ครั้งก่อนเราได้แนะนำซีรีส์ “Alex., Inc.” ซีรีส์ที่นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพสายพอดแคสต์ อย่าง Alex Blumberg มาให้ได้อ่าน ครั้งนี้จะขอแนะนำซีรีส์อีกเรื่อง ที่นำเรื่องจริงของเจ้าของเรื่องมาสร้าง และไม่ได้มีแค่ซีรีส์อย่างเดียว ยังมีออกมาในแบบหนังสืออีกด้วย นั่นคือเรื่อง “บันทึกน้ำตา 1 ลิตร” (One Litre of Tears)

หน้าปกของหนังสือบันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร เล่มต้นฉบับในภาษาญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า 1 Litre no Namida (1リットルの涙)

ก่อนอื่น ต้องขอเกริ่นว่าซีรีส์เรื่องดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ซีรีส์ที่มาจากแผ่นดินอเมริกา แต่มาจากประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง จริงๆ แล้ว เคยออกอากาศในประเทศไทยเมื่อเกือบๆ 10 ปีที่ผ่านมา เรื่องดังกล่าวสร้างจากเรื่องจริงของ “คิโต อายะ” หญิงสาวผู้ร่าเริงที่ดูแล้วว่าอนาคตของเธอไปได้ไกลกว่านี้ แต่ชีวิตทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อเธอเริ่มมีอาการป่วยแบบที่คนปกติทั่วไปเขาไม่ค่อยได้เป็นกัน

จากอาการป่วย สู่การถ่ายทอดลงไดอารี่

คิโต อายะ

คิโต อายะ ในวัย 15 ปี ถูกตรวจพบว่าป่วยด้วยอาการโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง (ศัพท์ทางการแพทย์ ในหนังสือจะเขียนว่า spinocerebellar ataxia แต่ในแบบซีรีส์ จะเรียกว่า spinocerebellar degeneration ซึ่งเป็นโรคเดียวกันนะ แต่มีชื่อสองชื่อ) ทำให้ระบบประสาทของเธอนั่นเริ่มถดถอย ส่งผลให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้เหมือนปกติ มีการเคลื่อนไหวช้า รับรู้ต่อสิ่งรอบข้างได้ช้าลง แม้แต่ยืนทรงตัวเหมือนคนทั่วๆ ไป ก็ยังทำไม่ได้ รวมไปถึงการเคี้ยว บด และกลืนอาหาร ก็ไม่สามารถทำได้ แต่ว่าอาการที่ว่ามานี้ ค่อยๆ เริ่มหนักขึ้น ทีละนิด ทีละน้อย จนท้ายที่สุด กลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำได้ สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียวคือการใช้ปลายนิ้วมือ ชี้ตัวอักษรที่อยู่บนกระดาน เพื่อถ่ายทอดข้อความที่ตนเองต้องการจะสื่อสารกับคนรอบข้าง

คิโต อายะ ในวัย 23 ปี ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูด หรือการเขียนได้อีกต่อไป มีเพียงกระดานตัวอักษรที่ผู้เป็นแม่สร้างขึ้นมา ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารระหว่างตัวเธอกับคนรอบข้าง สิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนั้น คือการชี้นิ้วไปที่ตัวอักษรต่างๆ

ช่วงที่ยังสามารถทำอะไรต่างๆ ได้ด้วยตนเองนั้น เธอได้จดบันทึกทุกอย่างลงในไดอารี่ของเธอเอง เป็นการจดบันทึกว่าวันนี้ได้พบเจออะไรบ้าง (ก็เหมือนกับเราๆ ที่ชอบจดบันทึกลงในสมุดส่วนตัวนั่นแหละ…) แน่นอนว่าในแต่เรื่องราวที่เธอได้จดลงในไดอารี่นั้น ได้กลายมาเป็นหนังสือที่ถูกตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น และมีการจำหน่ายในระดับ Best Seller รวมถึงมีการตีพิมพ์อีกหลายต่อหลายครั้ง และมีการแปลภาษาในหลายต่อหลายภาษา (หนึ่งในนั้นมีภาษาไทยด้วย)

ส่วนหนึ่งจากไดอารี่ที่เธอเขียนบันทึกไว้

ทำไม ไดอารี่ของเธอถึงกลายเป็นหนังสือเล่มๆ หนึ่งได้ ผู้อ่านลองนึกภาพตาม คิโต อายะ เริ่มเขียนไดอารี่เล่มแรกเมื่อตอนอายุ 14 ปี ซึ่งเริ่มเขียนก่อนที่เธอจะตรวจพบว่าป่วยด้วยอาการดังกล่าวถึง 1 ปี (เริ่มป่วยเมื่อตอนอายุ 15 ปี) เธอเขียนไดอารี่อย่างนี้แทบทุกวัน จนถึงวันที่ไม่สามารถหยิบปากกามาจรดถ้อยคำลงในไดอารี่ได้ (เธอสูญเสียความสามารถทางด้านการเขียนเมื่อตอนอายุ 21 ปี) นับจากเล่มแรก จนถึงเส่มสุดท้ายที่เขียน มีทั้งสิ้น 46 เล่ม เรียกได้ว่าเธอเป็นนักบันทึกตัวยงเลยก็ว่าได้ และนั่นก็มากพอที่นำมาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นหนังสือเล่มๆ หนึ่งได้

