หนึ่งในวิวัฒนาการด้านเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ ที่รุดหน้าไปมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคืองาน “โมชั่นแคปเจอร์” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โมแคป” คือการให้ตัวละครที่สร้างมาจากภาพ CGI ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาว ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติกว่าที่ผ่านมา ด้วยการให้ตัวละคร CGI เชื่อมต่อกับนักแสดงที่สวมชุดพิเศษและมีเซนเซอร์ติดอยู่ตามข้อต่อบนร่างกาย คอ ข้อศอก เอว หัวเข่า โดยให้ดาราที่สวมชุดนั้นแสดงไปตามบทบาทจริง ผ่านกล้องหลายตัวที่บันทึกรอบตัว และบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวไปเชื่อมต่อเข้ากับตัวละคร CGI
ในขั้นตอนต่อไป เหล่าผู้เชี่ยวชาญงานภาพเทคนิคพิเศษจึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี “โมแคป” กันมาอย่างต่อเนื่องมีการค้นพบเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในหนังฮอลลีวู้ดแทบทุกปี และหนึ่งในหนังที่วงการยกให้ว่าเป็นหนังที่ใช้เทคนิค”โมแคป” ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดคือ ไตรภาค “Planet Of The Apes” ก่อนที่จะชมภาคล่าสุด “War For The Planet Of The Apes” ผู้เขียนจะมาเล่าวิวัฒนาการแบบรวบรัดเข้าใจง่าย ๆ ให้อ่านกัน
ผู้สร้างหนังพยายามคิดค้นเทคนิค”โมแคป”กันมาตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้ว โดยคนแรกคือช่างภาพชื่อ เอ็ดเวียร์ด มายบริดจ์ ที่ทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของมนุษย์และสัตว์ด้วยการถ่ายภาพนิ่งแบบต่อเนื่อง (Stop-Motion Photography) เทคนิคของเขาถูกนำไปพัฒนาต่อโดย แมกซ์ ฟลีเชอร์ ซึ่งลงทุนประดิษฐ์กล้องชื่อ “Rotroscope”ขึ้นมาสำเร็จในปี 1915 กล้องนี้จะถ่ายการเคลื่อนไหวของมนุษย์หรือสัตว์ทีละภาพแล้วส่งภาพมาบนกระดาน ซึ่งนักเขียนการ์ตูนก็จะร่างลายเส้นตามภาพบนกระดานนั้นเพื่อสร้างภาพการ์ตูนที่มีการเคลื่อนไหวได้สมจริงขึ้น วอลต์ดิสนีย์ ก็ได้นำเทคนิคนี้ไปใช้ใน “สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด” ปี 1938 เทคนิค “โรโทรสโคป”อยู่กับฮอลลีวู้ดมายาวนานมาก หนังอมตะหลาย ๆ เรื่องก็ใช้เทคนิคนี้ “Starwars” ไตรภาคแรก Alice in Wonderland(1978) แม้กระทั่ง “The Lord Of The Rings”ที่ใช้เทคนิคCGI ก็ยังคงพัฒนามาจากพื้นฐานการทำงานของ “โรโทรสโคป” นี่เอง
เทคนิค “โมแคป” ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับหลาย ๆ วงการไม่เพียงแต่วงการภาพยนตร์ ในงานการแพทย์ก็ได้นำไอเดียการทำงานของโมแคปไปศึกษาและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิต “อวัยวะเทียม” ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วงการวีดีโอเกมก็เช่นกันที่ทำการพัฒนาโมแคปมาใช้กับภาพในวีดีโอเกม ให้ละเอียดและสมจริงถูกใจผู้เล่นมากยิ่งขึ้น
