ประเดิมคอลัมน์ใหม่ ต้องเริ่มด้วยหนังยิ่งใหญ่ระดับตำนาน ทุกชาร์ตหนังคลาสสิกหนังที่โลกยกย่อง หนึ่งในหนังที่ควรดูก่อนตายจะต้องมีชื่อ Seven Samurai อยู่เสมอ แม้หนังจะมีอายุถึง 63 ปีแล้ว แต่กาลเวลาก็ไม่เคยทำให้ Seven Samurai ถูกลืมเลือนไปตลอด 63 ปี
หนังถูกรีเมคอีกหลายครั้ง ฮอลลีวู้ดนำมาสร้างเป็น Magnificent Seven ครั้งแรกในปี 1960 และเวอร์ชั่นล่าสุดก็เพิ่งออกมาเมื่อปี 2016 ก่อนหน้านั้นฮ่องกงก็เคยสร้างในชื่อ Seven Wariors ออกมาในปี 1989 มีเจิ้งเส้าชิว , เหลียงเฉาเหว่ย และ จางเซียะโหย่ว มารับบทนำ เรียกว่ารวมซูเปอร์สตาร์ฮ่องกงในยุคนั้นและเป็นอีกเวอร์ชั่นที่ทำออกมาได้สนุก แซค ชไนเดอร์ เองก็เผยว่าตอนที่เขากำกับ Justice League นั้นก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก Seven Samurai เช่นกัน ปี 2004 ทางญี่ปุ่นก็ดัดแปลง Seven Samurai ออกมาเป็นอนิเมะแปลงเรื่องราวให้เป็นโลกอนาคตมีซามูไรหุ่นยนต์รับบทเป็นตัวร้ายของเรื่อง แต่กระนั้นทุกเวอร์ชั่นรีเมค ก็ยังไม่สามารถเทียบชั้นความคลาสสิกของหนังต้นฉบับได้
ตัวผมเองได้ดู Seven Samurai ครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหตุเพราะเริ่มสนใจดูหนัง และบ่อยครั้งที่ได้อ่านบทวิจารณ์หนังในนิตยสารก็มักจะเจอชื่อ Seven Samurai ถูกอ้างถึงอย่างยกย่องอยู่บ่อยครั้ง ก็เลยต้องหาซื้อมาดู ก่อนดูผมมองหนังยุค ขาว-ดำ ว่าเชยน่าเบื่อ แต่เมื่อใส่เทปวีดีโอลงเครื่องแล้วความคิดก็เปลี่ยนไป Seven Samurai เป็นหนังที่ไม่มีกาลเวลาจริง ๆ หนังยาวถึง 3 ชั่วโมง 26 นาที ยาวที่สุดที่เคยดูหนังแล้ว แต่กลับเดินหน้าไปด้วยความสนุกสนานน่าติดตาม ไม่มีความรู้สึกว่าหนังมีความเชยเลย บทหนังฝีมืออากิระ ละเอียดแน่น ฉากรบทำได้สนุกชวนลุ้นเอาใจช่วยบรรดาชาวนามาก กลายเป็นหนังที่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหนังคลาสสิกยุคขาว-ดำ ไปตลอดกาล
Seven Samurai เป็นผลงานของ อากิระ คูโรซาวา ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ตลอดกาล ที่ผู้กำกับระดับโลกต่างยกย่อง ทั้งมาร์ติน สกอร์เซซี ,จอร์จ ลูคัส และสตีเวน สปิลเบิร์ก ด้วยความที่เป็นผู้กำกับที่สร้างผลงานระดับคลาสสิกไว้มากมาย เป็นคนขยันทำงานกำกับหนังจนอายุ 83 ปี และไม่หยุดเรียนรู้ มีเทคนิคใหม่ ๆ นำมาใช้ในหนังของเขาอยู่เสมอ และมีความเป็นเปอร์เฟคชั่นนิสต์สูงงานจะต้องออกมาสมบูรณ์ที่สุด หนังของอากิระ คูโรซาว่า จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับทุกรุ่นจนถึงปัจจุบัน หนังหลายเรื่องถูกนำมารีเมค ไม่ใช่เพียงแต่ Seven Samurai เท่านั้น อากิระ คูโรซาว่า ยังมี Ran (1985) , Yojimbo (1961), Rashomon (1950) ล้วนเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับ จากมีผลงานกำกับถึง 33 เรื่อง เขียนบทเองทุกเรื่อง ยังไม่รวมถึงงานอำนวยการสร้าง ตัดต่อเองอีกหลาย ๆ เรื่อง อากิระ เสียชีวิตด้วยวัย 88 ปีกลายเป็นผู้กำกับระดับตำนานที่โลกไม่ลืม
