หนังแอ็คชั่นสุดฮิตที่มีอายุถึง 44 ปี กว่าจะถูกนำกลับมารีเมคได้สำเร็จ ทั้งเวอร์ชั่นต้นฉบับและเวอร์ชั่นรีเมคต่างก็เจอปัญหาในขั้นตอนเตรียมงานสร้างมากมาย เปลี่ยนดาราและผู้กำกับมากหน้ากว่าจะได้ลงตัว แม้หนังทั้ง 2 เวอร์ชั่นจะอ้างอิงเครดิตว่าดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ ไบรอัน การ์ฟิลด์ ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1972 แต่รายละเอียดต่าง ๆ ทั้ง 2 เวอร์ชั่นก็แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง มีเพียงชื่อพระเอก พอล เคอร์ซีย์ เท่านั้นที่เหมือนเดิม และการทำหน้าที่ศาลเตี้ยกำจัดคนร้ายตามท้องถนน นอกนั้นไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ส่วนดีกรีความโหดก็เพิ่มขึ้นตามยุคสมัยนิยม หนังในเวอร์ชั่นใหม่ที่ลงโรงฉายอยู่ในขณะนี้ก็เตรียมงานสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 2012 และครั้งหนึ่งก็เคยวางตัว ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ไว้ในตำแหน่งผู้กำกับด้วย
Death Wish ในเวอร์ชั่น 1974 นั้น ถือได้ว่าเป็นหนังแอ็คชั่นคลาสสิกที่สร้างปรากฏการณ์มากมาย และเป็นหนังที่ผลักดันให้ชื่อของ ชาร์ล บรอนสัน กลายเป็นดาราแอ็คชั่นระดับโลก สำหรับคอหนังในวัย 40 ปีขึ้นไป น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ “ชาร์ล บรอนสัน” กันเป็นอย่างดี เพราะเขาก็ดังมากในบ้านเรา จนได้ฉายาว่า “ไอ้หนวดหิน” ด้วยเอกลักษณ์ที่มีหนวดเข้มเป็นเครื่องหมายการค้า
ชาร์ล บรอนสัน เข้าวงการมาตั้งแต่ยุค 1950s แต่ก็มีงานแสดงทีวีซีรีส์เป็นหลัก และเริ่มเป็นที่รู้จักจากบท “แดนนี่” ใน The Great Escape (1963) ซึ่งยังเป็นดาราสมทบอยู่ในขณะนั้น ชาร์ล มาถึงจุดพีคจริง ๆ ในยุค 70s ลากยาวไปจนถึงยุค 80s และเริ่มซาลงในต้นยุค 90s เป็นดาราที่มาดังตอนอายุมากแล้วจริง ๆ ดวงมาดังก็ตอนที่ได้จับคู่กับ ไมเคิล วินเนอร์ ผู้กำกับที่เข้าขากันได้ดี
ไมเคิล กำกับ ชาร์ล บรอนสัน 3 เรื่องติดต่อกันในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ยืนยันถึงความฮิตจริง ๆ Chato’s Land (1972) และ The Mechanic (1972) เรื่องนี้ก็เพิ่งถูกรีเมคไปได้เจสัน สตาแธม มารับบทนำ, หลังปิดกล้อง The Stone Killer (1973) ผลงานเรื่องที่ 3 ของทั้งคู่นี้ ไมเคิล และ ชาร์ล ก็ยังอยากที่จะร่วมงานกันในโปรเจ็คต์ต่อไปในช่วงขาขึ้นของทั้งคู่ ก็มีบทสนทนาชวนขำขันของคู่นี้ ชาร์ล ถาม ไมเคิล “เราทำเรื่องอะไรกันต่อไปดี?” ไมเคิลตอบว่า “ตอนนี้บทที่ดีที่สุดที่ฉันมีอยู่ในมือก็คือ Death Wish เรื่องของชายหนุ่มที่โกรธแค้นเพราะเมียและลูกสาวเขาโดนอันธพาลทำร้าย เขาก็เลยออกไประบายแค้นด้วยการยิงอันธพาลตามท้องถนน” ชาร์ล ได้ยินพลอตเรื่องแล้วก็ให้ความเห็นว่า “เอ้อ น่าทำนะ” ไมเคิล ถามกลับทันที “หนังใช่มั้ย” “ไม่ใช่ ยิงได้พวกคนร้ายนั่นต่างหากล่ะ” ชาร์ล ตอบทันที
Death Wish นั้นเดิมทีเป็นนิยายที่ประพันธ์โดย ไบรอัน การ์ฟิลด์ เป็นนักเขียนชื่อดัง ที่เริ่มออกผลงานมาตั้งแต่ปี 1960 แล้ว และ Death Wish ก็เป็นงานเขียนเรื่องที่ 44 ของเขาแล้ว ไบรอัน เขียน Daeth Wish โดยใช้แรงกดดันที่สะสมภายในตัวเองเป็นแรงบันดาลใจ รถของเขาโดนทุบและขโมยของภายในรถไป กระเป๋าถือของภรรยาก็โดนขโมยไป ทำให้ไบรอัน คิดอยากจะลงมือจัดการไอ้พวกเดนสังคมเหล่านี้ด้วยน้ำมือตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เขาก็เลยระบายความรู้สึกนี้ผ่านออกมาทางตัวเอกใน Death Wish ที่ทำหน้าที่ศาลเตี้ยออกจัดการพวกอันธพาลในนิวยอร์คด้วยตัวเองระบายความแค้นซะ หลังลูกและเมียโดนกระทำชำเรา จนเมียเสียชีวิตและลูกสาวก็กลายเป็นคนมีปัญหาทางจิต แม้นิยาย Death Wish จะได้รับเสียงตอบรับดีแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นนิยายขายดี กระนั้นก็ได้รับความสนใจจากผู้อำนวยการสร้าง บ็อบบี้ โรเบิร์ต และ ฮาล แลนดิส จากสตูดิโอ ยูไนเต็ด อาร์ทติสต์ มาซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นหนัง
เว็นเดลล์ เมเยอร์ ถูกจ้างมาดัดแปลงนิยายเป็นบทภาพยนตร์ เขาชอบโครงสร้างของเรื่องและบทสนทนาที่แฝงด้วยปรัชญาข้อคิด และดันบทนักสืบแฟรงค์ โอชัว ให้กลายเป็นตัวละครสำคัญกว่าที่ถูกบรรยายไว้ในนิยาย และในร่างแรกของเขาก็แปลงตอนจบให้ต่างจากหนังสือ และ พอล เคอร์ซีย์ พระเอกของเรื่อง ก็ตามจนเจอตัวคนร้ายทั้ง 3 ที่ทำร้ายลูกและเมียของเขา และฆ่าทิ้งจนหมด , นักสืบแฟรงค์ โอชัว ตามรอยพอล มาจนเจอศพคนร้ายทั้งสาม และตัดสินใจสานต่อหน้าที่ศาลเตี้ยกำจัดอันธพาลต่อจากพอล เคอร์ซีย์ ฟังดูก็น่าสนุกแต่ทว่าบทร่างนี้ก็ไม่ได้อยู่ถึงขั้นตอนอนุมัติสร้าง
