“ทุกคนล้วนมีวันแรกด้วยกันทั้งนั้น”
วันที่ 3 ธันวาคม 2549
วันนั้นเป็นวันออดิชันรอบสุดท้ายของ AKB48 รุ่นที่ 3
นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วนับตั้งแต่ AKB48 เปิดตัว จากวันแรกของ AKB48 ที่มีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมการแสดงในโรงละครเพียง 7 คน AKB48 เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ สมาชิกรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ได้สร้างชื่อเสียงไว้แล้วในระดับหนึ่ง โดยได้ไปออกรายการโทรทัศน์และออกเมเจอร์ซิงเกิ้ลแล้ว
จากผู้สมัครเข้าออดิชัน 12828 คน มีเพียง 19 คนที่ผ่านและได้เป็นสมาชิก AKB48 รุ่นที่ 3 หนึ่งในนั้นคือวาตานาเบะ มายุ เด็กหญิงวัย 12 ปีจากจังหวัดไซตามะ
วาตานาเบะ มายุก็เป็นเช่นเดียวเด็กหญิงอีกมากมายที่ชื่นชอบและชื่นชม AKB48 อยู่แล้ว การเป็นสมาชิก AKB48 คือสิ่งที่เธอใฝ่ฝันเสมอมา ถึงแม้เธอจะไม่ผ่านการออดิชัน AKB48 รุ่นที่ 2 แต่ความฝันของเธอก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เธอจะยอมแพ้ และเธอก็ทำมันได้สำเร็จ
แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น…
วาตานาเบะ มายุในการออดิชันรอบสุดท้ายของ AKB48 รุ่นที่ 3 (ภาพจากรายการ 情熱大陸 วันที่ 14 มิถุนายน 2558)
วันที่ 18 ธันวาคม 2559
วันนั้นเป็นวันออดิชันรอบสุดท้ายของ BNK48 รุ่นที่ 1
นับเป็นเวลาเกือบ 9 เดือนแล้วนับตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้ง BNK48 วงน้องสาวของ AKB48 ในประเทศไทย ในคอนเสิร์ตจบการศึกษาของทากาฮาชิ มินามิ สมาชิกรุ่นที่ 1 และอดีตโซกันโตกุของไอดอลกรุ๊ปตระกูล 48 จากวันแรกของ AKB48 ที่มีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมการแสดงในโรงละครเพียง 7 คน AKB48 เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วญี่ปุ่น ทำรายได้ต่อปีได้นับหมื่นล้านเยน แนวคิด “ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้” ที่ไม่เคยมีมาก่อนในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และ AKB48 ยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นอีกด้วย
จากผู้สมัครเข้าออดิชัน 1357 คน มีเพียง 29 คนที่ผ่านและได้เป็นสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 หนึ่งในนั้นคือแพรวา สุธรรมพงษ์ เด็กสาววัย 15 ปีจากกรุงเทพมหานคร
แพรวา สุธรรมพงษ์ก็เป็นเช่นเดียวกับเด็กสาวอีกมากมายที่ชื่นชอบและชื่นชม AKB48 อยู่แล้ว เธออยากเป็นไอดอลมาตั้งแต่เด็ก เคยเอาผ้าห่มมาทำชุด ร้องเต้นและจินตนาการว่ามีผู้คนมองขึ้นมาด้วยสายตาชื่นชม เมื่อรู้ว่ามีวงน้องสาวของ AKB48 มาเปิดในเมืองไทย เธอก็สมัครทันทีโดยไม่ลังเล โดยยื่นใบสมัครเข้ามาเป็นลำดับที่ 3 และด้วยความสามารถอันเอกอุของเธอ เธอก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1
แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น…
แพรวา สุธรรมพงษ์ในการออดิชันรอบสุดท้ายของ BNK48 รุ่นที่ 1 เธอไม่รู้เลยว่าเพลงที่ร้องอยู่นี้จะมีความสำคัญกับเธอขนาดไหนในไม่ช้า (ภาพจากรายการ BNK48 Senpai ep.02 (Part 2))
“ฉันรักที่จะยืนอยู่ตรงนี้ ตกหลุมรักกับเวทีท่ามกลางเสียงเชียร์ และการปรบมือเหล่านั้นที่มีให้ฉันทุกอย่างคือความเร่าร้อน”
