กวัยรุ่นที่คลุมโปงในผ้าแล้วฟังเรื่องผี 

ตอน ‘น้องสาวที่หายไป’ กำกับโดย พฤกษ์ เอมะรุจิ

‘วันอังคาร’ แต่ละคนชอบทำกิจกรรมอะไรบ้าง?

มะเดี่ยว: มันจะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผมไม่ค่อยถูกกับวันอังคาร วันอังคารมักจะมีแต่เรื่องเฮงซวยเกิดขึ้นเสมอ ๆ แบบว่าทําไมวันนี้มันอะไรกันนักกันหนาเนี่ย มันคงเป็นวันอังคารแหละ ส่วนตัวเป็นคนเกิดวันอาทิตย์ แล้วไปดูดวงมาบอกว่าคนเกิดวันอาทิตย์กับวันอังคารไม่ค่อยถูกกัน ก็มักจะคิดไปเองว่าอะไรที่มันปวดหัวเยอะ ๆ มันมักจะเกิดขึ้นวันอังคาร อาจเป็นเพราะวันจันทร์มันปวดหัวกับเรื่องอื่น ๆ วันอังคารอาจจะค้นพบสิ่งที่เราหลงลืมมาจากวันจันทร์ สําหรับเรามันส่วนตัวมากนะ 

พฤกษ์: ของผม ‘วันอังคาร’ เป็นวันที่มีสติสตังครับ วันจันทร์เรายังไม่ค่อยมีสติสตังเท่าไหร่ มันเป็นผลพวงมาจากวันเสาร์อาทิตย์นี่แหละ วันอังคารมันคือวันเริ่มต้นทํางานจริง 

นท: วันอังคารผมไม่มีกิจกรรมพิเศษ แต่ว่าถ้าพูดถึงวันอังคาร ผมนึกอย่างแรกคือ รด. เพราะว่าโรงเรียนผมวางไว้ว่าเรียน รด. ตอนบ่าย สําหรับผมตอนมัธยมปลาย วันอังคารเลยเป็นวันที่ไม่ชอบ ไม่ถูกเส้นกับวันอังคาร

เรื่องหลอนแนวไหน ที่รู้สึกกลัวมากที่สุด?

มะเดี่ยว: สําหรับผมจะหลอนเรื่องแบบว่า ตอนที่เรากําลังเจอมันอยู่เราไม่รู้ แต่พอเรากลับออกมาจากตรงนั้นแล้วมารู้ทีหลังว่าสิ่งที่เราเจอมันคืออะไร อันนี้มันจะหลอน เหมือนเรามาเดินเที่ยวเล่นในโรงหนังแห่งนี้ แล้วมีคนมาคุยกับเรา แล้วพอเราออกมาเขาไม่ตามมา เราจะหลอน เพราะว่ามันจะทําให้เราตื่นตัวในอนาคตว่าถ้าเราไปที่ไหนแล้วมีใครมาคุยกับเรา หรือมีอะไรเกิดขึ้นมา มันเป็นคนหรือผี จะหลอนเรื่องแบบนี้มากกว่า กลัวตั้งตัวไม่ได้

พฤกษ์: ของเราจะกลัวพวกเสียง เรากลัวตอนดู ‘Exhuma’ เป็นหนังผีที่เรากลัวล่าสุดที่ดู เพราะเรารู้สึกว่าเสียงดนตรีร่างทรงและพิธีกรรมโคตรหลอน หรือแม้กระทั่งเวลาไปงานศพ แล้วมีศาลาไหนประโคมมโหรี เรารู้สึกว่าเสียงเพลงมันน่ากลัวสําหรับเรา 

นท: ผมจะกลัวจากที่ตัวเองเคยเจอ ส่วนใหญ่จะรู้ตัวเสมอเมื่อเจอ แล้วผมจะกลัวเรื่องที่มันเป็นภาพมากกว่า เพราะรู้สึกว่าหูมันแว่วได้ แต่ว่าพอเป็นตามันเห็น คือถ้ามันไม่จริง ก็คือเราตาฝาด อย่างทุกครั้งที่ผมเจอมันเหมือนภาพสโลว์โมชันครับ แบบโลกมันหยุด คือเขาหยุดโลกแล้วแบบกูมาแล้วนะ แล้วไม่ต้องไปไหน มองหน้ากันด้วย คือทุกครั้งที่ผมเจอจะเป็นแบบนี้ตลอดเลย แบบว่ามึงเห็นกู กูเห็นมึง เอาไงต่อ อย่างนี้ทุกครั้งเลย แต่ก็จะมีคนมาช่วยเราไว้จากโมเมนต์นั้น ๆ ครับ ยังไม่เคยเจอโมเมนต์ที่ไม่มีคนช่วย อย่าเจอเลยครับ 

ตอน ‘คำสาบาน’ กำกับโดย อภิโชค จันทรเสน

‘สถานที่’ ที่กลัวที่สุด?

