พร้อมถ่ายนะครับ! เสียง! กล้อง! แอ็คชั่น!
นี่คือคำพูดที่ได้ยินกันทั้งกองถ่ายจนกลายเป็นสัญญาณว่ามีการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่ในบริเวณนั้น แต่ใครกันนะที่เป็นคนพูดประโยคเหล่านี้? และ #หลังเลนส์ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับคนพูดประโยคดังกล่าวนั่นคือ ผู้ช่วยผู้กำกับนั่นเอง
ผู้ช่วยผู้กำกับ-ศูนย์กลางจักรวาล(กองถ่าย)
หลายคนอาจรู้อยู่แล้วว่า ผู้กำกับ คือคนตัดสินใจในทุกช็อตของการถ่ายทำ แต่คนที่ให้ทางเลือกและแนะนำผู้กำกับจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก ผู้ช่วยผู้กำกับ นั่นเอง
สำหรับศูนย์กลางจักรวาลของกองถ่าย หมายถึง ทุกองค์ประกอบของการถ่ายทำภาพยนตร์จะถูกผู้ช่วยผู้กำกับนำมาจัดเรียงและลำดับความสำคัญก่อนถึงมือผู้กำกับ นั่นหมายถึงการร่วมงานกับทุกตำแหน่งในกองถ่าย อาทิ
ก่อนถ่ายทำ
- ก่อนถ่ายทำหาภาพถ่ายหรือฉากจากภาพยนตร์เพื่ออ้างอิงสิ่งที่ผู้กำกับต้องการเช่น ผู้กำกับให้หาภาพชุดพยาบาลยุคโบราณ หรือฉากในโรงพยาบาลสำหรับถ่ายหนังย้อนยุคเพื่อนำมาประกอบการนำเสนอให้ทีมงานดำเนินงานต่อไปทั้ง ผู้ออกแบบเสื้อผ้าและผู้ออกแบบงานสร้างที่จะนำงานไปสานต่อจนสามารถตัดชุดและสร้างฉากได้ตามที่ผู้กำกับต้องการต่อไป
- คัดเลือกนักแสดงบางส่วนรวมถึงถ่ายวีดีโอและตัดต่อให้นำเสนอให้ผู้กำกับคัดเลือก
- ประชุมตามงานจากผู้กำกับและผู้กำกับภาพในการที่จะสานต่อทำเป็นเอกสารที่จะใช้ในการถ่ายทำต่อไป
- ติดต่อผู้จัดการกองถ่ายหรือPM (Production Manager) เพื่อจัดการเรื่องคิว นักแสดงและอุปกรณ์ที่จะต้องติดต่อเช่า
- ร่วมประชุมติดตามงานจากแผนกต่างๆ ทั้งสถานที่ถ่ายทำจาก Location Manager หรือแบบเสื้อผ้าหน้าผมจากแผนกที่รับผิดชอบ ซึ่งผู้ช่วยผู้กำกับจะต้องสามารถประสานงานให้ผู้กำกับตัดสินใจหรือตัดสินใจแทนผู้กำกับได้ในบางกรณี
- จัดการให้นักแสดงมาลองชุดที่ใช้ในการถ่ายทำหรือการทำฟิตติ้ง(Fitting)แล้วถ่ายภาพให้ผู้กำกับตัดสินใจและประสานงานกับทีมเสื้อผ้าหากต้องมีการแก้ไข
- จัดทำ ตารางการถ่ายทำ หรือ Production Schedule เพื่อวางแผนงานถ่ายทำตั้งแต่ ก่อนถ่ายทำ (Pre-Production) ไปจนถึง หลังถ่ายทำ (Post-Production)
- จัดทำ สคริปต์สำหรับการถ่ายทำ (Shooting Script) เพื่อเรียงลำดับกระบวนการทำงานในวันถ่าย
- จัดทำ เบรกดาวน์ (Breakdown) เพื่อจำแนกองค์ประกอบแต่ละฉากให้ทีมงานแต่ละฝ่ายเตรียมงานสำหรับฉากนั้นๆ
- จัดทำ ใบนัดหมายกองถ่ายหรือคอลชีท (Callsheet) เพื่อนัดหมายทีมงาน
- ตรวจสอบงานทุกส่วนก่อนถ่ายทำทั้งอุปกรณ์กล้องและอื่นๆที่ใช้ถ่ายทำรวมถึงตามงานจากทีมงานทุกส่วน
ขับเคลื่อนงานในวันถ่ายทำ
การทำงานของผู้ช่วยผู้กำกับในวันถ่ายทำต้องแม่นยำและเป็นระบบ ดังนั้นในกองถ่ายมักมีผู้ช่วยผู้กำกับมากกว่า 1 คน จึงเกิดการแบ่งลำดับขั้นของผู้ช่วยกำกับ ดังนี้
