ความเดิมจากตอนที่แล้ว
อลัน สมิธธี นี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ หรอกนะครับ หากแต่เป็นนามแฝงให้ผู้กำกับดัง ๆ หลายคน (รวมถึงนักแสดงและตำแหน่งอื่น ๆ ในกองถ่าย) ใช้แทนชื่อตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าหนังมันห่วยเกินกว่าจะใส่ชื่อตัวเองลงไปให้เสียประวัติ เปรียบไปชื่อนี้ก็ถังรวมขี้ดี ๆ นี่เอง
หรือ กดอ่านตอนแรกได้ที่นี่ครับ ตอนนี้มาอ่านต่อจากตอนที่แล้วกันได้เลยครับ
ถ้าลองเข้าไปเสิร์ชชื่อนี้ในเว็บฐานข้อมูลหนังอย่าง imdb เราจะพบว่ามีการใช้แทนชื่อผู้กำกับหนังถึง 96 ผลงาน นักแสดง 21 ผลงาน คนเขียนบท 25 ผลงาน โปรดิวเซอร์ 13 ผลงาน และตำแหน่งอื่น ๆ อีกมากมาย เหล่านี้มาจากทั้งผลงานหนังโรง หนังทีวี หนังสารคดี หนังสั้น หนังอนิเมชั่น เรียกว่ามีมาแทบทุกประเภททีเดียว ซึ่งเอาจริง ๆ เป็นเพียงส่วนน้อยด้วยนะครับ เพราะหนังบางเรื่องภายหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อตัวจริงก็มี
ก็ขอเฉลยชื่อต่าง ๆ ในบทความตอนแรกที่เกริ่นไว้ด้วยเลยแล้วกันครับ ว่าคนดังที่เคยขอใช้ชื่อ อลัน สมิธธี นี้มีใครบ้าง
- ผู้กำกับระดับตำนาน ซิดนี่ ลูเม็ต ที่เคยกำกับ 12 Angry Men (1957) และ Serpico (1973) ขอใช้ชื่อนี้ในหนัง Q & A (1990) ฉบับที่ตัดต่อสำหรับฉายทางทีวี
- ผู้กำกับรุ่นเก่าอย่าง สจ๊วต โรเซนเบิร์ก ที่สร้างชื่อจากหนังผีต้นฉบับ The Amityville Horror (1979) ก็เคยเสียทีให้หนังช่วยตัวประกันในโคลอมเบียเรื่อง Let’s Get Harry (1986) ของตนเองด้วย
- ผู้กำกับหนังสุดแนวอย่าง เดวิด ลินช์ ที่เคยกำกับหนังชิงออสการ์ The Elephant Man (1980) และ Mulholland Dr. (2001) ขอใช้ชื่อนี้ในหนังไซไฟสุดย่อยยับ Dune (1984) ฉบับเพิ่มฉากใหม่
- ผู้กำกับสายอาชญากรรมอย่าง ไมเคิล แมนน์ ที่เคยเขียนบทและกำกับหนังอย่าง Heat (1995) ก็ขอใช้ชื่ออลันในหนังฉบับตัดต่อใหม่สำหรับทีวี ทั้งเรื่องนี้ และเรื่อง The Insider (1999)
- ผู้กำกับขวัญใจหลาย ๆ คนอย่าง แซม ไรมี ที่เคยเขียนบทและกำกับหนังอย่าง Evil Dead ทั้งสามภาค และ Spider-Man 3 (2007) ก็ไม่เว้นครับ เคยต้องใช้ชื่อนี้ตอนเขียนบทหนังเรื่อง The Nutt House (1992)
- นักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง เดนนิส ฮอปเปอร์ ที่เคยเล่นหนังอย่าง Apocalypse Now (1979) และ Speed (1994) ก็เคยขอไม่ใช่ชื่อตัวเองในการกำกับหนังที่มีตัวเขาและโจดี้ ฟอสเตอร์ แสดงนำอย่าง Catchfire (1990)
- นักแสดงนำเจ้าของบท แจ๊ค บาวเออร์ ในทีวีซีรีส์เรื่อง 24 (2001-2010) อย่าง คีเฟอร์ ซูเธอร์แลนด์ ก็เคยพลาดต้องขอใช้ชื่อนี้ตอนกำกับหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตอย่าง Woman Wanted (1999)