Seven Samurai นั้นเดิมที อากิระ เขียนถึงซามูไร ที่ทำงานผิดพลาดและจำต้องฮาราคีรีเพื่อรักษาเกียรติ แต่อากิระ รู้สึกว่าเขาค้นคว้าข้อมูลเท็จจริงในยุคนั้นไม่ได้เพียงพอก็เลยพับโครงการนี้เสีย จนกระทั่ง โซจิโร่ โมโตกิ ไปเจอเรื่องราวในยุคสงครามกลางเมืองที่ซามูไรไร้นายยอมทำงานปกป้องหมู่บ้านชาวนาเพื่อแลกกับอาหาร กลายเป็นไอเดียเริ่มต้นให้อากิระ เอามาขยายเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านชาวนาที่โดนโจรปล้นครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้องไปจ้างซามูไรมาปกป้องหมู่บ้านและต่อสู้กับพวกโจร ร่างแรกของหนังนั้นชื่อ “Six Samurai” ซึ่งอากิระ สร้างตัวซามูไรทั้ง 6 อิงมาจากซามูไรที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ แต่อากิระมาทบทวนแล้วรู้สึกว่าน่าเบื่อเกินไปที่ตัวละครนำทั้งหมดมีแต่ ซามูไรดีล้วน เขาเลยเพิ่ม “คิคูชิโย” ซามูไรตัวที่ 7 ลงไป คิคูชิโยป็นลูกชาวนาที่แอบอ้างเป็นซามูไรจอมปลอม เป็นซามูไรคนสุดท้ายที่มาขอเข้าทีม และเป็นตัวละครที่มีความลึกที่สุด ด้วยการมีอดีตอันเลวร้าย
ด้วยความที่หนังยาวมาก เทียบเท่ากับดูหนังในความยาวปกติ 2 เรื่องต่อกัน ตัวหนังดูออกได้ชัดเจนว่าแบ่งเป็น 3 องก์ ช่วงแรกคือช่วงที่ตัวแทนชาวนาออกตามหาซามูไรนั้นก็ใช้เวลาไป 1 ชั่วโมงเต็ม กว่าจะรวบรวมได้ครบทั้ง 7 คน กับเวลา 1 ชั่วโมงจึงปูที่ ไปที่มาของแต่ละตัวให้คนดูได้รู้จักได้พอสมควร โดยเน้นหนักไปที่ คัมเบอิ ซามูไรอาวุโส ที่อาสามาช่วยชาวนาเป็นคนแรกและช่วยคัดสรรซามูไรที่เหลือมาเข้าทีม ทำให้คัมเบอิ กลายเป็นหัวหน้าทีมโดยปริยาย อีกคนที่มีบทบาทสำคัญมากคือ คิคูชิโย ซามูไรขี้เมา แต่มีฝีมือเป็นตัวตลกของเรื่องและเป็นตัวทำให้หนังมีสีสันมีเสียงหัวเราะ บทนี้ได้ โตชิโร มิฟูเน ดาราขาประจำของอากิระ มารับบท ซึ่งมุกตลกส่วนใหญ่ในเรื่องก็มาจากการอิมโพรไวส์ขณะแสดงของโตชิโร เอง นับว่าเป็นไอเดียที่ประสบความสำเร็จของอากิระ กับการดึงโตชิโร มารับบทนี้เพราะเดิมทีอากิระ วางให้โตชิโร เล่นเป็น เคียวโช ซามูไร ผู้เก่งกาจและเคร่งขรึม ซึ่งบุคลิกลักษณะของซามูไรทั้ง 7 นั้นออกมาจากมันสมองของอากิระ ล้วน ๆ ที่เขามีสมุดโน้ตบรรยายคุณลักษณะของซามูไรทั้ง 7 ไว้ละเอียดตั้งแต่ก่อนลงมือเขียนบทเสียอีก และบุคลิกทั้ง 7 ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในหนังอย่างสมบูรณ์พร้อมตามที่อากิระบรรยายไว้ และ ไม่วาหนังจะถูกรีเมคกี่ครั้ง บุคลิกอันโดดเด่นของคัมเบอิ และ คิคูชิโย นั้นก็ถูกถ่ายทอดออกมาแทบในทุกเวอร์ชั่น แม้กระทั่งใน Magnificent Seven (2016) เราก็ได้เห็น เดนเซล วอชิงตัน ถ่ายทอดบทของคัมเบอิ และ คริส แพรตต์ ถ่ายทอดบทของ คิคูโยชิ