ยูไนเต็ด อาร์ทติสต์ ได้เลือกซิดนีย์ ลูเม็ต มาเป็นผู้กำกับ และ แจ็ค เลมมอน มารับบทพอล เรียกว่า 2 ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ แต่ซิดนีย์ ลูเม็ต ก็เลือกที่จะไปกับ Serpico (1973) และกลายเป็นหนังคลาสสิกอีกเรื่องของฮอลลีวู้ด ตัวเลือกถัดไปเป็น คลินต์ อีสต์วู้ด ที่เพิ่งดังจากหนัง Dirty Harry แต่เขาก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลอย่างถ่อมตนว่าเขาไม่เหมาะกับบทดี ๆ แบบนี้
มีดาราหลายคนในยุคนั้นเป็นตัวเลือกสำหรับบท พอล เคอร์ซีย์ ทั้ง จอร์จ ซี. สก๊อตต์ , เบิร์ต แลงคาสเตอร์ , แฟรงค์ ซินาตร้า และแม้กระทั่ง เอลวิส เพรสลีย์ แต่ตัวเลือกสุดท้ายก็เป็นไมเคิล วินเนอร์ และแน่นอนว่าเขาจะต้องเลือก ชาร์ล บรอนสัน มารับบทนำ บวกกับผลงานที่มาผ่านทั้ง 3 เรื่อง ก็ดูเหมาะที่จะมากำกับ Death Wish ที่แนวใกล้เคียงกัน
แต่ก็ยังไม่ทันได้เริ่มสร้าง ยูไนเต็ด อาร์ทติสต์ ก็ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถสานต่องานสร้างได้ ดิโน เดอ ลอเรนติส ผู้อำนวยการสร้างผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลียน เข้ามารับช่วงงานอำนวยการสร้างต่อ แต่ก็ยังไม่มีนายทุน เหตุเพราะหลาย ๆ สตูดิโอต่างก็ไม่สนใจเหตุเพราะเนื้อหาของ Death Wish ที่ว่าด้วย ชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความแค้นลุกขึ้นมาทำหน้าที่ศาลเตี้ย เป็นเนื้อหาที่รุนแรงเกินไป จากทรรศนะของสังคมอเมริกันในยุคนั้น และสุ่มเสี่ยงกับการโดนต่อต้านจากกระแสสังคม
ปัญหาอีกอย่างก็คือ ชื่อหนังที่มีคำว่า “Death” ก็ยังถูกหยิบมาพิจารณาว่าไม่เหมาะไม่ควรที่จะอยู่ในชื่อหนัง จะทำให้คนดูรู้สึกแสลงหู แล้วก็จะไม่ออกมาดูหนังเรื่องนี้ สมัยนั้นอะไร ๆ ก็ดูกระทบกระเทือนจิตใจง่ายเสียจริง ดิโน เลยมีความคิดว่าจะเปลี่ยนชื่อหนังเป็น “The Sidewalk Vigilante” เพื่อหลบเลี่ยงปัญหานี้ซะ ดีแล้วล่ะ ที่ไม่เปลี่ยนเพราะชื่อจำยาก อ่านยาก เกินไป แต่หลังจาก Death Wish กลายเป็นหนังฮิต คำว่า “Death” ก็ดูจะเป็นสัญลักษณ์ติดตัวชาร์ล บรอนสันไปเสียแล้ว เขามีหนังชื่อ Death ตามมาอีก 2 เรื่อง Death Hunt (1981) และ Messenger of Death (1988)
