14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เสียงปืนดังขึ้น ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของเหล่าประชาชนชาวปารีสที่กำลังเรียกร้องความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ คุกบาสติลสัญลักษณ์แห่งการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบได้ถูกทำลายลง การปฏิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และในกาลต่อมาวันนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันชาติฝรั่งเศส”
ฝรั่งเศสถือได้ว่าเป็นชาติที่มีความรุ่งเรืองทางความคิด ศิลปะและวัฒนธรรม ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันฝรั่งเศสได้เป็นต้นธารแห่งความคิดและศิลปะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดที่เป็นต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย จิตรกรรมหรือดนตรีแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ภาพยนตร์แนวคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส งานศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี มากมายได้ก่อกำเนิดจากดินแดนแห่งนี้
[Playlist] ในสัปดาห์นี้จึงอยากแนะนำบทเพลงสุดไพเราะ 5 บทเพลง ที่มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนแห่งนี้ โดยใน 5 บทเพลงนี้มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งแนวดนตรีและศิลปิน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือความไพเราะ ความงาม และความโรแมนติค ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ ว่าแล้วเราไปเริ่มกันที่เพลงแรกเลยดีกว่าครับ
La Vie En Rose
ลาวีอองโรส หรือ “ชีวิตสีชมพู“ บทเพลงอมตะที่เปรียบเหมือนเพลงชาติของชาวฝรั่งเศส เป็นเพลงที่โด่งดังและถูกนำไปร้องไปเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลากหลายเวอร์ชั่น ด้วยความอ่อนหวานของท่วงทำนอง และเนื้อเพลงสุดโรแมนติคที่ฟังทีไรก็อดเคลิ้มฝันไปด้วยไม่ได้ จึงทำให้บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงในดวงใจของใครหลายคน
ต้นฉบับขับร้องโดยอีดิธ เปียฟแต่งทำนองโดย ลุยส์ กูกลิเอมี ส่วนคำร้องภาษาฝรั่งเศสแต่งโดยตัวเปียฟเอง เพลงนี้ออกเผยแพร่ครั้งแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในปี ค.ศ.1946
ก่อนที่จะมาเป็นนักร้อง อีดิธ เปียฟ มีเส้นทางชีวิตที่สุนแสดรันทดราวบทละคร แม้ขณะที่เธอโด่งดังแล้วก็ใช่ว่าอะไรจะเป็นไปดังความปรารถนาของเธอเสมอไป เสียงของเปียฟ เป็นเสียงที่กังวานส่องสว่างแต่ในขณะเดียวกันมันก็มีเงาของความเศร้าของผู้ที่ผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน และก็ด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้เสียงของเธอเป็นที่รักและหลงใหล และทำให้เธอได้กลายเป็นตำนานของฝรั่งเศสและของโลกใบนี้
ใครอยากรู้จัก อีดิธ เปียฟ มากขึ้นสามารถติดตามชมได้ในภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง La Môme หรือ La Vie En Rose ภาพยนตร์ชีวประวัติของเปียฟ ที่นำแสดงโดยมารียง กอร์ติยา และ กำกับโดย โอลิวิเยร์ ดาฮาน
Clair De Lune
แคลร์ เดอ ลูน แปลว่า “แสงจันทรา” เป็นบทเพลงคลาสสิคในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ อันเป็นดนตรีคลาสสิคที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานจิตรกรรมลัทธิประทับใจ หรือ อิมเพรสชั่นนิสม์นั่นเอง
ดนตรีคลาสสิคยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionist music) อยู่ในช่วงปี ค.ศ.1890-1910 อันเป็นยุคที่เชื่อมต่อกันกับดนตรีคลาสสิคยุคโรแมนติคอันเป็นดนตรีแห่งความสะเทือนอารมณ์ (ผู้ประพันธ์เพลงในยุคนี้ก็เช่น เบโธเฟน โชแปง ชูมานน์ เป็นต้น) ดนตรียุคอิมเพรสชั่นนิสม์มีนักประพันธ์ที่โดดเด่นคือ โคลด เดอบูซซี (Claude Debussy) นักประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศสผู้ริเริ่มดนตรีอิมเพรสชั่นนิสม์ (น่าสนใจที่ศิลปินผู้ให้กำเนิดงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็มีนามสกุลว่า โคลด เช่นกัน ซึ่งก็คือ โคลด โมเนต์ นั่นเอง) ลักษณะดนตรีของยุคอิมเพรสชั่นนิสม์เต็มไปด้วยจินตนาการ ฟุ้งฝัน ล่องลอยสงบนิ่งละมุนละไม ผู้ฟังจะรู้สึกเสมือนว่าได้สัมผัสกับบรรยากาศตอนรุ่งสางในกลุ่มหมอกที่มีแสงแดดอ่อนๆ สลัวราง ราวกับอยู่ในภาพวาด Impression Sunrise ของโมเนต์เลยทีเดียว
เพลงในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์จะมีลักษณะลึกลับ คลุมเครือไม่กระจ่างชัด อันเกิดมาจากการใช้บันไดเสียงแบบเสียงเต็ม (Whole-tone scale) และคอร์ดอ๊อกเมนเต็ด (Augmented) มีการประสานเสียงไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ รูปแบบของเพลงเป็นแบบง่ายๆ มักเป็นบทเพลงสั้นๆ รวมเป็นชุด
บทเพลง Clair De Lune มีท่วงทำนองที่อ่อนหวาน เคลิ้มฝัน ล่องลอย เหมาะที่จะใช้ฟังก่อนนอน และเป็นหนึ่งในเพลงที่สามารถให้ทารกฟังได้
เพลงนี้ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาพยนตร์ญี่ปุ่น อาทิเช่น Tokyo Sonata ของคิโยชิ คุโรซาว่า เพลงนี้ถูกใช้ในฉากสุดท้ายของเรื่องเลยเป็นการปิดม่านอย่างงดงาม อีกเรื่องหนึ่งก็คือ All About Lily Chou Chou หนังวัยรุ่นสุดหม่นของชุนจิ อิวาอิ ที่ในเรื่องใช้เพลงนี้ประกอบเสริมบรรยากาศอันหม่นมัวของเรื่องราว อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงเดอบูซซีในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
โคลด เดอบูซซี (Claude Debussy) มีชื่อเต็มว่า โคลด อาชีล เดอบูซซี ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในคีตกวีคนสำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยแนวดนตรีอิมเพรสชั่นนิสม์ของเขาได้ฉีกออกจากดนตรียุคโรแมนติกในศตวรรษที่ผ่านมา โคลดได้ปฏิเสธกรอบที่ถูกวางเอาไว้ โดยมีการแสวงหาความเป็นอิสระทางดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ดนตรีของโคลดยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีตะวันออก อาทิเช่น กาเมลัน (Gamelan) ของอินโดนีเซีย อีกด้วย
Si tu vois ma mère
Si tu vois ma mère แปลว่า “ถ้าคุณพบแม่ของฉัน” เป็นหนึ่งในบทเพลงแจ๊ซสุดไพเราะ จาก ซิดนีย์ บีเชต์ ผู้เป็นหนึ่งในนักดนตรีทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เพลงนี้ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1952 ซึ่งเป็นช่วงที่บีเชต์ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสและเป็นปีท้ายๆในชีวิตของเขาแล้ว ซิดนีย์ บีเชต์ เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงแจ๊ซชาวอเมริกัน เครื่องดนตรีที่เขาเล่นเป็นประจำคือ แซ็กโซโฟน และคลาริเน็ต บีเชต์เป็นนักแซ็กโซโฟนแจ๊ซคนแรกๆของโลกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาบีเชต์โด่งดังและเป็นที่รู้จักในฝรั่งเศสจึงย้ายไปอยู่ที่นั่นตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต บีเชต์มีผลงานเพลงที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสมากมาย อาทิเช่น ‘Petite Fleur‘, ‘Dans les rues d’Antibes‘ และ ‘Les Oignons‘
หลายคนรู้จักเพลงนี้จากการถูกนำมาใช้เป็นเพลงเปิดภาพยนตร์เรื่อง Midnight in Paris ของวูดดี้ อัลเลน โดยในฉากเปิดเรื่องนี้เป็นกลุ่มภาพในมุมต่างๆของปารีสที่มีความงดงามน่าหลงใหล คลอไปกับท่วงทำนองสุดโรแมนติคของบทเพลงนี้ ยิ่งทำให้เราหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของปารีสเมืองที่ได้ชื่อว่า โรแมนติคมากที่สุดในโลก