องก์ที่สองของหนัง ซึ่งกินเวลายาวนานที่สุดกว่าชั่วโมงคือการปูความสัมพันธ์ของเหล่าซามูไรและชาวบ้าน ซามูไรส่วนหนึ่งวางแผนรับมือโจรด้วยการศึกษาภูมิศาสตร์และวางกับดัก วางกลยุทธ์ อีกส่วนหนึ่งก็ฝึกวิชาต่อสู้ให้กับชาวบ้าน ทำให้เราได้รู้จักกับตัวละครฝั่งชาวนาบางคนมากขึ้น พร้อมกับแทรกเรื่องโรแมนติกระหว่างซามูไรหนุ่มกับสาวชาวบ้านเข้าไปด้วย จนเข้าชั่วโมงสุดท้ายที่เป็นองก์ที่สาม เราถึงจะได้เห็นพวกโจร และเป็นหนึ่งชั่วโมงที่เข้มข้นสุดสมกับเป็นไคลแมกซ์ของหนัง เราได้สนุกไปกับกลยุทธ์ต่าง ๆ นานาที่เตรียมไว้รับมือโจร ได้เอาใจช่วยกับพวกชาวบ้าน ได้เห็นแผนที่ประสบความสำเร็จบ้าง พลาดบ้าง ซึ่งถ้าใครชื่นชอบหนังประเภทใช้หัวสมองวางแผนรบก็น่าจะถูกใจกับฉากนี้เป็นพิเศษ และแน่นอนเมื่อมีการรบก็ย่อมมีการสูญเสีย เมื่อฝ่ายดีมีมาถึง 7 คนก็ย่อมต้องสูญเสียไปบางคนแต่ก็แลกมากับความเข้มข้นของฉากรบที่ยกระดับมากขึ้นไปอีกเมื่อฝ่ายดีลดความได้เปรียบลงไป
แม้หนังจะยาวถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง แต่อากิระ ก็เลือกที่จะเทเวลาทั้งหมดให้กับซามูไรทั้ง 7 และชาวบ้านบางคน แต่อากิระ ไม่แบ่งเวลาสักเพียงเสี้ยวนาทีไปเล่าถึงฝ่ายโจรเลย ทำให้ตลอดเรื่องหนังถูกเล่าจากมุมมองฝั่งดีแค่ฝ่ายเดียว ไม่ได้รู้จักหน้าตาชื่อเสียง เรียงนามฝ่ายโจร ไม่มีภาพให้เห็นว่าเหล่าโจรโหดร้ายเพียงใด และจุดนี้แหละที่ผู้สร้างรุ่นหลัง ๆ รู้สึกว่ามันขาดหายไป ทุกเวอร์ชั่นรีเมคแม้จะคงบุคลิกลักษณะตัวหลักจากฝ่ายซามูไรไว้ แต่ก็แบ่งเวลาไปเพิ่มความน่าเกรงขามให้กับฝ่ายโจร ส่งผลให้ฉากไคล แมกซ์ดูเข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้เวอร์ชั่นหลัง ๆ จะมีความสั้นลงกว่าครึ่งและมีความเอาใจตลาดมากขึ้น แต่สิ่งที่เลียนแบบไม่ได้แน่ ๆ ก็คือความพิถีพิถันที่อากิระ บรรจงถ่ายทอดลงไปในทุก ๆ นาทีของหนัง ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าทุกชอตของ Seven Samurai
เพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบทางด้านศิลป์ การจัดแสงที่ประณีตบรรจง การถ่ายทอดอารมณ์ของตัวแสดงที่เป็นธรรมชาติ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ส่งให้ Seven Samurai จะถูกยกย่องกล่าวขวัญในฐานะหนังยอดเยี่ยมของโลกไปตลอดกาล
ด้วยความที่เป็นหนังที่อยู่คู่โลกมากว่า 60 ปี Seven Samurai เลยมีเกร็ดเบื้องหลังที่น่าสนใจมากมาย
- ซามูไรทั้ง 7 คน มีพื้นฐานมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลอย่างจริงจังของอากิระเองนับเดือน อย่างบท เคียวโช ก็มีแรงบันดาลใจมาจาก มิยาโมโต้ มุซาชิ ซามูไรที่โด่งดังในประวัติศาสตร์
- บทปรมาจารย์เคียวโซ นั้นแสดงโดย เซอิจิ มิยากูชิ ซึ่งตัวจริงนั้นไม่เคยจับดาบมาก่อนเลยในชีวิต และด้วยเหตุนี้เซอิจิ เลยปฎิเสธขอไม่เล่นในทีแรก แต่อากิระ ก็หว่านล้อมว่าเขาสามารถใช้การการตัดต่อและมุมกล้องสร้างภาพให้ เซอิจิ ดูเป็นซามูไรผู้น่าเกรงขามไปได้ แล้วสุดท้ายเราก็ได้เห็นภาพของเคียวโช เป็นซามูไรที่เก่งที่สุดในทีมจริง ๆ
