รายได้หนังทุกภาคของ Transformers

นอกเหนือจากหนังเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่สร้างมาจากการ์ตูนมาร์เวล และ ดีซีคอมมิกส์ ที่หลัก ๆ อยู่กับค่ายดิสนีย์และวอร์เนอร์กอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำมานานหลายปีจวบทุกวันนี้ และยังไม่มีทีท่าจะแผ่ว ทำให้สตูดิโอเจ้าอื่น ๆ ต้องหาวัตถุดิบทางเลือกอื่นมาแชร์ตลาดกันบ้าง ก็มีทั้งซื้อลิขสิทธิ์เกมคอมพิวเตอร์มาสร้างบ้างอย่างเช่น Assassin’s Creed ,Warcraft ,resident Evil เกมกระดานบ้าง อย่างเช่น Jumanji , battleship และอีกแหล่งที่กอบโกยรายได้ไม่แพ้กันคือหนังที่สร้างจากของเล่น ก็มีทั้ง Dungeons & Dragons และ GI.Joe และเรื่องที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็คือ Transformers ที่หนัง 4 ภาคกวาดเงินไปแล้วถึง 3.7 พันล้านเหรียญ

เหล่าของเล่น Transformers Generation 1

Transformers เป็นของเล่นที่ผลิตโดย ฮาสโบร บริษัทของเล่นอเมริกัน ร่วมกับ ทาคาระ โทมี่ บริษัทของเล่นของญี่ปุ่น ออกเซ็ตแรกมาในชื่อ “เจเนอเรชั่น1” ปี 1984 ด้วยความที่เป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ในวงการของเล่น รถยนต์ รถบรรทุกหลากหลายรูปแบบ แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์ได้ แถมมีเรื่องราวที่มาของผู้พิทักษ์และผู้รุกรานจากต่างดาวเป็นฉากหลัง ทำให้ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ประสบความสำเร็จเกินคาด และขยายเส้นทางการตลาดออกไปเป็นหนังสือการ์ตูน และการ์ตูนทีวีในปีเดียวกัน

ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส มิลเลเนียม ฟอลคอน

มิคกี้เมาส์ ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส

หนังสือการ์ตูนนี่ก็แบ่งย่อยอีกออกเป็น 3 ยุค ยุคแรกให้มาร์เวลทำให้ประมาณปี 1987-1995 เลยได้มีเรื่องราวข้ามไปฝั่งซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลด้วย มีสไปเดอร์แมน และนิค ฟิวรี่มาต่อสู้กับเมกาตรอน ยุคต่อมาเป็นลิขสิทธิ์ของ ดรีมเวฟ โปรดัคชั่น ช่วงราวปี 2003-2004 ทำได้แค่ 2 ปี บริษัทเจ๊ง มาถึงยุคที่ 3 ไอดีดับเบิ้ลยู พับลิชชิ่งมารับช่วงต่อในปี 2004 ทางสำนักพิมพ์รีบู๊ตเรื่องราวใหม่ และยังทำตอนแยกออกไปหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีสำนักพิมพ์ยิบย่อยอีกหลายค่ายที่ได้ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนทรานส์ฟอร์มเมอร์สอีกนะ หลาย ๆ ตอนในเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูนก็ยังข้ามไปร่วมกับจักรวาลอื่นต่อยอดให้ออกไลน์ของเล่นได้อีกเพียบทั้ง ดิสนีย์ มีรถบรรทุกแปลงร่างเป็นหุ่นยนต์มิคกี้เมาส์ได้ , สตาร์วอร์ส ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส เดธสตาร์ , มิลเลเนียม ฟัลคอน แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์ได้หมด และข้ามไปรวมเรื่องกับจีไอโจด้วย เพราะเป็นสินค้าของฮาสโบรเหมือนกัน