ในวงการภาพยนตร์ทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ต่างก็นำโมแคปไปพัฒนาต่อในหนังของแต่ละคน ,จอห์น ดิคสตรา ผู้เชี่ยวชาญภาพสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ เป็นคนแรก ๆ ที่ประกาศว่าเขาพัฒนาภาพโมแคปมาใช้ในงานสตันท์ได้สำเร็จ ในหนัง “Batman Forever(1995) ใช้โมแคปมาสร้างภาพแทน วาล คิลเมอร์ ในบทแบทแมนในฉากสตันท์ ซึ่งต่อยอดให้ผู้กำกับระดับแนวหน้าอีกหลายคนเอาไปใช้ในหนังดัง ๆ ของตัวเอง เจมส์ คาเมรอน ก็เอามาใช้ใน “Titanic(1997)” , ริดลีย์ สกอตต์ ก็ใช้ใน “Gladiator(2000)” และจอร์จ ลูคัส ก็ก้าวกระโดดอีกทีในหนัง Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999) ด้วยการให้ “อาห์เม็ด เบสต์” รับบทเป็น จาร์จาร์บิงค์ ด้วยการสวมชุดพิเศษและแสดงร่วมกับนักแสดงอื่นเป็นครั้งแรก
ส่วนหนังเรื่องแรกที่ใช้ตัวแสดงทั้งหมดเป็น โมแคปจริง ๆ คืออนิเมชั่นเรื่อง Sinbad: Beyond the Veil of Mists’ of 2000 ที่ใช้นักแสดง 2 ชุด ชุดแรกใส่ชุดโมแคปแล้วก็แสดงกันไป อีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ให้เสียงพากย์ แต่หนังกลับไม่เป็นที่รู้จักเลย
พัฒนาการของ “โมแคป” รุดหน้าจนเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งกับตัว “กอลลัม” จากฝีมือการแสดงในชุดโมแคปของ แอนดี้ เซอร์คิส ใน “The Lord of the Rings (1999)” เป็นเทคนิคที่ผ่านการคิดค้นของ ปีเตอร์ แจ็คสัน และ”WETA”บริษัทผู้รับผิดชอบด้านสเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ของเขาเอง
ขั้นตอนในการสร้างภาพ กอลลัม นั้นยุ่งยากมาก ทีมงานต้องถ่ายฉากเดิม ๆ กันถึง 3 รอบ ,รอบแรก แอนดี้ เซอร์คิส จะเข้าฉากแสดงพร้อมกับนักแสดงร่วมคนอื่น ๆ ในชุดปกติ , รอบสองนักแสดงอื่น ๆ เข้าฉากแสดงกันไปแต่ไม่มีแแอนดี้ เซอร์คิส , และรอบสุดท้ายเหลือ แอนดี้ เซอร์คิส สวมชุดโมแคปแสดงเพียงคนเดียวในสตูดิโอของ WETA ที่มีกล้องตั้งรอบห้องถึง 25 ตัว กล้องทุกตัวจะยิงแสงอินฟาเรดมาที่ชุดโมแคป แสงอินฟาเรดจะสะท้อนจุดที่ติดอยู่ตามข้อต่อบนชุดกลับไปเป็นสัญญานบันทึกลงเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ แล้วเจ้าหน้าที่ฝ่าย 3D ก็จะสร้างภาพเรนเดอร์ตัวกอลลัมให้อิงการเคลื่อนไหวจากข้อมูลนี้ แต่ในยุคไตรภาค The Lord of the Rings เทคนิคโมแคป ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นเก็บการแสดงออกทางสีหน้าได้ ทีมงาน CGI ยังต้องสร้างภาพหน้าตาตัวละครขึ้นมาเองโดยอิงจากวีดีโอที่บันทึกการแสดงของแอนดี้ เซอร์คิส
ปี 2004 โรเบิร์ต เซเมคคิส ผู้กำกับชื่อดังจาก “Forrest Gump” โดดมาร่วมวงโมแคปด้วยการสร้างหนัง “Polar express” เป็นอนิเมชั่นทั้งเรื่อง ได้ ทอม แฮงค์ มารับบทนำและพากย์เสียง โรเบิร์ต เซเมคคิส ค่อนข้างจริงจังกับโมแคป ถึงกับสร้างหนังด้วยเทคนิคโมแคปติดต่อกัน 3 เรื่อง เขาสร้าง “Beowulf” ออกมาในปี 2007 และปิดท้ายด้วย”A Christmas Carol” ออกมาในปี 2009
