เป็นอีกหนึ่งปูชนียบุคคลแห่งวงการภาพยนตร์ที่ได้อำลาโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา จอร์จ เอ. โรเมโร่ สุดยอดผู้กำกับผู้เป็นตำนานแห่งหนังซอมบี้ยุคใหม่ เจ้าของฉายา “ตัวพ่อของเหล่าซอมบี้ (Father of The Zombie)” ได้จากโลกนี้ไปในวัย 77 ปีด้วยโรคมะเร็งปอด
จอร์จ โรเมโร่ ประสบความสำเร็จจากการสร้างภาพยนตร์สยองขวัญสไตล์ซอมบี้เรื่อง “Night of The Living Dead” (มีชื่อไทยว่า “ซากดิบไม่ต้องคุมกำเนิด” !!!) ในปี 1968 โดยใช้งบในการสร้างเพียง 114,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 4 ล้านบาท) ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของหนังซอมบี้และหนังสยองขวัญทุนต่ำในเวลาต่อมา
จากนั้น จอร์จ โรเมโร่ ก็สร้างภาพยนตร์แนวสยองขวัญซอมบี้ออกมาอย่างต่อเนื่องและแต่ละเรื่องก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี อาทิเช่น Dawn of The Dead (1978), Day Of The Dead (1985), Land Of The Dead (2005), Diary Of The Dead (2007) และผลงานเรื่องสุดท้ายของจอร์จก็คือ “Survival Of The Dead (2009)”
นอกจากภาพยนตร์ของจอร์จ โรเมโร่จะเป็นผลงานทรงคุณค่าน่าจดจำแล้ว ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในหนังของจอร์จก็ถือว่าเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ มีความแปลกใหม่ โดดเด่น และทรงคุณค่าน่าจดจำด้วยเฉกเช่นเดียวกัน
เพื่อเป็นการรำลึกถึง จอร์จ แอนดรู โรเมโร่ ผู้เป็นบิดาแห่งหนังซอมบี้ วันนี้ผมจึงขอพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักกับซาวด์แทร็คประกอบหนังของจอร์จ โรเมโร่กันว่าจะเฮี้ยน แปลก แหวก หลอนแค่ไหน
Night of the Living Dead
Various artists
(1968)
จอร์จ โรเมโร่ มีความตั้งใจที่จะไม่ทำดนตรีประกอบขึ้นมาใหม่ หากแต่ต้องการจะใช้เสียงดนตรีจากคลังเสียง (music library) ที่เคยถูกใช้ประกอบหนังสยองขวัญและไซไฟทุนต่ำเรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยจะจับมายำใหม่โดยข้อดีของมันก็คือจะช่วยให้ผู้ชมมีความรู้สึกระลึกถึงหนังเหล่านั้น ที่เป็นตระกูลเดียวกันกับหนังของจอร์จนั่นเอง
ซาวด์แทร็คของหนังเรื่องนี้มันทั้งหลอน ทั้งดาร์ค และที่น่าสนใจก็คือ ก่อนนี้บางเพลงเคยถูกใช้ประกอบหนังไซไฟ มนุษย์ต่างดาวแต่กลับสามารถเอาเพลงเดียวกันนี้มาสร้างความสยองขวัญได้ ยกตัวอย่างเช่น แทร็คที่ 15 เคยถูกใช้ในภาพยนตร์เรื่อง Teenagers From Outer Space (1959) ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับมนุษย์ผู้มาจากดาวอื่น ซึ่งซาวด์แทร็คมันก็จะเอคโค่ๆ ลอยๆเวิ้งๆหน่อย แต่กลับถูกนำมาใช้ในฉากสุดท้ายของหนังซอมบี้อย่าง Night of the Living Dead เป็นการปิดฉากของเรื่องด้วยความสะพรึงและสะเทือนความรู้สึกไม่น้อยเลยทีเดียว
Martin
Donald Rubenstein
