ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง ภาพยนตร์หรือหนังสือเล่มไหนที่ชี้ชวนให้คนเราเชื่อว่า เมื่ออกหักแล้วเวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีนในสก็อตแลนด์ได้เปิดเผยผลการวิจัยระบุว่าอาการอกหักหรือใจสลาย (broken heart syndome) นั้นไม่มีทางรักษาให้หายไปได้ และจะทิ้งเป็นบาดแผลในใจของผู้ที่ประสบกับอาการดังกล่าวตลอดไป

ทั้งนี้ อาการใจสลายนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า takotsubo syndrome ในญี่ปุ่นช่วงปี 1990 โดย takotsubo มาจากไหปลาหมึกซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับหัวใจห้องล่างซ้าย และเมื่อคนเรามีอาการใจสลายนั้น ความเครียดหรือภาวะจิตใจที่เกิดจากอารมณ์จะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อห้องหัวใจด้านล่างซ้ายเกิดการเปลี่ยนรูปร่าง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจโดยตรง และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเอกสารทางการแพทย์ใด ๆ ที่ยืนยันว่าสามารถทำการรักษาอาการดังกล่าวได้

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีนได้ทำการทดสอบกับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 28-87 ปีในสหราชอาณาจักรและ ที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม takotsubo syndrome เป็นระยะเวลา 4 เดือนและพบว่าผู้ที่อยู่ในอาการใจสลายนั้นจะมีรูปแบบการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ โดยมีผู้ที่มีอาการใจสลายเมื่อนับเฉพาะในสหราชอาณาจักรนั้นจะมีอยู่ราว 3,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง

ขณะเดียวกันทีมวิจัยก็สรุปว่า การทำงานของหัวใจในกลุ่มผู้มีอาการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงส่วนที่เป็น ‘แผลเป็น’ ทางจิตใจ ที่ยากจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถรักษากลับมาได้เหมือนเดิมอีกเลย

สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งบาดแผลทางใจนั้นเป็นความทุกข์ทรมานที่ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ใครหลายคนคิดไว้ โดยผลสำรวจพบว่ามีผู้ที่อยู่ในภาวะ takotsubo syndrome ราว 3-17% นั้นเสียชีวิตภายใน 5 ปี ซึ่งอาการดังกล่าวนอกจากจะมาจากการผิดหวังในความรักแล้วยังหมายรวมถึงกลุ่มที่คนรักมาจากไปอย่างกระทันหันเช่นกัน

อ้างอิง