หลังจากอัลบั้มเดี่ยวล่าสุด  Gran Turismo (2011)  เป็นเวลากว่า 7 ปีเต็มที่แฟนๆรอคอยว่าจะได้ยินเสียงแหบเสน่ห์ เซ็กซี่ ขี้เล่น จากชายที่ชื่อบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์เมื่อไหร่ 

ในที่สุดหลังการรอคอยอันยาวนานกว่า 3,679,200 นาที แฟนๆก็ได้ยินเสียงที่คุ้นเคยอีกครั้งผ่านบทเพลงที่มีชื่อว่า “Spotlight” กับสุ้มเสียงในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของบุรินทร์ที่คราวนี้มาในแบบสไตล์ใหม่ที่ผสมผสานเสียงจากเครื่องซินธิไซเซอร์ เข้ากับกลิ่นอายของดนตรีโซลยุค 80s กลายเป็นแนวดนตรีที่เรียกว่าอิเล็กโทร โซล (Electro Soul)”

และต่อไปนี้คือ  5  เหตุผล ที่เราไม่ควรพลาดซิงเกิ้ลนี้ด้วยประการทั้งปวง

1. เป็นการกลับมาในรอบ 3,679,200 นาที [7 ปี] ใช้เวลาทำเพลง 1,576,800 นาที [3ปี] ทำ MV  172,800 นาที [4 เดือน]

3,679,200 นาที หรือ 7 ปีนี่อาจเป็นการรอคอยที่ยาวนานสำหรับแฟนเพลงของ บุรินทร์ แต่ในวันนี้ที่ซิงเกิ้ล “Splotlight” ได้ถูกปล่อยออกมา การรอคอยอันยาวนานนี้ก็ได้สิ้นสุดลง ซึ่งซิงเกิ้ลนี้บุรินทร์ได้ตั้งใจทำอย่างละเอียดละออมาก โดยใช้เวลาทำงานร่วมกับศิลปินทั้งในไทยและต่างประเทศรวมเป็นเวลาทั้งสิ้นกว่า 1,576,800 นาที หรือปี นอกจากนี้มิวสิควีดิโอเพลงนี้ยังได้อาร์ตไดเร็คเตอร์และแอนิเมเตอร์ชาวเนเธอร์แลนด์  Frank Knitty ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากมายมาร่วมสร้างสรรค์งานมิวสิควีดิโอสุดแนวโดยใช้เวลาทำกว่า 172,800 นาที หรือ 4 เดือน

2. ร่วมงานกับศิลปินมือดีทั้งไทยและต่างประเทศ

งานเพลงนี้ บุรินทร์มาพร้อมกับวงดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจโดยใช้ชื่อว่า  The Soulsmith (เดอะ โซลสมิธ) ซึ่งนำทีมมาโดย บอล-กันต์ รุจิณรงค์ มือกีตาร์วงอพาร์ตเมนต์คุณป้ากวิน อินทวงษ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินไทยมากมายมาเล่นในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดของวง และหนึ่งสมาชิกจาก Groove Riders  มาตร-มาตรชัย มะกรูดทอง มือกลองฝีมือเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้ Cyndi Seui และ อะตอม-ชนกันต์ รัตนอุดม มาร่วมรังสรรค์บทเพลง  ให้มีความซินธ์และความโซลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อะตอม นักร้อง นักแต่งเพลงหนุ่มฝีมือดีที่มีผลงานเพลงในอัลบั้ม “Cyantist” งานเพลงกลิ่นอายโซลป็อป ที่นำเสนอผ่านการเขียนเพลงที่มีแง่มุมคมคาย ก็ได้มาช่วยบุรินทร์แต่งเพลงในอัลบั้มนี้ด้วย

บุรินทร์ & The Soulsmith

ส่วนทางฝั่งต่างประเทศก็มีเนธาน อีสต์ มือเบสระดับพระกาฬสาย Jazz , R&B และร็อค ที่เคยร่วมงานกับวง Fourplay ,อีริค แคลปตัน, สตีวี่ วันเดอร์ ไมเคิล แจ็คสัน และ Daft Punk มาแล้ว ด้วยแนวดนตรีโซลเป็นดนตรีของคนผิวดำการที่ได้มือเบสฝีมือเชี่ยวที่เป็นรากแท้แห่งดนตรีโซลเยี่ยงนี้จึงยิ่งทำให้ซิงเกิ้ลนี้มีความโซลจริงๆ (หากคนผิวขาวเล่นดนตรีโซลจะเรียกว่า  Blue-eyed Soul) ,  อีริก เฟอร์กูสัน มือมาสเตอริ่งที่เคยทำงานกับดิว่าอย่าง ทิน่า เธอร์เนอร์ ,  อารีธา แฟรงคลิน, แจ็ค จอห์นสัน, บรูซ สปริงทีน รวมถึงภาพยนตร์มิวสิคัลชื่อดังอย่าง La La Land  และเบอร์นี กรันแมน Mastering Engineer อัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาลอย่าง Thriller ของ Michael Jackson