การหาดารานำที่เหมาะกับบท พอล เคอร์ซีย์ ซึ่งแน่นอนว่า ไมเคิล วินเนอร์ ผู้กำกับย่อมยืนยันที่จะให้ชาร์ล บรอนสัน มารับบทพอล เคอร์ซีย์ แต่ก็ยังมีปัญหาต่อเนื่องมาอีก ปัญหาแรก ผู้จัดการของชาร์ล บรอนสัน ต่อต้านหัวชนฝาที่จะให้ชาร์ล มารับบทที่อาจเป็นกระแสต่อต้านรุนแรงในเรื่องนี้ และอีกปัญหาหนึ่งคือ พอล เคอร์ซีย์ ในเรื่องนี้คือพนักงานบัญชี ซึ่งมองมุมไหน ชาร์ล บรอนสัน ก็ไม่มีทางเป็นพนักงานบัญชีไปได้ ซึ่งแรกทีเดียวตอนที่ชาร์ล เห็นบทว่าพระเอกเป็นพนักงานบัญชี ชาร์ลก็ตอบปฏิเสธไปในทันที “มันเหมาะกับแคแรกเตอร์แบบ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน มากกว่าไหม” แล้วก็เป็นไมเคิล วินเนอร์นั่นแหละ ที่เกลี้ยกล่อมชาร์ลว่า “เราจะเปลี่ยนให้พระเอกเป็นสถาปนิกหรืออาชีพอะไรก็ได้ที่ดูแมน ๆ หน่อยนะ” แต่การเลือกชาร์ล บรอนสัน ในบทนำนั้นก็ไม่เป็นที่พอใจกับ ไบรอัน การ์ฟิลด์ ผู้ประพันธ์ “แค่เขาโผล่หน้าออกมา เขาก็เหมือนจะยิงทุกคนที่อยู่ข้างหน้าเขาหมดแล้ว” แต่ไมเคิล วินเนอร์ ก็ไม่ได้แยแสกับข้อคิดเห็นของเจ้าของนิยายแต่อย่างใด แถมยังตอบโต้เขาอีกว่า “ปัญญาอ่อน”
ผู้อำนวยการสร้างดิโนนำโปรเจ็คต์ไปเสนอกับพาราเมาท์สตูดิโอ แล้วก็เป็นผลสำเร็จพาราเมาท์ตกลงซื้อและขอใช้สิทธิ์จัดจำหน่ายในประเทศ ส่วนโคลัมเบียได้สิทธิ์จัดจำหน่ายในต่างประเทศ ดิโนได้ทุนสร้างมา 3 ล้านเหรียญ เมื่อหมดปัญหาทุนสร้างก็เดินหน้าเรื่องบทภาพยนตร์
เจอรัลด์ วิลสัน เป็นตัวเลือกให้มาแก้ไขบทภาพยนตร์เดิมของ เว็นเดลล์ เมเยอร์ เริ่มแรกเขาเปลี่ยนชื่อพระเอกจาก “พอล เบนจามิน” ในนิยายเป็น “พอล เคอร์ซีย์” ซึ่งเป็นชื่อของนักแสดงเอ็กซ์ตร้า ซึ่งเจ้าตัวยินยอมให้ใช้ชื่อเขาในหนัง ขอแค่ให้จ้างเขาเป็นเอ็กซ์ตร้าในทุกฉากของหนัง เจอรัลด์ เปลี่ยนอาชีพของพอลจาก พนักงานบัญชี ให้เป็น สถาปนิก เพราะดูอย่างไรชาร์ล บรอนสัน ก็ไม่ใช่นักบัญชีแน่ ๆ
รายละเอียดหลาย ๆ ส่วนจากบทของเว็นเดลล์ ถูกลดทอนความสำคัญลง บางส่วนก็ถูกตัดทิ้งไป ผู้กำกับไมเคิล วินเนอร์ เองก็มีส่วนร่วมในขั้นตอนการแก้ไขบทเช่นกัน เขาเพิ่มฉากที่พอล เคอร์ซีย์ และภรรยาไปเที่ยวที่ฮาวายในตอนต้นเรื่อง และเพิ่มความรุนแรงให้กับฉากยิงกัน ไมเคิล วินเนอร์ ก็ขอเสี่ยงใส่ฉากยิงกันในรถไฟใต้ดินลงไป จากในบทให้ได้ยินแต่เสียงแล้วให้จินตนาการว่าอันธพาลโดนพอล ยิงไปแล้ว แต่ไมเคิล เลือกที่จะแก้ภาพนี้ให้เห็นพอล เคอร์ซีย์ ยิงพวกอันธพาลแดดิ้นกันไปจะ ๆ
