ภาพยนตร์คือสื่อบันเทิงที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่ายที่สุด ทั้งภาพและเสียงอันตื่นตาตื่นใจบอกเล่าความไปของโลกที่มีทั้งคุ้นเคยและแปลกใหม่ปะปนกันไป และแน่นอนในเมื่อสื่อภาพยนตร์คือสื่อที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของคนเขียนทั้งนิยายและบทหนังต้นฉบับ ดังนั้นความคิดและทัศนคติของผู้เขียนจึงแอบซ่อนอยู่ในหนัง เพื่อยั่วเย้าให้คนดูคิดมากอย่างเราได้ตีความกัน และหนึ่งในหนังฟอร์มยักษ์ที่จะมาถล่มโรงในสัปดาห์นี้อย่าง War for The Planet of the Apes หนึ่งในหนังชุดพิภพวานร ที่แอบแฝงประเด็นการเมืองที่น่าสนใจ จน WHAT THE FACT อยากชวนทุกท่านมาย้อนรอยดูว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี หนังชุดพิภพวานรได้วิพากษ์เหตุการณ์ทางการเมืองอะไรไปบ้าง

การเมืองเข้มข้นมาตั้งแต่นิยายต้นฉบับ

La Planète des Singes
หรือ Planet of the Apes ฉบับนิยายโดย ปิแอร์ บูเล

ในปี 1963 ปิแอร์ บูเล (Pierre Boulle) เขียนนิยายเรื่อง La Planète des Singes   หรือ พิภพวานร (Planet of the Apes)  ได้นำเหตุการณ์ความรุนแรงจากสงครามประกาศเอกราชของประเทศอัลจีเรีย ในสมัยประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ของฝรั่งเศสที่มุ่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นจนเกิดความตึงเครียดไปทั่วโลก มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องราวในนิยายที่ว่าด้วย นักบินอวกาศที่ยานไปตก ณ. ดวงดาวลึกลับซึ่งปกครองโดยเหล่าวานรก่อนจะพบความจริงอันชวนหดหู่ในตอนท้าย เพื่อสะท้านความหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกในยุคสงครามเย็นได้อย่างคมคาย

เหตุการณ์เรียกร้องเอกราชของอัลจีเรียสมัย ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของนิยาย

Planet of the Apes ฉบับปี 1968 หนังไซไฟที่กลายเป็นสมบัติอนุรักษ์ของชาติ

Planet of the Apes หรือ พิภพวานรต้นฉบับ ได้ ชาร์ลตัน เฮสตัน ดาราดังแห่งยุคมานำแสดง หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งรายได้และคำวิจารณ์

Play video

ในปี 1968 บริษัท 20th Century Fox นำ Planets of the Apes หรือ พิภพวานร ออกฉาย หนังกำกับโดย แฟรงคลิน เจ แชฟเนอร์ (Franklin J. Schaffner)และนำแสดงโดย ชาร์ลตัน เฮสตัน ดาราดังแห่งยุค โดยได้ รอด เซอร์ลิง (Rod Serling) และ ไมเคิล วิลสัน (Michael Wilson) มาดัดแปลงบทหนังเพื่อให้เข้ากับบริบทการเมืองในอเมริกาทั้ง สงครามเวียตนามในยุคประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เหตุการณ์มาร์ติน  ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักเรียกร้องสิทธิคนผิวสี ถูกลอบสังหาร และยังบอกเล่าเรื่องราวการคอรัปชั่นในระดับผู้บริหารประเทศแทรกเข้าไปในเรื่องราวซับพลอตของกลุ่มวานร  เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยได้อย่างคมคาย จนโดนใจทั้งคนดูและนักวิจารณ์ จนหนังประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างงดงาม นอกจากนี้หนังยังได้รางวัล ออสการ์เชิดชูเกียรติสาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม และในปี 2001 หนัง Planets of the Apes ได้ขึ้นทะเบียนเป็นภาพยนตร์ในอนุรักษ์ ของชาติโดยสภาภาพยนตร์อเมริกันอีกด้วย

สงครามเวียตนามสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และ การลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ส่งอิทธิพลต่อบทหนัง Planet of the Apes