Nathan East

3. มาในแนวดนตรี อิเล็กโทร โซล (Electro Soul)”

ซิงเกิ้ลนี้มาในแบบสไตล์ใหม่ที่ผสมผสานเสียงจากเครื่องซินธิไซเซอร์ เข้ากับกลิ่นอายของดนตรีโซลยุค 80s กลายเป็นแนวดนตรีที่เรียกว่าอิเล็กโทร โซล (Electro Soul)” ซึ่งยังคงเป็นดนตรีที่มีรากฐานมาจากดนตรีโซล แต่มีการเรียบเรียงที่แตกต่างไปจากงานก่อนๆที่เป็นเพลง ดิสโก้ยุค 70s และจะมีเครื่องเป่ามาเป็นตัวเอกสร้างสีสันแต่คราวนี้พระเอกได้กลายมาเป็นซินธิไซเซอร์ อันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรียุค 80s แทน จึงทำให้ซิงเกิ้ลนี้มีความสดใหม่ในสไตล์ของบุรินทร์

4. บันทึกเสียงด้วยระบบ Reel To Reel

ซิงเกิ้ลนี้ใช้การบันทึกเสียงด้วยระบบ Reel-to-Reel ซึ่งเป็นเทคนิคการอัดเสียงแบบเก่าที่นักร้องนักดนตรีจะเล่นไปพร้อมกันและอัดสดๆเป็นเทคยาวรวดเดียวเลย  เพื่อทำให้เพลง Spotlight มีกลิ่นอาย Old School  นอกจากนี้ยังได้เสียงที่ฟังนุ่มนวลกว่าอีกด้วย เนื่องจากการบันทึกเสียงด้วยระบบอนาล็อกจะเก็บเสียงได้เต็มครบและมีมิติ แต่การบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลจะมีการบันทึกข้อมูลได้จำกัดจึงให้เสียงที่ฟังดูแข็งกว่าหากเทียบกับเสียงที่บันทึกด้วบระบบอนาล็อค

วิวัฒนาการระบบบันทึกเสียง

เครื่องบันทึกเสียงระบบ Reel To Reel

แต่เดิมในอัลบั้มก่อนอย่าง Gran Turismo ซึ่งเป็นซาวด์ยุค 60s ปลายๆ ประมาณ 1967-1969 เป็นช่วงที่เรียกว่า Blaxploitation ที่คนดำเริ่มปฏิวัติว่าอยากมีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนขาว ในชุดนั้นบุรินทร์อัดด้วยวิธีเล่นพร้อมกันทั้งวง เอาทั้งแบนด์มาเล่น แล้วก็อัดเลย แต่ในซิงเกิ้ลนี้บุรินทร์มีซาวด์ที่ต้องการอยู่ในหัว เลยต้องมีการเตรียมการและทดลองเป็นเวลานานจนกว่าจะเจอเสียงที่ใช่จริงๆ

5. มาด้วยแนวคิดการเรียบเรียงดนตรีแบบ “less is more”

แต่เดิมงานเพลงของบุรินทร์ถือว่าอลังการงานสร้างมาก อย่างใน Gran Turismo เคยมีบางแทร็กที่ส่งมิกซ์สูงสุดคือ 99 แทร็ก !!! อีกทั้งเพลงส่วนใหญ่ก็ใช้เครื่องดนตรีกว่า 15 ชิ้น !!! คราวนี้ บุรินทร์มีความรู้สึกว่าน้อยกว่าก็เพราะได้ มันอยู่ได้นานกว่า มันฟังได้เรื่อยๆมากกว่า จึงอยากลองปรับลดอะไรที่มันเกินเลยออกไปบ้างเข้าคอนเซป “Less is More” หรือ น้อยแต่มาก อัลบั้มนี้จึงมีการปรับชิ้นเครื่องดนตรีลงเหลือแค่เพียง 3-4 ชิ้นต่อเพลง

อ่านเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานเพลงชุดนี้แล้ว ก็ลองไปฟังผลงานที่บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์และเพื่อนพ้องน้องพี่คนดนตรีทั้งไทยและต่างประเทศ ช่วยกันสร้างสรรค์มาด้วยความตั้งใจเต็มที่กันเลยดีกว่าครับ

Play video