จากที่เคยมีข่าวเมื่อ 3 ปีก่อนว่า ฮายาโอะ มิยาซากิ จะหยุดพักงานผลิตอนิเมชั่นในนามจิบลิสตูดิโอชั่วคราวเพื่อหาแนวทางใหม่ให้ทันยุคสมัย และมี When Marnie Was There ออกมาเป็นเรื่องสุดท้ายในปี 2014 เงียบหายไปถึง 3 ปีและการกลับมากับ The Red Turtle นี่ก็อาจจะเป็นทิศทางใหม่ของจิบลิดังที่ฮายาโอะเคยเอ่ยไว้ เพราะ The Red Turtle ไม่มีชื่อของฮายาโอะ เข้าไปเกียวข้องเลย และแทบไม่เห็นลายเซ็นของจิบลิให้เห็นเช่นกันแม้หนังจะพะยี่ห้อว่าเป็นหนังของ จิบลิ แต่ผู้กำกับและเขียนบทในเรื่องกลับเป็น ไมเคิล ดูด็อค เดอ วิต ชาวเนเธอแลนด์-อังกฤษ ผู้เคยคว้าออสการ์มาแล้วจากอนิเมชั่น Father And Daughter (2000) ซึ่งเรื่องนี้แหละทีไปเข้าตา ฮายาโอะ มิยาซากิ และฮายาโอะ เองที่ไปเอ่ยปากกับ วินเซนต์ มาราวัล (เจ้าของ ไวลด์ บันช์ บริษัทหนังสัญชาติเยอรมันที่เคยจัดจำหน่าย Spirited Away) ว่าเขาชอบหนัง Father And Daughter และอยากได้ ไมเคิล ดูด็อค มาร่วมงานด้วย วินเซนต์ จึงไปหา ไมเคิล ที่ลอนดอน และชักชวน ให้มาร่วมงานกับจิบลิ กลายเป็นจุดกำเนิดของ The Red Turtle ผลงานลำดับที่ 22 ในนามจิบลิ
The Red Turtle มีความเป็นไมเคิล ดูด็อคเสียมากกว่าจิบลิ เพราะทีมงานเองก็ค่อนไปทางฝั่งของไมเคิล มีคนของจิบลิแค่ 6 คน เอกลักษณ์ของไมเคิล ดูด็อค มีให้เห็นชัดเจนทั้งเสน่ห์ของภาพแบบสีน้ำ ไม่มีบทสนทนา เล่าเรื่องราวที่ไม่ระบุสัญชาติ ตัวเอกเป็นชายหนุ่มที่ไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม ลอยคออยู่กลางทะเลท่ามกลางพายุจนมาติดเกาะที่ไม่มีผู้คน เขาหาอาหารสำรวจเกาะอยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ต่อแพไม้ไผ่หวังว่าจะออกไปเจอแผ่นดิน แต่แล้วก็โดนสัตว์ลึกลับกระแทกแพจนแตกเป็นเสี่ยง ชายหนุ่มพยายามใหม่อยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายเขาก็พบว่าตัวประหลาดที่ทำลายแพของเขาคือเต่ายักษ์สีแดง ต่อมาไม่นานชายหนุ่มก็ได้พบกับหญิงสาวนิรนามมาร่วมชีวิตบนเกาะทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน ทำให้ชายหนุ่มเลิกพยายามดิ้นรนออกจากเกาะนี้ และใช้ชีวิตสงบสุขกันตามประสาพ่อแม่ลูก แต่โชคชะตาก็เหมือนกลั่นแกล้งยังส่งเรื่องร้าย ๆ มารังแกครอบครัวนี้อีกจนได้
จุดเด่นที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่พูดถึงก็คือการเล่าเรื่องราวด้วยภาษาภาพเพราะหนังไม่มีบทสนทนาเลย ตัวละครสื่อสารกันด้วยภาษามือและการเขียนภาพบนพื้นทรายก็สามารถสื่อสารระหว่างกันและคนดูได้เข้าใจบวกกับดนตรีประกอบที่ค่อนข้างอลังก็ทำหน้าที่เร่งเร้าอารมณ์ได้อย่างดี และด้วยการยึดคอนเซ็ปต์ไร้บทพูดเนี้ยล่ะ ก็ทำให้หลาย ๆ สถานการณ์ดำเนินไปแบบน่าอึดอัด เพราะดูขัดกับความเป็นจริงมากโดยเฉพาะสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานถึงชีวิตก็ยังไม่มีการสื่อสารกัน ลายเส้นตัวการ์ตูนยังคงเขียนออกแบบเรียบง่ายไม่ลงรายละเอียดมากนักตามสไตล์จิบลิ หน้าตาตัวละครที่มีแต่ลูกตาดำชวนให้นึกถึงการ์ตูน “เจ้าชายน้อย”
