จากกรณีการวางยาสลบแมวในละครไทยเรื่องหนึ่ง ทำให้หลายคนสงสัยว่าในกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือละคร มีกระบวนการในการดูแลเหล่าสัตว์ที่ใช้ถ่ายทำอย่างไร ซึ่งหากใครเคยสังเกต End credit ของภาพยนตร์หรือซีรีส์ของฮอลลีวูด อาจจะคุ้น ๆ กับประโยค ‘No Animals Were Harmed’ เพื่อยืนยันว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องดังกล่าวมีมาตรการในการดูแลการถ่ายทำที่มีสัตว์เป็นนักแสดงในเรื่อง BT Buzz เลยขอยกเกณฑ์การใช้สัตว์ในการถ่ายทำของหน่วยงาน American Humane Association หรือต่อไปนี้ในบทความเราจะขอใช้ตัวย่อ AHA นะครับ

ต้นกำเนิด American Humane Association

American Humane Association หรือหากจะให้แปลแบบคนไทยเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ องค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งนั่นหมายถึงขอบเขตหน้าที่ทั้งการดูแลคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างทารกหรือเยาวชน ไปจนถึงเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่นกรณีของการใช้แรงงานเด็กในกิจการต่าง ๆ หรือในกรณีสัตว์ก็คือจะดูสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มที่เลี้ยงในกิจการด้านปศุสัตว์อีกด้วย โดยองค์กรก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 และต่อมาได้ขยายขอบเขตมาสู่การดูแลสวัสดิภาพของมนุษย์กลุ่มเปราะบางและเหล่าสัตว์ในงานถ่ายทำภาพยนตร์

หลักเกณฑ์ในการยื่นขอคำรับรอง ‘No Animals Were Harmed’

อ้างอิงจากในเว็บไซต์ของ AHA ระบุว่าทางผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อยื่นขอคำรับรองและใช้ตราสัญลักษณ์ของ American Humane Association ใน End credit ได้ดังนี้

ในขั้นตอนเตรียมการถ่ายทำภาพยนตร์ (Pre-Production)

สำหรับขั้นตอนนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องยื่นเอกสารประกอบการขอการรับรองดังนี้

  • สำเนาบทภาพยนตร์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบทภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ในการแสดง
  • รายนามผู้ดูแลสัตว์ในการแสดงหรือสัตวแพทย์ประจำกองถ่าย
  • เอกสารนำเสนอสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งอาจจะเป็นโลเคชันภายนอกหรือโรงถ่ายเพื่อยืนยันว่าสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการนำสัตว์มาใช้ถ่ายทำได้
  • เอกสารประกอบการถ่ายทำทั้ง Call sheets รายนามทีมงานและรายงานการแก้ไขบทภาพยนตร์เพื่อให้ทาง AHA ได้ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติต่อสัตว์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ได้
  • หากมีการใช้สัตว์ในการถ่ายทำในต่างท้องถิ่นหรือต่างประเทศจะต้องรายงานกับหน่วยงานท้องถิ่นและแจ้งทาง AHA ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ดูแลสัตว์ในกองถ่ายทำจะสามารถช่วยเหลือทางกองถ่ายได้อยู่แล้ว
  • การนำสัตว์มาใช้จัดแสดงรวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare Act (AWA) ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานของท้องถิ่นให้เรียบร้อย
  • ให้ความร่วมมือกับทาง AHA ในการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนักแสดงสัตว์ ทั้งใบเสร็จค่าจ้างสัตว์แก่ผู้ดูแลสัตว์ เอกสารการตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ภาพถ่ายของสัตว์ เพื่อยืนยันว่าการทำงานร่วมกับสัตว์ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพในการทำงานของสัตว์ที่เหมาะสม
  • สาธิตวิธีการฝึกสัตว์ในการแสดง การกำหนดคิวหรือช่วงเวลาในการทำการแสดง และมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ในระหว่างการถ่ายทำ หรือการป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของทีมงานและนักแสดงต่อพฤติกรรมของสัตว์ในการทำงานถ่ายทำ โดยผู้สร้างภาพยนตร์ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่นำมาใช้ในการแสดงต่อทีมงานและนักแสดงทุกคนให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของทีมงาน
  • เชิญทาง AHA เข้าประชุมกองถ่ายทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ในการแสดง
  • ควรจัดการฝึกสอนให้นักแสดงหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกับสัตว์อย่างใกล้ชิดได้เรียนรู้วิธีการทำงานหรือตอบสนองกับพฤติกรรมของสัตว์ในระหว่างการทำงาน