บรรยากาศในงาน Botcon

ด้านการ์ตูนทีวีเริ่มแพร่ภาพในปี 1984 ถึง 1987 รวม 4 ซีซัน ทางญี่ปุ่นก็เอาไปทำการ์ตูนด้วยเช่นกัน แพร่ภาพในปี 1987-1990 หลังจากนั้นโครงการการ์ตูนทีวีก็เงียบหายไป กลับมาปี 2009 รอบนี้ทำลงแผ่นดีวีดี แบ่งเป็น 4 ซีซัน รวม 98 ตอน ด้านวีดีโอเกม ออกเกมแรกมาเมื่อปี 1985 มาจนถึงปี 2012 นี่ออกมาแล้ว 30 กว่าเกม ไม่พอยังมี ทราสฟอร์เมอร์สซีเรียล อาหารเช้าสำหรับเด็ก และมีกระทั่งเครื่องเล่น Transformers The Ride อยู่ในสวนสนุกยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ต่อเนื่องไปจากความสำเร็จจากหนังก็ทำให้เกิด งานแสดงโชว์ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ที่ออกทัวร์แสดงไปในหลายประเทศทั่วโลก ใช้ชื่องานว่า “BotCon”

เข้าสู่โลกภาพยนตร์

Transformers (2007)


ย้อนไปในปี 2003 จุดกำเนิดทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ในโลกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ซึ่งเดิมทีของเล่นซีรีส์แรกที่จะถูกหยิบมาสร้างคือ GI:Joe ตัวตุ๊กตุ่นทหารที่อยู่กับเด็กอเมริกันมาตั้งแต่ปี 1964 แต่ว่าช่วงนั้นกระแสต่อต้านสงครามอเมริกันกับอิรัก ยังคุกรุ่น ฮาสโบร เลยแนะนำว่าเปลี่ยนแผนเหอะ สร้าง Transformers ก่อนดีกว่านะ ปี 2004 สตีเวน สปิลเบิร์ก ซึ่งเป็นแฟนการ์ตูนทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ก็เซ็นสัญญารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับหนังบทแรกของหนังเป็นเรื่องของ ออโต้บอต 4 ตัว สู้กับดีเซปติคอน 4 ตัว มาถึงปี 2005 โรเบอร์โต ออซิ และ อเล็กซ์ เคิร์ตซแมน (คนนี้เพิ่งกำกับ The Mummy 2017) ถูกจ้างมาแก้ไขบท สปิลเบิร์กมาไกด์ให้ทั้งคู่ว่าอยากให้ เด็กชายกับรถยนต์เป็นตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งเป็นไอเดียที่ถูกใจ ออซิ และ เคิร์ตซแมน มากเพราะมันสื่อได้ถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่และการมีความรับผิดชอบ ก็เลยเป็นที่มาของ แซม , มิเคลา และยี่ห้อรถยนต์อเมริกันก็กลายมาเป็นจุดขายอย่างที่เราเห็นกันในหนังภาคแรก และเป็นการแจ้งเกิดให้กับ เมแกน ฟอกซ์ สาวเซ็กซี่กลายเป็นที่รู้จักจากเรื่องนี้ในฐานะสาวที่เซ็กซี่ที่สุดในขณะนั้น

