แอดมินเคยแอบคิดในใจว่าภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ “ทองดีฟันขาว” หนังเรื่องที่ 10 ของ ผกก. บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อาจจะแป้กไร้กระแสอีกแล้ว คราวนี้ผิดคาดค่ะ ! ฉากต่อสู้หรือช่วงส่งบทหยอดมุกตลก พาลได้กลิ่นอายหนังของปรมาจารย์บู๊แอคชั่นระดับโลก “เฉิน หลง” ด้วยซ้ำ แต่ไม่อลังการฟอร์มใหญ่ยักษ์ขั้นนั้น และเป็นหนังที่แนะนำว่า ควรดูในโรง เพราะเค้าใส่กิมมิคเสียงแบบ surround รอบทิศทาง ทั้งเสียงคนเม้าท์กัน เสียงนกเสียงกา เสียงน้ำกระทบพื้น เข่ากระแทกกราม เพิ่มอรรถรสในการชมได้อย่างดี
เรื่องย่อ (ไม่สปอยล์)
จ้อย หรือ ทองดี เด็กชายผู้ฝักใฝ่ในมวยแต่ดันไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ทั้ง ๆ ที่พ่อของตัวเองเป็นนักมวย มีคู่ปรับคือ เชิด ลูกชายเจ้าเมือง มีแก๊งเด็กหัวจุกเป็นลูกกระจ๊อกอยู่หลายคน ชอบอวดเบ่งตั้งแต่เล็กจนโต เชิด ชอบยกพวกไปรุม ทองดี ตามประสาเด็กถูกสปอยล์(น่าตบกะโหลกมาก ๆ) แต่นี่แหละอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ ทองดี เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ เชิด ตามราวีหานาย จ้อย หรือ ทองดี ที่มีเอกลัษณ์ฟันขาวเพราะไม่เคี้ยวหมากไปทั่วทุกถิ่นที่ ทองดี ไปเยือน ส่วน ทองดี ที่เคยพ่ายแพ้ให้กับบุรุษนิรนามก็ขยันเดินทางศึกษาเปลี่ยนครูมวยไปเรื่อย ๆ ฝึกค่ายนี้ครบถ้วนกระบวนท่าแล้วก็ย้ายไปที่อื่นต่อ
ทองดี ได้เพื่อนตายติดตามมาคนนึงคือ บุญเกิด หลังจากนั้นไปเจอการแสดงงิ้วจึงอยากจะโลดโผนกระโดดตีลังกากับเค้าได้มั่ง ก็ไปขอให้เจ้าของเค้าสอนอีกแต่เค้าไม่ยอมสอน โชคดีที่ หมวยเล็ก ลูกสาวเจ้าของโรงงิ้วช่วยให้ได้เรียนกับพ่อ หลังจากนั้น หมวยเล็ก ติดใจจึงขอติดตามมาด้วยกัน ระหว่างเดินทางก็ได้ไปช่วยเกวียนของหญิงสาวปริศนาไว้ จึงได้แหวนเป็นของตอบแทน ทราบชื่อทีหลังว่า รำยง

(ซ้าย) ‘ทองดี’ หรือ ‘จ้อย’,(ขวา) รำยง
หลังจากนั้นก็มีเหตุให้ บุญเกิด เจอกับเหตุการณ์เกือบถึงชีวิต วาสนายังมีได้ เรือง เข้ามาช่วย ทองดี จึงลั่นวาจาว่าจะขอทดแทนคุณครั้งนี้ แต่สุดท้ายกลับมีเหตุให้ต้องสู้กับ เรือง และคราวนี้ ทองดี เลือกจะตอบแทนด้วยชีวิตของตน จากนั้นชีวิตของ ทองดี ก็เปลี่ยนไป กลายมาเป็น พระยาพิชัย ขึ้นหลังม้าไปร่วมกอบกู้ประเทศชาติกับ พระยาตาก จนดาบหัก เป็นที่มาของ “พระยาพิชัยดาบหัก”