แต่ที่ดูเตะตามากคือบรรดาฉากหลังและสภาพแวดล้อมตามสไตล์ไมเคิล คือใส่เม็ดเกรนลงไปทำให้ใบไม้ โขดหิน และหาดทรายดูมีรายละเอียดขึ้นมา ไมเคิลคุมสีทั้งเรื่องไว้ในโทนพาสเทลไม่ฉูดฉาดดูสบายตา โดยเฉพาะสีน้ำทะเลลงสีได้สวยมากชอบการเคลื่อนไหวของระลอกคลื่นทำได้เหมือนจริง ชอบอีกอย่างคือการเล่นกับสีของแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ไมเคิลจะฉาบสีภาพเป็นสีเหลืองในตอนกลางวัน ตอนเย็นเป็นสีส้ม แต่ที่แปลกตาคือทำภาพเป็นโทนขาวดำแทนสีของแสงจันทร์ ชอบการสร้างมิติภาพจากเงายาว ๆ ที่เล่นอยู่บ่อยครั้ง เพราะเรื่องส่วนใหญ่ดำเนินไปบนหาดทราย เราจึงได้เห็นเงาของตัวละครและวัตถุต่าง ๆ ทอดยาวไปบนหาดทราย เสน่ห์เล็ก ๆ อย่างหนึ่งที่อาจจะเป็นอิทธิพลมาจากฝั่งจิบลิคือหนังของจิบลิมักจะมีตัวละครตัวเล็ก ๆ น่ารักที่เป็นสีสัน ในเรื่องนี้คือแก๊งปู ที่โผล่มาทุกครั้งก็ได้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเล็ก ๆ กลับไป แล้วปูในเรื่องนี้ก็เป็นปู๊เป็นปูจริงว ๆ ไม่ใช่ปูที่ถูกสร้างสรรค์ให้เป็นการ์ตูนแบบดิสนีย์ แต่กลับสามารถทำให้ยิ้มไปได้ทุกครั้งที่ได้เห็นพวกมันโผล่หน้ามา
ส่วนที่พอมองออกว่าเป็นเอกลักษณ์ของจิบลิก็คือกลิ่นอายและจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่นก็คือตัวเต่าแดงนี่แหละ ที่เป็นเต่าญี่ปุ่นชัดเจน และที่สำคัญก็ยังมีสัดส่วนของความเป็นแฟนตาซีให้เห็นแม้จะไม่ได้เป็นเมนหลักของเรื่องก็ตาม แม้เรื่องราวจะดำเนินอยู่แค่บนเกาะ แต่ด้วยความที่หนังสั้นแค่ 80 นาที และบรรดาตัวละครก็มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา มีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ เลยทำให้หนังดูน่าติดตามดูไปคาดเดาไปด้วยตลอดเวลา แม้สุดท้ายหนังจะทิ้งปริศนาไว้กับคนดูมากมาย ว่าแต่ละฉากสื่อถึงอะไรบ้าง ตัวชายหนุ่มทำหน้าที่ตั้งคำถามแทนใจคนดูใช่หรือไม่ ว่าเป้าหมายที่จริงของเราคืออะไร การมีมีชีวิตที่สงบสุข ได้อยู่กับคนรักที่ไหนบนโลกก็ได้หรือการได้ใช้ชีวิตในสังคมที่คุ้นเคย แล้วเต่าแดงทำหน้าที่สื่อถึงอะไร ? ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของ ไมเคิล ดูด็อค เดอ วิต ซึ่งเจ้าตัวก็ออกปากว่าไม่มีเฉลย ตั้งใจให้คนดูตีความกันเอาเอง เป็นอนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่นะครับ ไม่ได้สร้างมาเอาใจเด็กเลย
The Red Turtle นับเป็นก้าวใหม่ของ จิบลิ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง หนังไปสร้างเสียงกล่าวขวัญมาแล้วจากคานส์ และเข้าชิงออสการ์สาขาอนิเมชั่นปีนี้ ที่มีคู่แข่งหิน ๆ อย่าง Kubo , Moanna และ Zootopia รอลุ้นกัน 26 กุมภาพันธ์ นี้ครับ