https://vimeo.com/170948796
หลังเลนส์สัปดาห์นี้ ขอแนะนำตำแหน่งที่มีผลอย่างมากต่อความสมบูรณ์ของภาพยนตร์ซึ่งนอกจากภาพสวยงามอลังการแล้ว “เสียง” ยังทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว และสร้างอารมณ์ให้กับภาพบนจอสร้างความประทับใจและความทรงจำดีๆให้กับผู้ชมมานักต่อนัก โดยนอกจากเสียงบทสนทนาและดนตรีประกอบแล้ว ยังมีเสียงเอฟเฟกต์ของสิ่งของที่ปรากฏบนจอ ตั้งแต่เสียงคิงคองและยานอวกาศในหนังไซไฟ จนถึงเสียงฝีเท้าตัวละครและเสียงประตูปิดช้าๆในหนังสยองขวัญ โดยเสียงเหล่านี้จะถูกปรุงแต่งขึ้นในขั้นตอนหลังการถ่ายทำหรือ Post Production โดย โฟลีย์อาร์ตทิส (Foley Artist)
โฟลีย์ คืออะไร
หากจะพูดถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับการทำโฟลีย์ที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำเสียงประกอบในละครวิทยุ นึกถึงฉากฟันดาบแล้วคนพากย์ละครวิทยุจะหาเหล็กมากระทบกันให้เกิดเสียงดาบกระทบกันเพื่อเสริมจินตนาการผู้ฟังนั่นเอง และเมื่อภาพยนตร์เสียงได้ถือกำเนิดขึ้น จึงมีการออกแบบเสียงเพื่อทำโฟลีย์ประกอบภาพบนจอภาพยนตร์นั่นเอง
ทำไมต้องทำโฟลีย์
จะว่าไปแล้วความจำเป็นในการทำโฟลีย์นั้นมีหลายกรณีแต่ในภาพรวมก็เพื่อความสมบูรณ์ของเสียงในภาพยนตร์ โดยแบ่งแยกได้ตามกรณีดังต่อไปนี้
- ภาพยนตร์อนิเมชัน หรือหนังการ์ตูน ซึ่งเป็นหนังที่ไม่ได้มีการถ่ายทำ ดังนั้นเสียงทุกอย่างที่ต้องประกอบในภาพจำเป็นต้องออกแบบและทำโฟลีย์ทั้งหมด
- เพิ่มพลังให้กับฉากสำคัญในภาพยนตร์ ลองจินตนาการว่าเราดูหนังอย่าง Transformers แล้วฉากแปลงร่างไม่มีเสียงดูสิครับ ความน่าตื่นตาตื่นใจหายไปครึ่งนึงทันที หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสยองขวัญที่ทั้งฉากพื้นไม้ลั่นในยามวิกาลหรือเสียงสัตว์ประหลาดอันน่ากลัว ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ชมทั้งสิ้น ซึ่งต้องผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี
- เสียงประกอบบางอย่างไม่อาจบันทึกได้จากการถ่ายทำซึ่งมีตารางการทำงานที่ค่อนข้างหนาแน่น ทางผู้กำกับจึงต้องเน้นการแสดงและงานภาพที่สำคัญในการถ่ายทำก่อน ดังนั้นรายละเอียดปลีกย่อยทั้งเสียงฝีเท้าตัวละคร ลมหายใจแรงๆของตัวละครที่กำลังตื่นเต้น ก็อาจต้องให้เป็นหน้าที่ของทางโฟลีย์อาร์ตทิสในการสร้างสรรค์เสียงเหล่านี้แทน
เยือนห้องทำงาน Foley Artist