มะเดี่ยว: ผมกลัวบ้านตัวเอง เคยเล่าไปใน ‘อังคารคลุมโปง’ แล้ว เรากลัวบ้านตัวเอง เพราะประสบการณ์ที่เจอเรื่องหลอน ๆ ในบ้านค่อนข้างเยอะ คือตอนกลางวันบ้านก็สดใสสวยงาม พอตกกลางคืนมาเราอยู่ไม่ได้มันวังเวง 

พฤกษ์: เรากลัวทุกที่ที่มี ‘ลายกนก’ ครับ ลายกนกไม่ถูกกับเราอย่างรุนแรง ลายกนกสีทอง และวัดก็ชอบมีลายกนก งานศพอยู่ในวัดก็มีลายกนก แม้กระทั่งกรอบรูปก็มีลายกนก แต่ที่ที่มีลายกนกแล้วรู้สึกกลัวมากที่สุดคือ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ โดยเฉพาะโรงราชรถ คือมันเป็นลายกนกที่ใหญ่ แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผมฝันถึงโรงราชรถ ฝันที่ไรก็กลัว 

นท: ผมกลัวโรงเรียนกับป่าครับ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษาแหละ ผมว่าป่ารู้สึกเหมือนมันไม่ใช่ที่ของเรา มันเป็นที่คนอื่นเขา เราเข้าไปในนั้นเข้าไปบุกรุก ถ้าเราไม่รู้ที่รู้ทางของตัวเอง เขาก็อาจเลือกได้ที่เขาจะไม่เอาเราไว้

มีวิธีการคัดเลือกเรื่องจาก ‘อังคารคลุมโปง’ มาพัฒนาเป็นซีรีส์อย่างไร?

มะเดี่ยว: ตอนแรกเหมือนเป็นเรื่องของการไปรีสอร์ต ไปบ้านญาติ แล้วก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหลบหนีในบ้านหรือรีสอร์ตของเขา สามีก็จะตามมาฆ่า ได้โครงประมาณนี้มา แต่เราก็เอามาผสมผสานกับประสบการณ์ส่วนตัว เพราะมองว่ารีสอร์ตมันมีที่ให้หลบให้ซ่อนไม่เยอะ ก็เลยปิ๊งไอเดียว่าโรงเรียนมันก็หลอน ด้วยความที่แต่ก่อนเด็ก ๆ เราเคยอยู่บ้านพักครู แม่เราเป็นครู และเราชอบลืมของไว้ในโรงเรียน แล้วรูปแบบโรงเรียนต่างจังหวัด มันจะมีรูปแบบเดียวกันหมดเลย ทางเป็นระเบียงไม้ กว่าจะถึงห้องพักครู จะต้องผ่านห้องนาฏศิลป์ ห้องศิลปะ ห้องสมุด แล้วเราก็จินตนาการว่าห้องข้าง ๆ เนี่ย มันมีอะไรอยู่ข้างใน มันเอี๊ยดอ๊าด มันนั่นมันนี่ เลยเอา 2 อันนี้มารวมกัน แล้วประเด็นเรื่อง ‘ครูเวร’ คือครูที่ต้องมาอยู่เวรในโรงเรียนคนเดียวตอนกลางคืน ถ้าเราเสิร์ชคลิปในโซเชียล ในยูทูบ ก็จะเจอคนที่มาแชร์ประสบการณ์ เลยขยายมาเป็นเรื่องนี้

พฤกษ์: ของผม เป็นมนุษย์โชคดีอย่างหนึ่ง ผมจําได้ว่ามีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม (เรื่องที่ถูกนำมาให้ผู้กำกับเลือก) ผมไปฟังมาโดยบังเอิญที่หมอบีเล่า ผมชอบมาก ผมเลยขอทําเรื่องนี้ แล้วก็โชคดีที่ได้รับการอนุญาต ซึ่งที่เราชอบเพราะว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่ผีแบบผีเต็ม ๆ อะ เราเลือกว่าครั้งนี้เราจะทําเรื่องที่ไม่ผีเต็ม ๆ เราจะทําเรื่องที่พอฟังแล้วมันกินใจ มันเป็นเรื่องผีที่เศร้า แล้วรู้สึกว่าพอมันคิดถึงชีวิตของคนในเรื่องแล้วเราเศร้า แล้วเราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าทําดีก็เลยขอทําเรื่องนี้ครับ 

