#หลังเลนส์ ฉบับนี้ขอต้อนรับภาพยนตร์ไซไฟมาแรงแห่งยุคอย่าง Blade Runner 2049 ด้วยการพาทุกท่านไปรู้จักกับ โรเจอร์ ดีกิ้นส์ สุดยอดผู้กำกับภาพแห่งยุคที่อกหักจากเวทีออสการ์มาถึง 13 ครั้ง โดยเราจะขอแยกตามผลงานของผู้กำกับเพื่อความสะดวกในการสรุปข้อมูล
Roger Deakins X Frank Darabont
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ แฟรงค์ ดาราบองต์
The Shawshank Redemption (1994)
แอนดี้ (ทิม รอบบินส์) ถูกจำคุกข้อหาฆาตกรรมภรรยาทั้งที่ตัวเองไม่ได้ก่อในเรือนจำ ชอว์แชงค์ ที่นั่นเขาได้พบกับ เรด (มอร์แกน ฟรีแมน) นักโทษอาวุโสที่จัดหาของจากภายนอกให้เพื่อนนักโทษและยังให้โอกาสแอนดี้ได้ทำการฟอกเงินให้พัศดีจนแอนดี้มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่หลังพบพยานที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของเขาได้ พัศดีกลับพยายามทำทุกทางเพื่อไม่ให้แอนดี้ได้รับอิสรภาพ แต่ด้วยหัวใจนักสู้แอนดี้กำลังจะพิสูจน์พลังให้ความหวังให้โลกได้รับรู้
เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักหนังเรื่องนี้ที่คอหนังทั่วโลกยกให้เป็นหนังในดวงใจ ด้วยเรื่องราวที่ให้ความหวัง กำลังใจและข้อคิดดีๆแต่นอกจากในส่วนของเรื่องราวและงานกำกับของ แฟรงค์ ดาราบองต์ ในระดับสุดยอดแล้ว The Shawshank Redemption ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะหนังเรื่องแรกที่ส่งให้ โรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมอีกด้วย
เทคนิคเด่น : การถ่ายด้วยเครน
ใน The Shawshank Redemption มีฉากที่ถ่ายด้วยเครนมากมายรวมถึงภาพมุมสูงตอนท้ายที่ ถ่ายแอนดี้อ้าแขนรับฝนที่โปรยปรายในภาพมุมสูง แต่ฉากที่จะยกต่อไปนี้ถือเป็นฉากที่เครนทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด
จากวีดีโอนี้จะเห็นได้ว่า เหตุผลหลักที่ดีกิ้นส์ใช้ เครนถ่ายคือฉากนี้เป็นการข่มขู่ ซึ่งผู้กำกับภาพอย่างเขาต้องการออกแบบช็อตนี้เพื่อให้คนดูรู้สึกแบบเดียวกับที่ตัวละครอย่างแอนดี้รู้สึกนั่นคือการที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย และความตึงเครียดของสถานการณ์ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อ ผู้ที่ข่มขู่แอนดี้เป็นถึงเจ้าหน้าที่เรือนดังนั้นการใช้เครนช็อตให้ภาพค่อยเคลื่อนต่ำจากมุมสูงมาเป็นมุมถ่ายผ่านไหล่เลยช่วยสร้างอารมณ์หวาดเสียวของคนที่กำลังตกอยู่ในอันตรายได้เป็นอย่างดี
Roger Deakins X Ethan & Joel Coen
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ พี่น้องผู้กำกับ อีธาน และ โจเอล โคเอ็น