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายท่านที่เคยแวะเวียนมาใช้ชื่อนี้ครับ แต่เราอาจไม่คุ้นเท่าชื่อที่กล่าวมานัก ส่วนหนังที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดด้านรายได้ของ อลัน สมิธธี น่าจะเป็นเรื่อง Hellraiser: Bloodline (1996) ภาคที่ 4 ของผีหัวตะปู ที่ลงทุนไป 4 ล้านเหรียญ แต่ได้รายได้กลับมาเกือบ 16.7 ล้านเหรียญเฉพาะในอเมริกา
การล่มสลายของ อลัน สมิธธี เริ่มส่อเค้ามาถึง เมื่อในปี 1997 มีผู้กำกับคนหนึ่งได้ทำหนังเพื่อล้อเลียนชื่อนี้ออกมาในชื่อเรื่อง An Alan Smithee Film: Burn Hollywood Burn ว่าด้วยผู้กำกับหนังหน้าใหม่ชื่อ อลัน สมิธธี ที่จับพลัดจบผลูได้ทำหนังใหญ่แต่ผลงานมันเลวร้ายเกินเยียวยา จนเขาอยากถอดชื่อตัวเองออกจากหนังแล้วใส่นามแฝงแทน แต่ DGA บอกว่ากฎคือต้องใช้ชื่อปลอมที่เป็นทางการของ DGA เท่านั้น นั่นก็คือ อลัน สมิธธี เหมือนกันพอดีเป๊ะ นายอลันจึงต้องวางแผนขโมยตัวมาสเตอร์ของหนังออกมาให้ได้
ถึงตัวหนังจะว่าตลกร้ายแล้ว แต่ที่ตลกร้ายเข้าไปอีกคือแม้หนังจะได้ดารารับเชิญมาสมทบคับคั่ง ทั้งเจ้าพ่อค่ายหนังนอกกระแสอย่าง ฮาร์วี่ย์ ไวน์สไตน์ ดาราดังอย่าง วูปี โกลด์เบิร์ก, ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน และเฉินหลง เป็นต้น แต่ก็ไม่อาจช่วยหนังที่ไร้ความตลกเรื่องนี้ได้ ผู้กำกับอย่าง อาร์เธอร์ ฮิลเลอร์ เองก็ยังรับคุณภาพหนังเรื่องนี้ของตัวเองไม่ได้เลยขอใช้ชื่อ อลัน สมิธธี แทนเช่นกัน หนังเรื่องนี้ทำให้ DGA เริ่มคิดว่าไอ้ชื่อนี้ชักจะไม่ค่อยโอเคแล้วสิ
สุดท้ายชะตากรรมของชื่อ อลัน สมิธธี นี้ก็ได้ถูกเลิกใช้อย่างเป็นทางการสำหรับ DGA ไปในปี 2000 จากเรื่อง Woman Wanted นั่นล่ะครับ คือใครจะใช้ชื่อนี้ก็ใช้ไปไม่ต้องขออนุญาตสมาคมและสมาคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชื่อนี้อีกต่อไป เลยมีหนังผู้ใหญ่ถึง 3 เรื่องที่ใช้ชื่อนี้ในเครดิต และพวกผู้กำกับหนังทุนต่ำอีกหลายเรื่องที่ผลงานไม่โอเคก็ขอใช้ชื่อนี้อยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน อย่างล่าสุดที่บันทึกกันไว้สำหรับหนังโรงก็คือเรื่อง Old 37 (2015) ครับ นอกจากวงการหนังก็ยังมีวงการหนังสือการ์ตูนและเกมที่มีการใช้ชื่อนี้กันอย่างมากอีกด้วย
นอกจาก อลัน สมิธธี คุณอาจจะไม่รู้ว่ายังมีนามแฝงของผู้กำกับดังอีกหลายชื่อ ที่ใช้ต่างจุดประสงค์กันไปครับ เช่น
- ผุ้กำกับรุ่นใหญ่ พอล เวอร์โฮเวน ที่มีผลงานอย่าง RoboCop (1987), Basic Instinct (1992) และเพิ่งมีผลงานอย่าง Elle (2016) ไป ก็เคยขอใช้ชื่อ ยาน แจนเซน ในฉบับตัดฉายทีวีของหนังเรื่อง Showgirls (1995) ด้วย โดยชื่อแจนเซน นี่ถือเป็นชื่ออารมณ์อลัน สมิธธีของประเทศเนเธอร์แลนด์เลยทีเดียว