ต่างจากแพรวา สุธรรมพงษ์ กานต์ธีรา วัชรทัศนกุลผ่านเข้ามาเป็นสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 ได้โดยที่ไม่ได้ติดตาม AKB48 มาก่อน
กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล สาวขี้อายวัย 19 ปีจากจังหวัดสมุทรปราการ รู้เพียงว่าจะได้ร้องและเต้นหากเข้ามาเป็นสมาชิก BNK48 เธอลังเลจนเกือบนาทีสุดท้ายก่อนตัดสินใจส่งใบสมัครเข้าออดิชัน ด้วยถือคติที่ว่าทำแล้วไม่ได้ดีกว่าไม่ได้ทำ จากที่เคยแต่ดูคลิปคนอื่นเต้นแล้วแกะท่าเต้นและเต้นอยู่คนเดียว เธอกำลังจะออกไปเต้นให้สาธารณชนได้ชมและเชียร์
แต่หนทางที่รออยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
กานต์ธีรา วัชรทัศนกุลในการออดิชันรอบสุดท้ายของ BNK48 รุ่นที่ 1 (ภาพจากรายการ BNK48 Senpai ep.02 (Part 2))
การเป็นไอดอลไม่ใช่แค่การแต่งตัวสวยและทำตัวน่ารัก การจะเต้นบนเวทีได้ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง หลายคนคงไม่คาดคิดว่าการวิ่ง การกระโดดตบหรือการแพลงก์จะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกไอดอล ยังไม่นับว่ามันเหนื่อยล้าและกัดกร่อนแรงใจกว่าที่เห็น
กานต์ธีรา วัชรทัศนกุลไม่เพียงแต่ต้องฝึกในห้องซ้อมเท่านั้น แต่ยังต้องกลับมาฝึกที่บ้านตามที่ครูสั่งด้วย
ถึงแม้ตอนนี้เธอจะพอเห็นภาพปลายทางแล้วว่าอะไรรอเธออยู่ เวที เสียงเชียร์ แสงประกายสดใส ดวงตาที่มองขึ้นมาด้วยความชื่นชม แต่หนทางก็ยังยาวไกล เธอยังกังวลใจว่าเธอคิดถูกหรือไม่ที่เข้ามาอยู่ตรงนี้
ในท่าแพลงก์นั้นเอง กานต์ธีรา วัชรทัศนกุลร้องไห้…
สมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 ในท่าแพลงก์ระหว่างการฝึกซ้อมก่อนการแสดงครั้งแรก (ภาพจากรายการ BNK48 Senpai ep.03 (Part 2))
“ต้องซ้อมต้องยากลำบากเพียงใดกว่าฉันจะได้ก้าวผ่านกำแพงนี้ไป จนถึงนาทีที่ฝันเมื่อผ้าม่านนั้นเปิดให้ฉันแสดง”
ถ้าจะมีใครเข้าใจความหนักหนาของสิ่งที่กานต์ธีรา วัชรทัศนกุลเผชิญได้ดีที่สุด คน ๆ นั้นก็น่าจะเป็นนากางาวะ ฮารูกะ
นากางาวะ ฮารูกะ เด็กหญิงจากจังหวัดโตเกียว ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิก AKB48 รุ่นที่ 3 ในวัย 14 ปี แม้เธอจะได้เป็นสมาชิกทีม B รุ่นก่อตั้งร่วมกับวาตานาเบะ มายุและเพื่อน ๆ อีก 11 คน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหนทางของเธอจะง่ายดาย เธอมีทักษะการเต้นน้อยกว่าเพื่อน ๆ เธอเต้นได้ช้ากว่าคนอื่น แรงกดดันที่เธอได้รับทำให้เธอต้องเสียน้ำตา
“เป็นคนเต้นไม่เป็น คนเดียวที่ไม่ทัน ร้องไห้ตอนกลับบ้านซ้ำอยู่อย่างนั้นตั้งกี่ครั้ง”
แล้ววันที่เปิดการแสดงต่อผู้ชมครั้งแรกก็มาถึง
วันที่ 8 เมษายน 2550 สมาชิก AKB48 รุ่นที่ 3 จำนวน 13 คนและสมาชิก AKB48 รุ่นที่ 1 จำนวน 3 คนในฐานะสมาชิกทีม B ได้ทำการแสดงครั้งแรกในสเตจ Seishun Girls โรงละครความจุผู้ชม 250 คนเต็มหมดทุกที่นั่งและที่ยืนทั้งที่เป็นการแสดงครั้งแรกของทีม เพลงแรกในการแสดงวันนั้นหลังจาก Overture คือเพลง Seishun Girls เพลงที่ชื่อเดียวกับสเตจ การแสดงในวันนั้นประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม สาว ๆ ทั้ง 16 คนเปล่งประกายด้วยแสงไฟบนเวที สปอตไลท์และแรงเชียร์จากผู้ชม
