เสียงกรี๊ดใครคิดว่าไม่สำคัญ ยิ่งถ้าเป็นเสียงกรี๊ดที่ดัง (หมายถึงมีชื่อเสียง) ที่สุดในโลกด้วยแล้ว ขอยกให้ Wilhelm Scream นี่เลยครับ
Wilhelm Scream หรือเสียงกรีดร้องของวิลเฮล์ม นี่คือเสียงที่ถูกนำมาใช้เป็นเสียงเอฟเฟกต์เวลามีตัวละครตายมากที่สุดในโลกภาพยนตร์ทีเดียว จริง ๆ มันก็ไม่เชิงว่ามันกรี๊ดได้สุดยอดอะไรนะครับ เพราะคงไม่มีใครมานั่งให้คะแนนเสียงกรีดร้องที่สุโค่ยก้องกังวานที่สุดในหนังแต่ละเรื่องกัน แต่มันเหมือนเป็นมุกตลกของพวกตำแหน่งซาวด์ดีไซน์ในฮอลลีวู้ดที่นึกสนุกใส่เข้าไปในหนังดังหลาย ๆ เรื่อง แล้วก็เลยนิยมใช้ต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นเสียงกรี๊ดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว
ย้อนประวัติกันสักหน่อย จริง ๆ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่กำเนิดเจ้าเสียงนี้ขึ้นมาคือเรื่อง Distant Drums (1951) ของผู้กำกับตำนานฮอลลีวู้ดอย่าง ราอูล วอล์ช ซึ่งแสดงนำโดยพระเอกเจ้าของออสการ์นำชายจาก High Noon (1952) อย่าง แกรี่ คูเปอร์ ด้วย หนังสไตล์คาวบอยเรื่องนี้มีฉากยิงตกหลังม้าและฉากคนถูกจระเข้กินในหนังด้วย ฝ่ายเสียงของหนังอย่าง โอลิเวอร์ เอส. การ์เร็ทซัน จึงได้บันทึกเสียงนักแสดงคนหนึ่งนามว่า เชบ วูลีย์ ในบทพลทหารตัวประกอบ ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 50s นั้น วูลีย์ยังไม่มีชื่อเสียงต้องตระเวนไปเล่นเป็นตัวประกอบหนังให้ทั่วไปหมดครับ หนึ่งในนั้นก็คือบทตัวประกอบ เบน มิลเลอร์ ที่ดังที่สุดของเขาในเรื่อง High Noon นั่นเอง ก่อนจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องที่มีเพลงฮิตอย่าง Purple People Eater (1958)
ในการบันทึกเสียงร้องครั้งนั้นวูลีย์ ได้บันทึกเสียงไว้ถึง 6 แบบ โดยเสียงบันทึกครั้งที่ 4, 5 และ 6 นั้น ถูกนำมาใช้ตอนอินเดียนแดงถูกยิงในช่วงต้นของหนัง และเสียงบันทึกครั้งที่ 5 ยังถูกนำมาใช้อีกครั้งในตอนฉากที่พลทหารถูกจระเข้กินระหว่างเดินข้ามลำน้ำ ซึ่งเสียงอันนี้ล่ะครับที่ถูกเก็บเข้าคลังเสียงของสตูดิโอ Warner Bros. ในชื่อ “เสียงผู้ชายกำลังถูกจระเข้กัด เขาแล้วก็ร้อง” (Man getting bit by an alligator, and he screamed) หลังจากนั้นมันก็ถูกนำเอามาใช้เรื่อย ๆ โดยไม่ได้สนใจเป็นพิเศษครับ
*เล่าเกร็ดนิดหนึ่งว่า ภายหลังที่มีการสืบค้นจนพบว่าเสียงนี้เป็นของวูลีย์ วงการเสียงเอฟเฟกต์ก็มักจะเหมารวมเสียงบันทึกทั้งแบบที่ 4, 5 และ 6 ของวูลีย์ว่าล้วนแต่เป็น Wilhelm Scream ทั้งสิ้นครับ
แล้วเจ้าเสียงร้องกวนโอ้ยนี่มันมาฮิตได้อย่างไร อย่างที่บอกครับจริง ๆ มีการเอาไปใช้ในหนังที่มีฉากต่อสู้หลายเรื่อง แต่ไม่ได้มีการจดจำนัก จนกระทั่ง เบน เบิร์ตต์ เจ้าพ่อนักออกแบบเสียงเอฟเฟกต์ของฮอลลีวู้ด ได้เกิดไปพบม้วนเสียงชื่อ ผู้ชายถูกจระเข้กิน (Man being eaten by alligator) เข้า แล้วพอเขาฟังก็จำได้ว่าเขาเคยได้ยินมันในหนังเก่าหลายเรื่อง เขาจึงนำมันมาใส่ในหนัง Star Wars (1977) ของจอร์จ ลูคัส ในฉากที่ ลุก สกายวอล์กเกอร์ ยิงปืนถูกสตรอมทรูปเปอร์บนช่องเปิดจนกรีดร้องแล้วร่วงลงไป