นท: ของผมเลือกจากเรื่องที่เขาคัดมาแล้ว ผมไปเจอเรื่องที่เป็นคู่รักไปรีสอร์ต ไปฟังเรื่องเล่าผี แล้วก็ปรากฏว่าคนที่คุยด้วยไม่ใช่คน สุดท้ายแล้วผมจับมาแค่ตัวคู่รักครับ เพราะว่าปกติผมเป็นคนทําหนังความสัมพันธ์อยู่แล้ว ทีนี้มันทําให้ผมคิดขึ้นมาว่าเวลาเป็นพวกหนังผี หนังสยอง เวลาคนเจอผีส่วนใหญ่จะเจอคนเดียว แต่มันสะกิดขึ้นมาว่าแล้วถ้าเป็น 2 คนที่เจอด้วยกัน แต่เห็นไม่เหมือนกัน คือกลายเป็นว่าผมสนใจการที่มีผีเข้ามาในความสัมพันธ์ของคน แล้วมันดันทําให้เกิดคําถาม มันไปสะกิดอะไรในความสัมพันธ์ของคน เลยเป็นการสร้างเรื่องมาจากตรงนั้น 

ตอน ‘ครูเวร’ กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ทำหนังอย่างไรในยุคนี้ให้ออกมาไม่จำเจ?

มะเดี่ยว: จริง ๆ อันนี้อาจจะตอบแทนผู้กํากับทุกคนได้ ว่าเราอยากทําอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ในการตลาดของแต่ละค่าย แต่ละที่ ก็จะทําให้เราตระหนักรู้ว่าเราควรทําอะไร มันมีความพยายามในการผลักดันหนังแนวอื่น ๆ ซีรีส์แนวอื่น ๆ ขึ้นมาบ้าง ทีนี้ก็อยู่ที่ตัวเราเอง แล้วก็ทางผู้ใหญ่ว่าอยากจะช่วยกันผลักดันวงการนี้ไปทางไหน เราได้มาทํากับ Netflix มันก็คือทําซีรีส์หนังผีไปด้วยกันนั่นแหละ แต่มันโชคดีว่าพวกเราก็จะได้โอกาสที่อยากคิดอยากทําอะไรก็ทําไปเลย ลองทํา ลองทดลองในแบบของตัวเองที่อยากจะทํา ผมว่าวงการมันดําเนินไปได้ ไม่ใช่แค่ตัวผู้กํากับเอง ตัวผู้บริหารเอง ตัวนายทุน ตัวสตูดิโอที่อยากจะจับมือไปด้วยกัน แล้วมันจะผลักดันวงการบันเทิงของเราไปเองครับ 

พฤกษ์: สําหรับเรา เราว่ามันก็ไปด้วยกันหมดครับ ทั้งคนดูเนอะ คือคนทำก็อยากทําอะไรใหม่ ๆ แต่บางครั้งก็ต้องกลับไปถามคนดูว่าคนดูเองบางทีก็เรียกร้องอยากดูอะไรใหม่ ๆ แต่พอใหม่ไปหรือใหม่แล้วไม่เข้าทางคนดู ก็จะบอกเราว่าไม่เห็นรู้เรื่องเลย ผมว่ามันเป็นทั้งโลกนะ คือบางทีเราก็จะมองแค่ว่ามันเป็นประเทศไทย ประเทศไทยทําไมผู้กำกับไทยทําแต่หนังตลก หนังผี หนังรัก ผมว่าถ้าไปดูฮอลลีวูด ฮอลลีวูดก็ทํา เมื่อไหร่ที่มันเป็นอุตสาหกรรมอะครับ แต่ว่าที่แตกต่างกันคือเขามีจํานวนคนเยอะ มีความหลากหลายเยอะมากกว่า ผมเชื่อว่าคนทําอยากทําอะไรหลากหลายอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่า หนึ่งมันมีโอกาสไหม สองคือคนดูเปิดรับจริงหรือเปล่า ถ้ามันไปด้วยกันหมดผมว่ามันก็ไปได้ครับ