ภาพบรรยากาศการแสดงครั้งแรกของ AKB48 ทีม B (ภาพจากรายการ AKB48 SHOW! วันที่ 8 เมษายน 2560)
วันที่ 2 มิถุนายน 2560 สมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 ทั้ง 29 คนและอิซึตะ รินะได้ทำการแสดงต่อสาธารณะชนครั้งแรก ผู้ชมกว่า 1500 คนในบริเวณควอเทียร์ แกลอรีร่วมชมร่วมเชียร์กันสุดเสียง เพลงในซิงเกิ้ลแรกทั้ง Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ) Oogoe Diamond (ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ) และ 365 Nichi no Kamihikouki (365 วันกับเครื่องบินกระดาษ) ได้ถูกขับขาน การแสดงในวันนั้นประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม สาว ๆ ทั้ง 30 คนเปล่งประกายด้วยแสงไฟบนเวที สปอตไลท์และแรงเชียร์จากผู้ชม
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1208120192648570.1073741871.842370685890191
“ไฟบนเวทีและสปอตไลท์เปลี่ยนค่ำคืนที่มืดลงไปให้โลกทั้งใบคืนมาซึ่งความสดใสเหมือนแสงอาทิตย์สว่างในใจของฉัน”
ถึงการแสดงครั้งแรกจะประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม แต่การเริ่มต้นก็ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น
สาว ๆ AKB48 ทีม B รู้ดีว่า ถึงแม้การแสดงครั้งแรกของพวกเธอจะได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ก็คงหลีกเลี่ยงการถูกเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ไม่ได้ ภาพลักษณ์ที่น่ารักสดใสของทีม B จะครองใจแฟน ๆ ได้เหมือนภาพลักษณ์อิสระเสรีของทีม A หรือภาพลักษณ์แข็งแรงของ Team K ได้หรือไม่ เธอจะพัฒนาตัวเองได้ทันรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์การแสดงมาก่อนพวกเธอได้หรือเปล่า ยังไม่นับว่าสเตจ Seishun Girls ซึ่งเป็นสเตจแรกของพวกเธอนั้นไม่ใช่สเตจต้นฉบับของพวกเธอ แต่เป็นสเตจของทีม K มาก่อน การแสดงด้วยลิสต์เพลงที่เหมือนกับรุ่นพี่ชนิดเพลงต่อเพลงยิ่งทำให้ถูกเปรียบเทียบหนักยิ่งขึ้น สิ่งที่พวกเธอมุ่งมั่นคือพวกเธอต้องก้าวข้ามรุ่นพี่ไปให้ได้
ภาพจาก MV เพลง Aitakatta เพลงหลักจากเมเจอร์ซิงเกิ้ลแรกของ AKB48 ขณะนั้น AKB48 ยังไม่มีสมาชิกรุ่นที่ 3
สาว ๆ BNK48 รุ่นที่ 1 ก็รู้ดีเช่นกันว่า ถึงแม้การแสดงครั้งแรกของพวกเธอจะได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ก็คงหลีกเลี่ยงการถูกเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ไม่ได้ การเป็นวงน้องสาวทำให้เพลงของ BNK48 ต้องใช้ทำนองเพลงเดียวกับเพลงของ AKB48 ทั้งหมด ต่างกันแค่เนื้อเพลงที่แปลเป็นภาษาไทย (แต่ก็ต้องแปลให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด) ท่าเต้นก็ต้องเหมือนกัน ยังไม่นับว่าแฟน ๆ กลุ่มแรกของ BNK48 คือแฟน ๆ ของ AKB48 รุ่นพี่ของพวกเธอเอง สิ่งที่พวกเธอมุ่งมั่นคือพวกเธอต้องก้าวข้ามรุ่นพี่ไปให้ได้
ภาพจาก PV (story version) เพลง Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ) เพลงหลักจากซิงเกิ้ลแรกของ BNK48
“รุ่นพี่สร้างไว้ได้ดีแค่ไหน แต่ฉันก็จะสร้างสิ่งใหม่ให้ดียิ่งกว่า ด้วยโชว์ที่สะดุดตาและได้ชื่อว่าเป็นโชว์ของฉันเอง”