ถ้าใครได้ดู Death Wish เวอร์ชั่นนี้จะรู้สึกว่าฉากนี้มันไม่ได้รุนแรงตรงไหนเลย แต่มุมมองและมาตรฐานทางสังคมในสมัยนั้นยังบอบบางอยู่มาก การตัดสินใจทำหนังเกี่ยงกับศาลเตี้ย และมีฉากยิงกันตรง ๆ ก็ถือว่ากล้าบ้าบิ่นเสี่ยงต่อเสียงวิพากษ์ทางสังคมพอดู แล้วถ้ามาเทียบกับเวอร์ชั่นใหม่นี้ พอล ในเวอร์ชั่น บรู๊ซ วิลลิส นี่ยิงอันธพาลไปนับสิบ แล้วฆ่าแบบโหด ๆ มีดแทงมือ ปลดแม่แรงรถทับหัวแบะงี้ ลูกซองซัดกันทีตัวปลิว เห็นได้ชัดว่าพัฒนาการทางด้านความรุนแรงของภาพยนตร์ตลอด 40 ปี เดินหน้าไปไกลมาก ที่ยิ่งแรงสะใจ ยิ่งเป็นที่พูดถึงจึงทำให้เรารู้สึกธรรมดากับภาพรุนแรง เลือด บนจอจนดูเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
และด้วยทุนสร้างที่จำกัด ดิโน เดอ ลอเรนติส เลยวางแผนการว่าจะใช้วงดนตรีอังกฤษมาทำดนตรีประกอบ เหตุเพราะว่าหนังที่ใช้วงดนตรีอังกฤษมักจะประสบความสำเร็จและค่าจ้างถูก แต่โซเนีย มาซาโน ภรรยาของไมเคิล วินเนอร์ ผู้เป็นคอเพลงแจ๊สก็เอาอัลบั้ม Head Hunters ของเฮอร์บี้ แฮนค็อก ศิลปินแจ๊สชาวอเมริกันมาให้ไมเคิล ฟัง เขาฟังแล้วอึ้งไปมาก ถึงกับรีบแนะนำกับดิโน ว่า ช่างวงอังกฤษไปเหอะเรามีเฮอร์บี้ แฮนค็อกนะ ,Death Wish เป็นหนังเรื่องที่ 3 ที่เฮอร์บี้ มาทำดนตรีประกอบให้ ชือเสียงยังไม่โด่งดังมากนัก แต่ในยุค 80s เขาก็กลายเป็นนักดนตรีแจ๊สอเมริกันระดับแถวหน้า เฮอร์บี้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เพียงแค่ 4 เรื่อง และเรื่องที่ 4 Round Midnight ปี 1986 ก็ส่งให้เขาคว้าออสการ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม เฮอร์บี้ มีอัลบั้มมากถึง 41 ชุด ส่งให้เข้าได้รางวัลแกรมมี่ถึง 14 ตัว
เมื่อหนังเดินหน้าถ่ายทำ ผู้กำกับไมเคิล วินเนอร์ และผู้อำนวยการสร้างดิโน เดอ ลอเรนติสต้องการถ่ายทำในนิวยอร์ค ตามเนื้อหาในนิยาย แต่ชาร์ล บรอนสัน ขอร้องว่าให้ย้ายกองถ่ายไปถ่ายที่แคลิฟอร์เนียแทน เพื่อว่าเขาจะได้ใช้เวลาว่างจากการถ่ายทำไปใช้เวลากับครอบครัวที่เบลแอร์ ลอสแองเจลิสได้บ้าง
แม้ว่าชาร์ล บรอนสัน จะเป็นดาราระดับแถวหน้าแล้วในยุคนั้น แต่พาวเวอร์ก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อรองกองถ่ายได้ สุดท้ายกองถ่ายก็ยังคงถ่ายทำที่นิวยอร์คตามแผนการเดิม ถ้าเป็นสมัยนี้นะ ดาราแบบทอม ครูซ , ดเวย์น จอห์นสัน , จอห์นนี่ เด็ปป์ คงสั่งกองถ่ายได้ตามใจชอบเลยล่ะ หนัง Death Wish ถ่ายทำในนิวยอร์ค ช่วงฤดูหนาวปลายปี 1973 – 1974 และออกฉายในเดือน กรกฎาคม ปี 1974 และหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นก็มี Mr. Majestyk หนังอีกเรื่องของชาร์ล บรอนสัน ออกฉาย ยืนยันถึงความฮอตของเขาในยุคนั้นจริง ๆ