นท: ของผมเองจริง ๆ ก็มองอีกมุมหนึ่ง มันก็จะมีผู้กํากับบางท่านเหมือนกันที่เขาเกิดมาชีวิตนี้คืออยากเล่าเรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะว่าสุดท้ายแล้วบางเรื่องที่เขาสนใจมันอาจจะมีแง่มุม 1 2 3 4 เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ในแต่ละงาน เขาทำออกมาต่างมุมไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันก็คือก้อน ๆ ใหญ่มาก ๆ ก้อนหนึ่งที่เราได้เห็น พุ่งเข้ามาหลาย ๆ ทางจนกระทั่งมันเป็นแบบผลงานทั้งหมดของเขา คือพูดเรื่องนี้ก็มีบ้างเหมือนกัน ซึ่งยังไงผมก็รู้สึกว่าคนบ้านเราก็ค่อย ๆ เปิดกว้างมากขึ้น คือมันมีทั้งเปิดกว้างขึ้น และแคบลงในบางส่วนเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันมีการขยับขยาย อยากรู้อยากเห็นอะไรในมุมที่แต่ก่อนมันไม่เคยเกิดขึ้นบ้าง ก็น่าสนใจครับว่าจะเป็นยังไงต่อ 

มีวิธีรับมือกับคอมเมนต์ ‘แง่ลบ’ อย่างไร?

มะเดี่ยว: คือตัวเราเองอยู่มาตั้งแต่สมัย Pantip แล้วเหมือนกัน กํากับหนังมา แล้วเจอมาตั้งแต่สมัยทําหนังสั้น ก็จะมีคอมเมนต์เรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้มันก็แข็งแกร่งแล้ว ก็เลือกอ่านแต่สิ่งที่จะทําให้สบายใจ คือเราก็จะเปิดโหมดบ้างสมมติว่าตัวอย่างหนังออกไป เราก็จะรับฟังดูว่าเขาอยากเห็นอะไรในหนัง ถ้ามันแก้ทันก็ทํา ส่วนเวลาหนังออกไป เราว่าคนทําทุกคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าระหว่างทางมันเจอกับอะไรมาบ้าง มันอาจจะไม่ได้ 100% อย่างที่เราคิด แต่ว่าคนดูก็รับสิ่งนั้นไป แล้วหนังก็เป็นของเขาไปแล้ว เขาก็เลือกที่จะแสดงความเห็นในมุมของเขา ตัวเราเองจะข้ามได้ ผ่านไปได้ไหม หรือแบบว่าด่าเราหนักเข้า เจอหน้าเราก็จะด่าเหมือนกัน สิ่งที่เราจะบอกกับน้อง ๆ พอเราเป็นโปรดิวเซอร์ก็จะมีน้อง ๆ คือสิ่งเหล่านี้มันมีผลกับเขาจริง ๆ นะ บางทีคอมเมนต์ การวิจารณ์หนัง มันสามารถพังเขาได้ พี่มองตรงนี้ในมุมของคนทํางานนะ กับคนทํางานเราก็จะบอกน้องว่าตั้งใจทํา ทําให้ดีเรา ถ้าในตอนนี้เราคุยกันแล้วเราแก้ไขงานไปพร้อม ๆ กัน มันยังแก้ไขได้ แต่เมื่อมันออกไปแล้วก็อย่าไปอ่าน ง่าย ๆ ถ้าโดนด่าเยอะอย่าไปสนใจ เพราะว่ามันก็มีหลายคนที่ถอดใจกับตรงนี้ไปเหมือนกัน อันนี้เราไม่รู้จะช่วยยังไงดี เพราะแต่ละคนมันรับรู้ความท็อกซิก (Toxic) ได้ไม่เท่ากัน แต่สําหรับพี่ก็คืออย่าไปอ่านเลย ถ้ามันจะทําให้เราท็อกซิก แต่เรารู้ว่าน้องทําหนังจนจบเรื่องได้เนี่ย เก่งแล้วลูก 