เมแกน ฟอกซ์

ไมเคิล เบย์ แทบจะเป็นชื่อหลัง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในหนัง Transformers เลยก็ว่าได้ สปิลเบิร์กเป็นคนไปเชิญให้เขามากำกับในปี 2005 แต่เบย์ก็ปฎิเสธไปในทีแรกด้วยเหตุผลว่า มันคือ “หนังของเล่นโง่ ๆ” แต่สุดท้ายก็ยอมเปลี่ยนใจเพราะว่าอยากจะทำงานร่วมกับ สตีเวน สปิลเบิร์ก บวกกับหลังจากไปเยี่ยมชมกิจการฮาสโบร แล้วได้เห็นตำนานยาวนานของเหล่าทรานส์ฟอร์มเมอร์ส  บทภาพยนตร์ถูกแก้อีกครั้งเมื่อเบย์ได้อ่าน และให้ความเห็นว่า “เด็กเกินไป” เบย์บอกให้ออซิและ เคิร์ตซแมน ให้เพิ่มบทบาทของทหารลงไปในเนื้อเรื่องด้วย เบย์เองได้โทรไปหาเพนตากอน เพื่อขอความร่วมมือให้ส่งทหารและยานพาหนะมาเข้าฉากทรานส์ฟอร์เมอร์สด้วย (ยิ่งใหญ่จริง ๆ นะพี่เบย์) เราก็เลยได้เห็นเหล่าทหารร่วมรบกับเหล่าออโต้บอต Transformers ในเวอร์ชั่นแรกนั้นหุ่นยนต์ไม่มีเสียงพูดนะครับ เหตุเพราะผู้อำนวยการสร้างบอกว่า”มันดูเหลวไหลไป” แต่ข้อเสนอนี้ขัดใจ ออซิ และ เคิร์ตซแมนมาก เพราะว่าถ้าเวอร์ชั่นหนังออกมาแล้วหุ่นยนต์พูดไม่ได้เหมือนในหนังสือการ์ตูนและการ์ตูนทีวี มันจะสร้างความผิดหวังให้กับแฟน ๆ ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส เกินไป ผลสุดท้ายเสียงพูดของหุ่นยนต์ก็ถูกใส่ไปในขั้นตอนบันทึกเสียง หุ่นหลาย ๆ ตัวในเรื่องถูกเลือกมาจากเหล่าของเล่นโดย ออซิ และ เคิร์ตซแมน

ส่วนหุ่นฝั่งดีเซปติคอน หลายตัวถูกคิดขึ้นมาใหม่สำหรับเวอร์ชั่นหนัง บางตัวก็ต้องถูกเปลี่ยนชื่อหลายรอบ เพราะชื่อของพวกมันหลุดรอดไปกับสื่อระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งทำให้ไมเคิล เบย์หัวเสียมาก เดิมทีเราจะได้เห็น “อาร์ซี” หุ่นมอเตอร์ไซค์ผู้หญิงในหนังด้วย แต่เบย์ไม่ชอบ ด้วยเหตุผลว่าการต้องมาอธิบายเรื่องเพศของหุ่นยนต์ดูสับสนเกินไป และอาร์ซีก็ตัวเล็กเกินไป

อาร์ซี หุ่นยนต์สาวมอเตอร์ไซค์ ที่ถูกตัดออกในภาค 1

หนังใช้ทุนสร้างไป 150 ล้านเหรียญ ทำเงิน 709 ล้านเหรียญ เป็นหนังที่ไม่ใช่ภาคต่อที่ทำเงินสูงสุดในปี 2007 และเป็นหนังที่ทำเงินทั่วโลกสูงที่สุดในอันดับที่ 5 ส่งผลให้ Transformers เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ นักวิจารณ์ทุกสำนักให้ความเห็นค่อนไปทางบวก ส่วนใหญ่ชื่นชมกับ ความมหัศจรรย์ตื่นตาของงานวิชวลเอฟเฟคต์

Transformers: Revenge of the Fallen (2009)


หลังหนังภาคแรกเข้าฉายได้ 2 เดือน พาราเมาท์เห็นตัวเลขแล้วก็ยิ้มประกาศสร้างภาค 2 ทันที แต่ขั้นตอนการเตรียมงานก็สะดุดไปบ้าง เพราะอยู่ในช่วงที่สมาคมผู้เขียนบทภาพยนตร์ประท้วงกัน และอาจจะลามไปถึงสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ด้วย ระหว่างนั้นเบย์ก็เตรียมทำภาคย่อย ที่เป็นเรื่องราวเชื่อมต่อระหว่างภาค 1 กับภาค 2 โดยเอาบางฉากที่ถูกตัดออกจากภาค 1 มาผสมรวม ๆ กัน แต่การประท้วงก็ยุติ โครงการภาค 2 เลยได้เดินหน้า พาราเมาท์ยื่นข้อเสนอให้เบย์ สร้างภาค 2 ภาค 3 ต่อเนื่องกันไปเลย ตามแนวที่หนังภาคต่อหลาย ๆ เรื่องช่วงนั้นชอบทำกันเพราะประหยัดงบของสตูดิโอ แต่เบย์ปฎิเสธไอเดียนี้ แต่ก็ได้งบมาเพิ่มเป็น 200 ล้านจากภาคแรกที่ 150 ล้าน

