วันนี้เป็นบทความแรกในคอลัมน์[PLAYLIST] นะครับ ซึ่งจะเป็นคอลัมน์ที่ผมจะแนะนำบทเพลงดีๆให้เพื่อนๆได้ฟังกัน โดยผมจะจัดหมวดหมู่เพลงให้มีความแปลกใหม่ แตกต่างกันไป ตามวาระและโอกาส ตามประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ เพื่อความสำเริงในอารมณ์ของการเสพย์ดนตรีในชุดเพลงที่ถูกร้อยเรียงไว้ด้วยเหตุผลและอารมณ์ที่ต่างกันออกไปครับ
สำหรับ [PLAYLIST] ในวันนี้ เพื่อเป็นการต้อนรับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือ วันอาสาฬหบูชา (อันเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม เนื่องจากในวันนี้ได้เกิดมีพระสงฆ์รูปแรกในบวรพุทธศาสนา คือ พระอัญญาโกณฑัญญะนั่นเอง) ที่ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2560 บางคนก็อาจจะใช้เวลาว่างในวันนี้กับการไปทำบุญ บางคนก็อาจจะไปปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆหรือบางคนอาจจะทำอยู่ที่บ้านก็ได้ บางคนก็อาจจะใช้เวลาในวันนี้ทำกิจกรรมต่างๆที่ดีต่อใจตามแต่ความชอบของแต่ละคนกันไป ซึ่งการได้ฟังเพลงดีๆนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากนะครับ เพราะมีหลายบทเพลงที่มีความงามในท่วงทำนองและเนื้อหาที่นอกจากจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจเราให้ได้รับความผ่อนคลายแล้วยังช่วยให้เราได้เข้าใจโลกใบนี้และชีวิตนี้ดีขึ้นอีกนะครับ ซึ่งเพลงประเภทนี้ผมขอเรียกว่า “เพลงแห่งการตื่นรู้” ก็แล้วกันครับ ซึ่งในวันนี้ผมก็ได้คัดมาเป็นจำนวน 5 เพลงด้วยกันต่างชาติ ต่างภาษา ต่างแนวดนตรีกันไป อย่างไรก็ลองฟังกันดูนะครับ ว่าไปแล้วเราก็ไปเริ่มกันที่เพลงแรกเลยดีกว่าครับ
1. What Ever will be will be
อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อย
แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และ ทำความเข้าใจ
หลายสิ่งเราควบคุมได้ หลายสิ่งเราควบคุมไม่ได้
เราห้ามให้สายฝนหยุดหลั่งรินไม่ได้
แต่เรากางร่มได้ นั่นคือสิ่งที่เราทำได้
อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด
Whatever Will Be Will Be (Que Sera Sera) เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Too Much กำกับโดย อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ประพันธ์โดย เจย์ ลิฟวิงสตัน และ เรย์ อีแวนส์ เนื้อหาสอดคล้องกับภาพยนตร์ ที่นางเอกในเรื่อง (รับบทโดย ดอริส เดย์ (Doris Day) ) ใช้ร้องส่งสัญญาณถึงลูกชายที่ถูกจับอยู่ในบริเวณสถานที่กักกัน
วลี “เคเซราเคเซรา” (Que Sera Sera) มาจากภาษาฝรั่งเศส ว่า “เกอเซอราเซอรา” (Que Sera Sera) หมายความว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดโดยต้นฉบับขับร้องโดย ดอริส เดย์ ซึ่งรับบทเป็นนางเอกของเรื่อง The Man Who Knew Too Much นั่นเอง และในไทยเคยนำมาขับร้องประกอบโฆษณาไทยประกันชีวิต
2.ทะเลใจ
“ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย
ใจในร่างกายกลับไม่เจอ
ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ
หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข”
บทเพลงที่แสนจะเรียบง่ายแต่ไพเราะจากคาราบาว ที่มีเนื้อหาเชิงปรัชญาอันลึกซึ้งว่าด้วยความทุกข์ของมนุษย์อันเกิดจากการไม่รู้ใจของตน เปรียบเหมือนกับการหลงเวียนวนอยู่ในทะเลใจอันกว้างใหญ่นั่นเอง
เพลงนี้ฟังซ้ำกี่ทีก็ไม่เบื่อ ผ่านวันและเวลาก็ยังคงไพเราะอยู่เสมอ อีกทั้งยิ่งได้ฟังตามวัยวันที่เปลี่ยนไปย่อมพอกพูนความเข้าใจที่มีต่อบทเพลงและชีวิตของเราได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น
ทะเลใจ เป็นเพลงที่แต่งและร้องโดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว อยู่ในอัลบั้ม พฤษภา ซึ่งเป็นอัลบั้มพิเศษที่ออกร่วมกับ อี๊ด ยิ่งยง โอภากุล พี่ชายฝาแฝด หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535
แอ๊ดใช้เวลาแต่งเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และเพลงนี้ยังได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาเพลงยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2535 อีกด้วย
3.Live and Learn
“เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป
มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน”
ความผันแปร คือ สัจธรรมของทุกสรรพสิ่งในโลก
ทุกสิ่งย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ตามเหตุและปัจจัย
เราห้ามการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราทำได้เพียงถนอมให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้
สิง่ที่เราทำได้ดีที่สุดกับเรื่องนี้ก็คือ เรียนรู้และยอมรับมัน
Live and Learn เป็นเพลงลำดับที่ 4 ในอัลบั้มชุด Million Ways to Love Part 1 (พ.ศ. 2547) ประพันธ์โดยบอย โกสิยพงษ์ ขับร้องโดยกมลา สุโกศล
บอย โกสิยพงษ์แต่งขึ้นจากคำสอนของคุณพ่อก่อนที่ท่านจะเสียไป
4.Let Her Go
You see her when you close your eyes
Maybe one day you’ll understand why
Everything you touch surely dies
But you only need the light when it’s burning low
Only miss the sun when it starts to snow
Only know you love her when you let her go
บทเพลงฮิตที่ทำให้เราได้รู้จักกับ Passenger หรือ ไมเคิล เดวิด โรเซนเบิร์ก นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษนั่นเอง
ผมฟังเพลงนี่กี่ทีก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นเพลงรักเลย (ถึงแม้ในเวอร์ชั่นอัลบั้ม มันจะมีท่อนอินโทรที่หวานแหววก็ตาม) ผมกลับรู้สึกว่ามันพูดถึงปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งด้วยท่าทีที่เรียบง่าย อันว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติของสรรพสิ่งคือการเกิด ดับนั่นเอง
โดยเป็นการเรียนรู้ผ่านสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน เช่น เราจะรู้ได้ว่าที่นี่มันมืด เพราะไร้แสงไฟ จะรู้ว่าเราเตี้ยถ้าไปยืนเทียบกับคนที่สูงกว่า ซึ่งถ้ามนุษย์ทุกคนบนโลกสูงเท่ากันมันก็จะไม่มีคำว่าเตี้ย-คำว่าสูงเลย คู่ตรงข้ามคือสิ่งที่มนุษย์เรามองโลกใบนี้และเรียนรู้ผ่านมันนั่นเอง
และเพลงนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงอีกบทเพลงที่ใช้วิธีการเขียนเพลงโดยเล่าเรื่องผ่านคู่ตรงข้ามเช่นกัน นั่นก็คือเพลง Cannonball ของ แดเมียน ไรซ์ นั่นเอง ดังเช่นในท่อนนี้ครับ
“Stones taught me to fly
Love ‒ it taught me to lie
Life taught me to die
So it’s not hard to fall
When you float like a cannon”
(เพลงนี้ถือว่าแถมให้นะครับ เพราะเพลงพีเค้าลึกจริง จนผมก็ไม่อาจเคลมได้ว่าเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าพี่เค้าต้องการสื่ออะไรนะครับ 55)
5. Enlightenment
ทุกเวลานาที เคลื่อนผ่านหมุนเวียนเปลี่ยนไป
การตื่นรู้คืออะไร
การตื่นรู้คืออะไร
บทเพลงอันลุ่มลึกจาก แวน มอร์ริสัน ( Van Morrison ) นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซน (Zen)
Enlightenment เป็นบทเพลงที่เหมาะจะใช้เป็นบทเพลงปิดท้ายบทความนี้จริงๆ ด้วยเนื้อหาของเพลงนี้แทบจะสรุปเอาหัวใจของพุทธศาสนานิกายเซนมาไว้เลย ไม่น่าเชื่อที่ฝรั่งตะวันตกอย่างแวน มอร์ริสัน จะแต่งเพลงที่สะท้อนปรัชญาตะวันออกได้อย่างลุ่มลึกเช่นนี้
Enlightenment. don’t know what it is
It’s up to you
Enlightenment. don’t know what it is
It’s up to you everyday
Enlightenment, don’t know what it is
It’s always up to you
Enlightenment, don’t know what it is
It’s up to you, the way you think
ไม่รู้หรอกว่า การตื่นรู้คืออะไร
รู้แต่เพียง มันขึ้นอยู่กับเรา
การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรา
และ ความคิดของเรา นั่นเอง
“the way you think”
ที่กล่าวถึงในบทเพลงนี่คือการสะท้อนถึง “สัมมาทิฏฐิ – ความเห็นชอบ” อันเป็นหนึ่งในมรรค 8 ที่เป็นบาทฐานแห่งการกระทำของมนุษย์เราที่สามารถนำพาเราไปสู่การหลุดพ้นห้วงแห่งทุกข์ได้เลย ความคิดความเห็นนั้น ถ้าคิดถูกทางสิ่งที่ตามมาก็จะถูกทาง หากคิดเห็นในทางผิดก็จะเดินทางผิด ดังนั้น “ความคิด” นี่ล่ะ คือหัวใจของการกระทำของมนุษย์เรานั่นเอง
ก็คงพอหอมปากหอมคอนะครับสำหรับการแนะนำเพลงในคอลัมน์ [PLAYLIST] คราวนี้ ส่วนคราวหน้าผมจะมาแนะนำบทเพลงตามเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไปนะครับ ก็ขอให้เพื่อนๆทุกคนมีความสุขกับการฟังเพลงและสนุกกับการเรียนรู้ในชีวิตนี้ของเรานะครับ
โชคดีครับ !!!