เป็นอีกหนึ่งไอเดียสร้างสรรค์และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับบริษัท Marushige Confectionery จากญี่ปุ่น ที่ได้ทำการพัฒนาตะเกียบแบบใหม่ซึ่งทำมาจาก หญ้าอิกุสะ พืชพื้นบ้านของจังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งเดิมนั้นถูกนำมาผลิตทำเสื่อทาทามิ โดยตะเกียบดังกล่าวมีคอนเซ็ปต์นอกจากใช้คีบอาหารแล้ว ยังสามารถรับประทานได้เหมือนแท่งกูลิโกะเลยอีกด้วย
ทั้งนี้ แนวคิดของการทำ ‘ตะเกียบกินได้’ เกิดขึ้นเนื่องจาก มุมมองที่ว่าตะเกียบในท้องตลาดปัจจุบันที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล หรือตะเกียบประเภทใช้แล้วทิ้ง ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ตะเกียบกินได้ จึงเป็นแคมเปญที่รณรงค์ให้คนญี่ปุ่นหันมาให้ความร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมดังเดิมของญี่ปุ่น และประชาสัมพันธ์สินค้าโอท็อปของจังหวัดคุมาโมโตะไปในตัวด้วย ซึ่งมีสถิติจากหน่วยงานด้านการอนุรักษ์หญ้าอิกุสะและเสื่อทาทามิแห่งจังหวัดคุมาโมโตะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีความต้องการผลิตเสื่อทาทามิน้อยลง เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ นั้นนิยมใช้การออกแบบที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้มีการหญ้าอิกุสะ ลดน้อยลงไปถึง 95% ในช่วง 40 ปีหลัง (ตามกราฟด้านล่าง)
สำหรับตะเกียบกินได้เริ่มมีร้านอาหารในญี่ปุ่นสั่งผลิตมาใช้จริงแล้ว คือ Casa Afeliz Ginza ใน Ginza GCube และร้าน Umato ที่ Shimbashi Plaza บริเวณสถานีรถไฟ Shimbashi ซึ่งทั้งสองร้านนี้อยู่ในโตเกียว ใครที่ผ่านไปแถวนั้นก็ไปลองชิมรสชาติเจ้าตะเกียบนี้ได้ แต่อย่าไปคาดหวังรสชาติมันมากนะครับ