จากหน้าท้ายๆ ที่เธอเขียนบันทึกไดอารี่ สังเกตได้ว่าเธอได้สูญเสียทักษะการเขียนไปแล้ว

ย้อนกลับมาที่อาการป่วยของโรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ในทางการแพทย์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่เพียงรักษาอย่างประคับประคอง เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าพลาดในการดูแลแม้แต่วินาทีเดียว แค่เพียงสำลักน้ำลาย หรือเศษอาหารติดหลอดลม นั่นก็ทำให้เสียชีวิตได้ง่าย แต่อาการอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของผู้ป่วยรายดังกล่าว ซึ่งจะไม่สามารถควบคุมร่างกายได้แล้ว

สมองน้อย ไขสันหลัง และระบบประสาทส่วนกลาง สามส่วนที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการขยับ สัมผัส รับรู้ และรู้สึก หากส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุดหรือได้รับการกระทบกระเทือน นั่นทำให้ร่างกายของคนเรานั้นเปลี่ยนไปโดยตลอดการ

ภาพเอ็กซ์เรย์เปรียบเทียบระหว่างส่วนของสมองน้อย ของผู้ที่ปกติ (ด้านขวามือ) กับผู้ที่มีอาการ (ด้านซ้ายมือ) สังเกตในวงกลมสีแดง จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

คิโต อายะ เริ่มป่วยตั้งแต่อายุ 15 ปี จนไม่สามารถเขียนหนังสือด้วยตัวเองได้เมื่อถึงอายุ 21 ปี และเสียชีวิตลงอย่างสงบตอนอายุ 25 ปี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 เป็นเวลาร่วมๆ 10 ปี ที่เธอต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าว จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ไดอารี่ที่เขียนทั้งหมด 46 เล่มนั้น ได้ถูกนำมาเรียบเรียงและตีพิมพ์เป็นหนังสือ หลัจากที่เธอได้เสียชีวิตลง

จริงๆ ไม่ได้มีแค่คิโต อายะ ที่เขียนไดอารี่ทั้งหมด ยังมีคุณแม่ และแพทย์ที่ดูแลอาการป่วย เข้ามาร่วมเขียนในไดอารี่เล่มดังกล่าว เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวอีกด้าน และความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมาให้ผู้อ่านได้อ่านกัน เสมือนบรรณาธิการที่ต้องเขียนคอลัมน์ปิดเล่มในหน้าสุดท้ายของนิตยสาร

จากไดอารี่ สู่ซีรีส์ที่เรียกน้ำตาจากผู้ชม

หลังการเสียชีวิตของคิโต อายะ ถึง 17 ปี ในปี 2548 เรื่องราวของเธอที่ถูกถ่ายทอดจากไดอารี่ สู่เล่มหนังสือ ได้หยิบขึ้นมาเล่าอีกครั้ง ผ่านการผลิตออกมาเป็นซีรีส์ ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ฟูจิ (Fuji Television) ในประเทศญี่ปุ่น โดยออกอากาศเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ในปีเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว เคยถูกหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์ และฉายในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2547 (เพียง 1 ปี ก่อนการออกอากาศของซีรีส์เรื่องนี้)

ซีรีส์เรื่องนี้ได้ดัดแปลงเรื่องราวจากในหนังสือ โดยมีการปรับเนื้อหาให้เล่าอย่างกระชับ และปรับเปลี่ยนชื่อของตัวละครให้มีความใกล้เคียงกัน นอกเหนือจากเนื้อหาที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคิโต อายะ ซีรีส์เรื่องนี้ ยังได้อธิบายถึงอาการของโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลังได้อย่างเข้าใจง่าย

อีกอย่างที่เป็นที่จดจำของเรื่องนี้ก็คือ คู่พระ – นาง ที่ร่วมแสดง อย่าง เรียว นิชิกิโดะ (Ryo Nishikido) อดีตนักร้องบอยแบนด์แห่งวง NEWS และเอริกะ ซาวาจิริ (Erika Sawajiri) นักแสดงสาวที่เคยรับบทสมทบจากหลายต่อหลายเรื่อง ได้โอกาสในการแสดงบทนำเป็นเรื่องแรก ในบทบาทของ “อิเคอุจิ อายะ”

จากด้านซ้าย: เรียว นิชิกิโดะ (Ryo Nishikido) และเอริกะ ซาวาจิริ (Erika Sawajiri)