นอกจากนี้ความสำเร็จของหนังยังทำให้มีภาคต่อถึง 4 ภาคในฉบับภาพยนตร์ ได้แก่ Beneath the Planet of the Apes (1970), Escape from the Planet of the Apes (1971), Conquest of the Planet of the Apes (1972) และ Battle for Planet of the Apes (1973)

 

ความสำเร็จของหนังยังทำให้มีภาคต่อถึง 4 ภาคได้แก่ Beneath the Planet of the Apes (1970), Escape from the Planet of the Apes (1971), Conquest of the Planet of the Apes (1972) และ Battle for Planet of the Apes (1973)

สานต่อความสำเร็จ ในฉบับ ซีรีส์ และการ์ตูน

Planet of the Apes ฉบับซีรีส์

Play video

ด้วยความสำเร็จของภาพยนตร์ชุด Planet of the Apes สถานี CBS ได้ผลิตซีรีส์ Planet of the Apes ออกอากาศในปี 1974 จำนวน 14 ตอน โดยเล่าเรื่องของนักบินอวกาศจากศตวรรษที่ยี่สิบสองคน ได้เดินทางผ่านไทม์วาร์ปสู่โลกอนาคตที่วานรปกครองมนุษย์ และพยายามหาทางเอาตัวรอดโดยได้รับความช่วยเหลือจากวานรที่เป็นมิตรกับพวกเขา โดยซีรีส์ถูกวิจารณ์ว่าเดินเรื่องได้ค่อนข้างราบเรียบไร้แง่มุมการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เป็นจุดเด่นในฉบับภาพยนตร์แต่อย่างไรก็ตามมีอยู่ตอนหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสร้างแก๊สพิษและจริยธรรมในการใช้อาวุธสงคราม ซึ่งประเด็นดังกล่าวล่อแหลมจน CBS ไม่กล้าออกอากาศในช่วงคดีวอเตอร์เกตของนิกสันกำลังสะเด็ดน้ำ และการประท้วงสงครามเวียตนามได้เดินทางมาถึงจุดแตกหัก

Return To The Planet Of The Apes อนิเมชั่นซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวในพิภพวานรแบบการ์ตูน

Play video

สำหรับฉบับอนิเมชั่นซีรีส์ ใช้ชื่อ Return to Planet of the Apes  จำนวน 13 ตอน ออกอากาศปี 1975 ทางสถานี NBC โดยเล่าเรื่องของนักบินอวกาศ 3 คนที่เดินทางไปยังโลกที่วานรปกครองและพยายามกอบกู้อิสรภาพให้มนุษย์โลก แต่ Return to Planet of the Apes ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักจนถูกยกเลิกในที่สุด

ฉบับรีเมคโดยเจ้าพ่อแฟนตาซีมืดหม่น

Planet of the Apes ฉบับรีเมคของ ทิม เบอร์ตัน ที่ได้ มาร์ค วาห์ลเบิร์ก นำแสดง แต่หนังไม่ประสบความสำเร็จด้านเสียงวิจารณ์นัก

Play video

ในปี 2001 เจ้าพ่อหนังแฟนตาซีมืดหม่นอย่าง ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ได้รีเมค Planet of the Apes  โดยได้ มาร์ค วาห์ลเบิร์ก ทิม รอธ และ พอล เกียอาแมตติ มานำแสดง โดยวานรฉบับนี้ยังเป็นการใช้เทคนิคเมคอัพแต่งคนให้เป็นลิงและส่งนักแสดงไปเรียนในโรงเรียนฝึกสอนลิงเพื่อความสมจริง  แต่ผลลัพธ์หลังหนังออกฉายกลับกลายเป็นหายนะ ทั้งเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์และคนดูโดยเฉพาะแฟนของหนัง พิภพวานรต้นฉบับที่ผิดหวังกับบทหนังที่เต็มไปด้วยช่องโหว่และเลวร้ายสุดคือการเปลี่ยนรายละเอียดตอนจบที่พยายามจะสร้างความแตกต่างจากหนังต้นฉบับแต่ไม่เวิร์คเอาเสียเลย