คู่หู อเล็กซ์ เคิร์ตซแมน และ โรเบอร์โต้ ออซิ

โรเบอร์โต ออซิ และ อเล็กซ์ เคิร์ตซแมน ถูกทาบทามให้มาเขียนบทภาคต่อ แต่คู่หูปฎิเสธไป เพราะว่างานชุก พาราเมาท์ จึงติดต่อ เอห์เร็น ครูเกอร์ มือเขียนบทอีกคนที่เป็นเพื่อนกับคู่หูออซิและเคิร์ตซแมน  เอห์เร็น รับงานเพราะชื่นชอบเบย์และประธานฮาสโบร ,พาราเมาท์ เจรจาอีกครั้ง เสนอค่าเขียนให้ ออซิ, เคิร์ตซแมน และ เอห์เร็น เป็นเงิน 8 ล้านเหรียญ รอบนี้จบ ออซิ และ เคิร์ตซแมน ยอมกลับมา ไม่ค่อยเห็นแก่เงินหรอก กลายเป็นทีม 3 คน ทั้งทีมมีเวลาปั่นบทร่างเพียงแค่ 2 สัปดาห์ก่อนที่การประท้วงของสมาคมผู้เขียนบทจะเริ่มต้นขึ้น และส่งบทให้กับเบย์ ได้ทันก่อนวันประท้วงแค่คืนเดียว เบย์เอาบทร่างไปเขียนต่อออกมาเป็น 60 หน้า เขาเพิ่มฉากแอ็คชั่น มุกตลก เพิ่มตัวละครใหม่ พอการประท้วงของสมาคมสิ้นสุดลง มือเขียนบททั้ง 3 ต้องเร่งเขียนบทให้จบภายใน 4 เดือนเพื่อให้ทันกำหนดการฉายเดิม เบย์ขังทั้ง 3 คนไว้ในโรงแรม 2 ห้องเพื่อให้ปั่นบทได้เสร็จทันเวลา ระหว่างเขียน ทั้ง 3 แลกเปลี่ยนบทที่แต่ละคนเขียนให้ดูกันวันละ 2 ครั้ง

ออซิ อธิบายว่าธีมหลักของภาคนี้คือ “ไกลจากบ้าน” เหล่าออโต้บอต ก็อยากจะกลับไปกู้ดาวไซเบอร์ตรอน แซม ก็ต้องไปเข้ามหาลัย  ออซิ ต้องการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์ให้มากขึ้น จำนวนหุ่นยนต์ก็มากขึ้นด้วย ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนทูรา ผู้อำนวยการสร้างบอกว่า”ภาคนี้มีหุ่นยนต์ตั้ง 40 ตัวแน่ะ” แต่ สก็อตต์ ฟาราห์ จาก ILM ผู้ทำสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ให้กับหนังก็ออกมาแย้งว่า”จริง ๆ แล้ว 60 ตัวนะ” แค่นี้ก็ยังไม่พอใจกันนะ เดอซานโต ผู้อำนวยการสร้างอีกคนมาเสนอแนะ “มันต้องแจ๋วมากเลย ถ้าภาคนี้มีไดโนบอตด้วยนะ” เบย์มาเสริมอีก “ใส่หุ่นยนต์เครื่องบินที่เราตัดออกจากภาคแรกไปด้วยได้มั้ย” สุดท้ายออซิ ก็ปฎิเสธหมดทุกข้อเสนอแนะ ด้วยเหตุผลว่า”ไม่รู้จะยัดลงไปตรงไหนแล้ว และที่สำคัญผมไม่ชอบไดโนบอตเพราะผมไม่ชอบไดโนเสาร์ เอาไว้ใส่ภาคหน้าเหอะ” สรุปคนเขียนบทชนะนะครับ ภาคนี้ไม่มีไดโนบอต แต่ก็ทำรายได้สูงขึ้นเป็น 836 ล้านด้วย