ในขั้นตอนการถ่ายทำภาพยนตร์ (Production)

ควรมีการแจ้งข้อมูลสำคัญให้แก่ทีมงานและนักแสดงทุกคนดังนี้

  • แจ้งทีมงานทุกคนว่าผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ “แคร์” และขอยึดข้อปฏิบัติเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ที่ทำงานในกองถ่ายนี้ ซึ่งแม้ทีมงานทุกคนอาจจะได้รับข้อมูลหรือรู้ดีอยู่แล้ว แต่การที่โปรดิวเซอร์เลือกที่จะพูดและเน้นย้ำในกองถ่ายจะทำให้ทีมงานทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • ย้ำเตือนทีมงานทุกคนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการประโยครับรอง ‘No Animals Were Harmed’ พร้อมตราสัญลักษณ์ของ AHA ให้ปรากฏในช่วง End credit ของภาพยนตร์ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกสอนสัตว์หรือผู้ดูแลสัตว์กระตือรือร้นกับการให้ความร่วมมือกับ AHA ในการให้ข้อมูลและทำเอกสารต่าง ๆ
  • แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ของ AHA อยู่ในกองถ่ายเพื่อให้ทีมงานได้ระมัดระวังและทำงานโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์อยู่ตลอดเวลา
  • ให้ความรู้แก่ทีมงานและนักแสดงด้วยการแจกจ่ายแนวปฏิบัติของ AHA
  • มีการแจ้งกับผู้ฝึกสอนและดูแลสัตว์ถึง ลักษณะของการแสดง, สภาพแวดล้อมที่สัตว์ที่จะต้องเผชิญตอนทำงาน รวมถึงเวลานัดหมายถ่ายทำ (Crew Call) สำหรับนักแสดงสัตว์
  • หากมีนักแสดงที่เป็นเยาวชนควรมีผู้ดูแลประจำกองถ่าย (Studio Teacher) ที่จะคอยสอนวิธีทำงานร่วมกับสัตว์ในระหว่างถ่ายทำ

กระบวนการวางแผนประชาสัมพันธ์หลังสิ้นสุดการถ่ายทำภาพยนตร์

  • ทางทีมงานควรให้ ผู้ดูแลและฝึกสอนสัตว์และ AHA หารือร่วมกันในกระบวนการก่อนถ่ายทำและระหว่างถ่ายทำถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของสัตว์ที่นำมาใช้แสดงว่ามีข้อมูลพื้นฐานอย่าง พันธุ์สัตว์ หรือถิ่นที่อยู่อย่างไรเพื่อทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ได้อย่างรัดกุม
  • เพื่อวางแผนการรับมือกับเหตุฉุกเฉินควรให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ AHA ทั้งข้อมูลชื่อและเบอร์โทรติดต่อ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร (Executive Producer) และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกองถ่ายหรือสตูดิโอ
  • ในระหว่างการถ่ายทำควรกระตุ้นให้ทีมงานได้ซักถามข้อสงสัยต่อเจ้าหน้าที่ของ AHA เพื่อให้มั่นใจว่าทีมงานทุกคนเข้าใจแนวปฏิบัติการทำงานเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์ในกองถ่ายเป็นอย่างดี
  • ทาง AHA มีสายด่วน (Hot line) ให้บริการในกรณีเกิดข้อสงสัยในระหว่างการถ่ายทำ
  • เมื่อการถ่ายทำสิ้นสุดทางกองถ่ายควรส่งมอบ Electronic Press-Kit เป็นข้อมูลที่จะใช้ตอบคำถามต่อสื่อมวลชนถึงแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพในกองถ่าย กรณีที่ทางสื่อมวลชนมีคำถามที่อาจเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของภาพยนตร์

นอกจากนี้ในคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของการใช้สัตว์สำหรับงานถ่ายทำในสื่อ หรือ Guidelines for the safe use of animals in filmed media ยังมีการระบุแนวทางการดูแลที่มีทั้งเรื่องสวัสดิภาพพื้นฐานอย่างการจัดหาอาหารและน้ำให้สัตว์ จัดสภาพแวดล้อมที่พักรอของสัตว์ในระหว่างการถ่ายทำไปจนถึงกระบวนการฝึกสอนทีมงานเพื่อรับมือกับการถ่ายทำโดยใช้นักแสดงสัตว์อีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านคู่มือดังกล่าวได้ โดยคลิก ที่นี่