ฉบับรีบูต ที่มาพร้อมแรงบันดาลใจจากการเมืองโลก

Rise of the Planet of the Apes กับการสะท้อนเหตุการณ์อาหรับสปริง

Play video

10 ปีหลังฉบับรีเมค หนังฉบับ รีบูตเรื่อง Rise of the Planet of the Apes ก็ออกฉายในปี 2011 หนังได้ รูเพิร์ต ไวแอตต์ (Rupert Wyatt) มากำกับปฐมบทของไตรภาคก่อนเหตุการณ์ในหนังต้นฉบับเล่าเรื่องของ วิล ร็อดแมน (เจมส์ ฟรังโก) นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นยารักษาอาการอัลไซเมอร์ ที่เป็นต้นเหตุของไข้หวัด ซีเมียนฟลู (Simian Flu)โดยเขาทดลองกับวานรที่ชื่อ ซีซาร์ ซึ่งผลจากยาทำให้มันฉลาดขึ้นและเริ่มแผนปฏิวัติปลดแอกเหล่าวานรในห้องทดลอง  โดยฉากที่แสดงบริบทการเมืองชัดเจนที่สุดคือฉากที่ซีซาร์ตอบมนุษย์ที่มาทำร้ายมันว่า “No” หรือ “ไม่” เพื่อบ่งบอกถึงการปฏิเสธที่จะยินยอม ซึ่งด้วยความที่หนังฉายในปี 2011 หลังเหตุการณ์สำคัญของโลกคือการปฏิวัติดอกมะลิ หรือ อาหรับสปริง ปรากฎการณ์โค่นผู้นำเผด็จการของประเทศในตะวันออกกลางที่เบ่งบานตั้งแต่ปี 2010 ทำให้เหล่าวานรเป็นตัวแทนผู้ถูกกดขี่จากเหล่าเผด็จการนั่นเอง โดยจุดเด่นของวานรฉบับนี้คือการใช้เทคโนโลยี โมชั่นแคปเจอร์ในการถ่ายทำโดยได้นักแสดง แอนดี้ เซอร์กิส ที่เคยแสดงเป็นต้นแบบให้ตัวกอลลั่มใน The Lord of the Rings มาถ่ายทอดจิตวิญญาณของซีซาร์

เทคนิคโมชั่นแคปเจอร์ ถูกนำมาใช้สร้างตัวละคร วานรใน Rise of the Planet of the Apes

Dawn of The Planet of the Apes ภาคต่อกับบทที่สนับสนุนนโยบายควบคุมอาวุธปืน

Play video

สำหรับ Dawn of the Planet of the Apes ภาคต่อในฉบับรีบูธ ออกฉายปี 2014 กำกับโดย แมต รีฟส์ (Matt Reeves) โดยเล่าเหตุการณ์ 10 ปีให้หลังจากหนัง Dawn of the Planet of the Apes เมื่อไข้หวัดซีเมียน ฟลู ได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากมาย และสถานการณ์ก็บีบให้มนุษย์และวานรเข้าสู่สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์  โดยหนังมีสาระสำคัญในตอนต้นเรื่องเมื่อตัวละครลิงอย่าง ซีซาร์ (แอนดี้ เซอร์กิส) พูดประโยค “No Gun” หรือ “ห้ามใช้ปืน” เพื่อส่งเสริมนโยบายควบคุมปืนที่เป็นประเด็นร้อนในการเมืองสหรัฐอเมริกา และเนื้อหายังวิพากษ์วิจารณ์และกระตุ้นให้คนดูถกเถียงว่า สันติภาพต้องมาจากสงครามจริงหรือ หลังสหรัฐอเมริกาทำสงครามยืดเยื้อในตะวันออกกลางมาเป็นเวลานาน

Play video

เราคงติดตามชมว่าคราวนี้บทหนังจะสะท้อนการเมืองโลกแง่มุมไหน สำหรับ War for The Planet of the Apes ที่จะฉายวันที่ 13 กรกฎาคมนี้

Play video

ส่วนภาพยนตร์ War for the Planet of the Apes จะเล่าถึงมหาศึกระหว่างมนุษย์และวานรโดยมี เด็กสาววัยบริสุทธิอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ ซี่งเราต้องไปพิสูจน์กันว่า หนังจะนำเหตุการณ์การเมืองโลกใดมาวิพากษ์วิจารณ์กระตุ้นต่อมความคิดเราอีก

ข้อมูลอ้างอิง Where to Watch