หนังของเบย์ เป็นหนังที่ถูกใจตลาด กวาดเงินในระดับถล่มทลาย แต่ในทางกลับกันก็เป็นหนังที่นักวิจารณ์ต่างยี้กันเป็นแถว คะแนนใน rottentomatoes หล่นเหลือ 19% Transformers: Revenge of the Fallen ได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ว่า “หนวกหู พลอตเรื่องกลวงโบ๋ สเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ยาวนานเกิน ใช้ได้ฟุ่มเฟือยมาก แต่ขาดสัมผัสทางด้านนักแสดงฝั่งมนุษย์โลก” วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า “เป็นหนังของไมเคิล เบย์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ติดลบที่สุด” แม้กระทั่งไชอา ลาบัฟ พระเอกของเรื่องยังออกมาด่าหนังตัวเอง “เราหลงทาง เราอยากทำให้มันใหญ่โตมากขึ้น อยากให้มันดีกว่าภาคแรก ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดกับหนังภาคต่ออยู่แล้วล่ะ ไมเคิล เบย์พาหนังไปหลุดโลกใหญ่โต ผมคิดว่าเขาพาหนังหลงทิศไปแล้วล่ะ หนังขาดความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่ไม่ต้องสนใจมันก็ได้นะ ถ้าเราหวังดูแค่หุ่นยนต์มาสู้กัน” เบย์ รู้สึกเสียใจกับเสียงวิจารณ์ทางด้านลบ และออกมาขอโทษ พร้อมทั้งอ้างว่าการประท้วงของชมรมนักเขียนบทภาพยนตร์เป็นบ่อเกิดของปัญหาในการสร้างภาคนี้

Transformers: Dark of the Moon (2011)


ภาคนี้ออซิ และ เคิร์ตซแมนปฎิเสธอีกรอบว่าไม่ขอกลับมาเขียนบทให้แล้ว ให้เหตุผลว่าภาคต่อของทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ควรจะมีไอเดียที่สดใหม่ ส่วนเขาทั้งคู่น่ะหมดไอเดียที่จะสานต่อกับภาคต่อไปแล้ว ภาคนี้ เอห์เรน ครูเกอร์ ก็เลยรับหน้าที่โซโลเดี่ยวไป เขาไปขอคำแนะนำจากทีมงาน ILM แล้วก็ได้ไอเดียเด็ด ๆ ออกมาเป็นฉากต่อสู้ในเชอโนบิล และเมแกน ฟอกซ์ ก็ไม่กลับมาในภาคนี้ เพราะมีข่าวว่าเธอกุ๊กกิ๊กกับไมเคิล เบย์ ,เมแกน เลยเลือกที่จะยุติข่าวดังกล่าวด้วยการถอนตัว  บทนำหญิงถูกแทนที่ด้วยโรซี ฮันติงตัน ไวท์ลีย์ ระดับนางแบบวิคตอเรีย ซีเคร็ท แต่ก็ไม่สามารถสร้างเสียงฮือฮาได้เท่าการปรากฏตัวของ เมแกน ฟอกซ์ ในภาคแรก