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้ร่วมงานกับ พี่น้อง อีธาน และ โจเอล โคเอน มาตั้งแต่ Barton Fink (1991) จนถึงหนังอย่าง Hail, Caesar! (2016) ทั้งหมด 12 เรื่อง ซึ่งยืนยันได้ดีถึงความเข้าขาในการทำงาน และยังช่วยให้จุดเด่นในหนังของพี่น้องโคเอนนั่นคือบทสนทนาสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นงานวิช่วลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหนังถึง 5 เรื่องที่ส่งให้ โรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม
Fargo (1996)
เรื่องราวของ เซลส์แมน (วิลเลียม เอช เมซีย์) ที่หวังเรียกค่าไถ่พ่อตาด้วยการจ้างโจร (สตีฟ บุสเชมี และ ปีเตอร์ สโตแมร์) ให้ลักพาตัวภรรยาของเขา แต่เหตุการณ์กลับบานปลายเมื่อมีคนตายและแผนการเริ่มเกินควบคุม โดยเหตุการณ์ทั้งหมดกลายเป็นภารกิจตามล่าหาความจริงสุดอันตรายของหัวหน้าตำรวจสาวท้องแก่ (ฟรานเชส แมคดอมานด์) ซึ่งจุดเด่นสุดๆของงานภาพเรื่องนี้คือการถ่ายภาพโดยเล่นกับความน่ากลัวของบรรยากาศอันหนาวเหน็บใครจะลืมภาพการฆาตกรรมสุดโหดในพื้นที่ที่หิมะคลอบคลุมจนขาวโพลนสร้างความเย็นยะเยือกให้หนังอาชญากรรมตลกที่ทั้งโหด มัน ฮา เรื่องนี้จนกลายเป็นตำนานและยังถูกต่อยอดเป็นซีรีส์ในปี 2014 อีกด้วย
O Brother, Where Art Thou? (2000)
ดัดแปลงจากมหากาพย์ ตำนานแห่งโอดิสซิอุส (Odyssey) ของมหากวีโฮเมอร์ สู่มหากาพย์หนังอาชญากรรมที่มีฉากมิวสิคัลประกอบการเล่าเรื่อง เล่าถึง 3 โจรที่แหกคุกเพื่อหวังเสวยสุขกับสมบัติที่ซ่อนไว้ แต่หนทางอันยาวไกลพาพวกเขาเผชิญโลกภายนอกอันเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดประหลาด และอันตรายเกินใครจะคาดคิด หนังนำแสดงโดย จอร์จ คลูนีย์ , จอห์น เทอร์เทอโร และ ทิม เบลค เนลสัน โดยจุดเด่นในงานภาพหนังเรื่องนี้มีทั้งการวางเฟรมภาพอันสวยงามหรือการใช้โทนสีออกน้ำตาลให้เหมาะกับพื้นที่การเกษตรของรัฐ มิสซิสซิปปี้และยังให้บรรยากาศเหมือนอ่านหนังสือตำนานเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี
The Man Who Wasn’t There (2001)
หนังอาชญากรรมฟิล์มนัวร์ของพี่น้องโคเอน ที่เล่าถึงช่างตัดผมที่ต้องไปพัวพันกับอาชญากรรมเมื่อถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจซักแห้ง เขาจึงวางแผนแบลคเมล์เจ้านายและชู้รักของภรรยาตัวเอง แต่เมื่อเกิดผิดแผนและมีคนตายจากน้ำมือของเขางานนี้ ช่างตัดผมต้องทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองรอดจากเงื้อมมือกฎหมาย หนังนำแสดงโดย บิลลี่ บ็อบ ธอร์นตัน และ ฟรานเชส แมคดอร์มาน ซึ่งงานภาพของหนังได้โชว์ศักยภาพในการจัดแสดงแบบหนังฟิล์มนัวร์ซึ่งเป็นงานพิมพ์นิยมสำหรับฮอลลีวูดในยุค 50 ได้อย่างยอดเยี่ยม