Ballade pour Adeline
Ballade pour Adeline หรือ บทเพลงของอาเดไลน์ เป็นบทเพลงบรรเลงที่แต่งขึ้นใน ค.ศ. 1976 โดย พอล เดอ ซอนเนวิล และ โอลิวิเยร์ ทุสซอง โดยเพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อเป็นของขวัญแด่ลูกสาวที่เพิ่งกำเนิดของพอลซึ่งชื่อว่า อาเดไลน์ นั่นเอง
เพลงนี้บันทึกเสียงครั้งแรกโดยนักเปียโนชื่อดังชาวฝรั่งเศสนาม ริชาร์ด เคลย์เดอมอง ทำให้เพลงนี้เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก และเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงประจำตัวของ ริชาร์ด เคลย์เดอมอง ไปเลย
ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เมื่อตอนที่บันทึกเสียงเพลงนี้ เขายังมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้นเอง และตอนนั้นเขายังใช้ชื่อว่า ฟิลิปเป (Philippe Pagès) ฟิลิปเปเข้ามาออดิชั่นกับพอลและทุสซอง เมื่อเพียงเริ่มบรรเลงไปได้ไม่นาน พอลกับทุสซองก็รู้ได้ในทันทีว่านี่ล่ะคือคนที่พวกเขาตามหา ด้วยรูปลักษณ์ที่มีเสน่ห์และการบรรเลงเปียโนที่นุ่มนวลและพลิ้วไหว จึงทำให้ ฟิลิปเป หรือ ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เป็นผู้ได้บรรเลงบทเพลงแสนโรแมนติคเพลงนี้
ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เคยอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงด้วย โดยออกเป็นผลงานชุด Thailand Mon Amour
Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2
บทเพลงคลาสสิคจากยุคโรแมนติคที่มาพร้อมความไพเราะแบบ “เดียวดายอย่างโรแมนติค” Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2 เป็นงานเพลงแบบน็อคเทิร์น ประพันธ์โดย เฟรดเดริค โชแปง ที่จริงบทเพลงนี้มีทั้งหมด 3 ชิ้น ประกอบไปด้วย Nocturne in B-flat minor, Op. 9, No. 1 , Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2 และ Nocturne in B major, Op. 9, No. 3
ชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 2 และเป็นชิ้นที่ได้รับความนิยมสูงสุด และอาจกล่าวได้ว่าเป็นบทเพลงที่ดังที่สุดของโชแปง
น็อคเทิร์น เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับการเดี่ยวเปียโนมีท่วงทำนองที่โรแมนติก ให้บรรยากาศยามค่ำคืน แต่ไม่ได้หมายความว่าน็อคเทิร์นทุกเพลงจะโรแมนติคพลิ้วทั้งเพลงเสมอไป บางเพลงก็มีอารมณ์ที่รุนแรงในบางช่วงของเพลงได้เช่นกัน อาทิเช่น ในช่วงกลางเพลงของ Nocturne op.48 no.1 in c minor ของโชแปง
คนแรกที่ประพันธ์เพลงแนวน็อคเทิร์นนี้ไม่ใช่ โชแปง แต่เป็น จอห์น ฟีลด์ (John Field) นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงในยุคโรแมนติคชาวไอริช แต่อาจจะกล่าวได้ว่าน็อคเทิร์นของโชแปงมีความไพเราะที่สุดจึงทำให้ดูเหมือนว่าโชแปงคือผู้ให้ผูกขาดความไพเราะของเพลงน็อคเทิร์นนี้ไปเลย แบบว่าถ้าใครอยากฟังน็อคเทิร์นก็ต้องฟังโชแปง หรืออยากฟังโชแปงก็ต้องเริ่มที่น็อคเทิร์นประมาณนี้เลย
โชแปงมีเชื้อสายโปแลนด์โดยกำเนิด แต่ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศสเพื่อแสดงดนตรี แต่ต่อมาด้วยภัยสงครามจึงทำให้เขาไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้ตราบจนสิ้นชีวิต
โชแปงเป็นคนอ่อนไหว รักธรรมชาติ และละเอียดอ่อนจึงทำให้งานเพลงของโชแปงมีความโรแมนติค แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความเศร้าแฝงอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งมีเหตุมาจากความคิดถึงบ้านเกิด และ ความอ่อนไหวในรักที่เขามีต่อหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
และนี่ก็คือ [Playlist] บทเพลงที่ผมนำมาฝากกันในสัปดาห์นี้ ส่วนสัปดาห์หน้าจะเป็นบทเพลงที่เกี่ยวกับอะไรนั้น ขอให้เพื่อนๆติดตามกันต่อไปนะครับ
โชคดีครับ !!!