โรซี ฮันทิงตัน ไวท์ลีย์

ภาคนี้ก้าวเข้าสู่ยุคของ 3D เพราะความสำเร็จของหนัง Avatar ทำให้ทางพาราเมาท์  ILM และ เบย์ ตกลงกันว่าภาคนี้จะถ่ายทำด้วยกล้อง 3D นะ แล้วเบย์ก็ลองทดสอบถ่ายทำด้วยกล้อง 3D แรกเริ่มเบย์ไม่ชอบรูปทรงของกล้อง 3D ที่ใหญ่เทอะทะ ไม่เข้ากับสไตล์การทำงานแบบสมบุกสมบันของเขา แต่เบย์ก็ถูกหว่านล้อมให้ทดลองโดยเจมส์ คาเมรอน ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ 3D คาเมรอน ว่าให้เบย์มองว่ามันเป็นของเล่นอย่างนึง ที่ช่วยดึงอารมณ์นักแสดง และยังเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ดีอีกด้วย พร้อมยังเสนอให้ทีมงานของเขาไปช่วยถ่ายทำอีกด้วย ถึงแม้เบย์จะอึดอัดที่จะทำงานกับกล้องที่ใหญ่โตขนาดนี้ แต่ใจหนึ่งเขาก็ไม่ชอบการแปลงภาพให้เป็นสามมิติในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ทางออกก็คือ เบย์กับทีมงานช่วยกันแปลงสภาพกล้อง 3D ให้มีขนาดเล็กลงและเอาออกไปวิ่งลุยนอกสถานที่ได้

ไมเคิล เบย์ กับกล้อง IMAX 3D ที่เขาพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง

ภาคนี้เบย์บอกว่าเขาต้องการให้ดูลึกลับมากขึ้น โทนของหนังจะหม่นกว่าเดิม ตัวละครมีพัฒนาการและสื่ออารมณ์มากขึ้น แล้วสุดท้ายหนังก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น ทะลุหลักพันล้านไปถึง 1,123 ล้าน กลายเป็นภาคที่ทำเงินสูงสุด แม้ทุนสร้างจะน้อยกว่าภาค 2 เสียด้วยซ้ำ รายได้หนังสร้างสถิติใหม่มากมาย เป็นหนังที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของปี 2011 ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของพาราเมาท์สตูดิโอ รองจาก Titanic เป็นหนังทำเงินสูงสุดของหนังที่สร้างจากของเล่นค่ายฮาสโบร ด้านเสียงวิจารณ์ค่อนข้างตอบรับดีกว่าภาคก่อน นักวิจารณ์ต่างชื่นชมกับ งานสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ ภาพ3D ที่ออกมาน่าประทับใจ แต่หนังยังคงอึกทึกคึกโครมเช่นเดิม ความยาวของหนังที่มากเกินไป และบทหนังที่ธรรมดาเกินไป

Age of Extinction (2014)

ภาค 4 กับการปรากฏตัวของ ไดโนบอต

ไมเคิล เบย์ ประกาศยกเครื่องใหม่สำหรับภาคต่อตอนที่ 4 ไม่มีไชอา ลาบัฟ แต่เอามาร์ค วาห์ลเบิร์ก มารับบทนำแทน สำหรับภาคต่อที่จะเป็นเส้นเรื่องชุดใหม่ เหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดในช่วง 4 ปีให้หลังจากภาคก่อน และโทนเรื่องจะหม่นกว่าเดิม (หม่นทุกภาคเลย ภาคต่อ ๆ ไปคงจะมืดมาก) โทนอารมณ์ของเรื่องจะเปลี่ยนไปจากเดิม ภาคนี้ได้เปิดตัว ไดโนบอต เสียที หลังจากที่ผู้อำนวยการสร้างอยากจะใส่มาตั้งแต่ภาคแรกแล้ว และเปิดตัว 2 ออโต้บอตหน้าใหม่ “ดริฟท์” ที่เป็นรถ บูกัตติ เวย์รอน สีน้ำเงิน-ดำปี 2013 และ “สลิงชอต” คอร์เวต สติงเรย์ สีเขียวปี 2014 และออพติมัสไพรม์ ที่ปรากฏตัวในรูปโฉมใหม่