No Country for Old Men (2007)
หนังออสการ์รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดัดแปลงจากนิยายของ คอร์แมค แมคคาร์ธี เรื่องราวเริ่มต้นที่กระเป๋าเงินในพื้นที่ปะทะระหว่างตำรวจกับพวกค้ายาถูกขโมยไปโดยชาวไร่ที่ความโลภนำพาให้เขาต้องมาต่อกรกับมือปืนสุดโหดที่ถูกจ้างมาเพื่อกำจัดหัวขโมยและนำเงินกลับคืนสู่เจ้าของ ตัวหนังมีงานถ่ายภาพกว้างแบบไวด์ช็อตที่ทั้งน่าขนลุกและงดงามในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถกระตุกขวัญคนดูจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้เลยทีเดียว
True Grit (2010)
หนังคาวบอยรีเมคจากต้นฉบับของ จอห์น เวย์น ที่เล่าถึงสาวน้อยที่หวังจ้างนักล่าค่าหัวสุดกักขฬะเพื่อล้างแค้นให้ครอบครัวของเธอ นำแสดงโดย เจฟ บริดเจส และ เฮลี สเตนฟิลด์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งคู่
เทคนิคเด่น : การถ่ายบทสนทนา
เมื่อโรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้ร่วมงานกับเจ้าพ่อแห่งการเขียนบทสนทนาอย่างพี่น้องโคเอน หน้าที่ในการดึงคนดูให้จดจ่อกับสิ่งที่ตัวละครพูดจึงตกอยู่ที่เขา
จากวีดีโอข้างต้นเราสามารถสรุปสูตรสำเร็จในการถ่ายบทสนทนา ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายโดย โรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้ดังนี้
5 เทคนิค ถ่ายฉาก พูดๆๆๆๆ ไม่ให้น่าเบื่อ สไตล์พี่น้องโคเอน
- ถ่ายง่าย แต่โดน เราจะไม่ค่อยเห็นพี่น้องโคเอน ใช้เทคนิคแพรวพราวทุก 2 วินาที เดี๋ยว Dolly เดี๋ยว Shift Focus ให้ปวดหัว ถ้าจะมีก็เพื่อปูเข้าสู่ฉากบทสนทนาเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเห็นตัวละคร 2 ตัวขึ้นไป กำลังคุยกันอยู่ (enter scene late) แล้ว ไปเน้น Production Design เสื้อผ้า และ การวางกล้อง
- ถ่ายตัวละครโดดๆ แน่ล่ะ คนทำหนังคนอื่นกลัวน่าเบื่อก็มัก ถ่ายข้ามไหล่ หรือ Over Shoulder Shot กันบานตะไท แต่สำหรับโคเอนเน้น “ถ่ายในพื้นที่ของบทสนทนา” สิ่งที่เกิดขึ้นมักเป็นการทำให้ตัวละครดูโดดเดี่ยว แปลกแยก และยังสามารถสร้างความหมายใหม่ๆได้อีกด้วย
- ถ่ายด้วยเลนส์กว้างๆ โคเอนมักเอากล้องจ่อหน้าตัวละครด้วยเลนส์ 27 มม หรือ 32 มม. ทำให้คนดูรู้สึกตลกกับภาพหน้าตัวละครบวมๆแปลกๆ แต่สิ่งที่แถมมาด้วยกลับเป็น การแสดงให้เห็นข้อมูลทั้ง สถานที่ และ ตัวละคร เหมือนที่เทพ ดีกิ้นส์ (ถ่าย True Grit) อธิบายว่าภาพมันให้ sense of presence- ภาวะของปัจจุบัน
- ดอลลี่ อิน เพื่อดึงคนดูเข้าใกล้ตัวละคร อีกคุณุปการของ เลนส์ไวด์ คือ เมื่อใช้ดอลลี่อินดึงเข้าหาตัวละคร มันจะทำให้ได้ ภาพเวอร์วังดูเหนือจริง และน่าหัวเราะกับการ distortion หรือการบิดเบี้ยวของภาพ ให้อารมณ์เหมือนขบวน คาร์นิวัล จริงๆ