ถึงแม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้มีจำนวนตอนในการออกอากาศแค่เพียง 11 ตอน แต่ในแต่ละตอนที่ออกอากาศนั้น ต่างมีเรื่องราวให้ได้ติดตามอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว เรื่องเพื่อน และเรื่องความรัก แต่ละตอนที่ออกอากาศนั้นจะเห็นได้ว่า อิเคอุจิ อายะ ได้พยายามต่อสู้กับอาการป่วยของเธอมาโดยตลอด ตั้งแต่วันแรกที่รับรู้ถึงโรคร้าย รวมถึงการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทั้งในครอบครัว และเหล่าเพื่อนพ้อง

ทีมนักแสดงนำของซีรีส์บันทึกน้ำตา 1 ลิตร

จริงๆ ไม่ได้มีแค่เพียง 11 ตอนที่ออกอากาศทางหน้าจอโทรทัศน์ในญี่ปุ่น หลังจากการออกอากาศของตอนสุดท้ายเพียงสองปี ฟูจิเทเลวิชั่นได้มีการสร้างอีกครั้ง โดยนำเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคิโต อายะ มาถ่ายทอดเป็น Side Story เล่าถึงเรื่องราวหลังการเสียชีวิตของเธอ และออกอากาศยาวถึงสามชั่วโมงด้วยกัน

หลังจากการสิ้นสุดการออกอากาศเมื่อช่วงปลายปี 2548 หนังสือที่เรียบเรียงจากไดอารี่ของเธอ ได้ถูกตีพิมพ์และจำหน่ายอีกครั้ง

สำหรับในเมืองไทย มีการนำมาฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อปี 2551 แต่ทว่า นำมาฉายแค่เพียง 11 ตอนเท่านั้น ตอนพิเศษที่มีความยาว 3 ชั่วโมงที่ได้กล่าวมานั้น ไม่มีการออกอากาศให้เหล่าผู้ชมได้ชมกัน ส่วนในรูปแบบหนังสือ มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณเมธินี นุชนาคา ผู้ที่ฝากผีไม้ลายมือในการแปลหนังสือเรื่อง “โลกใบใหม่หมายเลขหก” และ “1303 ห้องผีดุ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ และไม่ได้มีแค่เพียงซีรีส์และหนังสือที่มีการแปลภาษา ยังมีในรูปแบบหนังสือการ์ตูนออกมาอีกด้วย เพียงแต่เนื้อหาในหนังสือการ์ตูนนั้น เป็นการหยิบยกบางช่วงบางตอนจากในหนังสือ มาถ่ายทอดออกมาเป็นลายเส้น

เมธินี นุชนาคา ผู้แปลหนังสือบันทึกน้ำตา 1 ลิตร ในแบบภาษาไทย (Source: OKNation)

ซ้าย: บันทึกน้ำตา 1 ลิตร ฉบับแปลภาษาไทย, ขวา: บันทึกน้ำตา 1 ลิตร ฉบับลายเส้นการ์ตูน (ตัวของผู้เขียนนี้มีครอบครองทั้งสองแบบเลยนะ…)

ถ้าถามว่าเรื่องราวทั้งหมดที่มีทั้งในหนังสือ และแบบซีรีส์ เหมาะกับใครบ้าง ในมุมของผู้เขียนมองว่าเหมาะกับทุกคน มันเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ยิ่งอ่านไปนานๆ คุณอาจจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเลยก็เป็นได้ คุณได้เห็นถึงการต่อสู้ชีวิต และการรับมือในเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ใครที่ท้อแท้ หรือหมดกำลังใจ จะป่วยทางกาย หรือป่วยทางใจ ก็ลองหาเล่มนี้มาอ่านกันได้

ถามว่าเศร้าหรือไม่นั้น ในแบบหนังสืออาจจะเศร้าในบางช่วงบางบท แต่ถ้าได้ชมซีรีส์ ชมตั้งแต่ตอนแรกไปจนถึงตอนสุดท้าย ตัวคุณเองอาจต้องเสียน้ำตาในตอนท้ายๆ ก็ได้ โดยที่คุณไม่รู้ตัว (แต่ไม่ต้องเสียถึงหนึ่งลิตรตามชื่อเรื่องก็ได้นะ…)

ในส่วนของหนังสือที่จำหน่ายตามร้านนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสักหน่อยในตามหามาอ่าน อย่างไรก็ตาม ลองสอบถามตามร้านหนังสือก็ได้ว่ายังมีในสต็อกหรือเปล่า ส่วนในแบบซีรีส์นั้น แน่นอนว่าไม่มีการออกอากาศตามสถานีโทรทัศน์ เว้นแต่เพียงว่ามีผู้ชมบางท่านที่รับชม แล้วได้บันทึกเทปเอาไว้ และนำมาลงในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเป็นรูปแบบแผ่นซีดี คงต้องถามหาตามร้านที่มีรูปแบบสั่งซื้อจากต่างแดนดูละกัน