ตอนนั้นเบิร์ตต์ไม่รู้ว่าเสียงเอฟเฟกต์นี้มาจากเรื่องอะไร เขาจึงเรียกมันอิงกับหนังเก่าที่สุดที่เขาจำเจ้าเสียงนี้ได้คือเรื่อง The Charge at Feather River (1953) หนังคาวบอยสามมิติ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ตัวละครชื่อพลทหารวิลเฮล์มถูกยิงและกรีดร้องออกมา นั่นจึงเป็นที่มาของ Wilhelm Scream หรือเสียงกรีดร้องของวิลเฮล์ม นั่นเองครับ
ก็ไม่รู้ว่าเสียงนี้ไปโดนใจเบิร์ตต์ตรงไหน อาจเพราะเสียงแหลมสูงเป็นเอกลักษณ์ได้อารมณ์คนบาดเจ็บสุด ๆ หลังจากนั้นเบิร์ตต์ก็ใส่เสียงนี้ลงไปในหนังดังอย่างหนังชุด Star Wars และ Indiana Jones จนกลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักออกแบบเสียงเอฟเฟกต์ฮอลลีวู้ด ซึ่งก็กลายเป็นกิมมิกเป็นประเพณีที่พวกนักออกแบบเสียงจะหาช่องใส่เจ้าเสียง Wilhelm Scream นี้ไว้สักที่ในหนังเพื่อให้คนคอยนั่งหา เป็นมุกเล็ก ๆ ขำ ๆ ระหว่างนักออกแบบเสียงกับคนดูเรื่อยมาครับ
ปัจจุบันหนังที่ใส่ Wilhelm Scream มีตั้งแต่หนังไซไฟอย่าง Transformers หนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Batman Returns หนังแอกชั่นอย่าง Die Hard: With a Vengeance หนังอินดี้ออสการ์อย่าง Juno หนังอนิเมชั่นดิสนีย์อย่าง Beauty and the Beast หรือแม้แต่หนังไทยฉบับอินเตอร์อย่าง The Legend of Suriyothai สุริโยไท ด้วยครับ เรียกว่าเยอะมากมีทุกแนวจริง ๆ
*เล่าเกร็ดนิดหนึ่งครับ เบน เบิร์ตต์ นี่จัดเป็นตำนานนักออกแบบเสียงคนหนึ่งเลย เสียงอย่างเจ้าหุ่น R2-D2, เสียงหึ่ง ๆ ของไลท์เซเบอร์, เสียงปืนเลเซอร์ รวมถึงเสียงฟืดฟาด ๆ ของดาร์ธเวเดอร์ ก็มาจากเขานี่ล่ะครับ โดยเฉพาะเสียงลมหายใจของดาร์ธเวเดอร์นี่ เกิดจากเสียงของเบิร์ตต์ที่หายใจผ่านชุดดำน้ำนั่นเอง
และในบทสัมภาษณ์ ลินดา ดอทสัน ภรรยาหม้ายของวูลี่ย์ เมื่อปี 2005 เธอบอกว่าเสียงของสามีเธอถูกใช้ในหนังคาวบอยหลายเรื่องมาก และตัววูลี่ย์เองก็มักชอบพูดติดตลกเสมอว่า “เขาคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการกรีดร้องและตายในโลกภาพยนตร์”
นอกจากนี้ยังมีเสียงอย่าง Howie Scream ที่ทักได้ยินกันบ่อย ๆ ในหนังหรือในโทรทัศน์เช่นเดียวกับ Wilhelm Scream แต่ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าด้วยครับ เสียงนี้เป็นเสียงผู้ชายร้องลากยาวโหยหวนสุด ๆ ต่างจากวิลเฮล์มที่จะสั้น ๆ สาเหตุที่ชื่อนี้เพราะเอามาจากฉากการตกจากรถไฟไปตายของตัวละครชื่อ เคลลี่ ในหนังเรื่อง Broken Arrow (1996) โดยนักแสดงที่เล่นบทนี้คืออดีตดาวอเมริกันฟุตบอลนามว่าโฮวี่ ลอง นั่นเองครับ
ซึ่งจริง ๆ แล้วต้นฉบับของเสียงนี้มาจากหนังเจ้าของรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลูกโลกทองคำของ วิลเลี่ยม ปีเตอร์ แบลตตี้ เรื่อง The Ninth Configuration (1980) อีกทีครับ
จบลงไปแล้ว ติดตามสาระไม่ต้องรู้ แต่ถ้ารู้แล้วเอาไปโม้ก็ดูเท่ดี ได้ที่นี่เป็นประจำนะครับ ฝากตัวคอลัมน์ใหม่กับเพจโฉมใหม่ของเราไว้ด้วยครับ