- กำหนดจังหวะ ตึ่ง โป๊ะ เอาให้ฮา ในการตัดต่อ อันนี้เป็น sense ส่วนตัวของผู้กำกับและคนตัดต่อ
Roger Deakins X Martin Scorsese
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ มาร์ติน สกอร์เซซี
Kundun (1997)
หนังเล่าถึงชีวิตของ ดาไลลามะ องค์ที่ 14 ตั้งแต่เกิดมาพร้อมชะตาลิขิตให้ทำหน้าที่ผู้นำจิตวิญญาณของชาวธิเบต จนเมื่อสงครามยึดดินแดนมาเคาะประตูบ้านทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่แถบชายแดนอินเดีย โดยหนังมุ่งสำรวจชีวิตขององค์ดาไลลามะตั้งแต่ตอนเด็กยันชรา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มาร์ติน สกอร์เซซี คือผู้กำกับเจ้าพ่อเทคนิค ซึ่งใน Kundun มีทั้งเทคนิคด้านงานถ่ายภาพและตัดต่อที่น่าจดจำหลายอย่างโดยเฉพาะการใช้สีเพื่อสื่อความหมายเช่นการใช้สีจีวรของนักบวชทิเบตที่องค์ดาไลลามะสวมใส่ในการจัดวางสีในเฟรมภาพทั้งสีที่ตัดกับท้องฟ้าหรือในฉากความฝันที่เล่นการตัดต่อฉากที่พระล้มตายตัดสลับกับเลือดที่ค่อยๆท่วมบ่อปลาคาร์พ โดยสีของปลาคาร์พมีความคล้ายคลึงกับสีจีวรองค์ดาไลลามะเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับที่ต้องการสื่อถึงผลจากความรุนแรงของสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในตัวดาไลลามะเอง
เทคนิคเด่น : การวางเฟรมภาพ
จากวีดีโอดังกล่าว เราจะเห็นกองทัพจีนแผ่นดินใหญ่เคลื่อนพลมาบุกรุกธิเบต โดยดีกิ้นส์ ได้วางเฟรมเอียงหรือการถ่ายแบบ Canted Shot เพื่อสื่อความไม่แน่นอนหรือผิดปกติของสถานการณ์ที่จะส่งผลต่อไปไม่เท่านั้น เขายังใช้ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายมาสร้างพายุทะเลทรายใช้ประโยชน์ในเชิงสัญญะสื่อถึงความขมุกขมัวของอนาคตเมื่อจีนต้องการปกครองธิเบตได้เป็นอย่างดี
Roger Deakins X Andrew Dominik
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ แอนดรู โดมินิก
The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007)
หนังชื่อยาวเรื่องนี้เล่าถึงความลุ่มหลงของชายชื่อ โรเบิร์ต ฟอร์ด (เคซี เอฟเฟล็กซ์) ที่บูชา จอมโจร เจสซี่ เจมส์ (แบรต พิต) ดุจพระเจ้าแต่หลังถูกเหยียดหยามและหมางเมินมานาน ทำให้เขาเริ่มแผนการที่จะทำให้จอมโจรสิ้นชื่อ อ่านจากเนื้อเรื่องอาจเข้าใจผิดว่านี่คือหนังคาวบอยยิงกันหูดับตับไหม้ แต่เปล่าเลยหนังเดินเรื่องแบบนิ่งเนิบเน้นการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความริษยาที่อัดแน่นในใจของโรเบิร์ต ฟอร์ด ทำให้งานภาพของดีกิ้นส์ เรื่องนี้ถ่ายทอดออกมางดงามดั่งภาพวาดศิลปินเอก
