ต่อจากตอนที่แล้วนะครับที่ผมได้พูดถึงการนำเพลงโฟล์คมาใช้ในฉากแอคชั่นของหนังฮอลลีวู้ด ที่ถ้าให้เราลองนึกดูมันอาจจะดูไม่เข้ากันนะครับ สิ่งหนึ่งคือความละมุน อีกสิ่งหนึ่งคือ ความรวดเร็ว รุนแรง แต่พอนำมันมาใช้ด้วยกันผสมผสานเทคนิคทางภาพยนตร์เช่นการตัดต่อหรือการปรับสโลว์โมชั่นเป็นต้น มันกลับสร้างความลุ่มลึกให้กับเรื่องราวที่เรากำลังชมอยู่ตรงหน้าได้อย่างมหัศจรรย์
วันนี้ผมเลยจะยกตัวอย่างการใช้เพลงโฟล์คประกอบในฉากแอคชั่นของหนังร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ X-Men: Days of Future Past (2014) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ของภาพยนตร์ชุด X-Men เนื้อเรื่องกล่าวถึงการรวมตัวต่อสู้กับสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่า X-Men เพื่อหาทางเอาตัวรอดจากสายพันธุ์ที่มีอายุข้ามสองยุคสมัยโดยในการต่อสู้ครั้งนี้พวกเหล่า X-Men ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงอดีตเพื่อรักษาอนาคตเอาไว้
และในภาพยนตร์ก็ได้มีการย้อนไปยังปี 1973 ซึ่งในช่วงยุค 70s มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมายในอเมริกา ทั้งกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม การลอบสังหารประธานาธิบดี ปัญหาเศรษฐกิจ การเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม เป็นยุคแห่งบุปผาชน เป็นช่วงทศวรรษที่มีสีสันมาก และจากปัญหาต่างๆที่รายล้อมครอบคลุมเป็นบรรยากาศในยุคนั้นก็ได้ส่งผลงอกงามในทางศิลปะ ในยุคนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในยุคทองของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เพราะมีหนังดีๆที่เราควรดูไม่ว่าจะเกิดในยุคไหนก็ตาม เกิดขึ้นมากมายอาทิเช่น Taxi Driver (1976) กำกับโดย มาร์ติน สกอเซซี เล่าเรื่องของพ่อหนุ่มแท็กซี่อดีตทหารสงครามเวียดนาม ที่อยากจะเป็นฮีโร่ หนังสะท้อนภาพผลกระทบจากสงครามได้อย่างถึงอารมณ์และคมคาย , The Godfather (1972) ที่สุดแห่งหนัง Gangster หนังเรื่องนี้คือตำนานแห่งโลกภาพยนตร์โดยแท้จริง
X-Men: Days of Future Past ได้ผูกเรื่องราวให้เข้ากับเหตุการณ์ในยุค 70s โดยเลือกปี 1973 เป็นปีที่พวกเขาย้อนเวลากลับไป หนึ่งในการผูกเรื่องที่สำคัญคือ การให้ตัวละคร อีริค หรือ แม็กนีโต้ ถูกคุมขังด้วยข้อหาสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ และ โลแกน (วูล์ฟเวอรีน) กับ ชาร์ลส์ เซเวียร์ ต้องไปช่วยอีริคออกมา แต่การจะฝ่าด่านอรหันต์แห่งสุดยอดการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาไปให้ได้นั้นต้องใช้ยอดฝีมือ และคนที่พวกเขาต้องพึ่งพาในยามนี้ก็คือ ปิเอโตร ‘ปีเตอร์’ แม็กซิมอฟฟ์ หรือควิกซิลเวอร์ เด็กหนุ่มที่เคลื่อนไหวร่างกายได้รวดเร็วว่องไวจนใครๆ ก็ตามไม่ทัน
และในฉากที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของภาคนี้ก็คือ ฉากที่ ควิกซิลเวอร์ โชว์สกิลเด็ด ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจนเหมือนทุกอย่างรอบตัวถูกสตาฟไว้ ซึ่งเทคนิคทางภาพยนตร์ก็ได้ช่วยคลี่คลายขยายขอบเขตความสามารถของควิกซิลเวอร์ให้เราได้ประจักษ์ และที่สำคัญคือพ่อหนุ่มควิกซิลเวอร์ของเราต้องฟังเพลงไปด้วยในขณะปฏิบัติภารกิจ และนี่เองที่เป็นเหตุให้ในฉากนี้มีเพลงสำคัญเพลงหนึ่ง ซึ่งเป็นเพลงที่ถือได้ว่าเป็นเพลงดังแห่งปี 1973 เลยก็ว่าได้อีกทั้งบทเพลงนี้ยังเข้ากันได้ดีกับฉากนี้อย่างงดงามทั้งในท่วงทำนองและเนื้อหาของเพลง บทเพลงที่ว่านี้ก็คือ Time in a Bottle ของจิม โครเช่ (Jim Croce) นั่นเอง ว่าแล้วเราไปชมฉากนี้กันก่อนเลยดีกว่า
Jim Croce (จิม โครเช่) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงโฟล์คชาวอเมริกัน มีผลงานในช่วงปี 1966-1973 บทเพลงของจิมได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ เพลง Time in a Bottle จิม ได้แต่งขึ้นในปี 1972 หลังจากที่ภรรยาได้บอกข่าวดีว่า เธอกำลังตั้งท้องลูกของเขา เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม “Don’t Mess Around With Jim” หลังจากนั้นไม่นานในปี ค.ศ. 1973 จิมก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกเสียชีวิตด้วยวัยเพียง30ปี เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัยทั้งๆที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรืองของชีวิต ราวกับดอกไม้ไฟที่พุ่งไปบนฟ้าระเบิดความงามออกมาก่อนจะดับสลายหายไป เหลือเพียงร่องรอยความงามไว้ในความทรงจำของเรา
“If I could save time in a bottle
The first thing that I’d like to do
Is to save every day
Till Eternity passes away
Just to spend them with you”
หากสามารถเก็บรักษาเวลาไว้ในขวดแก้ว
สิ่งแรกที่ฉันอยากทำ คือ
เก็บรักษาทุกวันเวลา
ตราบจนนิรันดร์
เพียงเพื่อใช้วันเวลาเหล่านั้นกับเธอ
ราวกับเป็นบทเพลงที่เขาขับขานจากโลกหลังความตาย ราวกับเป็นคำกู่ร้องของ จิม ที่มีต่อคนที่รัก
“But there never seems to be enough time,
to do the things you want to do, once you find them..”