ว่ากันว่าความสุขและความทุกข์มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หลายอย่าง หนึ่งอย่างนั้นคือ ทั้งความสุขและความทุกข์อยู่กับเราไม่นาน
หลักจากทำการแสดงครั้งแรกไม่ทันไร วาตานาเบะ มายุก็ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถขึ้นเวทีแสดงได้ ความเจ็บใจก็ทำให้เธอร้องไห้ออกมาอีกจนได้
“วันที่ต้องหยุดพัก พอร่างกายรับไม่ไหว วันที่ต้องเจ็บใจจนแอบไปสะอื้นกี่ครั้ง”
แต่ที่สุดแล้ว ความพยายามก็ไม่เคยทรยศใคร
หลังจากที่ทีม B ได้ทำการแสดงสเตจแรก คือ Seishun Girls (ซึ่งเป็นสเตจของทีม K มาก่อน) เป็นเวลา 6 เดือน และสเตจที่สอง คือ Aitakatta (ซึ่งเป็นสเตจของทีม A มาก่อน) เป็นเวลา 3 เดือน ในที่สุด ทีม B ก็มีสเตจต้นฉบับของตัวเอง นั่นคือ Pajama Drive ซึ่งเปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 เพลงแรกในการแสดงวันนั้นหลังจาก Overture ก็คือเพลง Shonichi
ภาพบรรยากาศการแสดงเพลง Shonichi ครั้งแรกของ AKB48 ทีม B (ภาพจากรายการ AKB48 SHOW! วันที่ 8 เมษายน 2560)
และหลังจากที่ BNK48 รุ่นที่ 1 ได้เดินทางผ่านคืนวัน สะสมประสบการณ์และทำงานอย่างหนัก ในที่สุด BNK48 ก็มีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกเป็นของตัวเอง นั่นคือ Tao Kae Noi Presents BNK48 1st Concert “STARTO” ซึ่งเปิดการแสดงเมื่อวันที่ 31 มีนาคมและ 1 เมษายน 2561 และแน่นอน เพลงแรกในการแสดงวันนั้นหลังจาก Overture จะเป็นเพลงอื่นใดไม่ได้นอกจาก Shonichi (วันแรก) นั่นเอง
ภาพบรรยากาศการแสดงเพลง Shonichi (วันแรก) ของ BNK48 ในคอนเสิร์ตครั้งแรกของวง (ภาพจาก Mango Zero)
“ความฝันต้องเกิดหยาดเหงื่อจึงได้มา ใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไปดอกไม้จึงบาน คำว่าพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ”
ว่าด้วย Shonichi
Shonichi คือเพลงจาก Pajama Drive สเตจที่ 3 ของ AKB48 ทีม B บทเพลงบอกเล่าเรื่องราวของสมาชิกทีม B นับจากวันแรกที่ก้าวเข้ามาจนถึงวันที่เปิดการแสดงสเตจต้นฉบับของตัวเอง เนื้อเพลงไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวโดยรวมของทีม B เท่านั้น แต่เนื้อเพลงบางท่อนยังบอกเล่าเรื่องราวของสมาชิกด้วย บทเพลงนี้จึงเป็นบทเพลงที่มีความหมายกับ AKB48 ทีม B อย่างมาก ถึงแม้บทเพลงนี้จะทำการแสดงเฉพาะในโรงละครและไม่ได้อยู่ในซิงเกิ้ลหรืออัลบั้มใดเลยในขณะนั้น แต่ความสำคัญและความซาบซึ้งกินใจของเพลงนี้ก็ทำให้แฟน ๆ โหวตให้เพลงนี้ขึ้นอันดับที่ 1 ในงาน AKB48 Request Hour เมื่อปี 2552 (งาน AKB48 Request Hour คืองานคอนเสิร์ตของ AKB48 ที่แฟน ๆ ทำการโหวตเลือกเพลงที่ต้องการชม) หลังจากนั้นเพลงนี้จึงมีการบันทึกเสียงในหลากหลายเวอร์ชัน ซึ่งรวมถึงเวอร์ชันภาษาไทยของ BNK48 ที่เพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงหลักในซิงเกิ้ลที่ 3 ของ BNK48 ด้วย
ภาพบรรยากาศการแสดงเพลง Shonichi ของ AKB48 ทีม B ในงาน AKB48 Request Hour เมื่อปี 2552 (ภาพจากรายการ AKB48 SHOW! วันที่ 8 เมษายน 2560)
และในเวอร์ชันภาษาไทย BNK48 ได้ทำการแสดงเพลงนี้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพครั้งที่ 46 ที่ราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561