เทคนิคเด่น : การจัดแสงฉากปล้นรถไฟ
จากวีดีโอจะเห็นได้ว่าดีกิ้นส์ออกแบบให้ภาพมีการจัดวางไฟเพื่อเสริมบรรยากาศได้ค่อนข้างซับซ้อนทั้งการวางไฟหลังพุ่มไม้แล้วแทร็คกล้องถ่ายให้เห็นการมาถึงของรถไฟ หรือแม้กระทั่งการเปิดตัวเจสซี่ เจมส์ ยังมีการจัดไฟทั้งด้านข้างและให้แบรต พิต ถือตะเกียงจุดไฟ เดินออกมาจากหมอกควัน ซึ่งไม่เพียงให้ภาพที่สวยงามเท่านั้น แต่ควันยังมีประโยชน์ในการทำให้แสงนุ่มนวลสบายตาขึ้นอีกด้วย เพื่อสื่อให้เห็นถึงฝีมืออันชาญฉกาจของเจสซี่ เจมส์ ที่การปล้นรถไฟไม่ได้เป็นงานยากสำหรับเขาแต่อย่างใด
Roger Deakins X Stephen Daldry
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ สตีเฟน ดัลดรี
The Reader (2008) Shared with:Chris Menges
หนังอีโรติกสุดละเมียดละไม เมื่อไมเคิล ชายหนุ่มวัย 15 เปิดบริสุทธิตัวเองกับเจ้าหน้าที่ประจำรถรางโดยแลกกับที่เขาต้องอ่านหนังสือให้เธอฟังทุกครั้งที่มีเซ็กส์ แต่ใครเลยจะคาดคิดว่านอกจากความลับเรื่องสุขภาพที่ถดถอยของเธอแล้ว ยังมีตราบาปในอดีตที่รอให้เธอชดใช้กรรม ซึ่งมีเพียงเขาเท่านั้นที่จะช่วยให้เธอได้รับความยุติธรรม โดยตัวหนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขารวมถึงสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมที่โรเจอร์ ดีกิ้นส์มีเครดิตร่วมกับ คริส เมนเกส
เทคนิคเด่น : การจัดองค์ประกอบภาพและการจัดแสง
จากวีดีโอจะเห็นถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพและการจัดแสงที่ต่างกันในสองซีนใหญ่ โดย ในตอนต้นของวีดีโอเราจะได้เห็นความแตกต่างทั้งการใช้ขนาดภาพที่ฉากอีโรติกในห้องนอนจะเป็นภาพปานกลางและการจัดแสงจะเห็นถึงการจัดวางให้มีแหล่งแสงแค่จากหน้าต่างมากระทบผิวหน้าและผิวกายเท่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ส่วนตัวของทั้งสองซึ่งเป็นความลับจากโลกภายนอก ในขณะที่เมื่อทั้งคู่ออกไปพบผู้คนภาพทั้งภาพกลับสว่างสดใสด้วยแสงและสีของเสื้อผ้ากับวิวทิวทัศน์แต่เมื่อทั้งสองนั่งบนโต๊ะเพื่อสั่งอาหารเราจะสังเกตได้ถึงเงาในครึ่งซีกของใบหน้าหญิงสาวที่กำลังแสดงท่าทีวิตกกังวลเมื่อต้องอ่านเมนู ที่คนดูสังเกตได้ทันทีว่าเธอกำลังเก็บงำความลับบางอย่างอยู่
Roger Deakins X Sam Mendes
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ แซม แมนเดส
Skyfall (2012)