ปีเตอร์ แจ็คสัน กลับมาพัฒนาเทคนิค”โมแคป” ต่อในปี 2005 กับผลงาน “KingKong” รอบนี้เขาใช้โมแคปบันทึกการแสดงออกทางหน้าตาได้แล้ว รอบนี้ทีมงานติดตัวส่งสัญญานไว้บนกล้ามเนื้อหน้าทุกจุดของแอนดี้ เซอร์คิส ผู้มารับบทเป็นคิงคอง จากจุดนี้ไปตัวละครโมแคปก็จะถ่ายทอดการแสดงทางสีหน้าจากนักแสดงได้ตามจริงแล้ว เทคนิคนี้ถูกส่งต่อให้กับทีมงาน “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest(2006)” จะเห็นได้ชัดกับตัวละคร เดวี โจนส์ ที่รับบทโดย บิล ไนฮี
เทคนิค”โมแคป” ถูกพัฒนาต่อเนื่องถึงขั้นเก็บความเคลื่อนไหวจากผู้แสดงสวมชุดได้อย่างละเอียด และถูกถ่ายทอดมาถึงตัวละคร CGI ได้อย่างสมบูรณ์ในหนังอนิเมชั่น “Happy Feet(2006)” เรื่องของแก๊งเพนกวินเท้าไฟผู้รักการเต้น หนังใช้ เซเวี่ย โกลเวอร์ นักเต้นแทปมืออาชีพมาสวมชุดโมแคปและเก็บรายละเอียดมาถ่ายทอดลงบนตัวการ์ตูนเพนกวินเท้าไฟได้อย่างสนุกสนานจนหนังคว้าออสการ์ภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมได้ในปีถัดไป
เทคนิค”โมแคป” ก้าวกระโดดอีกครั้ง เมื่อมีชื่อนี้เข้ามาร่วมด้วย “เจมส์ คาเมรอน” เป็นผู้กำกับรายแรกที่นำเอาเทคนิคกล้องติดบนใบหน้านักแสดงเพื่อเก็บความเคลื่อนไหวของสีหน้ากันอย่างละเอียดในหนัง “Avatar(2009)” ยังไม่แค่นั้น คาเมรอน ยังคิดค้นเทคนิคที่ชื่อว่า “เวอร์ชวล คาเมรา” ที่ส่งสัญญานการเคลื่อนไหวของนักแสดงจริงไปที่ตัวละครCGI ได้ในขณะเดียวกัน ด้วยเทคนิคนี้ทีมงานสเปเชียลเอฟเฟคต์ ไม่ต้องนำข้อมูลการเคลื่อนไหวไปใส่ลงกับตัวละคร CGI อีกต่อไปแล้ว แต่ตัวละคร CGI จะเคลื่อนไหวไปพร้อมกับนักแสดงให้ผู้กำกับได้เห็นภาพจริงเดี๋ยวนั้นเลย
แอนดี้ เซอร์คิส กลับมามีบทบาทในโลกโมแคปอีกครั้ง เมื่อเขาโดดมามีส่วนร่วมในหนัง ‘Rise Of The Planet Apes(2011)” เป็นหนังที่ถูกกล่าวขวัญว่าเป็นการใช้เทคนิค”โมแคป”ได้อย่างทะเยอทะยานที่สุด เพราะใช้ตัวละครโมแคปมากที่สุดเพื่อมารับทบทเหล่าวานร และเมื่อมาถึงจุดนี้ ทำให้ แอนดี้ เซอร์คิส ถูกยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในวงการ “โมแคป” เพราะเขามีประสบการณ์การแสดงผ่านเทคนิค”โมแคป”ที่ประสบความสำเร็จที่สุดแล้วทั้งบท กอลลัม , คิงคอง และ ซีซาร์ แอนดี้ นำประสบการณ์ทางด้านโมแคปทั้งหมดของเขาร่วมกับเพื่อนผู้อำนวยการสร้างโจนาธาน คาเวนดิช เปิดบริษัท “อิมเมจินาเรียม” เพื่อรับทำงานสร้างภาพโมแคปโดยเฉพาะ เขาได้มีส่วนในหนังทุนสูงมากมายอย่างเช่น ฮัลค์ ใน The Avengers 2 , Ted และ The Hobbit
มาถึงวันนี้ War For The Planet Of The Apes อยู่ในจุดที่ว่าพาเทคนิค”โมแคป” มาได้ไกลสุดแล้วในโลกภาพยนตร์ เสียงจากรอบสื่อต่างก็ชื่นชมว่างาน CGI ของหนังละเอียดและเป็นจุดหนึ่งที่น่าชื่นชมของหนังภาคนี้ นักแสดงที่ต้องสวมบทเหล่าวานรจะต้องผ่านเวิร์คชอปเลียนแบบท่าลิงกันอย่างเข้มข้นใน “โรงเรียนวานร” ที่ติวเข้มเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันเทคนิคโมแคปก็พัฒนาเพื่อถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของนักแสดงออกมาได้อย่างละเอียดสุดในทุกการเคลื่อนไหว รอพิสูจน์พัฒนาการวิทยาการโมแคปขั้นสุดของวันนี้ใน “War For The Planet Of The Apes” หนังเข้าฉาย 13 กรกฎาคม นี้ครับ
ข้อมูลจาก screencrush.com