“ความฝันเท่ากับหยาดเหงื่อรินรดไป เพื่อให้เหล่าเมล็ดพันธุ์นั้นเติบโตและสูงใหญ่ และคงต้องมีสักวันจะได้ดั่งใจสมปรารถนา”
นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วนับตั้งแต่เพลง Shonichi ถูกบรรเลงเป็นครั้งแรก
วาตานาเบะ มายุได้จบการศึกษาจาก AKB48 แล้ว ปัจจุบันยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เธอคือตำนานของวงการไอดอลและวงการบันเทิงญี่ปุ่น แฟน ๆ จดจำได้ไม่ลืมว่าเธอคือสมาชิกต้นฉบับของคามิ 7 แห่ง AKB48 และเคยได้ที่ 1 ในการเลือกตั้งทั่วไปของ AKB48 เมื่อปี 2557
วาตานาเบะ มายุร้องเพลง Shonichi เป็นเพลงแรกในคอนเสิร์ตจบการศึกษา (ภาพจาก 渡辺麻友卒業コンサート〜みんなの夢が叶いますように〜 DVD&Blu-rayダイジェスト公開!! / AKB48[公式])
นากางาวะ ฮารูกะก็ได้จบการศึกษาจาก JKT48 (วงน้องสาวของ AKB48 ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) แล้วเช่นกัน ปัจจุบันเป็นดาราแถวหน้าในวงการบันเทิงอินโดนีเซีย
นากางาวะ ฮารูกะเคยเดินทางมาเยือน BNK48 Digital Live Studio เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 (ภาพจาก BNK48 Digital Studio Live [กลุ่มล่ามมิโอริ] June 29th, 2017)
ปัจจุบัน สมาชิกรุ่นก่อตั้งของ AKB48 ทีม B ที่ยังอยู่ในวงมีเพียงคนเดียว คือคาชิวางิ ยูกิ ถึงแม้จะอายุ 26 ปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นสมาชิกแถวหน้าของวง มีงานนอก AKB48 และประสบการณ์ของเธอยังคงเป็นประโยชน์ต่อวงและรุ่นน้อง
การแสดงเพลง Teacher Teacher เพลงหลักจากเมเจอร์ซิงเกิ้ลที่ 52 ของ AKB48 ที่จะวางแผงในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ แน่นอนว่าคาชิวางิ ยูกิเป็นเซ็มบัตสึในเพลงนี้ด้วย
แพรวา สุธรรมพงษ์และกานต์ธีรา วัชรทัศนกุลยังคงเป็นสมาชิกของ BNK48 ทั้งคู่คือเซ็นเตอร์ของเพลง Shonichi (วันแรก) นี้ พวกเธอไม่มีความกังวลใจใด ๆ อีกแล้วว่าตัวเองคิดถูกหรือไม่ที่ก้าวเข้ามาอยู่ตรงนี้
การแสดงในโรงละครครั้งแรกของ AKB48 ภายใต้สเตจ PARTY ga Hajimaru yo เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 มีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชม 7 คน
การแสดงในโรงละครครั้งแรกของ BNK48 ภายใต้สเตจ PARTY ga Hajimaru yo กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า บัตรเข้าชมการแสดงขายล่วงหน้าได้แล้วหลายหมื่นใบ
คอนเสิร์ตครั้งแรกของ AKB48 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 และ 4 มกราคม 2550 สถานที่จัดงานความจุ 1360 ที่นั่ง บัตรขายไม่หมด
คอนเสิร์ตครั้งแรกของ BNK48 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคมและ 1 เมษายน 2561 สถานที่จัดงานความจุผู้ชม 5500 คน บัตรขายหมดในพริบตา
ถึงแม้จะดูเหมือนว่า BNK48 จะมาได้ไกลกว่า AKB48 เมื่อเทียบระยะเวลาที่เท่ากัน แต่ BNK48 มาได้ไกลขนาดนี้ก็เพราะ AKB48 ถางทางไว้ให้
แต่จากนี้ไปนี่แหละ คือเวลาที่ BNK48 จะสานต่อตำนาน “วันแรก” ของ AKB48
หมายเหตุ: บทความนี้ใช้การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่พยายามให้ใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 การทับศัพท์ในบทความนี้จึงแตกต่างกับบทความที่ผ่าน ๆ มา