ดริฟท์ และ สลิงชอต สองสมาชิกใหม่ในภาคนี้

เบย์ ประกาศว่า ภาคนี้จะเป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีกล้อง IMAX 3D ที่พัฒนาขนาดให้เล็กลงมากว่าเดิม เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ภาคนี้เอห์เรน ครูเกอร์ รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ต่อเช่นเดิม มีการเพิ่มดาราจีน ลี ปิงปิง มาในบทสมทบ และยังยกกองถ่ายไปถ่ายทำในฮ่องกง เพื่อหวังเจาะตลาดในประเทศจีน แต่ก็ประสบปัญหาในระหว่างถ่ายทำ เมื่อกองถ่ายต้องปิดถนนและจ่ายค่าชดเชยให้กับร้านค้าสองข้างทาง แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับพี่น้องมัก ที่เปิดร้านขายแอร์บนถนนนั้น เขาต้องการเงินชดเชยจำนวน 100,000 เหรียญฮ่องกง เบย์ ตอบกลับไปว่า “ลืมไปได้เลย” ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับพี่น้องมัก ถึงกับเอาเครื่องแอร์มาทุ่มใส่เบย์ แต่เบย์ก็หลบได้ทน พี่น้องมักโดนรวบตัวเข้าคุก อัยการฮ่องกงแถลงว่ากรณีนี้ส่งผลให้กับภาพลักษณ์ของเกาะฮ่องกง และมีผลกระทบกับกองถ่ายภาพยนตร์ที่จะมาใช้สถานที่ถ่ายทำในอนาคต

ภาคนี้ได้ทุนสร้างลดลงมาเหลือ 165 ล้านเหรียญ แต่รายได้ก็ยังทะลุพันล้าน มาจบที่ 1,104 ล้านเหรียญ เป็นรองแค่ภาค Transformers: Dark of the Moon (2011) ส่วนคะแนนจากนักวิจารณ์หล่นฮวบอีกครั้งมาอยู่ที่ 18% ในเว็บrottentomatoes นักวิจารณ์บอกว่า”มาถึงภาคที่ 4 ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หนังยังคงตอบสนองแฟน ๆ ที่ชอบเสียงดัง เน้นสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ เน้นฉากแอ็คชั่น ซึ่งน่าจะพึงพอใจไปตาม ๆ กัน”

 

The Last Knight (2017)


ยกเครื่องใหม่อีกครั้งสำหรับภาคนี้ พาราเมาท์อยากผลักดันให้ ทรานส์ฟอร์เมอร์ส มีจักรวาลของตัวเอง และสานภาคต่อไปได้ยาว ๆ แบบ สตาร์วอร์ส ที่มีทั้งภาคต่อและภาคแยก อยากให้ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส มีจักรวาลตัวเองแบบมาร์เวลบ้าง พาราเมาท์ค่อนข้างจริงจังถึงกับจ้างนักเขียนบททีมใหญ่ ไม่มีเอห์เรน ครูเกอร์ มาร่วมด้วยแล้ว แต่หัวเรือใหญ่เป็น อกิวา โกลด์สแมน มือเขียนบทรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind (2001) เพื่อให้มาวางแผนการทำภาคต่ออย่างที่ เจมส์ คาเมรอน สร้างภาคต่อให้ Avatar ได้ทีเดียว 3 ภาคเลย

อกิวา โกลด์สแมน ผู้คุมทิศทางอนาคตของ ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ต่อจากนี้

อกิวา โกลด์สแมน ก็รับหน้าที่ได้ดี ด้วยการรวบรวมนักเขียนบทภาพยนตร์แถวหน้าฮอลลีวู้ดถึง 12 คน เข้าห้องประชุมระดมสมองวางแผนทิศทางให้กับหนัง ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส สมาชิกที่น่าสนใจในทีมนี้ก็มี โรเบิร์ต เคิร์กแมน (The Walking Dead) , แกเบรียล เฟอร์รารี (The Ant Man), เจฟฟ์ พิงค์เกอร์ (The Amazing Spider-Man 2) , แซค เพนน์ (Pacific Rim: Uprising), อาร์ต มาร์คัม และ แมตต์ ฮาโลเวย์ (Ironman) นอกจากโครงการหนัง ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส อกิวา โกลด์สแมน ทั้ง 12 คนได้เสนอเรื่องราวของภาค 5 กันออกมา ไมเคิล เบย์ และ สตีเวน สปิลเบิร์ก ถูกใจอยู่ 2 เรื่อง ก็เลยจับเนื้อหาทั้ง 2 เรื่องนี้ยำรวมกันออกมาเป็นพลอตของภาค 5 นี้ และพลอตที่เหลือก็คงอยู่ในโครงการจักรวาลทรานส์ฟอร์เมอร์ส ที่จะมีทั้งภาคต่อ ภาคก่อนหน้า และภาคแยก ซึ่งคร่าว ๆ จะมีหนังทรานส์ฟอร์เมอร์สออกมาในอนาคตอีก 14 เรื่อง