พฤกษ์: เรารู้สึกว่ามันต้องมีอยู่ 2 โหมดครับ โหมดแรกคือการคัดกรองสิ่งที่เราจะอ่านคอมเมนต์ บางคอมเมนต์เราต้องมีตุ่มที่เราสามารถแยกแยะได้ว่าอันนี้มันสักแต่ด่า ก็ทิ้งไป อันนี้กรองทิ้งไป แต่บางคนก็คอมเมนต์ด้วยความหวังดีจริง ๆ ว่าเราควรปรับปรุง อันนี้เราเก็บไว้ คือเราต้องมีปุ่มนี้สร้างขึ้นมาให้ได้ แล้วเราจะอยู่รอดกับคอมเมนต์ทั้งหมดได้ เพราะถ้ารับทุกอย่างไปมันจะไม่หมด อีกปุ่มหนึ่งพอมันมีปุ่มที่แข็งแรง เราจะมีปุ่มต้านทาน ซึ่งเราจะรู้ว่าทุกอย่างเดี๋ยวก็ผ่านไป คือไม่ว่าเราจะได้รับคําชมหรือรับคําด่า สุดท้ายมันจะกลายเป็นอดีตเสมอ เพราะเราก็ไปทําสิ่งใหม่คนก็ไปดูอย่างอื่น เขาจะด่าเราอยู่ประมาณ 3 วัน 7 วัน แล้วเขาก็เปลี่ยนเรื่อง เขาไม่มาแคร์เราหรอก คนชมก็เหมือนกัน ก็ไปทําไปดูอย่างอื่น เขาก็ไปชมเรื่องอื่นแล้ว ฉะนั้นยึดไว้ว่าเดี๋ยวมันจะผ่านไป แล้วอีกอย่างที่ได้เรียนรู้คือผมลองสังเกตดูคนที่ด่าเราคือคนที่เขาอยู่หน้าจอ เขามองเห็นแต่จอที่เป็นสี่เหลี่ยม เขาไม่ได้มองว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งนะ คือเขาเห็นจอสี่เหลี่ยมแล้วเขาก็อยากพิมพ์อะไรก็พิมพ์ ซึ่งผมเคยทดลองอันหนึ่งคือ เวลาใครพิมพ์ด่ามาผมจะไปตอบกลับเขา ขอบคุณนะครับที่ช่วยคอมเมนต์ แล้วมันจะเปลี่ยนไป มันจะแปลกมาก คือพอเราพิมพ์กลับไปปั๊บอะ เขาจะตอบกลับมาดีขึ้นกว่าเดิม นั่นแปลว่าเขาเห็นเราเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะเวลาคนเราเห็นกันเป็นมนุษย์อะ แล้วรู้จักกันแล้ว ไม่ต้องด่าขนาดนั้นก็ได้นี่หว่า ก็คุยกันดี ๆ ได้ 

นท: ของผมเวลาได้รับคอมเมนต์ด้านลบ คือยังไงมันก็รู้สึกแหละ ผมจําโมเมนต์ที่มีคนไล่ผมไปตาย จากการทําหนังเรื่องหนึ่ง แต่พอผมมานั่งสมถะอีกทีผมกลับรู้สึกว่าการที่เขามีความรู้สึกรุนแรงด้านลบมาก ๆ กับหนังอะ นั่นแปลว่าจริง ๆ เขาแคร์กับหนังของเราเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเขาไม่แคร์เขาไม่จําเป็นต้องด่าด้วยซ้ำ เขาแค่นิ่งเฉย ๆ แล้วก็ไม่พูดถึงมันเลย ผมอะเลือกที่จะให้มีคนด่ามากกว่าเงียบแล้วไม่พูดถึงงานเรานะ 

ฝากซีรีส์ ‘อังคารคลุมโปง: เอ็กซ์ตรีม’

มะเดี่ยว: ก็ฝาก ‘อังคารคลุมโปง: เอ็กซ์ตรีม’ วันที่ 20 สิงหาคมนี้นะครับ ทาง Netflix ไม่มีอะไรจะพูดไปมากกว่ามัน ‘เอ็กซ์ตรีมมาก ๆ’ ฝากผลงานของพวกเราทุกคนด้วยครับ

พฤกษ์: ก็หวังว่าทุกคนจะสนุกกับซีรีส์ทั้ง 8 เรื่อง 8 ตอน ผมเชื่อว่าผีของแต่ละตอนจะแตกต่างกันไป รสชาติแตกต่างกันไป ก็ฝากด้วยนะครับ 

นท: ฝากผลงานกํากับซีรีส์เรื่องแรกด้วยนะครับ แล้วก็ขอเตือนคนดูที่เป็นคู่รักว่าถ้าจะดูตอนผมเนี่ย (คำสาบาน) เตรียมใจนะ ว่าถ้าคุณไม่รักกันมากขึ้น คุณก็อาจจะเลิกกันนะครับ ก็เตรียมคุยกันให้ดีก่อนดูนะครับ

รับชมซีรีส์ ‘อังคารคลุมโปง: เอ็กซ์ตรีม’ ได้ที่ Netflix