- Seven Samurais ใช้งบในการสร้างเกินกำหนดไปมาก จากทุนสร้างปกติของหนังญี่ปุ่นในยุคนั้นต่อเรื่องที่ประมาณ 70,000 เหรียญ Seven Samurai บานไปถึง 500,000 เหรียญและยังไม่หยุดเหตุเพราะ อากิระ ให้ทีมงานสร้างหมู่บ้านขึ้นมาจริง ๆ แทนที่จะถ่ายทำในสตูดิโอ ตามที่โตโฮต้องการ เพื่อควบคุมงบสร้าง แต่อากิระบอกว่า การที่ถ่ายทำในฉากที่สมจริงจะทำให้ดาราแสดงได้สมจริงมากขึ้น บวกกับกำหนดปิดกล้องที่เลยกำหนดจาก 148 วัน แต่หนังลากยาวไปเป็นปี ทำให้โตโฮ สตูดิโอ ต้องเปิดกล้อง Godzilla หนังงบสูงอีกเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ส่งผลกระทบให้สถานการณ์การเงินของโตโฮเกือบจะล้มละลาย โตโฮจำต้องปิดกองถ่าย Seven Samurai ลงถึง 2 ครั้ง แต่ทุกครั้งอากิระ ก็ไม่ทุกข์ร้อนเค้ากลับไปตกปลาเล่นเย็นใจ เพราะรู้ว่าหนังเดินหน้าไปไกลแล้วยังไงโตโฮลงทุนไปกับหนังเยอะแล้วยังไงก็ต้องยอมเดินหน้าต่ออยู่ดี ท้ายที่สุดหนังก็ปิดกล้องจนได้ และอากิระ ก็พิสูจน์ให้โตโฮได้เห็นว่า Seven Samurai เป็นหนังที่คุ้มค่าเงินของโตโฮลงทุนไปทุกบาททุกสตางค์ กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ได้รับความยกย่องชื่นชมมากสุดจากนักวิจารณ์จวบจนทุกวันนี้
- โยชิโอะ อินาบะ ผู้รับบท โกโรเบะ ในเรื่องนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าช่วงเวลาในกองถ่ายเป็นประสบการณ์การแสดงที่เครียดที่สุดแล้ว เขาโดน อากิระ ตวาดอยู่บ่อยครั้ง แต่แล้ว โยชิโอะ ก็ยังกลับมาเล่นหนังให้ อากิระ อีกในเรื่อง Throne Of Blood (1957)
- บทภาพยนตร์เวอร์ชั่นแรกยาวถึง 500 หน้า
- ถูกยกย่องให้เป็นหนังญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา และเป็นหนังญี่ปุ่นที่เป็นรู้จักดีที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 12 “100หนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” จัดโดยนิตยสาร Entertainment Weekly นิตยสาร เอมไพร์ ยกย่องให้เป็นหนังภาษาต่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในปี 2008
- ฉากไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง ที่เป็นฉากสู้รบนั้นต้องหยุดชะงักอยู่หลายครั้ง เพราะไม่มีม้ามาเข้าฉากได้เพียงพอ
- อากิระ คูโรซาวา ถูกขนานนามว่าเป็นผู้กำกับแบบ Perfectionist ทุกอย่างต้องสมบูรณ์พร้อม เขาถึงกับเอารายชื่อนักแสดงประกอบเป็นชาวบ้านทั้ง 101 คน มาร่างเป็น แผนภูมิวงศาคณาญาติ ว่าใครเกี่ยวข้องกับใครอย่างไร เพื่อความเข้าใจของนักแสดงและแสดงออกได้สมจริง
- หนังมีหลายเวอร์ชั่นความยาวแตกต่างกันไป เวอร์ชั่นแรกยาวถึง 207 นาที ตอนขายให้ตลาดหนังอเมริกา ทางโตโฮ ตัดหนังออกถึง 50 นาที เพราะคิดว่าผู้ชมอเมริกัน ไม่น่าจะทนดูหนังที่ความยาวขนาดนี้ได้ แต่แล้วเวอร์ชั่นที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย สุดก็คือเวอร์ชั่นดั้งเดิมของอากิระ คูโรซาว่า นั่นเอง