บรรยากาศในห้องประชุมมือเขียนบทภาค 5

อกิวา โกลด์สแมน ยังรับหน้าที่เปิดห้องประชุมนักเขียนสำหรับโครงการหนัง Micronauts อีกหนึ่งแฟรนไชส์ของเล่นหุ่นยนต์ของบริษัท ทาการะ และ GI:Joe ด้วย และมอบหมายหน้าที่เขียนบท The Last Knight ให้กับ อาร์ต มาร์คัม และ แมตต์ ฮอลโลเวย์ มีเคน โนแลน จาก Black Hawk Down มาเสริมทัพ ดูรายชื่อทีมแล้วน่าจะดูดีนะ แต่ผลตอบรับแรกจากนักวิจารณ์กลับลงเหวเช่นเดิม คะแนนเปิดตัวที่ Rottentomatoes ได้ตัวเลข 18%อีกแล้ว (รู้สึกทรานส์ฟอร์มเมอร์สชอบเลขนี้จัง) เสียงวิจารณ์โดยรวมบอกว่า “อึกทึกคึกโครมเช่นเดิม แต่พลอตกับแผ่วบาง และการโชว์สเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ที่ใหญ่โต ผลรวมค่อนข้างห่างไกลจากที่คาดหวังไว้มาก” ไมค์ ไรอัน จาก Uproxx สื่ออังกฤษ ให้คำวิจารณ์ไว้อย่างเจ็บแสบว่า “Transformers The Last Knight เป็นหนังที่ทำร้ายเซลล์สมองคุณอย่างรุนแรง แต่ผมไม่แปลกใจหรอกนะว่าหนังมันจะออกมาแบบนี้ นี่ขนาดผมดูด้วยความระมัดระวังแล้วนะ แต่ผมมั่นใจเลยว่าถ้าคุณ ๆ ไปดู ได้เจ็บหัวสมอง กันแน่นอน ”

โลโก้อย่างเป็นทางการของหนัง BumbleBee

แต่ถึงเสียงวิจารณ์จะออกมาเลวร้ายแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้ว่า แฟรนไชส์หนังหุ่นยนต์ยังคงทำเงินต่อเนื่อง และน่าจะทะลุหลักพันล้านอีกเรื่อง และน่าจะขยายจักรวาลออกไปได้ตามที่พาราเมาท์คาดหวัง ซึ่งเรื่องถัดไปก็น่าติดตามเมื่อ ไมเคิล เบย์ ออกมาประกาศไว้แล้วตั้งแต่ มกราคม ว่า The Last Knight จะเป็นภาคสุดท้ายแล้วที่เขากำกับ แต่เขาอาจจะกลับมากำกับหนังภาคแยกสักเรื่องหนึ่งในอนาคตนี้ ก็น่าติดตามสำหรับอนาคตภาคต่อของทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ที่อยู่ในมือผู้กำกับอื่น ว่าจะออกมาในทิศทางแตกต่างอย่างไรบ้าง และจะถูกใจนักวิจารณ์มากขึ้นไหม แต่มองกันที่ใกล้ ๆ เรื่องถัดไปที่จะออกมาขยายจักรวาลทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ก็คือ “Bumblebee” หนังภาคแยกเจ้าหุ่นเหลืองที่เป็นตัวละครที่คนดูรักมาตั้งแต่ภาคแรก ภายใต้การกำกับของ ทราวิส ไนท์ จาก Kubo and the Two Strings (2016) ซึ่งเราจะได้ดูกันในปีหน้านี้ ส่วนในไทย The Last Knight เข้าฉายในวันที่ 22 มิถุนายน นี้