ปฏิบัติการของเจมส์ บอนด์ สายลับรหัส 007 ที่ต้องมาต่อกรกับวายร้ายที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดเอ็มไอซิกส์ แล้วภารกิจเพื่อชาติกับแค้นส่วนตัวก็ทับซ้อนกันจนไม่มีอะไรหยุดเขาได้ ซึ่งการที่โปรเจคต์ Skyfall ได้มาอยู่ในมือแซม แมนเดสทำให้ โรเจอร์ ดีกิ้นส์ ได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกับยอดผู้กำกับคนนี้อีกครั้งต่อจาก Jarhead(2005) และ Revolutionary Road(2008) และต้องบันทึกไว้เลยว่าสำหรับ Skyfall ถือเป็นรักแรกพบระหว่าง โรเจอร์ ดีกิ้นส์ และ กล้อง Arri Alexa กล้องดิจิตอลซีนีมาเพียงแบรนด์เดียวที่ผู้กำกับยุคฟิล์มอย่างเขาไว้วางใจ
เทคนิคเด่น : การเคลื่อนกล้องแบบ Slow Push In
ด้วยความที่ผู้กำกับ แซม แมนเดส มาจากสายละครเวที เราเลยมักเห็นฉากที่ประหนึ่งเป็นละครเวทีที่ถูกถ่ายผ่านกล้องอีกที แต่ด้วยฝีมือในการกำกับภาพของโรเจอร์ ดีกิ้นส์ ช็อตที่ถ่ายแบบลองเทคกินเวลาร่วม 2 นาทีนี้กลับมีลูกล่อลูกชนที่เล่นกับบทสนทนาโดยนอกจากการจัดแสงและออกแบบงานสร้างแล้ว ดีกิ้นส์เลือกจะค่อยๆดอลลี่อินกล้องถ่ายผ่านไหล่ของเจมส์ บอนด์ แล้วโฟกัสก็ค่อยๆเปลี่ยนไปที่หน้าของ ราอูล ซิลวา ที่รับบทโดย ฮาเวียร์ บาเด็ม ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำทั้งจังหวะการกำกับและการเคลื่อนกล้องที่แม่นยำเท่านั้นถึงทำให้ซีนนี้ออกมาทรงพลังได้เพียงนี้
Roger Deakins X Angelina Jolie
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ แองเจลีน่า โจลี่
Unbroken (2014)
งานกำกับหนังสงครามของดาราสาวสุดแกร่ง แองเจลีน่า โจลี่ ที่เลือกเล่าชีวิตของนักกรีฑาหนุ่มชาวยิวที่ต้องตกเป็นเชลยสงครามให้ฝ่ายญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อพิสูจน์ว่าพลังใจของมนุษย์มีอำนาจเหนือการกดขี่ใดๆ ตัวหนังมีงานถ่ายภาพที่น่าทึ่งหลายช็อต จนทำให้ Unbroken เป็นหนังสงครามที่โดดเด่นท่ามกลางหนังแนวเดียวกันเป็นร้อยๆเรื่อง
เทคนิคเด่น : การถ่ายช็อตรับตัวละคร
จากวีดีโอสัมภาษณ์จะเห็นว่า ดีกิ้นส์ พยายามถ่ายภาพระยะปานกลางตัวละครเดี่ยวๆ หากตัวละครวิ่ง กล้องก็ติดเครนถ่ายตัวละครกำลังวิ่งแบบเดี่ยวๆ ตรงนี้ถือเป็นลายเซ็นอย่างหนึ่งในงานภาพของเขาเพราะดีกิ้นส์ เชื่อในการถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของตัวละคร โดยส่วนใหญ่เขามักใช้เลนส์ไวด์ให้ได้ภาพกว้างแม้จะถ่ายระยะปานกลางเพื่อให้สามารถเก็บบรรยากาศรอบตัวละครให้คนดูเข้าใจถึงสถานการณ์ของตัวละครโดยแทบไม่ต้องใช้คำพูดเลยสักคำ
Roger Deakins X Danis Villeneuve
โรเจอร์ ดีกิ้นส์ กับ เดนิส วิลเนิฟ
Prisoners (2013)
หนังอาชญากรรมเล่าเรื่องของพ่อที่ทำทุกทางเพื่อตามหาลูกสาวที่ถูกลักพาตัวไปแม้จะต้องจับผู้ต้องสงสัยมาทรมานเพื่อเค้นความจริงก็ตาม นี่คือหนังเรื่องแรกที่ทำให้ เดนิส วิลเนิฟ ผู้กำกับหนังดราม่าอาชญากรรมดาวรุ่งจากแคนาดาได้มาพบกับโรเจอร์ ดีกิ้นส์ และได้เยือนเวทีออสการ์ในฐานะผู้เข้าชิงสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม
Sicario (2015)
หนังอาชญากรรมเกี่ยวกับปฏิบัติการเด็ดหัวเจ้าพ่อยาเสพย์ติดในเม็กซิโก ของเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพย์ติดผ่านสายตาของเอฟบีไอสาว (เอมิลี บลันต์) ที่ต้องก้าวเท้าเข้าสู่โลกสีเทาของเหล่าผู้รักษากฎหมายณ.ดินแดนที่พระเจ้าหันหลังให้ นับเป็นกำไรของคอหนังอย่างแท้จริงเมื่อ Sicario ได้นำผู้กำกับและตากล้องคู่บุญกลับมาสร้างหนังที่เข้มข้นและสมจริงของโลกอาชญากรรมในเม็กซิโกได้อย่างทรงพลัง
เทคนิคเด่น : ความกล้าในการคิดงานวิช่วล
จากวีดิโอจะพบว่า ตัวเดนิส วิลเนิฟ และ โรเจอร์ ดีกิ้นส์ มีความเห็นร่วมกันในการสร้างความสมจริงให้คนดูโดยเฉพาะซีนในอุโมงค์ท้ายเรื่องที่ถึงกับถ่ายแบบย้อนแสงให้เห็นตัวละครเป็นเพียงเงาดำ แถมเมื่อเข้าอุโมงค์สิ่งที่คนดูได้เห็นคือภาพจากกล้องไนท์วิชั่นเป็นสีเหมือนฟิล์มเนกาตีฟเพื่อแทนสิ่งที่นางเอกเห็น และภาพจากกล้องอินฟลาเรดเป็นสีเขียวซึ่งเป็นมุมมองของทีมคนอื่นๆ ซึ่งสามารถสื่อสารได้ในเชิงสัญญะว่าที่จริงการที่เธอยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายเธอกลับยิ่งแต่ความมืดมนจากสิ่งโสมมที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่นหมกเม็ดไว้จากเธอ
ติดตามผลงานชิ้นล่าสุด
Blade Runner 2049 (2017)
การร่วมงานกันครั้งที่ 3 ระหว่าง โรเจอร์ ดีกิ้นส์ และ เดนิส วิลเนิฟ ในหนังภาคต่อไซไฟ สืบสวนสอบสวน จะส่งผลให้ ยอดผู้กำกับภาพได้รับรางวัลออสการ์หรือไม่ต้องติดตาม
ถ่ายให้ได้อย่างดีกิ้นส์
เทคนิคเด่นจากวีดิโอ
- สิ่งที่ DP หรือ ผู้กำกับภาพมีสิทธิตัดสินใจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของกล้อง เลนส์และไฟ แต่นอกจากการเคลื่อนกล้อง เลนส์และประเภทกล้องแล้ว รายละเอียดลึกๆอย่างการจัดไฟก็เป็นสิ่งที่ผู้กำกับภาพควรให้ความสำคัญ
- ตอนเตรียมงานสร้างเขามักปรึกษากับผู้ออกแบบงานสร้างเสมอ (Production Designer) เพื่อปรึกษาว่าสามารถจัดวางไฟตรงไหนหรือใช้ประเภทไฟแบบไหนได้บ้างเพื่อให้สามารถคุมงานภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบรวมถึงบางครั้งถึงกับต้องติดตั้งไฟที่สามารถปรับความสว่างด้วยดิมเมอร์ได้เพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทำในซีนนั้น
- เมื่อต้องจัดแสงถ่ายคน โรเจอร์ ดีกิ้นส์ มักแบ่งการจัดแสงในเฟรมเป็นสีส่วน หากแสงหลักหรือ คีย์ไลต์มาทางขวาเขาจะให้เงาเกิดที่ไหล่ด้านซ้าย ส่วนแบคกราวด์จะตรงกันข้ามคือให้สว่างที่ด้านซ้ายแล้วมืดที่ด้านขวา และจัดแสงสลับกันเมื่อแสงคีย์ไลต์มาทางซ้าย ซึ่งผลลัพธ์ทำให้ตัวละครดูโดดเด่นออกมาจากฉากได้อย่างสมบูรณ์แบบ