ผกก. บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และ ทองดีฟันขาว หรือ บัวขาว บัญชาเมฆ
ทองดีฟันขาว ทำไมต้องบัวขาว ?
บัวขาว บัญชาเมฆ มีการันตีความเก่งกาจด้วยสถิติ ชก 316 ครั้ง ชนะ 262 ครั้ง (ชนะน็อกเอาต์ 68 ครั้ง) ซึ่งเมื่อเราเห็นหน้า “บัวขาว” ใจก็รู้อยู่แล้วแหละค่ะว่าคนนี้เค้าทางมวยโคตรเก่ง เลยส่งผลประโยชน์ให้หนังสามารถเล่าเรื่องกระชับไม่ต้องเสียเวลาโชว์พัฒนาการของตัวละคร แค่เห็นหน้า “บัวขาว บัญชาเมฆ” ใจก็เชื่อไปแล้วว่าใครมีเรื่องด้วยนี่น่าจะสลบคาหมัดคาแข้งแน่ ๆ แถมคราวนี้ยังมีเรื่องของแม่ไม้มวยไทย ท่ารำดาบ และกายกรรมเข้ามาเพิ่มสีสันอีกด้วย
ส่วนนักแสดงที่มาเล่นเป็น “จ้อย และ เชิด” ตอนเด็ก ก็เหมือน “บัวขาว และ นันทวุฒิ” ที่มารับบท “จ้อย หรือ ทองดี และ เชิด” มาก ๆ แบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในความประณีตของแคสหนังไทย นอกจากนี้คนอื่น ๆ ที่มารับบทในเรื่องนี้ก็โดดเด่นและเหมาะสมมาก ดูไม่ขัดหูขัดตาเลยแม้แต่น้อย ต้องยอมรับว่าคัดเลือกนักแสดงมาดีจริง ๆ ถ้าไม่ได้นั่งดูในโรงคงนึกภาพเหล่านี้ไม่ออก
การต่อสู้ของจริง VS การแสดง
ถ้าถามเรื่องแอคติ้งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฉากแอคชั่น… แอดมินคิดว่าถ้าแอคติ้งพี่บัวขาวแกขั้นเทพก็คงมีอาชีพหลักเป็นนักแสดงไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ใคร ๆ ที่ไปนั่งดูต่างก็ยกให้เป็น Action-Comedy เนื่องจากแอคติ้งกับจังหวะสนทนาอันเป็นเอกลักษณ์ของพี่เค้านี่แหละค่ะ ส่วนบางคนที่มีคำถามว่าจะมันส์สู้ที่ “บัวขาว บัญชาเมฆ” ขึ้นชกบนเวทีได้หรือเปล่า ? นี่มันคือการแสดงเค้าก็มีลิมิตของเค้าภาพก็ไปได้ประมาณหนึ่ง ไม่งั้นนักแสดงร่วมคงต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้ม หรือนอนรอเราสวดแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แทน
ต่อสู้ทะลุทะลวงไม่ห่วงเจ็บ
สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องนี้ บู๊แอคชั่นเต็มรูปแบบ ไม่เสียดายเวลาเลยที่เข้าไปดูหนังรอบดึกสองชั่วโมง มีบางฉากธนูเสียบจากด้านหลังทะลุมาข้างหน้า จับล็อคแล้วเชือดคอเลือดพุ่งสวนออกมา เอามีดปักหลอดลมด้วยจังหวะที่ต้องร้อง เห้ย! ศอกเฉาะหัวจนนักแสดงที่เข้าฉากด้วยเห็นดาวกันไป ชกกันจนหน้าสั่นฟันโยก เล่นจริงเจ็บจริงไม่พึ่งแสตนด์อิน
“ทองดีฟันขาว” ยังโชว์ฉากความเจ็บปวดแบบสโลว์โมชั่น ฝนตกน้ำกระเด็น ทุกอย่างภาพใสชัดเจนไปหมด แต่ไม่ถึงกับความน่ากลัวแบบ Thriller ปลอดภัยต่อเด็ก(โต) สตรีมีครรภ์(ใจแข็ง) คนชรามากอาจต้องพกยาดมสักหน่อย ชมขนาดนี้ก็อย่าเหมาว่าทุกอย่างจะ Perfect ไม่มีอะไรถูกใจทุกคน บางจังหวะก็รู้สึกว่ามีความแป้กเหมือนกัน ตัดภาพแปลก ๆ ดื้อ ๆ ทื่อ ๆ เสียอย่างนั้น
ไม่มีอะไรถูกใจทุกคน

(ซ้าย และ กลาง) โปรดิวซ์เซอร์ ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล, ผกก. บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์
ผู้กำกับและโปรดิวซ์เซอร์
“ทองดีฟันขาว” ได้ ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้เคยสร้างผลงานชิ้นเอกอย่าง “บางระจัน(2543)” หนังไทยเรื่องโปรดของผู้เขียน ที่เชื่อว่าคนไทย 99% ต้องเคยดูแน่ ๆ มาเป็นโปรดิวเซอร์ จนถึงตอนนี้ก็ยังจำได้ดีว่าครั้งนั้น ฉากไฟเผา ฉากขี่ควายควงขวานไปกอบกู้ชาติของ อ้ายทองเหม็น (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) คนพเนจรผมเผ้ารุงรังที่ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายตีน ชอบกระดกเหล้าเมาพับอยู่ใต้เกวียน