“แต่เวลานั้นไม่เคยพอ
ที่จะทำอะไรได้ดั่งใจต้องการ…”
เวลานั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล และดูเหมือนว่ามันไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการของเราเลย
มาฟังเพลงนี้แบบเต็มๆกัน
การที่บทเพลงนี้มาปรากฏในภาพยนตร์ร่วมสมัยอย่าง X-Men: Days of Future Past (2014) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับ “เวลา” (และในฉากที่เพลงนี้ปรากฏก็มีลูกเล่นของเรื่อง “เวลา” ด้วยเช่นกัน) ย่อมเป็นอะไรที่ลงตัวและงดงามยิ่ง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เพลงประกอบภาพยนตร์อย่างเปี่ยมไปด้วยสุนทรียรส ที่ทำให้เรารู้ว่าผู้สร้างได้มีการคิดและทำอย่างประณีตบรรจงแม้กระทั่งการเลือกเพลงประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหาและช่วงเวลาที่เรื่องราวกำลังดำเนินอยู่
ด้วยความงามของท่วงทำนองและถ้อยความที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย อันนำพาอารมณ์อันลึกซึ้งของผู้ถ่ายทอดบทเพลงออกมา บทเพลงนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงอมตะ ที่มิตรรักแฟนเพลงทั้งหลายยังคงเปิดฟังอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะพ้นผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก
Annie’s Song – OKJA
และ
Time in a Bottle – X-Men: Days of Future Past
ก็คือ
- การใส่เพลงโฟล์คที่มีท่วงทำนองสวยงามละมุนไปในฉากแอคชั่น มันเวิร์ค!!!
- ด้วยการที่เพลงช้า แต่ฉากแอคชั่นเร็ว การหาจุดตรงกลางของเรื่องนี้ก็คือ การทำสโลว์โมชั่นนั่นเอง
- และด้วยเหตุนี้มันจึงให้อารมณ์ที่ 3 ขึ้นมา เป็นสมการแบบ ช้าอ่อนหวาน เศร้า + เร็ว รุนแรง ดุเดือด = ความตลกแบบเสียดสี ใช่แล้วครับหากเราลองย้อนกลับไปดูฉากทั้งสองอีกรอบเราจะพบว่าสิ่งที่มีเหมือนกันก็คือ อารมณ์ตลกแบบไม่ใช่ขำก๊ากแต่เป็นตลกแบบแสบๆ ฮาๆ
- แต่จริงๆแล้วการใช้เพลงช้ากับฉากแอคชั่นอาจสร้างอารมณ์และความหมายแบบอื่นได้อีก เช่น ลองนึกดูว่าเป็นฉากสังหารหมู่สโลว์โมชั่น แล้วใส่เพลงโฟล์คเศร้าๆแบบ Time in a Bottle ลงไป มันจะยิ่งเศร้าขนาดไหน อาจทำให้คนดูซึมเศร้าไปเลยล่ะ
- แต่ถ้าหากเราไม่ทำแบบนี้ ลองนึกดูว่าหากในฉาก ควิก ซิลเวอร์นี้ ไม่ได้ใช้เพลงนี้ แต่เลือกใช้เพลงอื่นที่ดุเดือดเร้าใจ หรือ ใช้เป็นเสียงประกอบโช้งเช้งอย่างเสียงกระสุน น้ำพุ่ง จานแตก มันคงให้อารมณ์ไปในทางเดียว คือ ดุเดือด ระทึก แต่จากการที่เราเอาส่วนผสมที่แตกต่างกันมาปะทะกันมันจึงเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา และนี่ก็คือ ความมหัศจรรย์แห่งโลกภาพยนตร์
สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยเพลงเพราะๆ (เพลงอื่นๆอีก) จาก จิม โครเช่ นะครับ แล้วไว้พบกันใหม่
โชคดีครับ !!!
I’ll Have To Say I Love You In A Song
I Got a Name
Operator