วันที่ Death Wish ออกฉายนั้น สร้างกระแสถกเถียงโต้แย้งกันในหมู่กว้าง เหตุจากภาพรุนแรงที่นำเสนอในหนัง ทั้งฉากที่ลูกสาวของพอล ถูกข่มขืน ฉากที่พอลวางแผนตระเตรียมการออกไปจัดการกับทรชนตามท้องถนน รวมถึงการจำลองบรรยากาศที่สมจริงของแถบชานเมืองที่เต็มไปด้วยอันตรายจากอาชญากรรมที่สูงขึ้น บรรดานักวิจารณ์ออกมาโขกสับหนังว่า “ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม” “มีเจตนายั่วยุส่งเสริมพวกต่อต้านสังคม” แม้กระทั่งไบรอัน การ์ฟิลด์ เจ้าของบทประพันธ์เองก็ไม่ปลื้มกับหนัง บอกว่าหนังทำหน้าที่เสมือน “ผู้วางเพลิง” ให้กับความรุนแรง เจตนาที่หนังต้องการสื่อตรงกันข้ามจากในนิยายของเขา
ชาร์ล บรอนสัน ผู้รับบทนำถึงกับต้องออกโรงมาโต้แย้งว่า “ผมไม่เคยมีแนวคิดจะสนับสนุนความรุนแรง ผมว่าในหนังก็ไม่ได้มีเจตนาเช่นเดียวกัน ถ้าถามว่าหนังต้องการสื่ออะไร นั่นก็คือ ความรุนแรงไม่เคยก่อประโยชน์อันใด ความรุนแรงมีแต่จะสร้างความรุนแรงต่อเนื่องไปเท่านั้น” สุดท้ายถึงแม้หนังจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ Death Wish ภาคแรกก็ยังได้คะแนนจากนักวิจารณ์มากกว่าภาคต่อทั้งหมด แม้ว่างานภาคต่อจะใช้เวลาในการตระเตรียมวางแผนมากกว่าด้วยซ้ำ
ยิ่งหนังเป็นประเด็นโต้แย้งก็ยิ่งเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับหนัง Death Wish ทำรายได้ไปอย่างน่าพอใจ 22 ล้านในอเมริกา ยังไม่รวมรายได้จากนอกประเทศ เมื่อหนังฮิตทางโรงก็ฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าตั๋วจาก 3.5 ดอลลาร์ เป็น 4 ดอลลาร์ ในช่วงหนังมีเพียงหนังฟอร์มใหญ่อย่าง The Godfather (1972) และ The Great Gatsby (1974) ที่โดนฉวยโอกาสขึ้นราคาแบบนี้
ด้วยความสำเร็จของหนังทำให้ Death wish กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของชาร์ล บรอนสัน ที่ต้องกลายเป็นดาราแอ็คชั่นเต็มตัวในวัย 53 ปี คล้าย ๆ กับเลียม นีสัน ที่ต้องเดินสายแอ็คชั่นในวัย 56 ปีหลัง Taken (2008) กลายเป็นหนังทำเงินม้ามืด แต่วันที่ ชาร์ล บรอนสัน เล่น Daeth Wish (1974) ก็ยังหนุ่มกว่า บรู๊ซ วิลลิส ในเวอร์ชั่น 2018 อยู่มาก เพราะตอนนี้ บรู๊ซ วิลลิส ก็ปาเข้าไป 63 ปีแล้ว , ชาร์ล บรอนสัน ยังคงทำงานแสดงต่อไปจนถึงปี 1999 และเสียชีวิตในปี 2003 ด้วยวัย 81 ปี ทิ้งผลงานการแสดงไว้ทั้งหมด 162 เรื่อง