บางระจัน 2543 สแงดนำโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, ธนิตย์ จิตนุกูล กำกับการแสดง
หมู่บ้านบางระจันที่ถูกจัดฉากขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบจนรู้สึกได้ย้อนไปสมัยก่อน และคำพูดท่าทางของทัพนักแสดงนำที่ทำให้เราอินมาก ๆ จากตอนนั้นจนตอนนี้เราได้เห็นการร่วมมือกันอีกครั้งของโปรดิวเซอร์ ธนิตย์ จิตนุกูล(ปื๊ด) และ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ “ทองดีฟันขาว” ให้กับสหมงคลฯ โอ้ย สะใจอีรำยงนัก !
นักแสดงหลักและบทบาทที่ได้รับ
- ทองดีฟันขาว (บัวขาว บัญชาเมฆ)
จ้อย หรือ ทองดี ไม่ใช้หมากพลูจึงทำให้ฟันขาว(กว่าคนอื่น) พูดน้อยต่อยหนักมีอารมณ์ขัน มวยคือเป้าหมาย มีสัจจะ รักพวกพ้อง นอบน้อมถ่อมตน
- รำยง ( ศรศิลป์ มณีวรรณ์)
นางกำนัน-หัวหน้าคนคุ้มกัน ‘แม่สอน’ ภรรยาของพระยาตาก เก่งกาจทั้งดาบและมวย เพราะมีน้าเป็นครูมวยของพระยาตาก มีความมั่นใจในตัวเอง

(ซ้าย) ‘ทองดี’ หรือ ‘จ้อย’, (ขวา) ‘เชิด’ คู่ปรับตัวฉกาจของ ทองดี
- เชิด (นันทวุฒิ บุญรับทรัพย์)
ลูกชายเจ้าเมืองพิชัย คู่ปรับตัวฉกาจของทองดีตั้งแต่เล็กจนโต จากทะเลาะกันแบบเด็ก ๆ กลายเป็นหมายเอาชีวิต โอ้อวด ทำตามใจตัวเอง ชอบเอาพ่อมาเบ่งแถมยังมีอา ‘พันฤทธิ์’ ให้ทาย
- บุญเกิด (วรรณภูมิ ทรงสุภาพ)
เด็กหนุ่มกำพร้าที่ถูกชะตาทองดีจึงตามไปทุกหนแห่ง ร่วมทุกข์ร่วมสุขจนเหมือนพี่เหมือนน้อง จริงใจกับพวกพ้องและไม่ทำตัวเป็นภาระใคร
- หมวยเล็ก (ชุติรดา จันทิตย์)
อาหมวยลูกเจ้าของโรงงิ้ว เก่งมวยจีน เป็นคู่กัดบุญเกิด เกิดถูกชะตากับทองดีจึงทิ้งโรงงิ้วและติดตามมากับทองดีและบุญเกิดด้วย (พ่อเขาก็ไม่หวงเลยเนอะ ฮ่า ๆ)

‘ไอ้เรือง’ แสดงโดย ‘วิทย์ ภูธฤทธิ์ พรมบันดาล’ – อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ไม่มีไม่ได้ !
- เรือง (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล)
ชายลึกลับผู้ยื่นมือมาช่วยยามทองดีลำบาก จึงเป็นเหตุให้ทองดีลั่นสัจจะว่าจะขอตอบแทนบุญคุณเมื่อมีโอกาส ท่าทางดูน่าเกรงขาม ลักษณะภูมิฐานมีทั้งลูกน้องและเงินทอง แต่ก็ดันมีเหตุให้ต้องสู้กันถึงขั้นต้องแลกด้วยชีวิต
- ครูห้าว (จรัญ งามดี)
ชายผู้ห้าวสมชื่อ นักมวยนิรนามที่เคยล้มทองดีได้ เป็นสาเหตุให้ทองดีเดินทางฝึกฝนมวยไปทั่วแดนสยาม จนกระทั่งวันหนึ่งทั้งสองได้กลับมาประมือกันอีกครั้ง
สุดสัปดาห์พาจูงมือกันดู ทองดีฟันขาว
ภาพยนตร์ “ทองดีฟันขาว” อัดฉากต่อสู้มาเต็มรูปแบบจนไม่คิดว่าหนังไทยจะสู้กันมันส์ซัดกันเต็มหูเต็มตาขนาดนี้ แล้วยังตลกตลอดเวลาจนคนดูขำกันไม่หยุดหย่อน ไม่มีมุกลงใต้สะดือ หรือเล่นพ่อเล่นแม่ คำหยาบมีบ้างตามสถานการณ์และยุคสมัย แต่หนังถ่ายทอดออกมาให้ดูคำพูดนุ่มนวลพอสมควร สามารถพาลูกหลาน(ที่โตหน่อย) ไปดูได้อย่างสบายใจ
ทองดีฟันขาว วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้ ทุกโรงภาพยนตร์ !