- อากิระ คูโรซาวา เขียนบทเรื่องนี้เองร่วมกับ ผู้เขียนบทร่วมอีก 2 คน ทั้ง 3 ขังตัวเองในห้องโรงแรมนานถึง 45 วัน เป็นการทำงานที่เคร่งเครียดและเข้มงวดมาก ไม่มีการรับโทรศัพท์ ไม่ให้ใครมาเยี่ยม ผลคือทั้ง 3 คนล้มป่วย อากิระเองก็ถูกหามเข้าโรงพยาบาล
- และด้วยความละเอียดในผลงานของอากิระ เขาต้องการถ่ายทอดประกายตาในฉากรักระหว่าง ชิโนะ และ คัตซูฮิโระ อากิระ เอาชิ้นกระจกมาวางบนพื้นเพื่อสะท้อนแสงไปบนหน้าของชิโนเพื่อให้เห็นประกายแสงสะท้อนในดวงตา แต่ด้วยฉากนี้เทคต่อเนื่องหลายหน ผลคือ เคอิโกะ สุชิมะ ผู้รับบท ชิโนะ ต้องรับการรักษาดวงตาเหตุจากตารับแสงมากเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ตอนถ่ายทำฉากไฟไหม้ ทีมงานเอาผ้าเปียกมาคลุมแล้วค่อยสุมด้วยเชื้อเพลิงเพราะอยากไม่อยากให้ไฟไหม้โครงสร้างจะได้เก็บไว้ใช้ในฉากต่อไป ผลคือไม่ติดไฟมีแต่ควันเต็มไปหมด สุดท้ายก็เลยต้องยอมเผาจริง ทีมงานใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราดไปบนสิ่งก่อสร้าง แต่ก็มีรถดับเพลิงมาเตรียมการในกรณีฉุกเกิน สุชิยะ ผู้รับบทชาวบ้าน ตามบทเขาต้องวิ่งเข้าไปหาเมียในกองเพลิง เมื่อเริ่มต้นถ่ายทำฉากนี้ เกิดผิดคาดไฟลุกลามไปเร็วกว่าที่คาด อากิระ ก็ยังไม่สนใจ ซ้ำตะโกนว่า “ถ่ายต่อไป” นักแสดงทุกคนก็ ฝืนทนตั้งหน้าตั้งตาแสดงต่อไป ใจอยากจะให้จบในเทคเดียว เพราะมันร้อนมาก เมื่อสุชิยะ วิ่งเข้าไปในบ้านหลังคามันก็ถล่มลงมา ลมร้อนสาดเข้าใส่ตัวเขา สุชิยะ เล่าว่าเขาสัมผัสได้ว่าลมร้อนของเปลวไฟผ่านเข้าไปในหลอดลมของเขา สรุปการถ่ายทำฉากนั้นจบด้วยดี แต่สุดท้ายอากิระก็หลั่งน้ำตาเสียใจที่ไฟลุกลามไปเกินขอบเขตที่เขาจะควบคุมได้
- อากิระ ได้รับการยกย่องจากทีมงานว่า “มือตัดต่อผู้ยิ่งใหญ่” เพราะเขาใช้เวลาหลังการถ่ายทำฝึกการตัดต่อหนังจนดึกดื่น อากิระ อธิบายว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้กำกับควรจะเรียนรู้ไว้ ซึ่งผู้กำกับส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับงานตัดต่อระหว่างถ่ายทำ ไม่ใช่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานถ่ายทำแล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนมานั่งตัดต่อหนังหลังปิดกล้องแล้ว
- ฉากรบที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง เดิมวางแผนไว้ว่าจะถ่ายในช่วงฤดูร้อน แต่กำหนดการถ่ายทำล่าช้าไปมาก ทำให้ต้องมาถ่ายกันในช่วงหน้าหนาว และหิมะตกหนัก ทีมงานก็เลยต้องฉีดน้ำละลายหิมะ ผลก็คือฉากเปียกแฉะไปหมด พื้นดินก็กลายเป็นโคลนเมื่อบรรดาตัวแสดงเข้าฉากก็ต้องยืนกันในโคลนที่เย็นแทบแข็ง ทำให้การแสดงผ่านไปด้วยความทรมาน โตชิโร่ มิฟูเน่ ถึงกับออกปากว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกหนาวเย็นที่สุดในชีวิตแล้ว