(1978)
หนังแวมไพร์ coming of age เรื่องนี้ของโรเมโร่ได้ โดนัล รูเบนสไตน์ (Donald Rubenstein) ซึ่งในตอนนั้นมีอายุเพียง 26 ปีมาทำดนตรีประกอบให้ (พี่ชายของโดนัล คือ ริชาร์ด รูเบนสไตน์เป็นโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้)
การที่หนังเรื่องนี้ใช้การประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่แทนที่จะใช้เพลงของคลังเสียงเหมือนแต่เดิม ช่วยให้มันมีความน่าสนใจในมิติใหม่ๆขึ้นมา แทนที่รูเบนสไตน์จะทำให้มันหลอนแบบตรงไปตรงมาตามขนบดนตรีประกอบหนังสยองขวัญทั่วไป แต่เขากลับสร้างบรรยากาศของความสยองแบบหม่นๆด้วยการใช้ท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ซในห้วงอารมณ์ของความเศร้า โดยมีเสียงจากเครื่องสายหรือเสียงร้องแหลมลึกกรีดผ่าลงมาเฉือนอารมณ์เราได้อย่างเศร้าลึกและหลอนถึงทรวงเลย
Dawn of the Dead
Goblin / Various artists
(1978)
Dawn of the Dead เป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมาสเตอร์พีซของโรเมโร่ โดยในฉบับยุโรปได้ ดาริโอ อาร์เจนโต เจ้าพ่อหนังสยองขวัญอิตาลี (ผู้กำกับ Susperia (1977) สุดยอดตำนานหนังสยองขวัญอิตาลีดีไซน์สุดล้ำ) มาเป็นคนตัดต่อให้ และได้วง Goblin วงโปรเกรสซีฟร็อคจากอิตาลีที่เคยทำเพลงประกอบให้ดาริโอ อาร์เจนโต มาทำดนตรีประกอบให้ โดยทำดนตรีตามหนังเวอร์ชั่นยุโรปนั่นเองแต่ในเวอร์ชั่นที่ฉายในสหรัฐอเมริกาและฉายโดยทั่วไปจะมีดนตรีจาก Goblin และจากคลังเสียงปนๆกันไป
คลิปนี้เป็นเพลงที่ Goblin แต่งทั้งหมด
โรเมโร่ดำเนินตามแนวทางเดิมแบบที่เคยทำไว้ใน Night of the Living Dead คือการเอาดนตรีจากคลังเสียงมาใช้ ยกตัวอย่างเช่นเอาเพลง The Gonk ที่แต่งโดยเฮอร์เบิร์ต แชปเปิลที่ใช้เป็นเพลงปิดในหนังแนวคอเมดี้เรื่อง Robot Chicken มาใช้ปิดเรื่อง Dawn of the Dead ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ (อีกแล้ว) ว่าทั้งๆที่เป็นเพลงประกอบหนังต่างตระกูลภาพยนตร์ (genre) กันแต่เพลงเดียวกันนี้กลับสร้างอารมณ์ได้สอดคล้องกับหนังทั้งสองเรื่อง (คือดนตรีมันดูสนุกแบบเพลงมาร์ชซึ่งเข้ากับคอเมดี้อยู่แล้ว แต่พอมาใช้กับหนังสยองขวัญมันกลับให้ความรู้สึกชวนสยองอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์เดียวกันกับเอาตัวตลกมาเป็นฆาตกรในหนังสยองขวัญนั่นล่ะ คือตลกไม่ออกกันเลย)
คลิปนี้เป็นฉบับสมบูรณ์รวมหมดทุกแทร็ค
Creepshow
John Harrison
(1982)
Creepshow เป็นหนังสั้น 5 เรื่องที่สร้างจากหนังการ์ตูนสยองขวัญของ EC Comics (ย่อมาจาก Entertaining Comics เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือการ์ตูนในแนวต่างๆอาทิ สยองขวัญ อาชญากรรม เรื่องเสียดสี ตลกร้ายและแนววิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยมีช่วงพีคอยู่ในทศวรรษที่ 50 ) โรเมโร่ และ สตีเฟน คิงส์ ที่มาเขียนบทให้กับหนังเรื่องนี้ จึงอยากให้ดนตรีประกอบสะท้อนความเป็นยุค 50s