- โปรดิวเซอร์หนังตระกูล Alien ชื่อดังอย่าง วอลเตอร์ ฮิลล์ ก็เคยทำหนังที่ประสบปัญหาอย่าง Supernova (2000) ที่ขนาดว่าได้ปรมาจารย์อย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา มาช่วยตัดต่อแบบไม่เอาเครดิตก็ยังไม่รอด ฮิลล์จึงขอใช้ชื่อปลอมลงในเครดิตผู้กำกับแทนว่าโธมัส ลี ส่วนตัวหนังก็เจ๊งไปตามระเบียบแบบไม่ต้องสืบครับ
- อีกคนที่เคยใช้ชื่อ โธมัส ลี ก็คือผู้กำกับหนังเยอรมัน มาร์ค โรเทมันด์ ที่มีผลงานล่ารางวัลอย่าง Sophie Scholl (2005) ก็ขอใช้ชื่อปลอมกับหนังตลกปี 2015 ของเขาเรื่อง Da muss Mann durch ด้วย ดูเหมือนชื่อนี้จะไม่ค่อยนิยมใช้กันเท่าไหร่นะครับ
นอกจากจุดประสงค์เรื่องตัวหนังมีปัญหาแล้ว ก็ยังมีการใช้นามแฝงในเหตุผลอื่น ๆ ด้วยเหมือนกันครับ เช่น
- ผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ไม่ชอบมีชื่อตัวเองในเครดิตหลาย ๆ ตำแหน่ง จึงจะใช้ชื่อ ปีเตอร์ แอนดรูว์ส สำหรับตำแหน่งผู้กำกับภาพ แมรี แอนน์ เบอร์นาร์ด ในตำแหน่งตัดต่อ และ แซม โลว์รี ในตำแหน่งเขียนบท ซึ่งทั้งหมดจริง ๆ ก็คือ โซเดอร์เบิร์ก คนเดียวครับ
- เจ้าพ่อหนังคาวบอยจากฝั่งอิตาลี (Spaghetti Western) อย่าง เซร์คีโอ ลิโอน เกรงว่าหนังคาวบอยของตัวเองอย่าง A Fistful of Dollars (1964) ที่จะเอาไปเข้าฉายในอเมริกาปี 1967 จะถูกต่อต้านในอเมริกาด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่หนังคาวบอยแท้ ชื่อผู้กำกับก็อิตาลีจ๋า เขาเลยใช้ชื่อว่า บ็อบ โรเบิร์ตสัน แทน ปรากฏว่าหนังได้รับการตอบรับดีมากจนกลายเป็นความคลั่งไคล้หนังคาวบอยอิตาลีและเกิดดาราดวงใหม่อย่าง คลินต์ อีสต์วูด ขึ้นมาประดับวงการ หลังจากนั้นพี่แกเลยใช้ชื่อจริงในหนังมาตลอด
- สองพี่น้องคู่เทพอย่าง โจเอล และ อีธาน โคเอน มักจะทำหนังในหน้าที่ต่าง ๆ ด้วยกันเสมอ โดยตกลงกันว่า โจเอล จะเอาเครดิตผู้กำกับไป ส่วนอีธานจะเอาเครดิตโปรดิวเซอร์ ในขณะที่งานเขียนบททั้งคู่จะใช้ชื่อร่วมกัน แต่ปัญหาก็เกิดเมื่อมาถึงตำแหน่งตัดต่อหนัง เพื่อไม่ให้มีชื่อพวกเขาเยอะเกินไปในเครดิต พวกเขาจึงตกลงใช้นามแฝงว่า โรเดริก เจนส์ สำหรับการตัดต่อ ซึ่งพี่เจนส์นี่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาตัดต่อถึง 2 ครั้งเลยด้วยนะจากเรื่อง Fargo (1996) และ No Country For Old Men (2007) สมเป็นเทพจริง ๆ
- ผู้กำกับหนังแปลกอย่าง ชาร์ลี คอฟแมน ทำกิมมิกระดับไม่ธรรมดาในการเขียนบทให้หนัง Adaptation (2002) ของผู้กำกับ สไปก์ จอนซ์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องนักเขียนบทหนังที่มีพี่น้องฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกันเด๊ะ พี่คอฟแมนเลยขอเครดิตการเขียนบทเรื่องนี้ให้ โดนัลด์ คอฟแมน น้องชายฝาแฝดของเขาด้วย หนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยมด้วย น่าเสียดายที่ไม่ได้รางวัล เพราะคงเป็นครั้งแรกที่ออสการ์มอบรางวัลให้ 2 นักเขียนบทที่หมายถึงคน ๆ เดียว เพราะไอ้ตาโดนัลด์อะไรเนี่ยมันไม่มีอยู่จริง เอากับพี่แกสิ