ผู้ช่วยกำกับ 1
คนนี้จะทำงานขึ้นตรงกับผู้กำกับ เหมือนสมุนมือขวาผู้รู้ใจและคอยประสานงานกับทุกแผนกให้ทำงานราบรื่นที่สุด ถ้าในสงครามเปรียบผู้กำกับเป็นแม่ทัพ ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ก็คือกุนซือที่จะคอยเตรียมงานอุปกรณ์ต่างๆคอยควบคุมสั่งการและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วที่สุด เพื่อให้การถ่ายทำได้ครบตามบทภาพยนตร์ที่วางไว้ทันเวลาตามแผนงานและไม่เกินงบประมาณ โดยผู้กำกับ 1 จะทำงานใกล้ชิดกับผู้กำกับและผู้กำกับภาพที่สุด เป็นบุคคลแรกที่ใช้เวลาในการพักทานอาหารน้อยที่สุดเพราะต้องคอยเตรียมจัดวางกล้องร่วมกับผู้กำกับภาพก่อนผู้กำกับจะมานั่งหน้ามอร์นิเตอร์ และต้องสามารถประสานงานร่วมแก้ปัญหากับทีมงานทุกแผนกให้การถ่ายทำราบรื่นที่สุด รวมถึงต้องคอยสรุปงานให้ผู้กำกับ 2 สามารถวางคอลชีทในการถ่ายทำวันต่อไปได้
ผู้ช่วยผู้กำกับ 2
หน้าที่ของผู้กำกับลำดับที่2ก็คือการช่วยเหลือและประสานงานต่อจากผู้กำกับ 1 อีกที ตั้งแต่การจัดทำคอลชีทและแจกจ่ายให้ถึงทีมงานส่วนต่างๆและมีหน้าที่ในการดูแลนักแสดงให้มาถึงกองถ่ายตรงเวลาและสามารถเตรียมพร้อมก่อนถ่ายทำ ซึ่งหากใครดูละครไทยที่มีเรื่องเกี่ยวกับกองถ่ายแล้วล่ะก็คนที่รองรับอารมณ์นักแสดงก็คือผู้กำกับ2 นั่นเอง นอกจากนี้ผู้กำกับ2 ยังต้องคอยประสานงานกับผู้จัดการกองถ่ายเมื่อเกิดปัญหาในการถ่ายทำและยังต้องทำหน้าที่ในการคัดเลือกนักแสดงประกอบในบางกรณีอีกด้วย
ผู้ช่วยผู้กำกับ 3
ผู้ช่วยผู้กำกับ 3 จะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการถ่ายทำฉากที่ต้องใช้นักแสดงประกอบหรือเอ็กซ์ตร้าจำนวนมาก เพราะผู้ช่วยผู้กำกับ 3 จะต้องดูแลและควบคุมทิศทางการแสดงรวมถึงเตรียมความพร้อมเหล่าเอ็กซ์ตร้าให้พร้อมถ่ายทำที่สุด นอกจากนี้ยังต้องประสานงานกับฝ่ายจัดการสถานที่ถ่ายทำหรือ Location Manager เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานที่อีกด้วย
คุณลักษณะของผู้ช่วยผู้กำกับ
ลักษณะของคนที่เหมาะทำงานผู้ช่วยผู้กำกับสรุปได้คร่าวๆดังนี้
- เป็นคนมีวินัย ตรงเวลา ไม่มีข้ออ้าง
- สื่อสารกับทีมงานได้อย่างชัดเจน เป็นคนมีสติ วางแผนการทำงานได้ดี จัดตารางเวลาทำงานได้มีประสิทธิภาพ
- ลำดับความสำคัญของงานได้
- สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ไม่กลัวที่จะถามและติดตามงาน
- ช่างเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะกรณีถ่ายทำเกินเวลาที่อาจต้องขอเวลาในการถ่ายทำเพิ่มจากเจ้าของสถานที่
- ใช้คนได้ถูกกับงาน
- ยืดหยุ่นกับสถานการณ์และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกองถ่ายได้อย่างรวดเร็ว
- ทำงานละเอียดรอบคอบ เพราะหากถ่ายไม่ครบต้องมาถ่ายซ่อมจะมีผลกับงบประมาณในการถ่ายทำทันที
- สามารถทำงานแบบอดหลับอดนอนได้