แต่พอดีที่ผู้ช่วยผู้กำกับของโรเมโร่ คือ จอห์น แฮริสัน นั้นเป็นนักดนตรีและมือกีตาร์สายร็อค เขาเสนอตัวขอช่วยทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้ ซึ่งโรเมโร่ก็ให้จอห์นได้ลองทำอย่างเต็มที่ ผลที่ออกมาก็คือซาวด์แทร็คสุดเลิศ มันทั้งหลอน ทั้งแนว ด้วยการใช้ซินธิไซเซอร์มาช่วยสร้างสีสัน เป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการทำเพลงประกอบหนังสยองขวัญเลยจริงๆ มันสดใหม่มากและคนทำก็สดใหม่ด้วยเพราะนี่เป็นการทำเพลงประกอบหนังครั้งแรกของจอห์น แฮริสัน (เขาได้ทำดนตรีประกอบให้โรเมโร่อีกใน Day of the Dead (1985) และจากนั้นเขาก็ได้เป็นผู้กำกับมีผลงานหนังและทีวีซีรี่ย์ออกมา อาทิเช่น Tales from the Darkside: The Movie (1990)) และ Dune (2000) เป็นต้น)
Day of the Dead
John Harrison
(1985)
อีกหนึ่งผลงานจาก จอห์น แฮริสัน ซึ่งแตกต่างจากตอนทำ Creepshow เพราะตอนทำ Day of the Dead ตัวหนังได้เสร็จก่อนแล้ว จอห์นจึงสามารถแต่งเพลงจากตัวหนังที่เสร็จสมบูรณ์ ตัวหนังสมบูรณ์กับในบทมีความต่างกันในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ ฉากของเรื่อง ซึ่งในบทไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่ในหนังถูกถ่ายทำในบรรยากาศของเมืองในเขตทะเลแคริบเบียน ซึ่งโรเมโร่ได้บอกกับจอห์นไว้ก่อนแล้วว่าให้แต่งโดยไม่ต้องยึดสถานที่ใดเป็นหลัก ให้เอาตามแนวคิดที่มีมาแต่เริ่มของจอห์นเองเลย
แต่ท้ายที่สุดแล้ว จอห์นคงเห็นถึงความน่าสนใจของฉากที่เรื่องราวดำเนินอยู่ งานเพลงของเขาจึงมีกลิ่นอายของแคริบเบียนแบบเต็มๆ ซึ่งมันกลับทำให้ตัวงานมีสีสันและโดดเด่น โดยจอห์นใช้ซินธิไซเซอร์ Prophet 5 ของ Sequential Circuits , แซมเพลอร์ K250 ของ Kurzweil , ดรัมแมชชีน Linndrum มาสรรค์สร้างท่วงทำนองอันแปลกประหลาดสุดบรรเจิดที่ยังคงล้ำมาจนถึงทุกวันนี้
ทิ้งท้ายด้วยบทเพลงที่ จอร์จ โรเมโร่ ฟังในห้วงยามสุดท้ายแห่งชีวิตโดยมีภรรยาและบุตรสาว คือ ซูซาน เดสโรเชอร์ และ ทิน่า โรเมโร่ อยู่เคียงข้าง ก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบ
นั่นคือซาวด์แทร็คจากภาพยนตร์เรื่อง The Quiet Man (1952) หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของจอร์จ โรเมโร่
เป็นการปิดฉากชีวิตของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานทรงคุณค่าอันเป็นหลักหมายสำคัญของโลกภาพยนตร์ จอร์จ โรเมโร่ บิดาแห่งเหล่าซอมบี้ ที่จะยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป
Rest In Peace “The Father of The Dead”
February 4, 1940 – July 16 ,2017
อ้างอิง Dance of the Dead: Remembering George Romero’s iconic soundtracks